Sexism in Hollywood
LIFESTYLE

'Sexism in Hollywood' ความเท่าเทียมทางเพศ เรื่องลวงตาในโลกบันเทิง

#VogueScoop จากกรณีพลาดเข้าชิงรางวัล Oscars 2024 ของ Greta Gerwig ในฐานะของผู้กำกับหญิงยอดเยี่ยม นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นการเหยียดเพศในวงการฮอลลีวู้ดอีกครั้ง จากประเด็นการคุกคามทางเพศ และความไม่เท่าเทียมทางด้านรายได้ สู่อคติในการพิจารณาการเข้าชิงรางวัลบนเวทีใหญ่ ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่แรงงานหญิงในวงการฮอลลีวู้ดต้องเผชิญและแบกรับเอาไว้อย่างน่าอดสู

     ย้อนกลับไปบนพรมแดงงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ หรือ Cannes Film Festival ประจำปี 2018 ผู้หญิงจำนวน 82 คนจากหลากหลายสาขาอาชีพในอุตสาหกรรมบังเทิงฮอลลีวู้ด เดินกอดอกจับมือกันเป็นหน้ากระดานเพื่อประกาศจุดยืนในการเรียกร้อง “ความเท่าเทียมทางเพศ” ในวงการฮอลลีวู้ดร่วมกัน กอปรไปกับกระแส #MeToo ที่กำลังถูกพูดถึงไปทั่วโลกในเวลานั้น เพื่อใช้เป็นแฮชแท็กเคลื่อนไหวเรียกร้องให้คืนความยุติธรรมให้กับผู้หญิงทุกคนทั่วโลก อันจุดกำเนิดมาจากคดีสุดอื้อฉาวของ Harvey Weinstein อดีตเจ้าพ่อและโปรดิวเซอร์มือทองแห่งวงการฮอลลีวู้ด ซึ่งถูกกล่าวหาว่า “ล่วงละเมิดทางเพศ” นักแสดงหญิงฮอลลีวู้ดมากกว่า 100 คน โดยมี Jessica Mann, Miriam Haley และยังรวมไปถึงนักแสดงหญิงจากซีรี่ส์ The Sopranos ไม่ว่าจะเป็น Annabella Sciorra, Tarale Wulff, Dawn Dunning และ Lauren Young ที่นำไปสู่การดำเนินคดีอย่างจริงจังบนชั้นศาล ก่อนที่ต่อมานักแสดงหญิงชื่อดังหลายคนทั้ง Angelina Jolie, Cate Blanchette, Cara Delevigne, Lea Seydoux และ Lupita Ngong’O จะออกมาเปิดหน้าเล่าประสบการณ์ถูกกระทำสุดอื้อฉาวต่อหน้าสาธารณชน พร้อมยืนหยัดต่อสู้ด้วยการเคลื่อนไหวผ่านแฮชแท็ก #MeToo แบบเพื่อนไม่ทิ้งเพื่อนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

     แม้ว่าเรื่องราวของฮาวีย์ ไวน์สตีน จะจบลงด้วยการตัดสินจำคุกเจ้าตัวนานถึง 23 ปี ให้สาสมกับเรื่องเลวร้ายที่ได้กระทำลงไปกับเหยื่อกว่า 100 ชีวิต และแฮชแท็ก #MeToo กลายเป็นที่รู้จักและแผ่ขยายไปทั่วโลก ถูกนำไปใช้ในการเคลื่อนไหวในแคมเปญสำคัญหลายครั้งของนักสตรีนิยม ทั้งบนถนนและบนโลกออนไลน์ แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการขุดคุ้ย “ทุกมิติความไม่เท่าเทียมในวงการฮอลลีวู้ด” เท่านั้น เพราะนอกเหนือจากการคุกคามทางเพศจากกรณีดังกล่าวที่นับว่าเป็นปรากฏการณ์แล้ว ก่อนหน้านั้น ในปี 2014 เมื่อครั้งที่บริษัท SONY ถูกแฮ็กข้อมูลภายใน หนึ่งในข้อมูลที่ถูกเปิดเผยและน่าตกใจมากที่สุดไม่แพ้ประเด็นการโจรกรรมข้อมูลก็คือ สัญญาจ้างและข้อมูลรายได้ของนักแสดงชายและนักแสดงหญิงของภาพยนตร์เรื่อง American Hustle ซึ่งมีการระบุเอาไว้ว่า นักแสดงชายจะได้รับส่วนแบ่งจากกำไรที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำได้สูงถึง 9 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่นักแสดงหญิงจะได้รับส่วนแบ่งจากกำไรเพียงแค่ 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งนักแสดงหญิงอย่าง Jennifer Lawrence ที่เป็นหนึ่งในทีมนักแสดงยังต้องอึ้งกิมกี่ไปตามๆ กันเมื่อรู้เรื่องดังกล่าว ซึ่งเธอได้ออกมายอมรับทีหลังว่า “เธอโกรธตัวเองที่ไม่ต่อรองให้มากกว่านี้”

     “ความไม่เท่าเทียมด้านรายได้” ระหว่างนักแสดงหญิงและนักแสดงชายในโลกฮอลลีวู้ด หรือที่รู้จักกันในชื่อ “The Gender Pay Gap” กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังคงต้องสะสางอยู่เรื่อยๆ หนึ่งในปัจจัยลักลั่นคือไม่มีการเปิดเผยข้อมูลสัญญาอย่างตรงไปตรงมา เฉกเช่นกรณีของซีรี่ส์ตีแผ่ราชวงศ์อังกฤษชื่อดังของ Netflix อย่าง The Crown ในปี 2018 ที่ถูกจับตามองอีกครั้ง เมื่อมีแหล่งข่าวเปิดเผยว่า Claire Foy นักแสดงนำหญิงผู้ซึ่งสวมบทบาทเป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้รับค่าตัวเพิ่มจากความเหลื่อมล้ำทางสัญญาจ้าง ซึ่งเธอเพิ่งรู้ตัวว่าได้รับค่าจ้างน้อยกว่านักแสดงนำชาย Matt Smith ที่เล่นคู่กันกว่า 10,000 ปอนด์ จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตที่ผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างต้องออกมาขอโทษขอโพยกันยกใหญ่ในเวลานั้น และแน่นอนว่าปัญหายังไม่หมดไป เพราะนอกเหนือจากอณาเขตโลกบันเทิงฮอลลีวู้ดแล้ว ค่าแรงของแรงงานหญิงในหลายอุตสาหกรรมก็ยังคงถูกกดทับและไม่เป็นธรรม และยังเป็นเรื่องที่สังคมต้องตามสะสางไม่จบสิ้น กระทั่งที่มีงานวิจัยจาก University of Huddersfield ออกมาแสดงให้เห็นว่ารายได้ของนักแสดงหญิงน้อยกว่านักแสดงชายโดยราวเฉลี่ยที่ประมาณ 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงพอสมควร

     จากมิติการคุกคามทางเพศ และมิติความไม่เท่าเทียมทางด้านรายได้ สู่ “โอกาสในการเข้าชิงรางวัล” บนเวทีประกาศรางวัลขนาดใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือเวทีประกาศรางวัล Oscars ที่ตกเป็นเป้าโจมตีจากนักวิจารณ์และนักเคลื่อนไหวแนวสตรีนิยมทั่วโลก ซึ่งตั้งคำถามถึงสัดส่วนของการเข้าชิงรางวัลของนักแสดงและผู้กำกับเพศหญิงที่มีน้อยเกินไปหรือไม่ ที่แม้ว่าหลายคนจะแย้งประเด็นนี้ว่า เรื่องแบบนี้ควรพิจารณาที่ความสามารถมากกว่ายกเอาเรื่องเพศมาตีขรุม ทว่าหลายกรณีที่ไม่ได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงก็ดูจะมีอคติทางเพศที่ชัดเจนมากเกินไปจริงๆ

     หากได้เดินทางย้อนกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์ของเวทีประกาศรางวัลออสการ์ก็พอจะเห็นว่า บทบาทของแรงงานหญิงในวงการฮอลลีวู้ดนั้น ถูกกีดกันไม่น้อย เพราะตลอดเวลา 96 ปีที่เวทีประกาศรางวัลนี้ถือกำเนิด มีผู้กำกับหญิงเพียงแค่ 3 คนเท่านั้นที่ชนะรางวัลได้ นั่นคือ Kathryn Bigelow จากภาพยนตร์เรื่อง “Hurt Locker” ในปี 2010 ตามมาด้วย Chloé Zhao จากภาพยนตร์ “Nomadland” ในปี 2021 และ Jane Campion จากภาพยนตร์เรื่อง “The Power of the Dog” ในปี 2022 และแม้ว่าในปี 2024 นี้ สื่อบันเทิงหลายหัวจะเล่นกระแสข่าวดีที่ว่า เป็นปีแรกในประวัติศาสตร์เกือบร้อยปีบนเวทีออสการ์ที่สาขารางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม มีภาพยนตร์ที่กำกับด้วยผู้กำกับหญิงเข้าชิงมากถึง 3 เรื่องด้วยกัน ทว่าการพลาดการเข้าชิงของ Greta Gerwig ผู้กำกับหญิงที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง Barbie กลายเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งปี 2023 ก็นำมาสู่การตั้งคำถามต่อเวทีประกาศรางวัลออสการ์อีกครั้ง ซึ่งแบ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกเป็น 2 ขั้วชัดเจน ทั้งที่เห็นด้วยเมื่อเทียบกับฝีมือผู้กำกับภาพยนตร์คนอื่นๆ ที่ได้เข้าชิง ซึ่งนับว่ามีฝีมือฉมังทั้งสิ้น และไม่เห็นด้วยที่ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในด้านรายได้ อีกทั้งยังสอดแทรกเรื่องราวเฟมินิสต์เข้าไป พร้อมเปลี่ยนมุมมองคนทั่วโลกที่มีต่อตุ๊กตาบาร์บี้ให้เป็นมากกว่าตุ๊กตาหน้าอกใหญ่ ทำไมจึงพลาดการเข้าชิงได้ง่ายๆ เช่นนี้



WATCH




กราฟิก : จินาภา ฟองกษีร

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueScoop #SexismInHollywood