burberry
FASHION

ย้อนรอยเรื่องราวของ ‘Burberry’ แบรนด์เนมนักกิจกรรมตัวยงแห่งประเทศอังกฤษ

เส้นทางประวัติศาสตร์ของ ‘Burberry’ อีกหนึ่งแบรนด์ลักชัวรีในตำนานที่ไม่เคยคลายความนิยม กับการปรับตัวที่พลิกผันตลอดศตวรรษที่ผ่านพ้น

     หากกล่าวถึงแฟชั่นไอเท็มต่างๆ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องเสื้อผ้าที่เรามักนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ เสมอ และมีเสื้ออีกหนึ่งประเภทที่ได้รับความนิยมเสมอมาอย่างเสื้อคลุมสไตล์อังกฤษ “เทรนช์โค้ต” (Trench Coat) ซึ่งนับเป็นแฟชั่นไอคอนระดับโลกอันเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ Burberry โดยตลอดการเดินมากกว่าศตวรรษของเบอร์เบอรี่ แบรนด์ได้มีการปรับรูปแบบให้เข้ากับช่วงเวลา สถานการณ์ และยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไป ในครั้งนี้เราจะพาทุกคนร่วมเดินทางไปกับอัศวินขี่ม้าผู้โด่งดัง ย้อนกลับไปศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ของแบรนด์ตลอดกว่า 160 ปีที่ผ่านมา

 

burberry

ภาพ: Hjdgvdfds.tk

     เรื่องราวของอัศวินขี่ม้าเบอร์เบอรี่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเด็กฝึกงานในร้านผ้าม่านวัย 21 ปี นาม Thomas Burberry เกิดความคิดอยากจะเปิดร้านเสื้อผ้าเป็นของตัวเอง และได้เปิดกิจการเป็นของตัวเองที่ Basingstoke เมืองเล็กๆ อันเงียบสงบ ซึ่งมีคนอาศัยอยู่ราว 4,500 คน ในช่วงเริ่มแรกคอนเซปต์เสื้อผ้าจะเป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งส่วนมากเป็นสันทนาการของชนชั้นสูง เช่น การตกปลา และการล่าสัตว์ โดยในปี 1879 โทมัสก็ได้คิดค้นและประดิษฐ์ผ้ารูปแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์กิจกรรมดังกล่าว เรียกว่าผ้ากาบาร์ดีน (Gabardine) ที่ทำมาจากฝ้ายอียิปต์ผสมผสานกับนวัตกรรมสมัยใหม่ จึงได้ผ้าที่มีคุณสมบัติกันน้ำได้อย่างดี ทนทานต่อสภาพอากาศทั้งร้อน หนาว ฝน และหิมะ ซึ่งในปี 1888 ผ้ากาบาร์ดีนได้รับการจดสิทธิบัตร และทำให้เบอร์เบอรี่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

 

burberry

ภาพ: Failurebeforesuccess.com

     สืบเนื่องจากความสำเร็จของการสร้างผ้ากาบาร์ดีนทำให้เบอร์เบอรี่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จากนั้นไม่นานก็มีคำสั่งซื้อจากชนชั้นสูงจึงทำให้ธุรกิจเริ่มเฟื่องฟู และคล่องตัวมากขึ้น นำไปสู่การเปิดร้านใหม่เป็นอาคารขนาดใหญ่ ใน Haymarket ณ มหานครลอนดอน ที่ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชื่อว่า Walter Cave

     หลังจากปี 1917 โทมัส เบอร์เบอรี่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการมุ่งเน้นศาสนา และความเชื่อด้านมนุษยธรรม ด้วยความที่เขาเป็นคนที่ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และมีวินัยในการทำงาน ใส่ใจในทุกๆ รายละเอียดของงาน ส่งผลให้เบอร์เบอรี่กลายเป็นแบรนด์ที่เข้มแข็งอีกแบรนด์หนึ่งจากฝั่งอังกฤษ ทว่าไม่นานจากนั้นในปี 1926 ก็มีข่าวน่าตกใจและสร้างความเสียใจไปทั่วอุตสาหกรรมแฟชั่น เมื่อโทมัสได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย 90 ปีที่บ้านพัก เมือง Hook ใกล้ๆ กับ Basingstoke

 



WATCH




burberry

ภาพ: Thepeak.com

     ทว่าด้วยคุณสมบัติพิเศษของเทรนช์โค้ต ซิกเนเจอร์สุดคลาสสิกของเบอร์เบอรี่ที่ตอบโจทย์กิจกรรมกลางแจ้งชนิดต่างๆ อีกทั้งสามารถปกป้องผู้สวมใส่จากสภาพอากาศที่แตกต่างกันได้ แม้ผู้ก่อตั้งจะอำลาโลกนี้ไปแล้วแต่ก็ยังมีผู้สืบทอดมาสอนต่อให้แบรนด์ยังได้เฉิดฉายอยู่ในวงการแฟชั่นอยู่เรื่อยมา กระทั่งเบอร์เบอรี่เป็นผู้สนับสนุนของกิจกรรมกลางแจ้งในหลากหลายประเภท เช่น กีฬาตกปลา กีฬาล่าสัตว์ รวมทั้งกิจกรรมพิเศษๆ ของเหล่านักสำรวจ อาทิ นักสำรวจขั้วโลก ชาวนอร์เวย์ ด็อกเตอร์ ฟริดท์จอฟ แนนเซิน (Dr.Fridtjof Nansen) เป็นนักสำรวจคนแรกที่นำชุด Burberry Gabardine ไปขั้วโลกเหนือเมื่อครั้งที่เขาแล่นเรือไปยัง Arctic Circle

     ในปี 1908 นายพลอากาศ Edward Maitland สวมใส่ชุดคลุมของ Burberry Gabardine สร้างสถิติเดินทางข้ามทะเลด้วยบอลลูนร้อนได้สำเร็จ โดยเริ่มต้นการเดินทางจากปราสาทคริสตัล มุ่งหน้าสู่ประเทศรัสเซีย ด้วยระยะทางทั้งหมด 1,117 ไมล์ ใช้เวลาในการเดินทางทั้งหมด 13 ชั่วโมงครึ่ง ต่อมาในปี 1937 เบอร์เบอรี่ยังเป็นสปอนเซอร์ให้กับเที่ยวบินทำลายสถิติจาก Croydon สู่ Cape Town ซึ่งนักบินทั้ง 2 คือ เรืออากาศโท Arthur Clouston และ Betty Kirby-Green  ทั้งคู่ก็ต่างก็สวมเสื้อผ้าจากเบอร์เบอรี่ เรียกได้ว่าทุกกิจกรรมที่แบรนด์ไปซัพพอร์ตนั้นเป็นการโชว์ศักยภาพ และคุณภาพของสินค้าได้เป็นอย่างดี รวมถึงส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีงามกลับมาให้แบรนด์ได้อีกด้วย

     นอกจากนี้เบอร์เบอรี่ยังมีการจัดตั้งมูลนิธิต่างๆ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และเพื่อเป็นการคืนกำไรสู่สังคม โดยแบรนด์ได้มีการร่วมมือกับวิทยาลัยศิลปะแห่งสหราชอาณาจักร (RCA) ประกาศก่อตั้งกลุ่มงานวิจัยด้านวัสดุในอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะคิดค้นแมตทีเรียลที่มีความยั่งยืน และก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงชุมชนในวงกว้างอีกด้วย

 

burberry

ภาพ: In.fashionnetwork.com

     อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เข้ายุคเข้าสมัยมากๆ เกิดขึ้นในเดือนกันยายนปี 2018 เมื่อ Burberry ประกาศเลิกใช้ขนสัตว์ในโปรดักส์ของแบรนด์ และทยอยกำจัดผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเฟอร์ขนสัตว์ในสโตร์ เบอร์เบอรี่นับเป็นเป็นแบรนด์ไฮเอนด์แบรนด์แรกที่เข้าร่วมแนวคิดหรือแนวทางปฏิบัตินี้ แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และนึกถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ

     ปัจจุบันเบอร์เบอรี่แฟชั่นเฮาส์ระดับเฮอริเทจของอังกฤษ ที่มี Head Quarter ในมหานครกรุงลอนดอน มีสโตร์กว่า 500 แห่งใน 51 ประเทศทั่วโลก โดยมีเทรนช์โค้ตเป็นซิกเนเจอร์ไอเท็มมหลักของแบรนด์  พร้อมกันนี้เบอร์เบอรี่ก็ได้เติบโต และขยายไลน์โปรดักส์ออกมามากมาย ทั้งเรดี้ทูแวร์ แจ็กเก็ต เครื่องประดับแฟชั่น น้ำหอม แว่นตากันแดด และคอสเมติก ถือเป็นการยอมรับในวงการแฟชั่นและผู้คนทั่วโลกที่ยกให้เป็นอีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นที่อยู่เหนือกาลเวลาและครองใจเหล่าสาวกเสมอมา

 

ข้อมูล : Burberry, Style.katexoxo.com, Net A Porter

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Burberry