
LIFESTYLE
รู้จัก POP CULTURE วัฒนธรรมที่แทรกซึมใกล้ตัวคุณกว่าที่คิดอะไรคือ Pop Culture ทำไมวัฒนธรรมป๊อปจึงแทรกซึมในทุกวงการอย่างปฏิเสธไม่ได้ |
การ์ตูนมังงะ, เพลงสไตล์ J-Rock, ซีรีส์เกาหลี และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซเบธที่ 2 ทั้งสี่ชื่อที่ยกตัวอย่างมานั้นดูเหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กันทั้งสิ้น แต่ถ้าได้ลองมองลึกลงไปในรายละเอียด แท้จริงแล้วทั้งสี่มีความเกี่ยวข้องกันในฐานะของส่วนหนึ่งใน ‘pop culture’ หรือวัฒนธรรมป๊อป ซึ่งหลายคนได้ยินวลีนี้มานานแต่ยังไม่แน่ใจว่าวัฒนธรรมกระแสนี้แท้จริงแล้ว…คืออะไรกันแน่
ควีนอลิซาเบธที่ 2 ที่ถูกนำไปตัดต่อเป็นภาพมีมในลุคสุดปังของ Rihanna / ภาพ: @badgalriri
วัฒนธรรมป๊อป หรือวัฒนธรรมประชานิยมนั้นหมายถึงวัฒนธรรมใดๆ ก็ตามที่คนในยุค หรือช่วงนั้นๆ ให้ความนิยม ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ในเรื่องของความบันเทิง หรือแฟชั่นเท่านั้น วัฒนธรรมป๊อปอาจจะรวมไปถึงความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ หรือตัวบุคคลเองที่สามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสวัฒนธรรมนี้ถ้าคนส่วนมากในสังคมเห็นว่าสิ่งนั้นๆ น่านิยมสนใจ ซึ่งเริ่มเกิดการศึกษาและนิยามคำว่าวัฒนธรรมป๊อปเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยจุดตั้งต้นของวัฒนธรรมป๊อปนั้นก็เป็นสิ่งที่สานต่อมาจากระบบทุนนิยม ที่เมื่อสร้างให้เกิดความต้องการต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว สิ่งนั้นก็จะได้รับความนิยม และสิ่งที่ตามมาก็คือเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล
ดังที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น วัฒนธรรมประชานิยมนั้นมีปรากฏในหลากหลายวงการ และแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันโดยที่อาจจะไม่รู้ตัว และนี่คือตัวอย่างของวัฒนธรรมป๊อปที่ฝังราก หยั่งลึกไปกับชีวิตประจำวันอย่างแนบสนิท
ซีรีส์เรื่อง Friends เป็นส่วนของวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต และความคิดของวัยรุ่นในยุค ‘90s / ภาพ: Popsugar
วัฒนธรรมป๊อปกับวงการบันเทิง
หากพูดถึงสิ่งที่จะเข้าถึงและครองใจคนหมู่มากได้อย่างรวดเร็ว ‘ความบันเทิง’ น่าจะเป็นตัวเลือกอันดับแรก เพราะเข้าถึงได้ง่ายและไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ความเข้าใจมากนัก จุดนี้เองจึงทำให้วัฒนธรรมป๊อปไปได้ดีกับวงการบันเทิง และจุดติดกระแสได้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่นฮอลลีวู้ด ซึ่งเป็นวัฒนธรรมป๊อปที่สามารถแปรสภาพให้เป็นกระแสวัฒนธรรมหลักได้ในที่สุด อีกทั้งสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลในแต่ละปี และเป็นแบบอย่างความสำเร็จให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงในวัฒนธรรมอื่นไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนมังงะ และอนิเมะจากญี่ปุ่น, วัฒนธรรม K-POP และละครซีรีส์จากประเทศเกาหลีใต้ หรือจะเป็นอุตสาหกรรม Bollywood จากฝั่งอินเดีย
การกลับมาของแฟชั่นสไตล์ ‘90s โดยเซเลน่า โกเมซ / ภาพ: Popsugar
วัฒนธรรมป๊อปกับวงการแฟชั่น
ภาพสะท้อนของวัฒนธรรมป๊อปฉายให้เห็นเด่นชัดอย่างมากในอุตสาหกรรมแฟชั่น เพราะบนพื้นที่นี้เต็มไปด้วยสิ่งที่เป็นของเก่าไป ใหม่มา และวนเวียนลื่นไหลอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่นการกลับมาของแฟชั่นสไตล์ ‘80s และ ‘90s ที่เป็นที่นิยมอย่างในปัจจุบัน หรือจะเป็นกระแสการแต่งกายแบบ Genderless ที่ไม่ได้คำนึงว่าเสื้อผ้าเป็นสิ่งระบุเพศใดๆ อีกต่อไป ซึ่งความเป็นไปของวัฒนธรรมป๊อปที่ผสานไปกับแฟชั่นอาจจะต้องยกเครดิตให้กับช่องทางโซเชียลมีเดีย ที่ช่วยให้การผสมผสานแนวคิด เทรนด์ และสไตล์ ออกมาเป็นเรื่องฮอตฮิตใหม่ๆ ในโลกแฟชั่นอยู่เสมอ
ภาพ Marilyn Diptych ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้แอนดี วอร์ฮอลในฐานะศิลปินป๊อปอาร์ต / ภาพ: BBC
วัฒนธรรมป๊อปกับวงการศิลปะ
ไม่น่าแปลกใจสำหรับวงการที่มีจุดขายเป็นความสวยงาม และความคิดสร้างสรรค์เช่นวงการศิลปะจะไปด้วยกันได้ดีกับวัฒนธรรมป๊อป เพราะกระบวนการเกิดของวัฒนธรรมป๊อปก็มาจากความคิดสร้างสรรค์จากสิ่งใกล้ตัว เฉกเช่นเดียวกับศิลปะ อย่างศิลปินป๊อปอาร์ต ‘แอนดี วอร์ฮอล’ ถือเป็นต้นขั้วของการนำวัฒนธรรมป๊อปมาผสานกับงานศิลปะได้อย่างแตกต่าง และลงตัว ผลงานของเขาที่เคยผ่านตาแต่อาจจะไม่ทราบว่าเป็นผลงานของเขาอย่างเช่นภาพ Campbell’s Soup Can และภาพ Marilyn Diptych เป็นต้น
ปารีส ฮิลตัน และ คิม คาร์ดาเชียน / ภาพ: Teen Vogue
วัฒนธรรมป๊อปกับบุคคล
มีบุคคลจำนวนไม่น้อยที่กลายมาเป็นภาพสัญลักษณ์ในกระแสวัฒนธรรมป๊อป อาจด้วยบุคลิกอันโดดเด่น, การสร้างกระแสด้วยตนเอง หรืออยู่ในฐานะบุคคลสำคัญระดับโลก แต่ไม่ว่าจะเพราะเหตุผลใด บุคคลเหล่านี้ก็กลายมาเป็นที่ถูกพูดถึง ถูกค้นหา รวมทั้งถูกนำไปใช้สร้างคาแรคเตอร์จนกลายเป็นภาพจำติดตา เช่นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซเบธที่ 2 ที่มักจะปรากฏเป็นมีมที่ใช้ในโลกโซเชียลอยู่เสมอ, ครอบครัวคาร์ดาเชียนที่สร้างคาแรคเตอร์เฉพาะให้กับคนในครอบครัวผ่านรายการเรียลลิตี้ของตัวเองจนประสบความสำเร็จ หรือเซเลบริตี้สาวยุคต้น 2000s ปารีส ฮิลตัน ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนถูกนำไปเลียนแบบอยู่บ่อยครั้ง
ฉากการแสดงสัญญะในภาพยนตร์ Hunger Games ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย / ภาพ: Rotten Tomato
วัฒนธรรมป๊อปกับการเมือง
บ่อยครั้งที่วัฒนธรรมป๊อปจะถูกหยิบมาเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกทางการเมือง ทั้งเป็นสัญญะการแสดงออกซึ่งเป็นที่เข้าใจโดยองค์รวม หรือจะเป็นสัญญะที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ โดยปัจเจก แต่ไม่ว่าจะถูกใช้งานในฟังก์ชั่นไหนก็ตามก็ทำให้เห็นได้ว่าวัฒนธรรมป๊อปช่วยสร้างความเข้าใจที่ง่าย เห็นภาพ และยังเป็นการแทนความรู้สึกนึกคิดที่ต้องการจะสื่อสารออกทางสัญลักษณ์ เช่นการชูสามนิ้วของกระบวนการประชาธิปไตยในเอเชีย ที่ได้รับอิทธิพลมากจากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games โดยต้องการจะสื่อความหมายถึงการปฏิวัติ เป็นต้น
วัฒนธรรมนั้นมิใช่แค่เพียงสิ่งเก่า คร่ำครึ หรือเป็นเพียงแค่ภาพฉาบฉวยสวยงามเท่านั้น แต่วัฒนธรรมคือชีวิต ความคิด และผู้คน ดังนั้นหากลองเรียนรู้ และเข้าใจวัฒนธรรมให้มากขึ้น คุณอาจจะเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจสังคมมากยิ่งขึ้น และไม่เพียงแค่คุณจะมองโลกได้กว้างขึ้น คุณอาจจะเห็นโลกได้ชัดเจนขึ้นมากกว่าเดิมด้วย
ข้อมูล : Medetail, Prachachat
WATCH