LIFESTYLE

Pride and Prejudice ภาพยนตร์ที่สะท้อนชีวิตของผู้หญิง ผ่านความโรแมนติกในศตวรรษที่ 18

เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของหญิงสาวในยุคนั้นการแต่งงานออกเรือนให้ไวที่สุด

Pride and Prejudice คือนวนิยายขึ้นหิ้งผลงานการเขียนของนักประพันธ์ผู้ทรงอิทธิพลต่องานวรรณกรรมในยุคศตวรรษที่ 18 อย่าง “Jane Austen” เป็นบทประพันธ์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนมีการนำเสนอและพัฒนามาเป็นรูปแบบของภาพยนตร์และบทละครโทรทัศน์อยู่หลากหลายเวอร์ชั่น

หากมากกว่าแค่เรื่องราวความรักโรแมนติกที่เราได้ชมและได้อ่านกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้สอดแทรกความเป็นเฟมินิสไว้พอสมควรและเป็นภาพสะท้อนที่เล่าถึงวัฒนธรรม สังคม และบทบาทของผู้หญิงในยุคที่พวกเธอยังไม่ได้รับความสำคัญและมีจุดยืนมากพอเหมือนปัจจุบัน เมื่อคุณเกิดมาเป็นผู้หญิงสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตสำหรับคนยุคนั้นคือการหาสามีรวยๆ และออกเรือนให้ไว้ที่สุดเพื่อเป็นหลักประกันในชีวิต ไม่เช่นนั้นพวกเธอจะกลายมาเป็นภาระให้กับพ่อแม่ 

ครอบครัว Bennet ชนชั้นกลางใน Hertfordshire เมืองชนบท ประเทศอังกฤษ / Vox

เรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งเน้นไปที่ครอบครัวชนชั้นกลางอย่าง The Bennet โดยมี “Elizabeth Bennet” ลูกสาวคนที่ 2 ในจำนวน 5 คน เธอเป็นดั่งแม่เหล็กและจุดกึ่งกลางที่คอยเชื่อมตัวละครตัวอื่นเข้าด้วยกัน อลิซาเบธคือหญิงสาวหัวรั้นที่มีจิตใจเป็นอิสระ เธอเชื่อมั่นอย่างเต็มหัวใจว่าความรักเกิดขึ้นได้ด้วยความรู้สึก ไม่ใช่จากการคลุมถุงชน หรืออาการถูกใจเมื่อรู้เรื่องเงินรายได้ต่อปีของอีกฝ่าย (แบบที่แม่ของเธอคิดมาโดยตลอด)

หรือเป็นอย่างที่ตัวละครเพื่อนสาวคนสนิทของนางเอกอย่าง “Charlotte Lucas” วัย 27 ปีซึ่งถือเป็นวัยที่แก่เกินกว่าจะแต่งงานได้แล้วนั้นตัดสินใจแต่งงานกับ “William Collins” ญาติห่างๆ ของลิซซี่พร้อมออกปากกับเจ้าหล่อนว่าที่เธอตัดสินใจแต่งงานกับเขาทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้สึกอะไรเลยสักนิดก็เพราะว่าตัวเธอเป็นภาระของพ่อกับแม่มานานแล้ว และขอได้โปรดอย่าตัดสินกันด้วยเหตุผลนี้ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะแต่งงานเพราะความรัก แต่เพราะเพื่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินต่างหาก 

คุณนาย Bennet พาลูกสาวที่เหลือบุกไปยังคฤหาสน์ Netherfield Park / PopCult

ขณะที่ด้านคุณนายเบนเน็ตเองที่มีลูกสาวถึง 5 คน หน้าที่ในแต่ละวันของเธอคือการเทียวไปมามองหาคู่ครอง (รวยๆ) เพื่อจับลูกยกใส่พานถวาย ซึ่งนั่นถือเป็นหน้าที่อันสูงสุดของคนเป็นแม่ในตอนนั้น อย่างที่คุณนายเบนเน็ตเองพูดไว้ตอนหนึ่งว่า “ถ้าเธอมีลูกสาวถึง 5 คน คิดว่าวันวันหนึ่งจะทำอะไรกันล่ะ” คุณนายเบนเน็ตเองดีใจอกแทบแตกเมื่อรู้ว่า “Lydia” หนึ่งในลูกสาวได้ออกเรือนแล้วด้วยวัยเพียงแค่ 15 ปีเท่านั้น หรือกระทั่งตามเจ้ากี้เจ้าการความรักของลูกสาวคนโตอย่าง “Jane” เพื่อหวังให้หน้าตาสะสวยของเธอได้มัดใจ “Charles Bingley” หนุ่มชาติตระกูลดี ที่ดียิ่งกว่านั้นเพราะเขามีรายได้ต่อปีถึง 5,000 ปอนด์ นี่เป็นสัญลักษณ์ของการประสบความสำเร็จในชีวิตของหญิงสาวเหล่านั้น คือการได้สามีรวยๆ ที่จะเลี้ยงดูพวกเธอไปตลอดชีพ

ในขณะที่อลิซาเบธเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้เขียนอย่างเจน ออสติน ตัวละครนี้สะท้อนภาพความคิดของเจนได้เป็นอย่างดี เมื่อเธอบอกเล่าสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจ เพื่อพูดถึงเรื่องคุณค่าและความเท่าเทียมกันของคนทุกเพศ และหวังว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งก็เป็นแบบที่เธอหวัง เมื่อสังคมปัจจุบันเราเริ่มไม่ผูกติดกับเพศสภาพและให้เกียรติกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน



WATCH




Elizabeth Bennet ลูกสาวคนที่ 2 ของตระกูลเบนเน็ต / The Telegraph

ลิซซี่จึงกลายมาเป็นคาแรกเตอร์ของสาวหัวรั้นที่ไม่เดินตามกฎเกณฑ์เมื่อเทียบกับสาวๆ คนอื่นในบ้านหรือแม้แต่สาวๆ ในยุคสมัยนั้น เธอเลือกที่จะไม่ใส่ถุงมือ เพราะคิดว่ามันกดขี่ทางเพศมากเกินไป และกล้าที่จะต่อปากต่อคำ หรือพูดในสิ่งที่ใจคิดแบบไม่กลัวถึงฐานะและเพศสภาพของตัวเอง เธอไม่ได้หัวอ่อนถูกชักจูงง่ายแบบหญิงสมัยนั้น หรือเป็นเพียงหญิงที่จ้องจะจับชายหนุ่มผู้ร่ำรวยไปวันๆ แต่ลิซซี่มีความคิดที่ลึกกว่า เธอไม่เดินตามทางขนบที่ผู้หญิงส่วนมากต้องเดิน แต่ลิซซี่เลือกที่จะซื่อตรงกับหัวใจของตัวเองมากที่สุด เธอชอบเดินไปตามถนนมากกว่านั่งรถม้าเหมือนสาวคนอื่นๆ เพื่อชมวิวธรรมชาติสองข้างทางจนชายกระโปรงเปื้อนโคลนเป็นกระจุก ชอบหัวเราะและร้องรำทำเพลงมากกว่านั่งเล่นเปียโน หรือแม้แต่ชอบอ่านหนังสือที่ชวนลับสมองมากกว่าการเย็บปักถักร้อย 

ตัวละคร Elizabeth Bennet และ Fitzwilliam Darcy ฉบับละครโทรทัศน์ในปี 1995 / ScoopNest

สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอแตกต่างกว่าใคร พระเอกหนุ่มอย่าง “Fitzwilliam Darcy” จึงอดหัวใจไม่ให้ถลำลึกไม่ได้ หากด้วยชาติกำเนิดอันต่ำต้อยของครอบครัว และความกระหายใคร่อยากในความร่ำรวยของพ่อและแม่ของเธอ ทำให้ดาร์ซี่ผู้มากด้วยทรัพย์สิน ปัญญา และชาติกำเนิดอดที่จะดูแคลนครอบครัวของลิซซี่ไม่ได้ เธอจึงตอบปฏิเสธคำขอแต่งงานจากเขา ผู้ที่ดูถูกครอบครัวและขัดขวางความรักของพี่สาวตัวเอง เธอทะนงในศักดิ์ศรี ส่วนเขาผยองในชาติกำเนิด ฐิถิที่ทั้งคู่ถือไว้ทำให้เส้นทางความรักไปต่ออย่างยากลำบาก กระทั่งวันเวลาผ่านไปและเหตุการณ์อีกมากมายพิสูจน์เส้นทางรัก ความรักที่ถูกบดบังด้วยอคติจึงสว่างขึ้นในฉับพลัน 

สาสน์หลักที่เจน ออสติน ต้องการแสดงถึงในนวนิยายเรื่องนี้เลยคือการแต่งงาน เจนร่างเรื่องราวการแต่งงานของหญิงสาวในยุคนั้นออกเป็นหลายรูปแบบที่ชวนทั้งคนอ่านและคนดูตั้งคำถามว่าการแต่งงานในรูปแบบไหนกันแน่ที่เหมาะควรในยุคนั้นมากที่สุด ทั้งจากคู่ที่เกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจการเงินอย่างคู่ของลิเดีย หรือเกิดจากสถานะความมั่นคงในชีวิตการแต่งงานของชาร์ล็อต และคู่ที่เกิดจากรักแท้อย่างลิซซี่

ตัวละคร Elizabeth Bennet และ Fitzwilliam Darcy ฉบับภาพยนตร์ในปี 2005 / PopCult

จนเราได้ข้อสรุปว่าไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะอะไร ทั้งหมดล้วนแล้วไม่มีถูกหรือผิดทั้งนั้น ในเมื่อสังคมในยุคนั้นต่างหากที่เป็นคนปูทางและให้บทบาทกับสุภาพสตรีเพียงน้อยนิด ผู้หญิงต้องเรียนเย็บปักถักร้อย เล่นเปียโนได้อย่างคล่องแคล่ว วาดภาพได้อย่างสวยงาม และต้องแต่งงานออกเรือนเพื่อเป็นหลักประกันในชีวิต ท้ายที่สุดแม้เรื่องราวนี้จะไม่ได้ตะโกนก้องถึงการเรียกร้องสิทธิทางเพศและความเท่าเทียมแบบตรงไปตรงมาเท่าไหร่ หากบทประพันธ์เรื่องนี้นับว่าสดใหม่อย่างที่สุดในยุคสมัยนั้น และแน่นอนว่ารายละเอียดที่เจนทิ้งไว้ให้เราทุกคนได้เข้าใจและให้เกียรติซึ่งกันและกันยังคงทิ้งร่องรอยสืบมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างน้อยก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มไปด้วยเสน่ห์ ทั้งจากตัวละคร ความผูกพันธ์ของครอบครัว วิถีการใช้ชีวิต รวมไปถึงบทสนทนาอันเรียบง่ายที่ทำให้ Pride and Prjudice กลายมาเป็นภาพยนตร์หรือนวนิยายในดวงใจของใครหลายคน

WATCH