LIFESTYLE

ส่องด้านมืดประเทศไทยผ่านภาพยนตร์ระดับโลก ปัญหาที่ถูกเมินเฉยไว้ใต้พรมมาโดยตลอด

ทุกประเทศล้วนมีปัญหา แต่มุมมองจากคนภายในอาจไม่พอให้เราเห็นปัญหาอย่างแท้จริง

     ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยกลายเป็นสถานที่ยอดฮิตในการถ่ายทำภาพยนตร์แห่งหนึ่งของโลก ด้วยความสวยงามของธรรมชาติ วิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมถึงค่าครองชีพที่คุ้มค่าแก่การมาเยือนสักครั้งในชีวิต แต่ใช่ว่าเนื้อหาในภาพยนตร์จะสอดคล้องกับความประทับใจนอกจอเสมอไป เพราะภาพยนตร์ต่างประเทศนำเสนอแง่มุมความเป็นไทยแบบตรงไปตรงมา ด้านมืดของไทยที่ผู้รับชมเจ้าถิ่นเองอาจจะรู้สึก “จริง” กว่าชมรายการโทรทัศน์หรือสารคดีในประเทศตัวเองด้วยซ้ำ วันนี้เราจะมาเสนอปัญหาด้านมืดที่ถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์จากต่างประเทศกันว่า เรามีแง่มุมอันมืดมนแบบไหนบ้าง และวิธีการนำเสนอผ่านมุมมองคนนอกนั้นเป็นอย่างไร

Hidden Prostitute

บรรยากาศจากภาพยนตร์เรื่อง Only God Forgives / ภาพ: IMDb

     การค้าประเวณีและแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืนที่ชาวต่างชาติอาจรู้ดีกว่าคนไทยด้วยกันเสียอีก ภาพยนตร์คอเมดี้สุดเพี้ยนอย่าง The Hangover II ที่ถ่ายทำความจริงในการท่องราตรีของกลุ่มฝรั่งที่สามารถใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยงในประเทศไทยแบบอิสระ คนไทยหลายคนอาจไม่เคยคิดว่าจะมีแง่มุมแบบนี้ด้วยซ้ำ การจัดการที่เต็มไปด้วยมาเฟีย ความดำมืดในการปกครองโดยปราศจากการควบคุมของรัฐคือข้อถกเถียงที่ต้องใส่ใจดูกันอีกครั้งว่า หากเรื่องนี้มีจริงและเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานอยู่บนความคาบเกี่ยวระหว่างขาวกับดำ โลกสีเทาๆ นี้จะได้รับการดูแลและจัดการอย่างเหมาะสมอย่างไร เรื่องนี้ถูกมองข้ามหรือเพิกเฉยจากรัฐเสมอ ปัญหาไม่ใช่การมีอยู่แต่คือการจัดการอย่างเป็นระบบเสียมากกว่า ถนนคนเดินตามเมืองดังเต็มไปด้วยการค้าประเวณีที่รัฐอ้างว่าตรวจไม่พบ ภาพยนตร์เรื่อง Only God Forgives ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่นำเสนอประเด็นนี้อย่างเข้มข้น มีทั้งเรื่องการซื้อบริการ การทำร้ายร่างกาย และอื่นๆ อีกมากมาย จุดนี้ชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและต้องได้รับการจัดการจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การมีอยู่ของอาชีพขายบริการอาจเป็นข้อถกเถียง แต่ประเด็นเรื่องระบบการพัฒนาสังคมต้องมีระเบียบ สร้างมาตรฐานและกฎเกณฑ์แบบเข้าใจกลไกของสิ่งที่มีอยู่ชนิดที่ไม่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่

Drugs Everywhere

Leonardo DiCaprio จากภาพยนตร์เรื่อง The Beach / ภาพ: Thaiger

     เมื่อพูดถึงเรื่องยาเสพติด แน่นอนว่าประชาชนของแต่ละประเทศย่อมมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่สำหรับภาพยนตร์และสารคดีหลายเรื่องชี้ให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้ใกล้ตัวเพียงใด ประเทศไทยอาจไม่ใช่แหล่งแก๊งค์ค้ายาระดับจักรวาลเท่ากับเม็กซิโกหรือโคลอมเบีย ทว่าเราก็ไม่น้อยหน้าแน่นอนถ้าภาพยนตร์ต่างประเทศกล้านำเสนออย่างตรงไปตรงมา ความง่ายและคุณค่าของสิ่งเสพติดกลายเป็นเรื่องดึงดูดใจสะท้อนได้จากภาพยนตร์เรื่อง The Beach โดยมี Leonardo DiCaprio นำแสดง ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้สะท้อนแค่ในจอ แต่บอกเล่าเรื่องราวนอกจอของความไทยได้อย่างดี เพราะเมื่อปี 2000 ขณะภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายรัฐบาลไทยในยุคนั้นกลับแบนโดยการให้เหตุผลว่าประเด็นเรื่องสิ่งเสพติดทำลายภาพลักษณ์ความงดงามของประเทศไทย ทั้งๆ ที่เรื่องนี้นำเสนอผ่านความเป็นไปได้จริงและประเทศไทยเองก็มีปัญหาเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน ทว่าถูกทำให้เป็นเรื่องเล็กน้อยไกลตัวและซุกปัญหาไว้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาค่อนข้างเข้มข้นในประเทศไทยส่วนใหญ่มักจะมีประเด็นเรื่องยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ และถ้าเราไม่แก้ไขอย่างถูกจุด หรือแสดงเจตนาจะแก้ไขจริงๆ แง่มุมเหล่านี้ก็จะปรากฏในภาพยนตร์เรื่องต่อๆ ไป การชี้นกชี้ไม้แล้วโทษคนอื่นว่าทำลายภาพลักษณ์แต่ไม่ลงมือแก้ปัญหา ทำเหมือนไม่ยอมรับความจริง ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่มีวันได้รับการแก้ไขอย่างแน่นอน



WATCH




Unreal Prison

ความวุ่นวายในเรือนจำจากภาพยนตร์เรื่อง A Prayer Before Dawn / ภาพ: Netflix

     สำหรับชีวิตปกติหลายคนอาจจะมองข้ามเรื่องสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ แต่ในความจริงนั้นสภาพในเรือนจำสะท้อนรูปแบบการพัฒนาของแต่ละประเทศอย่างยิ่ง เพราะสถานที่นี้เป็นสถานที่บำบัดฟื้นฟูให้ผู้กระทำความผิดสามารถกลับตัวกลับใจมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้งอย่างมีคุณภาพ สำหรับเรือนจำไทยในภาพยนตร์ A Prayer Before Dawn เป็นตัวอย่างที่สามารถถ่ายทอดความโคตรจริงของเรือนจำไทยได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะข้างในเต็มไปด้วยการกดขี่ข่มเหง การข่มขืน แบ่งขั้วอำนาจ ยาเสพติด ความรุนแรง โรคติดต่อ การพนัน การติดสินบน และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดบอกเล่าเรื่องราวจะฝรั่งหนุ่มคนหนึ่งผู้เผชิญชะตาชีวิตอันน่าเหลือเชื่อและสัมผัสประสบการณ์อำมหิตในเรือนจำที่ชื่อว่าโหดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ที่โหดไม่ใช่เรื่องความเคร่งครัด แต่หมายถึงความสกปรกโสมมจากทุกแง่มุม จุดนี้เราคงต้องมองกันใหม่แล้วว่ากระบวนการฟื้นฟูที่จะทำให้ผู้ต้องโทษพัฒนาตัวเองและไม่กระทำผิดอีกต้องเริ่มจากภายในเรือนจำที่มีคุณภาพ การลดทอนคุณค่ามนุษย์ราวกับเศษเดนและปล่อยปะละเลยจนเกินควบคุมแบบนี้แทบไม่มีทางแก้ไขอะไรได้เลย และนี่คืออีกหนึ่งปัญหาที่ภาพยนตร์ต่างประเทศเล่าแต่เราแทบไม่ได้เคยรู้ข้อมูลจากภายในได้เข้มข้นขนาดนี้

Unorganized City

ฉากไล่ล่าสุดระห่ำในภาพยนตร์ 007: Tomorrow Never Dies / ภาพ: James Bond 007

     ภาพยนตร์หลายเรื่องมีคิวถ่ายทำที่กรุงเทพ เมืองหลวงของประเทศไทย แต่ฉากการไล่ล่าของพยัคฆ์ร้าย 007 กับภาค Tomorrow Never Dies สร้างภาพจำอย่างมากหลังจากแฟรนไชส์ภาพยนตร์เรื่องนี้เคยมาถ่ายทำแล้วกับภาค The Man with the Golden Gun ซึ่งความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์อาจจะทำให้หลายคนมองข้ามความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยและความด้อยพัฒนาของเมืองไป ในขณะที่กลางเมืองเต็มไปด้วยอาคารสูงราวกับนิวยอร์กขนาดย่อม แต่เมื่อภาพยนตร์ต่างชาติเข้ามามักมองหาความวุ่นวายและไม่ค่อยเป็นระเบียบในเรื่องการจัดการพื้นที่ ก่อนจะนำเสนอให้เห็นอย่างเด่นชัดบนแผ่นฟิล์ม เรื่องนี้แม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงใดก็ได้รับความสนใจไม่มากนัก เนื่องจากเป็นความปกติที่ทุกคนคุ้นชินอย่างที่ไม่ควรเป็นสักเท่าไร ภาพยนตร์เหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ปัญหาอย่างดีแม้จะเห็นได้เพียง 10 นาทีจากความยาว 2 ชั่วโมงก็ตาม

 

     ทั้งหมดของการนำเสนอด้านมืดจากภาพยนตร์ต่างประเทศไม่ได้ต้องการให้รู้สึกแย่หรือรังเกียจประเทศไทยของพวกเราทุกคน แต่เรากำลังชี้ให้เห็นว่าปัญหามีอยู่จริง ทุกประเทศมีปัญหาและมีแตกต่างกันไป เมื่อมองจากมุมมองภายนอกจะได้เห็นความจริงแบบไม่โกหกตัวเอง สิ่งนี้สำคัญที่สุดเพราะการแก้ปัญหาต้องเห็นปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช้เพียงเศษเสี้ยวของปัญหา ปัดทำความสะอาดผิวหน้าและปล่อยที่เหลือเน่าเฟะอยู่ใต้พรม หวังว่าความยุ่งเหยิงในสังคมดังที่ปรากฏในภาพยนตร์ชื่อดังทั้งหลายจะได้รับการดูแล แก้ไข และพัฒนาต่อไปอย่างมีทิศทาง ต่อไปประเด็นเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งที่คนภายนอกหยิบมานำเสนอสู่สายตาคนทั่วโลกได้อีกต่อไป

 

ข้อมูล:

imdb.com

timeout.com

pattayasanook.com

unmoonproductions.com

klook.com

theculturetrip.com

WATCH