LIFESTYLE

เปิดเบื้องหลังการทำการ์ตูน Disney แบบคลาสสิก ความมุ่งมั่นที่น้อยคนลืมให้ความสำคัญ

รู้หรือไม่ว่าการ์ตูนดิสนีย์คลาสสิกเรื่องแรกอย่าง Snow White and 7 Dwarfs ใช้เวลาทั้งหมดถึง 4 ปีในการสร้าง!

การเข้ามาของการ์ตูนแอนิเมชั่น 3D ของค่าย Waltz Disney Studio ที่ถูกเนรมิตให้เหมือนคนจริงกำลังครองใจคนทั่วโลก ณ ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนอย่าง Frozen เจ้าหญิงอันนาและเอลซ่าที่กลายมาเป็นเจ้าหญิงในดวงใจของเด็กผู้หญิงในยุคนี้ หรือจะเป็น Finding Nemo ที่ทุกคนเอาใจช่วยไปกับการผจญภัยระหว่างทางของผองเพื่อนปลาน้อย แม้กระทั่งการ์ตูนยอดฮิตที่เรียกเสียงน้ำตาได้จากคนทุกเพศทุกวัยอย่าง Toy Story และเรื่องราวมิตรภาพของเพื่อนต่างวัยอย่าง Up แต่ถ้าหากย้อนกลับไปสัก 25-30 ปีที่แล้วการ์ตูนที่ทำให้วัยรุ่นยุคนั้นหรือคนวัย 20 ปลายถึง 30 กว่าตอนนี้ชื่นชอบมากที่สุดต้องยกให้การ์ตูนดิสนีย์คลาสสิกในแบบ The old Disney Classic

 

The old Disney Classic

การ์ตูนยาวเรื่องแรกสุด Snow White and the Seven Dwarfs

ดิสนีย์ฉบับคลาสสิกคือการ์ตูนที่วาดมือในแบบ 2D (hand-drawn 2D animated) ซึ่งสำหรับ Waltz Disney Studio เองนั้นเริ่มต้นด้วยการ์ตูนสองมิติฉบับสั้นอย่าง Mickey Mouse ที่ถูกพัฒนาขึ้นในปีค.ศ. 1928 แต่ว่าก็ไม่ได้ทำเงินให้กับค่ายมากเท่าไหร่นักด้วยความที่เป็นเพียงการ์ตูนสั้น หลังจากนั้น 5 ปีดิสนีย์ถึงตัดสินใจขยายโปรดักชั่นให้ใหญ่ขึ้นด้วยการสร้างการ์ตูนแบบฉบับยาวออกมาเป็นครั้งแรกกับเรื่อง Snow White and the Seven Dwarfs ที่ใช้เวลาร่วมทั้งหมด 4 ปีในการสร้างโดยออกฉายเมื่อปีค.ศ. 1937 และกลายมาเป็นภาพยนตร์การ์ตูนที่สร้างชื่อเสียงและรายได้มากที่สุดในตอนนั้นเลยด้วย และแม้ดิสนีย์จะเดินหน้าสร้างการ์ตูน 2D ต่อมาเรื่อยๆ อย่างเรื่อง เจ้าหนูขี้โกหก Pinocchio, การผจญภัยของมิกกี้เม้าส์ Fantasia, เจ้าช้างน้อยหูใหญ่ Dumbo หรือแม้แต่กวางน้อยอย่าง Bambi ก็ไม่ได้ช่วยให้รายได้ของค่ายในตอนนั้นกระเตื้องขึ้นแต่อย่างใด

 

The Princess Franchise

เจ้าหญิงในจักรวาลของ Disney

กระทั่งดิสนีย์หันมาจับจุดได้อีกครั้งอย่างการสร้างการ์ตูนเจ้าหญิง Cinderella ในปีค.ศ. 1950 ตามมาด้วยอีกเรื่องดังอย่างเจ้าหญิงนิทรา Sleeping Beauty แต่ช่วงที่ทำให้ค่ายดิสนียพีคถึงขั้นสูงสุดคือช่วงปลาย 80 เข้าช่วง 90 มาแล้วกับทัพการ์ตูนเจ้าหญิงอย่าง The Little Mermaid, Beauty and the Beast, Aladdin, The Lion King, Pocahontas, Hercules, Mulan และ Tarzan โดยมีเรื่อง The Princess and The Frog เป็นเรื่องสุดท้ายที่กลับมาใช้การวาดแบบ 2D นั่นเอง นับจากสโนว์ไวท์และคนแคระทั้ง 7 ในปีค.ศ. 1937 จนถึงปัจจุบันเรามีโอกาสได้เห็นถึงพัฒนาการของตัวละครต่างๆ ตั้งแต่การวาดด้วยมือจวบจนมาเป็นแบบคอมพิวเตอร์สร้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีนั้นช่วยให้การทำงานสะดวกสบายมากขึ้นและช่วยซื้อเวลาได้มากขึ้นกว่าเดิม หากบางครั้งรายละเอียดเล็กน้อยก็ถูกลดทอนลงไปด้วยเช่นกัน ซึ่งดีเทลเหล่านี้เองก็ยังต้องใช้คนวาดด้วยมือเข้ามาช่วยไกด์ให้คอมพิวเตอร์สามารถจับทางได้นั่นเอง

 

Takes Years to Make



WATCH




เหล่าแอนิเมเตอร์กำลังศึกษาท่าทางของสิงโตเพื่อใช้ในการวาดการ์ตูนเรื่อง The Lion King

การ์ตูนคลาสสิกแบบ 2D มีเสน่ห์มากมายที่หลายคนมองข้าม นอกจากระยะเวลานานหลายปีแล้วคุณแทบจะไม่เชื่อเลยว่าจำนวนเฟรมกี่แผ่นที่ใช้เพื่อสร้างคาแรกเตอร์ให้เกิดภาพโมชั่นและสร้างมิติได้ รวมถึงจำนวนคนมากมายขนาดไหนที่จะช่วยกันร่างภาพและลงสีเพื่อให้การ์ตูนได้มีชีวิตและสีสันแบบที่เราได้เห็นกัน โดยวิธีการทำให้เกิดโมชั่นก็คล้ายกันกับเวลาเราวาดการ์ตูนหลายแผ่นหลายท่าทางนำไปซ้อนเฟรมแล้วพลิกกระดาษให้เกิดการเคลื่อนไหวเหมือน Flip Book ปัจจุบันนั่นแหละ หากการ์ตูนที่มีความยาวถึง 1 ชั่วโมง 28 นาทีจะต้องใช้กระดาษทั้งหมดกี่แผ่นในการสร้าง และมีขั้นตอนที่เพิ่มมากขึ้นอีกกี่ขั้นตอน วันนี้เราจะพาไปเปิดเบื้องหลังขั้นตอนมากมายเหล่านั้นกัน

การใช้คนจริงๆ แสดงท่าทางประกอบเพื่อนักวาดในการสร้างลายเส้นที่สมจริงมากที่สุด

     1.เริ่มต้นด้วยการสร้างโครงเรื่องของการ์ตูน และการสเกชต์ภาพแบบหยาบเพื่อครีเอตคาแร็กเตอร์และลำดับเรื่องราวต่างๆ โดยไดเรกเตอร์จะมีหน้าที่ทำสคริปต์และคิดบทไดอะล็อกสำหรับเรื่องนั้นให้ครบถ้วน

     2.ต่อด้วยการปรึกษากับทีมนักดนตรีเพื่อทำเพลง Score หรือที่เรียกว่าเพลงหลักของการ์ตูนเรื่องนั้น รวมถึงเพลงประกอบซีนอื่นๆ เพื่อให้เพลงมีจังหวะและความยาวที่พอดีกับจังหวะภาพเคลื่อนไหว และบางครั้งไดเรกเตอร์เองต้องแสดงท่าทางของซีนนั้นๆ เพื่อให้คนแต่งเพลงได้เข้าใจถึงอารมณ์ของตัวละครอย่างชัดเจน

การใช้กล้อง Moviola ถ่ายรูปแต่ละเฟรมเพื่อนำมาสร้างภาพเคลื่อนไหวภาพ 

     3.จากนั้นสคริปต์นี้จะถูกส่งต่อให้ศิลปินนักวาดมืออาชีพที่จะเข้ามาวาดรายละเอียดทุกอย่างของตัวละคร โดยนักวาดเหล่านี้จะวาดลงบนกระดาษที่เหมือนกับกระดาษไขบนโต๊ะกระจกเขียนแบบที่มีไฟติดอยู่ด้านล่าง เพื่อให้ทุกการเคลื่อนไหวของตัวละครนั้นได้สัดส่วนและพอดีกันในทุกภาพ โดยทริคที่นักวาดหลายคนใช้คือการส่องกระจกเพื่อดูสีหน้าท่าทางของตัวเองเป็นแบบประกอบการสร้างตัวละคร รวมไปถึงการให้นักแสดงมาแสดงฉากนั้นๆ เพื่อศึกษาถึงการเคลื่อนไหวของร่างกายและเสื้อผ้าที่สมจริง

     4.เมื่อเสร็จภาพวาดด้วยดินสอเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังห้องฉายภาพ โดยภาพเหล่านี้จะถูกถ่ายภาพเอาไว้ทีละภาพแล้วนำไปฉายต่อกันเป็นโมชั่นภาพยนตร์ผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า Moviola เครื่องสำหรับการตัดต่อภาพเคลื่อนไหวเพื่อให้ทีมงานได้เช็คความถูกต้องของการเคลื่อนไหวของตัวละครและการดำเนินเรื่อง

แผนกการตัดเส้นและลงสี

     5.หลังจากขั้นตอนการเช็คภาพผ่านห้องโปรเจ็กเตอร์เรียบร้อยแล้ว ภาพร่างด้วยดินสอเหล่านั้นจะถูกส่งไปยังขั้นตอนการตัดเส้นลงบนแผ่นฟิล์มใสเซลลูลอยด์ ด้วยฝีมือของเหล่าพนักงานหญิงหลายร้อยคน โดยทุกรายละเอียดจะต้องตรงกับแบบที่แอนิเมเตอร์หรือนักวาดได้วาดเอาไว้อย่างไม่ผิดเพี้ยน 

     6.ตามด้วยการลงสี ซึ่งนักเคมีจะผสมเฉดสีที่ใช้ในการสร้างการ์ตูนมากมายหลายเฉด โดยเรื่องแรกสุดของค่ายอย่างเจ้าหญิงสโนว์ไวท์และคนแคระทั้ง 7 มีเฉดสีมากกว่า 1500 เฉด และเรื่องนี้เองก็มีการวาดแผ่นฟิล์มใสเซลลูลอยด์ทั้งหมดกว่า 250,000 แผ่นเลยด้วย

การออกแบบฉากหลังของการ์ตูนเรื่อง Sleeping Beauty 

     7.มาที่อีกฝั่งกันบ้างฉากหลังของเรื่องทั้งหมดเหล่านักวาดจะใช้สีน้ำในการวาด และจะส่งต่อให้ทีมถ่ายรูปเพื่อนำไปประกอบกับภาพตัวละครเพื่อสร้างเป็นโมชั่น โดยช่างภาพจะถ่ายทีละฉากโดยการเลเยอร์ภาพตัวละครต่างๆ ซ้อนทับลงบนฉากเข้าไปอีกหนึ่งทีเพื่อให้ภาพที่ฉายออกมาดูมีมิติและสมจริง ดังนั้นบางฉากอาจมีการเลเยอร์ภาพเข้าไป 3-4 ชั้น และจะทำแบบนี้วนไปเรื่อยๆ หลายพันครั้งจนเสร็จสมบูรณ์

     8.เสร็จแล้วจากนั้นแล้วจะเป็นการส่งไม้ต่อให้ทีมสุดท้ายคือทีมใส่เสียงเอฟเฟกต์ และการพากย์เสียง ตามด้วยการใส่เพลงประกอบทั้งเพลงหลักและเพลงประกอบฉากในแต่ละฉากเป็นอันเสร็จสิ้น

โว้กหยิบวีดีโอเบื้องหลังการสร้างการ์ตูนสโนว์ไวท์และคนแคระทั้ง 7 มาให้ได้ชมกัน  


  • และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ใช้เวลาถึง 4 ปีในการสร้าง และกลายมาเป็นการ์ตูนชิ้นมาสเตอร์พีซของค่าย
  • ในขณะที่การ์ตูนเรื่องแบมบี้ใช้เวลามากกว่า 5 ปีเสียด้วยซ้ำ

ฉากฝูงวิลเดอบีสต์ในภาร์ตูนเรื่อง The Lion King

  • ไหนจะฉากวิลเดอบีสต์วิ่งแตกฝูงลงมาจากหน้าผาใน The Lion King ที่ใช้เวลา 3 ปีทั้งการวาดและการทำแอนิเมชั่นเพื่อฉากสมบูรณ์แบบเพียงฉากเดียว
  • ส่วนเงือกน้อยผจญภัยใช้คนจำนวนมหาศาลในการวาดฟองอากาศที่เกิดขึ้นในทะเลร่วม 1 ล้านฟอง

การรีไซเคิลฉากของการ์ตูนเรื่อง Sleeping Beauty กับ Beauty and the Beast

รวมไปถึงว่าทำไมฉากบางฉากคุณถึงรู้สึกคุ้นหน้าคุ้นตาและให้ความรู้สึกเหมือนเดจาวู ก็เพราะค่าย “รีไซเคิล” บางฉากเพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการสร้างเช่น ฉากเดินเล่นอยู่ในป่าร้อยเอเคอร์ของ Christopher Robin จะดูคล้ายกับฉากเดินเล่นในป่าของเมาคลีใน The Jungle Book หรือแม้แต่ฉากเต้นรำตอนจบเรื่องของ Sleeping Beauty จะดูคล้ายกับฉากเต้นรำของ Beauty and the Beast ก็ตาม

  • การ์ตูน 2D ที่ผู้ใหญ่มองว่าเป็นเรื่องของเด็ก “ใช้ความมุ่งมั่นจำนวนหลายปีในการสร้าง”
  • การ์ตูน 2D ที่คนให้ความสำคัญน้อยลง เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท “ใช้จำนวนคนไม่น้อยกว่าจะได้เพียง 1 ซีน”
  • และการ์ตูน 2D ที่บางคนมองว่าไร้สาระ “เรียกน้ำตาและเสียงหัวเราะ” ได้ทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาชม

คาแร็กเตอร์ Buzz Lightyear และ Woody จากการ์ตูนเรื่อง Toy Story

การใช้เวลานานในการสร้างคือปัจจัยหลักที่ทำให้ดิสนีย์ต้องยอมยกธงขาวและพร้อมให้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระอันหนักอึ้งแทน ยิ่งตัวค่ายเองไม่ได้มีกำลังทางการเงินมากพอเมื่อเทียบกับการก้าวเข้ามามีบทบาทของค่ายสร้างการ์ตูนที่ชื่อว่า Pixar (ซึ่งตอนนี้เป็นของดิสนีย์แล้ว) กับการส่งออกการ์ตูนขวัญใจคนทั่วโลกอย่าง Toy Story ที่ใช้วิธีการสร้างในแบบ 3D computer-animation และกลายมาเป็นการ์ตูนที่ทำเงินได้อย่างมหาศาล และครั้งนั้นถือเป็นการเปลี่ยนเกมการสร้างการ์ตูนไปอย่างตลอดกาล

รอยสักของมาวอิในการ์ตูนเรื่อง Moana

แม้ตอนนี้ค่ายดิสนีย์จะหันมาเอาดีด้านการ์ตูน 3D computer-animation (เพราะดิสนีย์ได้พิกซาร์ผู้เก๋าเกมด้านนี้มาอยู่ในมือแล้ว) ที่สร้างรายได้จำนวนมากให้กับค่ายอย่าง Tangled, Frozen และ Zootopia แล้วแต่ก็ยังมีบางเรื่องที่ดิสนีย์เองพยายามจะสอดแทรกความเป็นการ์ตูน 2D คลาสสิกเอาไว้อยู่เหมือนกันอย่าง การ์ตูนเรื่อง Moana ถ้าคุณสังเกตดีๆ จะเห็นว่า “มินิ มาวอิ” ที่เป็นการ์ตูนลายสักบนตัวของมาวอิเองนั้นแท้จริงแล้วสร้างขึ้นจากการวาดด้วยมือ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเติมกลิ่นอายความเป็นการ์ตูนออริจินัลของดิสนีย์เอาไว้นั่นเอง

 

หลังจากที่คุณได้เห็นความยากลำบากและความอุตสาหะของเหล่าทีมงานเบื้องหลังการทำการ์ตูนดิสนีย์แบบคลาสสิกแล้ว ทุกครั้งหลังจากนี้เมื่อใดก็ตามที่คุณหยิบการ์ตูนเรื่องเก่าของดิสนีย์ขึ้นมาชมสักเรื่อง เราเชื่อว่าคุณจะยินดีและให้ความสำคัญกับมันมากกว่าแต่ก่อนอย่างแน่นอน ว่าแล้วคืนนี้กลับไปชมการ์ตูนเรื่องไหนก่อนดี (สำหรับผู้เขียนขอเลือกเป็น Sleeping Beauty ก็แล้วกัน)

ข้อมูล : SCREEN RANT, THE GAMER, OBSEVER
ภาพ : Waltz Disney Archive, D23 The Official Disney Fan club

WATCH