LIFESTYLE

#หลงไทย แบบอิ่มใจและอิ่มท้อง...ใน จ.อุดรธานี ถิ่น Gastronomy แห่งแดนอีสาน

     โว้กพาสายกิน-ดื่ม-เที่ยว ไปร่วมทริป #หลงไทย ในโครงการ #Amazingไทยแลนด์พรีเมียม ที่ร่วมมือกันจัดขึ้นกับทาง ททท. ใน จ.อุดรธานี ดินแดนแห่ง Gastronomy ประจำภาคอีสานที่ไม่ได้มีดีแค่ ข้าวเหนียว-ส้มตำ และตำนานพญานาค อย่างที่ใครเข้าใจ...เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ช่วงบ่ายแก่ๆ กว่าจะไปถึงก็ได้เวลาพอเหมาะสำหรับการดินเนอร์มื้อพิเศษที่ร้าน ซาหมวย แอนด์ ซันส์ พอดี และนี่คือสถานที่ไฮไลต์ซึ่งสร้างอาการ “หลงที่1” ให้แก่คณะ KOL สายกินและไลฟ์สไตล์ ทั้งคุณพลอย จริยะเวช,คุณยอด บัณฑิต ภิญโญวัฒนชีพ จาก Wongnai , คุณโย-โยธา สัมพัสนีธำรง และคุณจิ-จิรายุ คูอมรพัฒนะ จากเพจ Kin-Kin (@we.are.kinkin) รวมถึงผู้โชคดีทั้ง 4 ท่าน ได้อย่างชะงัด

1 / 4

ร้าน Samuay & Sons


2 / 4

เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ ลงมือทำทุกจานด้วยตนเอง


3 / 4

คุณพลอย และคุณอ๋อง-ธีระ จริยะเวช


4 / 4

Camera eats first!


หลงที่1 #หลงไทย ไปกับอาหารอีสานร่วมสมัยรสชาติลึกล้ำที่ ซาหมวย แอนด์ ซันส์ (Samuay & Sons)

     ที่มาของชื่อ ซาหมวย แอนด์ ซันส์ แสนเก๋ นี้ได้มาจากชื่อคุณแม่ของเชฟ 2 พี่น้อง (ซึ่งแต่ก่อนคุณแม่เคยเปิดร้านตัดเสื้อชื่อ ซาหมวย) และเมื่อทั้งคู่ตัดสินใจกลับมาเปิดร้านอาหารที่บ้านเกิดจึงเติมคำว่า Sons ต่อท้ายชื่อเดิม ส่วนประวัติของเชฟก็ไม่ธรรมดา เพราะทั้ง เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ และ เชฟโจ้-วรวุฒิ ตริยเสนวรรธน์ เคยผ่านงานร้านระดับมิชลินสตาร์ที่ซานฟรานซิสโกมาแล้ว รวมถึงยังเคยเป็นเชฟประจำร้านมิชลินสตาร์ของบ้านเราอย่าง โบ.ลาน จึงนับว่าเป็นเชฟติดดาว ฝีมือหาตัวจับยากขนานแท้



WATCH




1 / 3

เชฟโจ้-วรวุฒิ ตริยเสนวรรธน์ กำลังอธิบายอย่างละเอียดถึงวัตถุดิบท้องถิ่น...ที่มาของแนวคิด “อาหารเป็นยา”


2 / 3

การตกแต่งจานน่ารัก สไตล์พื้นบ้าน ที่ล้อกับส่วนผสมในเมนู


3 / 3

เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์


     สารภาพว่านักชิมจากโว้กไม่ได้คาดหวังว่าอาหารไทย-อีสาน จะมีรสชาติแตกต่างจากเราที่เคยชิมตามร้านส้มตำเจ้าดังในกรุงเทพฯ เท่าไหร่นัก และอาหารอีสานกับการทำครัวแบบร่วมสมัย (ก็อาจจะไปด้วยกันไม่ค่อยได้...หรือเปล่า) แต่แล้วก็ต้องเปลี่ยนความคิดแทบไม่ทันเมื่ออาการ “กินไม่หยุดและชมไม่ขาดปาก” เกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารในร้านห้องแถวเล็กๆ ใจกลาง จ.อุดรธานี ขณะที่ทุกคนในทริปร่วมรับประทานอาหารอีสานรูปแบบใหม่ ซึ่งคลอเคล้าไปกับเพลงหมอลำซิ่งและคำอธิบายอย่างละเอียดยิบจากเชฟ 2 พี่น้อง จนทุกคนต้องอึ้งในความพิถีพิถันของวัตถุดิบท้องถิ่น (ที่เราอาจไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามมาก่อน) รวมถึงแนวคิด “อาหารเป็นยา” และ “การปรุงอาหารแบบเกษตรอินทรีย์” ซึ่งทำให้ดินเนอร์มื้อนั้นอร่อยขึ้นอีกเป็นกอง

1 / 5

เชฟ 2 พี่น้อง ผู้พลิกวงการอาหารอีสาน


2 / 5

เมนูพิเศษประจำวันสำหรับทีม #หลงไทย


3 / 5

ช่วงเวลาดีๆ ระหว่างดินเนอร์


4 / 5

หนึ่งใน “เซ็ตน้ำพริก” สไตล์ของ ซาหมวย แอนด์ ซันส์


5 / 5

รสชาติถึงเครื่องของแท้!


     หากใครกลัวว่าอาหารอีสานร่วมสมัยในที่นี้หมายถึง การใช้ผักฝรั่งผสมปนเปไปกับซอสครีมสุดแสนจะเลี่ยน ก็ขอบอกว่าคุณเข้าใจผิด เพราะอาหารทุกเมนูที่ซาหมวยแอนด์ซันจัดได้ว่า “แซ่บอีหลี” ตามแบบฉบับลูกอีสานขนานแท้ เมนูที่สมควรเผ็ดก็คือเผ็ดจริงๆ และเมนูที่สมควรจะถึงเครื่อง ก็แปลว่ามีทุกรสผ่านประสาทสัมผัสลิ้นของเราจริงๆ และวัตถุดิบที่ใช้ก็สุดแสนจะแปลกใหม่และไม่น่ามีใครรู้จัก (นอกจากคนท้องถิ่นแถบนั้น)

1 / 8

คุณจิ-จิรายุ คูอมรพัฒนะ กำลังจิบสาโทบ๊วย


2 / 8

ขนมจีนน้ำยากบ


3 / 8

สะเดาคลุกยำตะไคร้ ใส่สัปปะรดย่าง โรยถั่วหมากกิ๊งทานคู่กับแผ่นสาหร่ายไกโรยงา


4 / 8

เมี่ยงข่าปลาหมึกย่างใบมะยม


5 / 8

ปลายอนและหมากค้อ ตัวปลาพันตะไคร้ย่างครีมเครื่องในปลายอน


6 / 8

แหนมลูกเดือย (ใส่น้ำมันดอกจำปี ดองรำข้าว)


7 / 8

ส่วนหัวของกุ้งแม่น้ำห้วยหลวง ยำแตงกว่าและกุ้งสวรรค์


8 / 8

กุ้งแม่น้ำห้วยหลวงในน้ำซุปเต้าหู้โรยผงผักหวาน


     แทนที่จะจิบไวน์ทางร้านก็เปลี่ยนให้เรามาจิบสาโทบ๊วยหอมหวาน (ในแก้วไวน์แทน) พร้อมเมนูแรกที่เชฟเลือกเสิร์ฟน้ำพริก 3 คำ ที่มีตั้งแต่ สะเดาตากแห้งคลุกยำตะไคร้ ใส่สัปปะรดย่าง โรยถั่วหมากกิ๊งทานคู่กับแผ่นสาหร่ายไกโรยงา ต่อด้วยเมี่ยงข่าปลาหมึกย่างทานคู่กับใบมะยม ส่วนเมนูที่หลายคนออกปากชมหนีไม่พ้น ปลายอนและหมากค้อ ที่มีลักษณะคล้ายกับปลาไหลย่าง เค็มๆ มันๆ และแหนมลูกเดือย (ใส่น้ำมันดอกจำปี ดองรำข้าว) ไปจนถึงเมนูกุ้งแม่น้ำห้วยหลวง ที่นำไปย่างด้วยน้ำมันหมูเจียว แล้วแยกหัวส่วนมันกุ้งออกมา ให้เรานำยำแตงกวาลงไปคลุกเคล้าอร่อยอูมามิมาก ส่วนตัวเนื้อกุ้งนำมาทำเป็นซุปน้ำเต้าหู้โรยผงผักหวาน จบด้วยขนมจีนน้ำยา(กบ) ที่หลายคนไม่ค่อยกล้าลอง แต่ด้วยฝีมืออันลึกล้ำของเชฟ...จากชิมนิดๆ ก็กลายมาเป็นชิมจนหมดจาน และนี่เป็นเพียงครึ่งแรกของค่ำคืนเท่านั้น

1 / 7

สำรับไทยรสเด็ดตั้งแต่หมูผัดกะปิเกาะพระทอง แกงไหลบัวกับแหนมย่าง และน้ำพริกมะขามหมูกรอบ


2 / 7

ทีม #หลงไทย ถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน


3 / 7

เนื้อวากิวศรีเชียงใหม่ย่าง ทานคู่เกลือจากบ่อหัวแฮดและพริกไทยกัมปอต


4 / 7

แกงมัสมั่นไก่บ้านทาคู่กับขนมปังพิต้า


5 / 7

ไอศครีมเห็ดไคโรยหมากกระบก ทานด้วยช้อนแครงจากดอนหมูดิน


6 / 7

ลูกอมหมากกระบก (อัลมอนด์ชาวอีสาน) ใส่คาราเมลน้ำปลาหวาน


7 / 7

ปิดท้ายค่ำคืนด้วยความประทับใจของทุกคน


     เมนูชุดใหญ่จัดเต็มก็ตามมาติดๆ เราทานร่วมกันในแบบสไตล์ตักข้าวล้อมวง มีทั้งหมูผัดกะปิเกาะพระทองที่ใส่มะม่วงหาวมะนาวโห่ลงไปด้วย แกงไหลบัวกับแหนมย่าง น้ำพริกมะขามหมูกรอบ ต้มส้มป่าปลาค้าว มัสมั่นไก่บ้าน และวากิวศรีเชียงใหม่ย่างซึ่งใช้เวลารอเนื้อจากฟาร์มที่หนองคายถึง 3 ปี ทานคู่กับพริกไทกัมปอตและเกลือจากบ่อหัวแฮด อร่อยฟินสุดๆ และเชฟก็สร้างเซอร์ไพรซ์สุดท้ายให้เราด้วยเมนูของหวานอย่าง ไอศครีมเห็ดไคกับลูกอมหมากกระบก ที่เราต้องรับประทานด้วย “ช้อนแครง” ซึ่งทางร้านสั่งมาจากสตูดิโอเซรามิก ดอนหมูดิน จาก จ.สกลนคร เรียกว่าเป็นค่ำคืนที่อิ่มหนำสบายพุง และทำให้เราเข้าใจว่า อาหารในแบบของซาหมวยแอนด์ซันส์ มีเอกลักษณ์และรสชาติลึกล้ำในแบบที่เราไม่คาดคิดมาก่อน จะเรียกว่าเป็น Haute Cuisine แห่งแดนอีสานก็ว่าได้

 

หลงที่2 #หลงไทย ไปกับธรรมชาติของอุดรธานี และสถานที่ท่องเที่ยวท้องถิ่น

1 / 6

โรงแรม Brown House Hotel


2 / 6

ห้องนอนตกแต่งด้วยกลิ่นอายอีสานร่วมสมัย


3 / 6

บาร์ไซส์เล็กติดสระว่ายน้ำ ที่มี Craft Beer เด็ดๆ ให้ลองชิมหลายตัว


4 / 6

เรือนหลังน้อยไว้นั่งชิวดูวิวทะเลบัวแดง


5 / 6

ห้องอาหารมีเสิร์ฟตั้งแต่ไข่กระทะไปจนถึงปังญวณรสเด็ด


6 / 6

บรรยากาศด้านหลังของโรงแรม...มองออกไปเห็นวิวทะเลบัวแดง


     เช้าวันรุ่งขึ้นทีม #หลงไทย ของเราต่างเพลิดเพลินไปกับอาหารเช้า ที่มองออกไปเห็นวิวทะเลบัวแดงชื่อดังประจำจังหวัด (แม้ว่าหน้านี้จะยังไม่มีบัวแดง) ใครจะรู้ว่ามีโรงแรมที่เฟรนด์ลี่น่ารักอย่าง Brown House Hotel ซ่อนอยู่ในตัวเมืองที่สามารถมองเห็นวิวดัง แถมยังใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่ควร Check-In เมื่อมาถึงอุดรฯ และแม้ว่าจุดมุ่งหมายหลักของเราคือการกิน...แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการท่องเที่ยวเพื่อทำความรู้จักกับวัฒนธรรมท้องถิ่นก็น่าสนุกไม่แพ้กัน

1 / 8

ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน อุดรธานี


2 / 8

ปลาคาร์ฟคือสัญลักษณ์แห่งความมงคลของชาวจีน


3 / 8

กลุ่ม KOL เซลฟีกันอย่างสนุกสนาน


4 / 8

สาธิตวิธีชงชาโดยผู้เชี่ยวชาญ


5 / 8

ชาเก็กฮวยหอมกรุ่น


6 / 8

ชาหลากหลายชนิดให้เราเลือกชิมได้ตามใจชอบ


7 / 8

ห้องชงชา


8 / 8



     หลังจากมื้อเช้าเราจึงตรงดิ่งไปยัง ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน อุดรธานี อุทยานที่เป็นเหมือนศูนย์รวมทางวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีนในจังหวัด มีทั้งพิพิธภัณฑ์ และการตกแต่งสไตล์ Oriental ที่ควรค่าแก่การมาถ่ายรูป เพราะสวยงามอย่างกับยกเมืองจีนมาไว้ที่อุดรฯ ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ห้องชงชาซึ่งมีการสาธิตวิธีชงชาจีนจากผู้เชี่ยวชาญให้เราดู แถมยังมีชาหลากหลายแบบให้เราเลือกซื้อกลับบ้านไปเป็นของฝาก หนึ่งในนั้นคือชาดอกบัวแดง (จากทะเลบัวแดงของจังหวัด) ที่สรรพคุณโด่งดังเรื่อง บำรุงกำลังและบำรุงหัวใจ เรียกได้ว่าถูกใจคนสายออร์แกนิกแน่นอน

1 / 4

เดินทางสู่ศาลเจ้าปู่-ย่า


2 / 4



3 / 4

คุณจิ-จิรายุ คูอมรพัฒนะ


4 / 4

สะพานเก้าเลี้ยว


     ถึงคราวของสายมูกันบ้าง...เดินถัดมาหน่อยในพื้นที่เดียวกันกับศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน อุดรธานี เราจะได้พบกับ ศาลเจ้าปู่-ย่า ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองที่ชาวอุดรฯ มักจะมาขอพรกราบไหว้ทั้งเรื่องการงาน การเงิน ธุรกิจการค้า เขาว่ากันว่าเซียมซีที่นี่แม่นมากจนน่าตกใจ...แถมสะพานเก้าเลี้ยวบริเวณด้านหน้าที่มีศาลาจีนตั้งอยู่ ยังเชื่อกันว่าเป็นจุดเชื่อมต่อของสวรรค์ เพราะฉะนั้นขอพรอะไรไปให้มาย้ำอีกรอบที่จุดนี้  

  

หลงที่3 #หลงไทย ไปกับร้านอาหารเก่าแก่เจ้าอร่อยประจำเมืองอย่าง อุดรโภชนา

1 / 6



2 / 6



3 / 6

ปอเปี๊ยะสดราดซอสมัสตาร์ด


4 / 6

หอยจ๊อทานคู่กับสัปปะรด


5 / 6

การตกแต่งกลิ่นอายยุค 1970s


6 / 6

โคมไฟวินเทจสุดเก๋


     นอกจากร้านอาหารสุดสร้างสรรค์อย่าง ซาหมวยแอนด์ซันส์แล้ว เป็นธรรมเนียมที่เราต้องแวะไปชิมร้านเด็ดเจ้าดังเก่าแก่ (ที่คนท้องถิ่นทานกันเป็นประจำ) อย่าง อุดรโภชนา ร้านอาหารอายุ 40 กว่าปีสไตล์ไทย-จีน ที่รสชาติอาหารเก๋าเกมส์ไม่แพ้การตกแต่งสไตล์วินเทจ ที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในหนังของ Wes Anderson ซักเรื่อง...ทั้งคู่สีที่ใช้และเฟอร์นิเจอร์กลิ่นอายยุค 1970s กลับมาที่ทีเด็ดของร้านหนีไม่พ้นเมนูดังอย่าง ปอเปี๊ยะสดแป้งหนานุ่ม ราดซอสมัสตาร์ดสีส้ม รสชาติแตกต่างแต่อร่อยสุดๆ ห่านพะโล้ สตูร์ลิ้นวัว แกงจืดปลากระพงเกี้ยมฉ่าย หมูสะเต๊ะและหอยจ๊อ ของที่นี่ก็อร่อยถูกจริตไม่แพ้กัน    

 

หลงที่4 #หลงไทย ไปกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองอุดรฯ ที่ พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

1 / 8

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี


2 / 8

ภายในอาคารราชินูทิศ


3 / 8

ห้องบ้านเชียง


4 / 8



5 / 8

ห้องเรียน


6 / 8



7 / 8

วิวัฒนาการความเจิรญภายในจังหวัด


8 / 8

คุณโย-โยธา สัมพัสนีธำรง


     เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งในไฮไลต์สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวประจำทริป #หลงไทย หนนี้ เพราะเราได้เรียนรู้เรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นมาของเมืองอุดรธานีทั้งหมดอย่างสนุกสนานจาก พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ที่จัดว่าทำได้ดีร่วมสมัย สร้างสรรค์ไม่แพ้พิพิธภัณฑ์ดีๆ ในกรุงเทพฯ เอาเป็นว่าผู้ร่วมทีมทุกท่านต่างเพลิดเพลินไปกับแต่ละห้องในพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างมาก มีห้องแปลกๆ อย่าง ห้องผี , ห้องเรียน , ห้องชานชาลารถไฟ ไปจนถึง ห้องบ้านเชียง ประวัติอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “อาคารราชินูทิศ” ซึ่งนำมารีโนเวทเป็นพิพิธภัณฑ์ ก็คือสถานที่แห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดมาก่อน โดยถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 รูปทรงของอาคารจึงเป็นสไตล์โคโลเนียล สวยสง่าคลาสสิกควรค่าแก่การมาเยี่ยมชม

 

หลงที่5 #หลงไทย ไปกับคาเฟ่ของหวานดีกรีสาวปารีเซียงที่ Barn Naa Café (บ้านนาคาเฟ่)

1 / 9

เค้กรสต่างๆที่ Barn Naa Cafe


2 / 9

โรงนาที่ถูกดัดแปลงเป็นร้านอาหาร


3 / 9

มีทั้งที่นั่ง indoor และ outdoor


4 / 9

บรรยากาศภายในโรงนา


5 / 9

คุณพลอย-จริยะเวช


6 / 9

ทางเข้าตกแต่งน่ารักๆ


7 / 9

ทาร์ตลิ้นจี่กุหลาบหอม หวาน อร่อย


8 / 9



9 / 9

เค้กส้ม


     ปิดท้ายทริป #หลงไทย ด้วยคาเฟ่ที่สาวๆ ในทริปกรี๊ดกันมากที่สุด เพราะประทับใจตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้าเขต บ้านนา ของ คุณแจม-สุชาธิษณ์ สุวิตธรรม เชฟขนมหวานและเจ้าของร้านที่แปลงพื้นที่ของทางบ้านให้กลายเป็นคาเฟ่และร้านอาหารที่เราขอบอกว่า อร่อยมากๆ Très Bien! จะบอกว่าอร่อยกว่าหลายๆ ร้านดังในกรุงเทพฯ ก็ว่าได้ ทั้งในเรื่องของวัตถุดิบแน่นๆ ที่ใช้เบอร์รีและสตรอว์เบอร์รีนอกลูกโต หรือเมนูที่หลากหลายตั้งแต่เค้กลิ้นจี่กุหลาบ ทาร์ตสตรอว์เบอร์รีพิสตาชิโอ ไปจนถึงชีสเค้ก ทุเรียน ที่สำคัญคือรสชาติกลมกล่อมกำลังดีไม่หวานจนเกินไป ยังไม่นับบรรยากาศสไตล์โรงนาที่กินขาดทุกโลเกชั่น มีทั้งเรือนกระจกสีขาวคลาสสิก ตัดกับต้นไม้สีเขียวและแอ่งน้ำ หากมาที่นี่ในช่วงหน้าหนาวจะได้อารมณ์สวน Monet ดีๆ นี่เอง เอาเป็นว่าถึงแม้จะชื่อบ้านนาแต่รสชาติปารีเซียงมาก นักชิมสายหวานควรมาลอง...แล้วคุณจะหลงรัก    

 

ช่องทางการติดต่อสถานที่ต่างๆ ในทริปนี้

ซาหมวย แอนด์ ซันส์ (Samuay & Sons)

โทร: 08-6309-6685 www.facebook.com/SamuayNsons

Brown House Hotel

โทร: 06-3369-9888 www.brownhousehotel.com

ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน อุดรธานี ศาลเจ้าปู่-ย่า

โทร: 04-224-2333  www.facebook.com/puya.udonthani

อุดรโภชนา

โทร: 04-222-1756

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

โทร: 04-224-5976 www.facebook.com/udmuseum

Barn Naa Café (บ้านนาคาเฟ่)

โทร: 09-5426-4624 www.facebook.com/barnnaacafe

WATCH