palme d'or
LIFESTYLE

เจาะลึก 'รางวัลปาล์มทองคำ' แห่งเทศกาลหนังเมืองคานส์ ที่ชี้ขาดถึงคุณภาพของภาพยนตร์

#VogueScoop เทศกาล ‘Cannes Film Festival’ หรือเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ก็เป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่อยู่มาเกือบ 8 ทศวรรษ ซึ่งล่าสุดปี 2024 นี้ครบรอบปีที่ 77 พอดิบพอดีหลังจากเริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปี 1939 รวมถึงรางวัล ‘Palme d’ Or’ หรือรางวัลปาล์มทองคำอันเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นสัญลักษณ์ประจำของเทศกาลนี้ ซึ่งหากใครได้รับมันจะถือว่ายิ่งกว่าเป็นเกียรติแก่การเข้าร่วมงานเสียอีก เพราะมันไม่ใช่รางวัลที่บ่งบอกเพียงแค่ความดีความชอบที่เหล่าผู้คนในอุตสาหกรรมได้มอบให้แก่วงการภาพยนตร์

     หากจะกล่าวว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีอิทธิพลต่อโลกมานานเกือบศตวรรษก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะโลกแห่งภาพยนตร์และการละครนั้นไม่ต่างอะไรจากการเป็นกระบอกเสียงอีกประเภทหนึ่งเพื่อเล่าถึงประเด็นสังคม ค่านิยม หรือความนิยมที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงยุคสมัย บางผลงานเป็นตัวเล่าขานประเด็นเปราะบางด้วยเนื้อเรื่องและถ้อยคำที่เสียดสีจนผู้ชมสามารถตระหนักรู้ได้เองว่า มันคือเรื่องที่เกิดขึ้นบนโลกจริงไม่ใช่เพียงโลกแห่งการละคร ‘Cannes Film Festival’ หรือเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ก็เป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่อยู่ยั้งยืนยงร่วมเกือบ 8 ทศวรรษ ซึ่งล่าสุดปี 2024 นี้ครบรอบปีที่ 77 พอดิบพอดีหลังจากเริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปี 1939 จนคนทั่วโลกต่างขนานนามเป็นเสียงเดียวกันว่า “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์แห่งประเทศฝรั่งเศส เป็นเทศกาลหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมบันเทิง” เรื่อยไปจนถึงการขึ้นแท่นเป็นเทศกาลระดับโลกที่มีเหล่าผู้สร้าง นักแสดง ศิลปิน หรือเซเลบริตี้ผู้เกี่ยวข้องเดินทางมาจากหัวเมืองต่างๆ เพื่อมาร่วมเฉลิมฉลองให้เทศกาลนี้ได้รับการสานต่อและถูกพูดอย่างทวีคูณไม่จบสิ้น

     แน่นอนว่าเทศกาลดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับบุคคลวงในแห่งวงการภาพยนตร์ ฉะนั้นหากภาพยนตร์เรื่องใดจากเมืองไหนมีโอกาสได้มาฉาย ณ ที่แห่งนี้ในระยะเวลาที่จัดงานขึ้นร่วมสองสัปดาห์ในช่วงเดือนพฤษภาคม จะถือเป็นเกียรติแก่ตนเองและประเทศบ้านเกิดเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นการการันตีว่าภาพยนตร์ดังกล่าวสามารถตีแผ่เอกลักษณ์ผ่านม้วนฟิล์มที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพให้เป็นที่น่าจดจำ รวมถึงรางวัล ‘Palme d’ Or’ หรือรางวัลปาล์มทองคำอันเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นสัญลักษณ์ประจำของเทศกาลนี้ ซึ่งหากใครได้รับมันจะถือว่ายิ่งกว่าเป็นเกียรติแก่การเข้าร่วมงานเสียอีก เพราะมันไม่ใช่รางวัลที่บ่งบอกเพียงแค่ความดีความชอบที่เหล่าผู้คนในอุตสาหกรรมได้มอบให้แก่วงการภาพยนตร์ #VogueScoop สัปดาห์นี้จึงไม่พลาดพาทุกคนไปเจาะลึกถึงรางวัลปาล์มทองคำเพื่อเลียนล้อไปกับเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 พฤษภาคม ประจำปีนี้

 

 

ส่งต่อรางวัล Palme d’ Or แก่ผลงานหนังมากคุณภาพ

     แม้เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จะเริ่มต้นขึ้นในปี 1939 ทว่าการมอบรางวัลปาล์มทองคำนั้นกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1955 เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการมอบรางวัล Grand Prix du Festival International du Film ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดที่หลายคนตั้งตารอในเทศกาลหนังเมืองคานส์ โดยเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำครั้งแรกคือ ‘Delbert Mann’ ผู้กำกับมือฉมังเจ้าของผลงานภาพยนตร์เรื่อง ‘Marty’ ที่ออกฉายในปีเดียวกันกับที่เทศกาลจัดขึ้น หลังจากนั้นเป็นต้นมาเหล่าคอหนังก็ตั้งตารอว่าจะมีใครเป็นเจ้าของรางวัลนี้บ้าง เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้นว่าภาพยนตร์บนโลกนี้มีเป็นร้อยพันหมื่นเรื่องก็ใช่ว่าจะสามารถคว้ารางวัลนี้ไปครองได้ รวมถึงประเทศไทยเองก็ลุ้นจนตัวโก่งเพราะอยากให้วงการภาพยนตร์ไทยได้เป็นที่รู้จักไกลถึงระดับโลกเสียที

     จนเมื่อปี 2010 ผู้กำกับมากฝีมือสัญชาติไทย ‘เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ ได้ครองรางวัลปาล์มทองคำของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีนั้นได้ด้วยภาพยนตร์ชวนคิดตามอย่าง “ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives)” ที่อ้างอิงถึงทฤษฎีการกลับชาติ พร้อมเชื่อมโยงกับความทรงจำของผู้คนในภาคอีสานในประเทศไทยในช่วงสงครามเย็น และเป็นคนไทยคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลนี้ไปได้ นอกจากนี้ยังมีการรับรางวัลปาล์มทองคำกิตติมศักดิ์ประจำปี 2024 ของนักแสดงหญิงระดับตำนาน ‘Meryl Streep’ หรือการรับรางวัลปาล์มทองคำในปี 2023 ของผู้กำกับหญิงสัญชาติฝรั่งเศส Justine Triet จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Anatomy of a Fall’ ซึ่งถือเป็นผู้กำกับหญิงคนที่สามที่ได้รับรางวัลนี้ตั้งแต่มีการจัดเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบันผู้คนทั่วโลกจึงให้ความสนใจและเชื่อสนิทใจไปแล้วว่าเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์พิจารณารางวัลปาล์มทองคำจากผลงานทุกสัญชาติโดยไม่มีการแบ่งแยกหรือเหยียดชาติพันธุ์กันเกิดขึ้น

 

 

ถ้วยรางวัลที่เปี่ยมไปด้วยความสวยงามทั้งรูปลักษณ์และความหมาย

     ผลงานถ้วยรางวัลแต่ละเวทีก็เป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญ เพราะส่วนมากการออกแบบนั้นเปรียบเสมือนสัญญะที่บอกเล่าถึงแก่นแท้ของงานได้เป็นอย่างดี ดังเช่นรางวัลปาล์มทองคำที่ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของถ้วยรางวัลมายุคต่อยุค ทว่าดีไซน์ที่นำเสนอยังคงความเป็นปาล์มของเมืองคานส์ในประเทศฝรั่งเศสได้ดังเดิม โดยถ้วยรางวัลใบแรกถูกรังสรรค์ขึ้นจากฝีมือของนักออกแบบ ‘ลูเซียนน์ ลาซอง’ ที่นำใบปาล์มอันเป็นสัญลักษณ์ประจำถิ่นมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ โดยใช้ทองคำและอัญมณีสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้คงความสวยงามไว้ที่สุด ถ้วยรางวัลดังกล่าวถูกใช้มาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปี 1984 ศิลปินอย่าง ‘Thierry de Bourqueney’ ได้ออกแบบให้ใบปาล์มสีทองอยู่บนฐานทรงพีระมิดสีน้ำตาล ก่อนที่ในเวลาต่อมาปี 1992 จะปรับเปลี่ยนให้ฐานนั้นใช้วัสดุจากคริสตัลแทน

     เวลาล่วงมาถึงปี 1997 ‘คาโรลีน ชอยเฟเล’ ศิลปินที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารของแบรนด์จิวเวลรีสัญชาติฝรั่งเศส ‘Chopard’ ได้ปรับเปลี่ยนดีไซน์ของถ้วยรางวัลปาล์มทองคำอีกครั้งเพื่อยกระดับความสวยและความสง่างามโดยมีช่างฝีมือท้องถิ่นแห่งเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นคนร่วมดำเนินงาน โดยใช้ทองคำ 24 กะรัตรังสรรค์เป็นใบปาล์มจำนวน 19 ใบที่ถูกจัดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ พร้อมวางบนฐานคริสตัลรูปทรงสี่เหลี่ยมมุมตัดก่อนจะถูกนำมาบรรจุในกล่องหนังสีน้ำเงินอย่างประณีต หลังจากนั้นจึงใช้ถ้วยรางวัลปาล์มทองคำดีไซน์ดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน เพียงแค่มีการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 70 ในปี 2017 ที่มีการประดับเพชรคล้ายดวงดาวดวงน้อยๆ ที่ทอประกายบนใบปาล์มให้ดูขลังและทรงคุณค่ายิ่งขึ้น

 



WATCH




 

Palme d’ Or มีแต่คนเดิมๆ ได้จริงหรือ?

     แน่นอนว่ารางวัลปาล์มทองคำเป็นรางวัลที่สามารถการันตีความยอดเยี่ยมของภาพยนตร์ทั้งเนื้อหา การใช้ภาพ แสง สี โปรดักชั่น แม้กระทั่งสัญญะการดำเนินเรื่องอย่างที่หลายคนต่างยอมรับว่าเป็นรางวัลที่เกิดจากการตัดสินของคณะกรรมการอย่างยุติธรรมที่สุด ทว่าก็มีข้อกังขาที่ทำให้อดสงสัยไม่ได้และถูกตั้งคำถามอยู่เรื่อยมาต่อผู้ที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำในแต่ละปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนหน้าเดิมที่ได้รับอยู่เสมอ ไม่ค่อยเวียนให้ผู้เข้าร่วมประกวดคนใหม่ได้รับสักเท่าไหร่ แม้ว่าบุคคลนั้นๆ จะพลาดรางวัลใหญ่ในปีนั้นแต่ก็ยังมีรางวัลรองที่พวกเขามักได้รับ อาทิ การรับรางวัลของ Ruben Östlund ผู้กำกับชาวสวีเดนที่เป็นเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำในปี 2017 จากภาพยนตร์เรื่องที่นำเสนอความเสียดสีแห่งวงการศิลปะอย่าง ‘The Square’ ก่อนที่เขาจะคว้ารางวัลนี้อีกครั้งในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประจำปี 2022 ด้วยภาพยนตร์แนวดราม่าคอมเมดี้เรื่อง ‘Triangle of Sadness’, ผู้กำกับชาวออสเตรียนอย่าง Michael Haneke คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากภาพยนตร์ The White Ribbon ในปี 2019 และ Amour ในปี 2022 หรือแม้แต่ เจ้ย อภิชาติพงศ์เองที่เคยคว้ารางวัลปาล์มทองคำไปแล้วในปี 2010 ก่อนจะได้รางวัลขวัญใจคณะกรรมการไปครองจากภาพยนตร์ ‘Memoria’ ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ประจำปี 2022 ที่ใครหลายคนลุ้นว่ามีแนวโน้มที่จะคว้ารางวัลใหญ่นี้ไปได้ แม้รางวัลดังกล่าวจะตกเป็นของ ‘Triangle of Sadness’ ก็ตาม

     ถึงแม้จะมีการเวียนกันรับรางวัลจากคนหน้าเดิมๆ จริง ทว่ามันก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยหรือเกิดขึ้นในระยะเวลาในรอบ 2-3 ปีซ้อน และถ้าหากจะเกิดขึ้นจริงแล้วเหตุใดพวกเขาถึงไม่สมควรได้รับมัน? เพราะมีหลายครั้งคราที่ในอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งนักแสดง ศิลปิน หรือทีมเบื้องหลังก็สามารถคว้ารางวัลเดิมๆ ซ้ำกันได้ เพียงเพราะเขายังคงรักษามาตรฐานผลงานให้อยู่ในระดับที่ทุกคนล้วนยอมรับว่า เหมาะสม กับรางวัลที่ได้รับ หรือหากในปีนั้นบุคคลเดิมพลาดรางวัลไปและคนใหม่เวียนมารับแทน นั่นก็ไม่ได้เป็นสิ่งตราหน้าว่าผลงานพวกเขาต่ำกว่ามาตรฐานหรือลดคุณภาพลง แต่มันกลับเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งกว่าที่มีผู้กำกับมากหน้าหลายตาพร้อมที่จะผลิตผลงานมากคุณภาพให้เป็นที่ประจักษ์ จนได้มาเฉิดฉายและเป็นเจ้าของรางวัลนี้ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ทั้งยังทำให้ผู้ชมทุกคนสามารถเรียกมันว่า ‘ภาพยนตร์’ ได้เต็มปากอย่างแท้จริง

 

     และถึงแม้ภาพยนตร์หลายเรื่องอาจไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องดังหรือทำรายได้ถล่มทลายในประเทศหรือทั่วโลก ทว่าคงไม่เสมอไปที่จะนำมาเป็นตัววัดว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นดีหรือไม่ดี เพราะภาพยนตร์หลากเรื่องที่ไม่ได้สร้างรายได้เท่าไหร่นัก แต่กลับได้รับการกล่าวถึงในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อยู่หลายครั้ง ลองเปิดใจรับชมผลงานที่มีโอกาสได้ไปเยือนในที่แห่งนี้ แล้วคุณจะรู้คำตอบเองว่า ‘รางวัลปาล์มทองคำ’ ที่อยู่มาหลายชั่วอายุคนนั้นเป็นสิ่งที่ตัดสินว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั้นดีจริงหรือไม่...

 

ข้อมูล : Festival de Cannes, Chopard, Variety, BBC
กราฟิก : จินาภา ฟองกษีร

WATCH

TAGS : #VogueScoop