LIFESTYLE

Q : ตกลงการประกวดนางงามวัดกันที่อะไร...ระหว่าง 'ความสวย' หรือ 'ความรู้'

ประเทศไทยต้องส่งนางงามแบบไหนไปชิงชัยเพิื่อให้ได้มงที่ 3 มาครอง...

     เมื่อได้นั่งพิจารณา “การประกวดนางงาม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวทีมิสยูนิเวิร์สแล้วนั้น ก็ต้องพบว่ารูปแบบ นิยาม และคำจำกัดความนั้นเดินทางมาไกลอยู่มาก จากการประกวดนางงามที่เป็นการประกวดนางง๊ามนางงามในครั้งอดีต กลับถูกพร่าเลือนด้วยค่านิยมเรื่องคุณค่าในตัวผู้หญิงที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน จนกลายเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่แฟนนางงามว่าแท้จริงแล้ว การประกวดนางงามตัดสินจากอะไรกันแน่ ระหว่าง “ความสวย” หรือ “ความรู้”...

     ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งแรกในปี 1952 รากฐานของการประกวดมิสยูนิเวิร์สได้เริ่มขึ้นจากบริษัทเจ้าของแบรนด์ชุดว่ายน้ำชื่อว่า Catalina Swimwear ในเวลานั้น มีความต้องการให้ Yolanda Betbeze ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น Miss America สวมใส่ชุดว่ายน้ำของแบรนด์ดังกล่าว ทว่าเธอกลับปฏิเสธ จนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตสร้างความไม่พอใจกับตันสังกัดของบริษัทดังกล่าวเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นแรงผลักดันให้บริษัทได้จัดเวทีการประกวด Miss Universe ขึ้นมาแทนเพื่อเฟ้นหาสาวงามที่จะสามารถใส่ชุดว่ายน้ำดังกล่าวได้สวยงามที่สุด จนได้นางงามจักรวาลคนแรกอย่าง Armi Kuusela ผู้เข้าประกวดจากประเทศฟินแลนด์ ดังนั้นแล้วรากที่แท้จริงของการประกวดนางงามก็หนีไม่พ้น “ความงาม” (ถึงแม้การตั้งชื่อเวที และการจัดการประกวดจะเป็นการตบหน้ามิสอเมริกาในปีนั้นเพื่อความสะใจส่วนตัวของบริษัทล้วนๆ ก็ตาม)

     ธรรมเนียมการตัดสินจากการการพิจารณาจาก ความงามภายนอก บนเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์สถูกส่งไม้ต่อมาแบบรุ่นต่อรุ่น จนกระทั่งที่ครั้งหนึ่งในปี 1968 ผู้เข้าประกวดนามว่า Martha Maria Cordeiro Vasconcellos จากประเทศบราซิล ไม่สามารถตอบคำถามในรอบสุดท้ายได้ แต่ก็ยังสามารถคว้ามงกุฎไปครองได้สำเร็จ จนเกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเวลานั้น เกิดการตั้งคำถามจากสังคมเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหล่านักสตรีนิยมที่โจมตีว่า “เวทีประกวดนางงาม คือสิ่งที่ลดทอนคุณค่าของผู้หญิงอย่างถึงที่สุด” กระนั้นเวทีนางงามก็ยังคงดำเนินต่อมาอย่างกระท่อนกระแท่น จนกระทั่งกลับมาเปรี้ยงปร้างอีกครั้งในยุคของ โดนัล ทรัมป์ เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ ด้วยการจัดการประกวดให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงยึดถือนิยามการประกวดนางงามเดิมที่ว่า “ความงาม” สำคัญที่สุด เราจึงได้เห็นเหล่าแก๊งค์ “สาวผมบลอนด์” ที่เป็นกระแสนิยมทั่วโลกในเวลานั้นพาเหรดเข้ารอบชิงมงกุฎกันหนาตาหลายปีติดต่อกัน จนประเทศแถบเอเชียหมดหวังกันไปเป็นแถบๆ กระนั้นในยุคนี้ก็ไม่ได้อยู่เรื่องของความสวยความงามเท่านั้น เพราะนักธุรกิจอย่างทรัมป์ก็ลากเรื่องราวของธุรกิจให้กลับมามีอิทธิพลบนเวทีนางงามอีกครั้ง เฉกเช่นเมื่อครั้งที่สาวงามจากประเทศญี่ปุ่นอย่าง Mori Riyo กลายเป็นนางงามจักรวาล ที่เกิดข้อครหาว่านี่ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่คือการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับนายทุนสปอนเซอร์บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส ที่ได้สปอนเซอร์มงกุฎในตำนาน Mikimoto จากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นนั่นเอง



WATCH




     เวทีนางงามในมือของทรัมป์ผ่านมาได้กว่าทศวรรษ ก็มีอันต้องเปลี่ยนมือจากข่าวฉาวมากมาย และการตัดสินใจลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา มิสยูนิเวิร์สจึงเปลี่ยนผ่านสู่ยุค IMG ในปี 2015 เป็นต้นมา เวทีนางงามในยุคนี้กลายเป็นเวทีนางงามที่ถูกพูดถึงตั้งแต่ปีแรก ด้วยความโดดเด่นที่ต้องการจะแสดงให้จักรวาลนี้ได้เห็นถึงคุณค่าที่แท้จริงของผู้หญิงในยุคปัจจุบัน ด้วยการตามหา “Spokeperson” ที่ต้องประกอบไปด้วยภาวะการเป็นผู้นำ, ต้นแบบแห่งแรงบันดาลใจ, สามารถเข้าถึงได้ง่าย หรือแม้แต่ต้องเป็นผู้หญิงที่มีความรอบรู้ทั้งด้านความรู้ทั่วไป และการเมืองโลก ที่จุดเด่นของเวทีมิสยูนิเวิร์สปัจจุบันนี้ได้รับการพูดถึงอยู่สมอในเรื่องของการหยิบยกประเด็นคำถามที่ลึก และจริงจังมาหยั่งเชิงเหล่านางงาม จนทำให้เหล่าตัวเต็งในหลายๆ ปีต้องตกม้าตายมาแล้ว และดูเหมือนว่าทักษะด้านการตอบคำถาม และการกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับประเด็นการเมืองโลกจะเข้มข้นขึ้นทุกปี ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงบนเวทีนางงามในครั้งนี้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับเหล่าแฟนคลับนางงามสับสนอยู่ไม่น้อย ที่ต่างต้องวกลับลำกลยุทธ์การเลือกนางงามจากทักษะความรู้เป็นหลัก เพื่อส่งไปชิ่งชัยในสนามการแข่งขันนี้ที่เปลี่ยนไป

ภาพถ่ายของผู้เข้าประกวดทั้ง 30 คนจากเวที Miss Universe Thailand 2020 / ภาพ : ฉันชอบดูนางงาม

 

     กระนั้นถ้าถามว่าความงามยังเป็นเรื่องสำคัญไหมบนเวทีประกวดนี้ ก็คงต้องตอบว่ายังเป็นเรื่องสำคัญอยู่มาก เพียงแต่ความงามที่ว่านี้เปลี่ยนไป ไม่ใช่ความงามที่ถูกจำกัดอยู่แค่เพียงสาวผมบลอนด์ นัยน์ตาสีฟ้า หรือต้องสูงชะรูด 180 เซนติเมตรเท่านั้น หากเป็นความเชื่อที่ว่า “ทุกคนต่างมีความงามเป็นคนตัวเอง” ไม่เป็นไปตามพิมพ์นิยม ดังนั้นแล้วการประกวดนางงามในยุคนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากการที่นางงามต้องขุดเอาความงามของตัวเองออกมาแบให้คนทั่วโลก และคณะกรรมการได้เห็นชัดเจนด้วยความมั่นใจต่างหาก ดังนั้นแล้วบนเวทีนางงามในยุคนี้ “ความฉลาด” อย่างเดียวก็คงไม่พอ เพราะคุณต้องอย่าลืมว่ารากแห่งบริบทของเวทีประกวดนางงามคืออะไร และยังมีด่านอรหันต์อย่างรอบชุดว่ายน้ำ และชุดราตรีรอคุณอยู่ ก่อนที่คุณจะได้โชว์สมองของคุณ หรือแม้แต่จะพกแค่ “ความสวย” มาสู้อย่างเดียวก็คงไม่ใช่ เพราะต่อให้คุณทะลุเข้ารอบลึกๆ ไปได้แต่ไม่สามารถตอบคำถามโลกได้อย่างเด็ดขาด คุณก็หยุดแค่เท่านั้น และไปไม่ถึงมงกุฎเช่นเคย...

     ดังนั้นแล้วบนเวทีประกวดนางงามยุคนี้ “ความงาม” ควรมาคู่กันกับ “ความฉลาด” มีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพราะ “ความรู้” สร้างได้ และ “ความสวย” ก็สร้างได้เช่นกัน...

ข้อมูล : Miss Universe Thailand Fanpage

WATCH

คีย์เวิร์ด: #MissUniverseThailand2020