มัดหัวใจยัยซุปตาร์
LIFESTYLE

ละครไทยไปไกลได้แค่นี้...สังคมเดือด 'มัดหัวใจยัยซุปตาร์' กำลังนำเสนอชุดความคิดผิดๆ ให้กับสังคมไทย!

ล่าสุดละครไทยยังคงตกเป็นเป้าให้ได้วิจารณ์ถึงเรื่องความล้าสมัยของชุดความคิดในบทละคร ที่สนับสนุนทั้ง Rape Culture, ไม่ตระหนักถึงประเด็นเรื่อง Consent และยังทำลายความไว้วางใจทางวิชาชีพเภสัชกรอีกด้วย

     ยังคงเป็นประเด็นให้ได้พูดถึงกันอยู่ในตอนนี้ สำหรับประเด็นดราม่าของละครเรื่อง “มัดหัวใจยัยซุปตาร์” โดยฝีมือของผู้จัด วรายุฑ มิลินทจินดา ออกอากาศทางช่องสาม และนำแสดงโดยสองนักแสดงที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับคนดูเมื่อแรกเปิดตัวอย่าง เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ และ คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์ ทว่าความคาดหวังที่ละครเรื่องนี้จะได้รับกระแสชื่นชมและโด่งดังอย่างเปรี้ยงปร้างนั้น กลับดูจะริบหรี่มากขึ้น เมื่อล่าสุดมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นวงกว้างถึงการนำเสนอบทละครที่ขัดต่อชุดความคิดแห่งโลกตื่นรู้ในยุคสมัยนี้ อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมความคิดที่ขัดต่อชุดความคิดทั้งเรื่องของ Consent (การยินยอม) ไปจนถึงประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของวิชาชีพเภสัชกรอย่างไม่น่าให้อภัย

     ประเด็นต่างๆ จากละครเรื่องดังกล่าวได้รับการถกเถียงเป็นวงกว้างบนโลกโซเชียลมีเดียอย่างเข้มข้น หลังจากที่ละครได้นำเสนอฉากที่นางเอกของเรื่องที่เมามายได้เสียกับตัวละครพระเอก ซึ่งหลายคนที่ได้ดูฉากนี้ต่างวิจารณ์เป็นเสียงเดียวกันว่า มันคือการฉวยโอกาสในขณะที่ตัวละครฝ่ายหญิงไม่ได้สติ แม้ว่าในบทละครจะเขียนขึ้นว่า นางเอกเป็นฝ่ายเข้าหาก่อนก็ตาม ทว่าในเวลานั้นตัวละครพระเอกยังคงมีสติดี จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ในยุคแห่งสังคมตื่นรู้แบบนี้ บทละครที่สนับสนุน Rape Culture และไม่ตระหนักถึงประเด็นของเรื่อง Consent ยังได้รับอนุญาตให้ผ่านการเผยแพร่อยู่อีกหรือ เพราะสิ่งนี้แสดงถึงความล้าสมัยของกระบวนการคิดบทละคร ที่ถอยหลังลงคลองไปหลายศตวรรษ ในยุคที่ละครแนวข่มขืนก่อนแล้วค่อยรักยังคงฮิตติดตลาด ซึ่งเป็นต้นเหตุของการปลูกฝัง ‘วัฒนธรรมการข่มขืน’ ในอยู่คู่กับสังคมไทย ด้วยการเปลี่ยนเป็นเรื่องโรแมนติกอย่างไร้ยางอาย

     ทว่าที่ดูจะหนักไปกว่าฉากได้เสียระหว่างนางเอก(ที่ไร้ซึ่งสติสมประดี)กับพระเอก(ที่มีสติดีครบถ้วน) ก็เห็นจะเป็นฉากที่ตัวละครพระเอกตัดสินใจสลับยาคุมฉุกเฉินกับยาแก้คลื่นไส้ให้นางเอกกิน หลังจากที่ได้เสียกัน สำหรับผู้เขียนแล้วนับเป็นฉากที่รับไม่ได้ถึงที่สุด เพราะสิ่งนี้คือการเล่นล้อกับความไว้วางใจทางวิชาชีพของเหล่าเภสัชกรทั่วประเทศไทย กระทั่งที่ล่าสุด สภาเภสัชกรรมยังทนไม่ไหวต้องออกมาชี้แจงว่า ละครเรื่องนี้กำลังสร้างความเข้าใจผิดแก่วิชาชีพเภสัชกร โดยมีใจความสำคัญว่า “สภาเภสัชกรรมขอให้ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้จัด ผู้สร้าง รวมถึงผู้กำกับ รับผิดชอบดำเนินการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยา โดยขอให้ขึ้นข้อความ ‘การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยาที่เป็นจริง เภสัชกรจะต้องมีการตรวจสอบความจำเป็นในการใช้ยา เลือกสรรยา จัดทำฉลากยาให้ตรงกับตัวยาก่อนจ่ายยาทุกครั้ง’ ก่อนการฉายละครชุดดังกล่าวทุกครั้งจนสิ้นสุดการเผยแพร่ภาพ และขึ้นข้อความดังกล่าวในส่วนที่สามารถรับชมย้อนหลังทั้งหมด”

     จริงอยู่ที่หลายคนต่างก็คิดว่า “จะมาจริงจังอะไรหนักหนากับอีแค่ละครเรื่องเดียว” แต่คนที่คิดแบบนั้นก็คงจะคิดสั้นไปเสียหน่อย เพราะหากคิดให้รอบคอบและพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้วนั้น จะพบว่าละครกับชีวิตจริงของคนในสังคมต่างสะท้อนถึงกันเสมอ หลายครั้งที่ละครก็สร้างมาจากชีวิตจริง และหลายครั้งที่ชีวิตจริงก็บันดาลใจมาจากละคร สิ่งที่หลายคนหลงลืมไปก็คือ “วัฒนธรรมด้านบันเทิง” ของโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็น ละคร, ภาพยนตร์, เพลง หรืออะไรก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีส่วนในการปลูกฝังชุดความคิดให้กับคนในสังคมทั้งสิ้น หลายครั้งที่วัฒนธรรมข่มขืนในประเทศไทยถูกมองว่าเป็นเรื่องแสนจะปกติ และส่งผลให้มีคดีข่มขืนเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ก็เพราะละครเป็นตัวอย่างที่เปลี่ยนให้มันกลายเป็นเช่นนั้น หรือแม้แต่บางครั้งก็ละครอีกนั่นแหละที่สร้างความเข้าใจผิดต่อวิชาชีพใดๆ จนเกิดการ Stereotype หรือสร้างทัศนคติต่อบุคคลในแวดวงอาชีพนั้นแบบผิดๆ ในชีวิตจริง

     ซึ่งคำถามของผู้เขียนก็คือ “เรายังอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนชุดความคิดเลวร้ายพวกนี้ต่อไปอีกหรือ”...

WATCH