LIFESTYLE

เจาะลึกเหตุผลว่าทำไมไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า “ยอมรับ” กับกลุ่มเพศทางเลือก!

บางครั้งคำที่ใช้กันสำคัญทั่วไป มีนัยยะเชิงอำนาจบางอย่างกดขี่กันไว้อยู่เสมอ

     นับจาก Stonewall Riots มาจนถึงปัจจุบันมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศมากมาย สังคมขับเคลื่อนไปอย่างอิสระมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อสังคมเปิดกว้างขึ้นความอิสระในการเรียกร้องย่อมตามมาอัตโนมัติ ความสำเร็จในการเรียกร้องทีละขั้นนั้นส่งผลต่ออนาคตอยู่เสมอ และมาในปี 2021 คอนเซปต์โลกไร้พรมแดนสามารถปรับใช้กับประเด็นเรื่องเพศได้อย่างน่าสนใจ มนุษย์ทุกคนล้วนกลายเป็นพลเมืองของโลก ไม่ใช่ของชาติใดชาติหนึ่ง และการเป็นมนุษย์อันเท่าเทียมกันนั้นก็เกิดการตั้งคำถามว่า “ทำไมเราต้องยอมรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”

ภาพ: NIKKEI

     อาจจะฟังดูรุนแรงไปเสียหน่อยถ้าหากจะปฏิเสธคำว่า “ยอมรับ” ในสังคม เพราะตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาการเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQ+ มักจะใช้คำว่า “ยอมรับ” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอยู่เสมอ นั่นก็เพราะสมัยก่อนคนกลุ่มหนึ่งถูกกดขี่และริดรอนสิทธิเสรีภาพโดยกลุ่มอำนาจขั้วตรงข้าม(ชาย-หญิง) ดังนั้นการอยู่ในจุดที่อาจจะด้อยกว่าในกลไกเชิงระบบจึงต้องยกประเด็นเรื่องการยอมรับเข้าสู่กลไกอันเท่าเทียมมากขึ้น การใช้ประเด็นเรื่องการยอมรับนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่เป็นความถูกต้องแม่นยำในประวัติศาสตร์ด้านสังคมวิทยาเสียมากกว่า การใช้คำว่ายอมรับถือเป็นประเด็นเรียกร้องที่เข้าใจง่ายที่สุด แต่มันอาจจะไม่ใช่นิยามศัพท์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการเปิดโลก LGBTQ+ ในสังคมใดก็แล้วแต่อย่างแท้จริง

ภาพ: The Guardian

     การไม่ได้รับความเท่าเทียมคือการไม่ถูกยอมรับ สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงในทุกสังคมทั่วโลก เริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน เรื่อยไปจนถึงบทบาทในสื่อเกือบทุกรูปแบบ หากทุกท่านสังเกตจะเห็นว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับการปิดกั้นบางอย่างจนต้องเอาชนะเพื่อการยอมรับจากทุกภาคส่วน มันเหนื่อยเกินไปหรือเปล่าสำหรับมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องพยายามเอาชนะมลทินบางอย่างที่สังคมป้ายให้โดยที่พวกเขา/พวกเธอไม่ได้ทำอะไรผิดด้วยซ้ำ มันเหมือนกับว่าสังคมโดยเฉพาะยุคสมัยก่อนแบ่งระยะห่างเพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์ไปตั้งแต่แรก เปิดช่องทางให้คนกลุ่มหนึ่งเข้ามาในสังคมปกติได้ด้วยวิถีทางอันจำกัด เช่นในสื่อ กลุ่มเพศทางเลือกต้องรับบทเป็นเชิงตลก กอสซิปเกิร์ล มากกว่าจะได้รับบทบาทที่มนุษย์ทุกคนสามารถเป็นได้เช่นแพทย์ วิศวกร หรือนักวิชาการ เป็นต้น แน่นอนว่าสิ่งนี้บ่มเพาะมาเป็นเวลานานและแสดงให้เห็นว่าสังคมปิดกั้นและผู้คนในสังคมเองก็เห็นด้วยหรือเพิกเฉยต่อการคงอยู่ของกำแพงเหล่านี้



WATCH




ภาพ: Human Rights Watch

     วิธีการมองเรื่องเพศผ่านมุมมองโลกยุคก่อนนั้นเป็นแนวทาง Vertically หรือมองจากบนลงล่างเสมอ มุมมองแบบนี้ได้รับอิทธิพลอย่างชัดเจนมาจากสังคมชายเป็นใหญ่และวิธีคิดแบบขั้วตรงข้าม (Binary Opposition) ซึ่งมองการไล่เรียงระดับความสำคัญของเพศที่นิยามตัวเองว่า “แท้” มักจะอยู่บนสุดในพีระมิด ในขณะเดียวกันความแตกต่างนอกเหนือจากนี้มักถูกวางไว้ในระดับต่ำกว่าเสมอ ดังนั้นหากใช้มุมมองแบบนี้ไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม ก็จะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งนำคำว่า “ยอมรับ” มาใช้อยู่เป็นประจำ การประกาศตนว่าตัวเองสูงกว่า เหนือกว่า และให้การยอมรับผู้อื่นดูเหมือนจะเป็นวิถีปฏิบัติยอดนิยม เพราะสุดท้ายจะยอมรับทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่นั้นไม่มีใครรู้ แต่การออกตัวในฐานะผู้เห็นอกเห็นใจจากบนพีระมิดที่เหนือกว่าย่อมได้รับการชื่นชมและยังคงสถานะเหนือกว่าต่อไป (อาจจะยอมรับแค่ 70 เปอร์เซ็นต์เหมือนเป็นการลดระยะห่างให้ดูเหมาะสมแต่ก็ยังถือครองอำนาจที่เหนือกว่าอยู่ดี - ไม่เท่าเทียมจริง) และค่อยๆ ใช้คำว่ายอมรับเป็นเกราะความดีกำบังความอคติบางอย่างที่คงอยู่ไว้เบื้องหลังได้เหมือนกัน

ภาพ: ABC News

     เรื่องเหล่านี้เองที่ทำให้คำว่า “ยอมรับ” ไม่ควรถูกนำมาเป็นเครื่องมือของใครหรือแนวความคิดใดก็แล้วแต่ การมองโลกโดยมีคำว่ายอมรับย่อมสะท้อนถึงการมองรูปแบบสังคมแบบ Look-Up และ Look-Down อยู่วันยังค่ำ แม้จะบอกว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพ และอิสระเต็มประดา แต่เมื่อมีใครต้องอ้าแขนรับ เป็นคนเปิดประตูให้อีกฝ่าย ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่ายังคงมีลำดับขั้นทางสังคมอยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะไม่ชัดเจนเหมือนการปฏิบัติชนิดโลกแคบในสมัยก่อน ทว่ามันก็ยังหลงเหลือการแบ่งแยกเป็นนัยๆ อยู่ดี

ภาพ: The New York Times

     เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่ฝ่ายผู้เรียกร้องที่พยายามค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเองและเพื่อนร่วมกลุ่มสังคม แต่ต้องสลับมาวิเคราะห์เกี่ยวกับบุคคลผู้ตอบสนองต่อการเรียกร้องด้วย อย่างที่กล่าวไปว่าหากใช้มุมมองจากบนลงล่างก็เปลี่ยนแปลงได้เพียงผิวเผิน ดังนั้นวิธีการมองมนุษย์ด้วยกันไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจควรมองแบบ Horizontally หรือการมองแนวราบ สิ่งนี้จะทำให้ความหลากหลายกระจายตัวอยู่ในสังคมได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ต้องมีใครอยู่ลำดับขั้นเหนือกว่าเพื่อเป็นพ่อพระแม่พระคอยเปิดโอกาสให้คนกลุ่มอื่น เรื่องนี้ควรปลูกฝังไว้ตั้งแต่เด็กว่าการแบ่งแยกในสิ่งที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่นมันไม่ใช่ผลดีต่อระบบสังคม เพราะทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกันไม่ว่าจะเพศ ผิว เชื้อชาติ หรือปัจจัยอะไรก็ตามแต่ย่อมต้องไม่สร้างความแตกต่าง แบ่งแยก และทำลายมนุษยธรรมไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ภาพ: WSHU

     การยอมรับกับอ้าแขนโอบอุ้มไม่เหมือนกัน...แน่นอนว่ายุคปัจจุบันทุกอย่างดูเหมือนจะเท่าเทียมมากขึ้นในเชิงทฤษฎี แต่ในเชิงปฏิบัติกลับก้าวไปไม่ถึงจุดนั้น ยังมีกำแพงบางอย่างที่มีคนคอยรักษาให้มันแข็งแรงอยู่เสมอ อีกทั้งยังใช้คำว่ายอมรับเป็นเครื่องมือดูดซึมแรงปะทะทางสังคม ดังนั้นเมื่อการเรียกร้องต้องใช้พลังและความศรัทธา ผู้คนนอกกลุ่มสังคมเพศทางเลือกที่เข้ามาโอบอุ้มดูแลไม่ได้มองพวกเขาแบบบนลงล่าง แต่มองพวกเขาเป็นเพื่อนมนุษย์ที่เราต้องช่วยเหลือขับเคลื่อนไปด้วยกัน ดังนั้นพวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้คำว่ายอมรับเพราะพวกเขาเหนือกว่า เพียงแต่พวกเขาโอบอุ้มความบอบช้ำและก้าวเดินเคียงข้างไปพร้อมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง นี่ต่างหากคือโลกแห่งความหลากหลายที่ไม่ได้สนใจถึงแค่การยอมรับ แต่ก้าวไปไกลถึงคำว่าเพื่อนมนุษย์อันเท่าเทียมกัน

ภาพ: โว้กประเทศไทยฉบับเดือนมิถุนายน 2021

     การสนับสนุนกลุ่มคนที่อาจยังไม่ได้รับความเท่าเทียมในสังคมนั้นไม่จำเป็นต้องเพิ่มความพิเศษ โม-จิรัชยา ศิริมงคลนาวิน กล่าวกับผู้เขียนช่วงระหว่างถ่ายปกฉบับเดือนมิถุนายน 2021 ว่า “ถ้าจะชมว่าเราสวยเราเก่ง ก็ชมแค่นั้นพอแล้ว ไม่ต้องบอกว่าเราสวยเหมือนผู้หญิง หรือเราสวยกว่าผู้หญิงอีก” คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพวกเขาต้องการความเท่าเทียมมากกว่าการสาธยายเกินขอบเขต ลองนึกถึงภาพว่าถ้าคนชมมองเพศทางเลือกถึงตัวตนของคนเหล่านั้นจริงๆ จะไม่มีการเปรียบเทียบตั้งแต่แรก จะไม่มีการยกยอให้รู้สึกว่าพวกเขา/เธอมาจากจุดที่ต่ำกว่า เพราะสุดท้ายถ้ามองถึงความเป็นมนุษย์ คำชื่นชมต่างๆ ควรชื่นชมจากตัวตนความเป็นเขา/เธอโดยไม่มีบรรทัดฐานหรือมาตรฐานใดมากำหนด เมื่อใช้เส้นแบ่งมาตรฐานและพยายามยกยอเมื่อใด เท่ากับว่าการมองโลกก็กลับไปเป็นมุมมองแนวตั้งอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้

ภาพ: IMD Business School

     ต่อมาจึงเกิดคำถามตามมาว่าถ้าไม่ใช้คำว่า “ยอมรับ” จะมีสิ่งใดมาแทนที่ให้เหมาะสม หากเปรียบจากศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า “Acceptance” มีความหมายเชิงอำนาจซ่อนอยู่มาก เราจึงมองผ่านมุมมองผ่านทางสังคมวิทยาในการขยายแว่นตาด้านความหลากหลายโดยใช้คำว่า “Acknowledge” แทน คำนี้ไม่ได้แสดงถึงความหมายเชิงอำนาจแบบบนลงล่างหรือล่างขึ้นบน แต่เป็นการเข้าทำความเข้าใจแบบแนวราบ สิ่งนี้ไม่ได้ถูกจำกัดแค่การศึกษาเรื่องเพศ แต่หมายถึงการทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน และค่อยๆ ต่อยอดไปสู่ความลึกซึ้ง ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดต่อปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มสังคม เมื่อสามารถทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็จะทำให้คนในสังคมอยู่รวมกันได้โดยไม่ต้องใช้เกณฑ์อะไรมากำหนดและคอยสร้างบรรทัดฐานการยอมรับใดๆ ที่สร้างเงื่อนไขการใช้คำว่ายอมรับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

ภาพ: AARP

     สุดท้ายคำว่ายอมรับไม่ได้ผิดอะไรและไม่ได้มีความหมายแง่ลบในโลกความจริงมากนัก เพียงแต่ว่าหากจะเปิดกรอบสังคมให้กว้างขึ้นจริงๆ มันอาจมีวิธีที่ดีกว่า ขับเคลื่อนได้ลื่นไหลกว่า และแสดงถึงความเท่าเทียมกันมากกว่าเดิมโดยไม่ต้องใช้คำนี้ ดั่งที่อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “เราไม่จำเป็นต้องบอกว่ายอมรับใคร เมื่อมนุษย์เรียกหาความเท่าเทียม การทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันโดยมองว่าทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกันด้วยมุมมองแนวราบ ไม่ได้มีใครล้ำหรือด้อยค่าไปกว่ากันคือสังคมในอุดมคติ เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงคำว่ายอมรับก็หมดความสำคัญในเชิงอำนาจลงไปทันที” จากทั้งหมดทั้งมวลข้อสรุปมันง่ายและสั้นนิดเดียวคือ เมื่อมองมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมผ่านการหล่อหลอมทางสังคมอย่างถูกต้อง ไม่ว่าใครจะเป็นอะไร เชื้อชาติใด สีผิวอะไร หรือมีรสนิยมแบบไหน ไม่มีใครต้องอ้าแขนและตั้งตนเป็นผู้ยอมรับ มากไปกว่านั้นกลุ่มคนที่กำลังเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทั่วโลกก็ไม่ต้องพยายามให้ได้มาซึ่ง “ความปกติ” ที่พวกเขา/เธอควรจะได้รับมาตั้งแต่วินาทีแรกที่เกิดมาเป็นมนุษย์เฉกเช่นทุกคน...

 

ข้อมูล:

วารสารสังคมศาสตร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ปที่ 3 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม - ธันวาคม 2563) - ภาพแทนของเพศที่สามในสังคมผานบทละครโทรทัศนเรื่อง“ใบไมที่ปลิดปลิว”

ความเสมอภาคของเพศที่สามตามร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ โยนางสาวจิราภรณ์ ใหม่พรหมมา

ความหลากหลายทางเพศกับพหุวัฒนธรรมในสังคมไทย: การสำรวจองค์ความรู้ โดย ปณิธี บราวน์

usnews.com

nytimes.com

theguardian.com

japantimes.co.jp

WATCH

คีย์เวิร์ด: #PrideMonth #Pride