Frozen Hot Boy Movie
LIFESTYLE

‘แก๊งหิมะเดือด’ แม้จะเต็มไปด้วยความผิดพลาดแต่ก็ไม่อาจหมดสิทธิในการเริ่มต้นชีวิตใหม่

จะเป็นอย่างไรเมื่อเหล่าวัยรุ่นที่สังคมมองว่าเป็น ‘ตัวปัญหา’ จากประเทศที่ไม่มีหิมะ ต้องไปแข่งขันแกะสลักหิมะระดับโลก?

เพิ่งเปิดตัวลงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งได้ไม่นานสำหรับหนึ่งในไลน์อัปคอนเทนต์ประจำปี 2025 จาก Netflix Thailand อย่างภาพยนตร์เรื่อง ‘แก๊งหิมะเดือด’ ผลงานจากสองผู้กำกับรุ่นใหม่อย่าง ‘ธนกฤต กิตติอภิธาน’ และ ’นฤบดี เวชกรรม’ กับเรื่องราวของเหล่าเยาวชนที่ถูกแปะป้ายว่าเป็น ‘ตัวปัญหาสังคม’ กับภารกิจพิชิตการแข่งขันแกะสลักหิมะภายใต้การนำทีมของ ครูชม (แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์) ครูสาวจอมเจ้าเล่ห์ แม้จะเป็นกลุ่มทุลักทุเลที่สังคมต่างมองว่าล้มเหลว แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะยืนหยัดและท้าทายโอกาสที่แทบจะเป็นศูนย์เพื่อพิสูจน์ว่าบนโลกใบนี้ยังมีที่ยืนสำหรับพวกเขา

 

 
 
 
 
 
ดูโพสต์นี้บน Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

โพสต์ที่แชร์โดย Netflix Thailand (@netflixth)

ในยุคที่สื่อภาพยนตร์กำลังเริ่มพูดถึงประเด็นสังคมอย่าง ‘เยาวชนกระทำความผิด’ ผ่านมุมมองที่นำเสนอถึงโทษที่มาจากการทำผิดพลาดเพียงหนึ่งครั้งที่เปลี่ยนผันชีวิตไปตลอดกาล แต่น้อยนักที่จะมีการเล่าถึงการให้โอกาสเยาวชนเหล่านั้นได้กลับมามีที่ยืนอีกครั้งในสังคม ซึ่งนับเป็นจุดที่ง่ายต่อการตั้งคำถามว่ากำลังล้างบาปให้แก่ผู้กระทำผิดอยู่หรือไม่? ซึ่งภาพยนตร์แก๊งหิมะเดือดเลือกที่จะก้าวข้ามเส้นนั้นผ่านการเล่าเรื่องราวของกลุ่มเยาวชนที่ถูกกีดกันออกจากสังคมให้เข้ามาอยู่ในรั้วที่ชื่อว่า ศูนย์ฝึกเยาวชน ที่ทุกคนต่างก้าวเข้ามาด้วยโทษหนักเบาไม่เท่ากัน บางคนกระทำความผิดร้ายแรงจนไม่สมควรได้รับการให้อภัยกับบางคนที่จะจมอยู่กับความเสียใจไปตลอดกาล

 

ซึ่งความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีแค่พล็อตการแข่งขันแกะสลักหิมะที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนักแกะสลักหิมะชาวไทยที่เคยคว้าชัยในต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังมีการเล่าเรื่องจากหลากหลายมุมมองที่เล่นล้อไปกับต่อมความคิดของผู้ชมว่าใครสมควรได้รับโทษ หรือใครสมควรได้รับโอกาส ผ่านการจงใจวางตัวละครหลักไว้ในพื้นที่สีเทาอย่างภูมิหลังของเด็กในศูนย์ฝึกแต่ละคนที่ล้วนมีเหตุจูงใจในการกระทำผิดที่แตกต่างกัน ในขณะเดียวกันตัวหนังเองก็ไม่ได้พยายาม Romanticize พฤติกรรมเหล่านั้นแต่ในทางตรงกันข้ามกลับพยายามตั้งคำถามเล็กๆ ต่อผู้ชมว่าแท้จริงแล้วเรากำลังยึดติดกับการตีตราโดยไม่เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้เรียนรู้หรือเติบโตอยู่หรือเปล่า?

 




 
 
 
 
 
ดูโพสต์นี้บน Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

โพสต์ที่แชร์โดย Netflix Thailand (@netflixth)

สิ่งที่หนังทำให้อย่างดีคือ การสร้างบาลานซ์ระหว่างสองฝั่ง อย่างการดำดิ่งไปกับการเติบโตทีละก้าวของเหล่าตัวละครแต่ก้ไม่ลืมที่จะถ่ายทอดเสียงของเหยื่อ ครอบครัวผู้เสียหาย หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ภายในระบบยุติธรรม ซึ่งล้วนมีเหตุผลและมุมมองในการตัดสินเป็นของตัวเอง ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่พื้นที่เยียวยาอบอุ่นหัวใจแต่ยังแฝงไปด้วยเวทีแห่งการโต้แย้งระหว่างอุดมคติและความจริง ซึ่งอีกหนึ่งองค์ประกอบที่เสริมพลังให้กับเนื้อเรื่องอย่าง การแกะสลักหิมะ ศิลปะที่ต้องอาศัยความประณีต การควบคุมอารมณ์ และการทำงานร่วมกัน ซึ่งขัดแย้งกับภาพจำของเด็กที่ถูกแปะป้ายว่าขาดวินัยและไม่สามารถทำงานร่วมกับใครได้ ซึ่งการเผชิญหน้ากับความเยือกแข็งและแรงกดดันกลายมาเป็นบทพิสูจน์ว่าการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องใช้การกระทำควบคู่ไปกับคำพูด ผ่านการฝึกฝน อดทน และศรัทธาในตัวเอง

 

แก๊งหิมะเดือดไม่ใช่ภาพยนตร์ดราม่าคอมเมดี้ธรรมดาแต่ยังเป็นพื้นที่แห่งการตั้งคำถามและการท้าทายต่อภาพจำเดิมๆ ของผู้กระทำผิดในสังคมไทย ตัวหนังไม่ได้พยายามรวบรัดว่าทุกคนสมควรได้รับโอกาสแต่ทำให้เราในฐานะผู้ชมต้องเผชิญหน้าไปกับคำถามนั้นด้วยตัวเองผ่านเรื่องราวของตัวละครที่ถูกทำให้เป็นคนชายขอบ แม้จะเต็มไปด้วยความผิดพลาดแต่ก็ไม่อาจหมดสิทธิในการอยากกลับมาใช้ชีวิตใหม่

 

ติดตามการแข่งขันอันยิ่งใหญ่ของเหล่าเยาวชนกลับใจในแก๊งหิมะเดือดได้ที่ Netflix

 

Photo: Courtesy of Netflix

WATCH

 
Close menu