LIFESTYLE

กฎ 4 ข้อในการปกครองคนฉบับมาเฟียจากภาพยนตร์เรื่อง 'The Godfather' ที่ปรับใช้กับการทำงานได้

เพราะการทำงานกับคนต้องมีวิธีรับมือหลากหลายรูปแบบ...

       ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย 'The Godfather' ผลงานกำกับของ Francis Ford Coppola ก็ยังคงถูกยกให้เป็นภาพยนตร์แนวมาเฟียแก๊งสเตอร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล ซึ่งความจริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไรนัก เพราะถึงแม้จะไม่ได้มีฉากแอ็กชั่นที่ดุเดือดเหมือนภาพยนตร์แก๊งสเตอร์ยุคหลัง แต่ The Godfather นั้นเต็มไปด้วยการหักเหลี่ยมเฉือนคม โดยเฉพาะตัวละคร Don Vito Corleone ซึ่งรับบทโดย Marlon Brando ที่ปรากฏตัวพร้อมมาดสุขุมนุ่มลึก ทว่าแฝงไว้ด้วยความน่าเกรงขาม และใช้อำนาจในมือบงการทุกอย่างให้เป็นไปราวกับกำลังเล่นหมากรุก

       ถึงแม้จะอยู่ในโลกด้านมืดแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Don Vito Corleone คือนักปกครองมือหนึ่ง ซึ่งทุกคนสามารถเรียนรู้จากเขาและนำไปปรับใช้กับการทำงานในชีวิตประจำวันได้ ผ่านกฎทั้ง 4 ข้อที่หยิบยกมากล่าวถึงในบทความนี้

คำพูดสำคัญเท่าชีวิต

       การจะเป็นผู้บริหารคนที่ดีนั้น มีสิ่งหนึ่งที่ต้องระลึกไว้ให้ขึ้นใจอยู่เสมอคือ ทุกคำพูดที่พูดออกไปคือนายของเรา เมื่อพูดอะไรออกไปแล้วต้องรักษาไว้ให้มั่น ไม่เช่นนั้นคำพูดของเราจะไม่มีค่า และไม่มีใครจะสนใจฟังมันอีกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของหัวหน้าแก๊งมาเฟียทรงอิทธิพล ที่ต้องควบคุมคนนับร้อยชีวิตอย่าง Don Vito ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตัวเองพูดออกไปมากขึ้น อย่างไรก็ตามตลอดทั้งเรื่องผู้ชมก็แทบไม่เห็นเขาบกพร่องในเรื่องนี้เลย 

       ด้วยภาระหน้าที่ทำให้ดอน วิโตต้องตบปากรับคำหรือให้คำสัญญามากมาย ไม่ว่าจะเป็นกับคู่ค้าธุรกิจหรือกับบริวารที่เข้ามาเพื่อขอความช่วยเหลือ และทุกครั้งที่เขาลั่นวาจาไปแล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเขาก็จะรักษามันไว้เป็นอย่างดี ทำตามความปรารถนาของคู่สัญญาอย่างไม่บิดพลิ้ว เพราะเขารู้ดีว่าสำหรับคนที่มีสถานะทางสังคมแบบเขานั้น การผิดคำพูดก็ไม่ต่างอะไรจากการฆ่าตัวตาย 

เงี่ยหูฟังให้มาก เปิดปากพูดให้น้อย

       หลายคนอาจจะคิดว่าการบริหารผู้คนนั้นจำเป็นต้องใช้ปากมากกว่าใช้หู เนื่องจากผู้บริหารต้องออกคำสั่งต่างๆ แก่อีกฝ่าย อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาดูภาพยนตร์ 'The Godfather' อย่างละเอียดจะพบว่าตัวละคร ดอน วิโต นั้นไม่ใช่คนที่ใช้คำพูดอย่างสิ้นเปลือง ตรงกันข้ามเขาคือชายมาดสุขุม ที่จะเอ่ยปากพูดเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพราะเขาคือนักฟังตัวฉกาจ แม้ว่าตัวของ Marlon Brando ที่สวมบทบาทจะได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมก็ตาม แต่ความโดดเด่นที่ทำให้ยอดนักแสดงผู้ล่วงลับคว้ารางวัลไปครองนั้นค่อนข้างแตกต่างจากผู้ชนะในครั้งอื่นๆ แบรนโดในบทบาทดอน วิโตนั้นไม่เน้นการระเบิดอารมณ์ หรือที่เรียกว่า “การเล่นใหญ่” แต่เขากลับถ่ายทอดความเป็นมาเฟียผู้ยิ่งใหญ่ผ่านการแสดงที่เรียบง่ายและทรงพลัง 

       ตลอดทั้งเรื่อง Marlon Brando ในบท Don Vito มักจะรับฟังทุกอย่างด้วยความใจเย็น วิเคราะห์ทุกข้อความที่คู่สนทนากล่าวอย่างตั้งใจ โดยสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนออกมาผ่านแววตาของเขา และเมื่อสมองประมวลผลเรียบร้อยว่าหนทางไหนคือวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ถึงตอนนั้นดอน วิโตจึงจะเริ่มเอ่ยปากพูดออกมา แม้แต่ในฉากที่มีการประชุมแก๊งมาเฟียก็จะเห็นได้ว่า Don Vito Corleone จะเป็นฝ่ายรับฟังเป็นส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นว่าการที่ดอน วีโตเป็นผู้ฟังมากกว่าผู้พูด ส่งผลให้เขาสามารถเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการสื่อสารอย่างละเอียดรอบคอบทุกมิติ รู้ว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร และควรจะตอบสนองออกไปเช่นไรจึงจะได้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด



WATCH




ให้ใจกับผู้ที่อยู่ต่ำกว่า

       “ถ้าเอ็งมาหาข้าเพื่อขอความยุติธรรมตั้งแต่แรก ไอ้สองคนที่ทำให้ลูกสาวเอ็งต้องร้องไห้ขมขื่น ก็จะต้องกำลังร้องไห้อย่างขมขื่นไปแล้ว ถ้าบังเอิญคนดีๆ อย่างเอ็งไปมีศัตรูที่ไหน พวกนั้นก็จะต้องเป็นศัตรูของข้าไปด้วย…แล้วเชื่อข้าเถอะพวกนั้นจะต้องกลัวเอ็ง” ประโยคนี้ปรากฏในช่วงต้นเรื่องของนิยาย The Godfather เป็นตอนที่ Don Vito พูดกับ Amerigo Bonasera

       Bonasera ไม่ใช่มาเฟียทรงอิทธิพลที่ไหน เขาเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งที่ยึดมั่นในกฎหมาย ความถูกต้องของบ้านเมือง อย่างไรก็ตามลูกสาวที่เขารักกลับโดนเหล่าชายชั่วรังแกอย่างเจ็บปวด และยิ่งเจ็บปวดไปกว่าเดิมเมื่อผู้กระทำผิดกลับใช้ช่องว่างทางกฎหมายทำให้พวกเขาโดนลงโทษน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โบนาเซราจึงรู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่เขาเจอ ความยุติธรรมที่เขาเคยเชื่อมั่น ตอนนี้เขารู้ดีแล้วว่ามันไม่มีอยู่จริง เขาจึงต้องมาหาดอน วิโต ชายที่เขาเชื่อว่าจะบันดาลความยุติธรรมให้เขาได้

       หากมองย้อนกลับมาที่ดอน วิโต มุมของเขาคือมาเฟียใหญ่ผู้ทรงอิทธพล ไม่มีความจำเป็นแม้แต่นิดเดียวที่ต้องหันมาเหลียวแลคนตัวเล็กตัวน้อยอย่าง โบนาเซรา แต่ดอน วิโตกลับไม่คิดเช่นนั้น เขายินดีที่จะรับฟังปัญหาของโบนาเซรา และช่วยจัดการทุกอย่างให้อย่างสาสม เพราะเขารู้ดีว่าโบนาเซราคือคนที่กำลังจนตรอก ถ้าเขายื่นมือเข้าไปช่วยอีกฝ่ายต้องรู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณ และสักวันโบนาเซราจะตอบแทนกลับมามากมายกว่าสิ่งที่เขาเคยให้ไปหลายเท่าแน่นอน อาจเห็นได้ว่าถึงแม้จะมีเรื่องของบุญคุณหรือผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในตอนที่ยื่นมือเข้าไปช่วยนั้นยังไงก็ต้องมีความจริงใจรวมอยู่ในนั้นด้วย

วิธีรับมือของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป

       มนุษย์แต่ละคนนั้นมีความปัจเจกแยกจากกันอย่างสิ้นเชิง เพราะทุกคนมีอารมณ์ ทัศนคติ แนวคิด เป็นของตัวเอง ดังนั้นการจะขึ้นชื่อว่าเป็น “นักบริหารคนฝีมือดี” นั้นจะมีรูปแบบที่ตายตัวไม่ได้ ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับบุคคลและสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ซึ่งดอน วิโตเองก็เล็งเห็นถึงเรื่องนี้ ดังนั้นตลอดทั้งเรื่องผู้ชมจึงได้เห็นเขาใช้วิธีที่แตกต่างกันออกไปในการบริหาร บ้างก็ใช้ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ เหมือนในตอนที่โบนาเซรามาหาซึ่งเราได้กล่าวถึงไปแล้วในข้างต้น บ้างก็ต้องใช้ความกลัวเข้าข่มให้อีกฝ่ายยอมสิโรราบแต่โดยดี 

       หนึ่งในเหตุการณ์ที่เป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดสำหรับประเด็นนี้คือตอนที่ ตัวละคร Johnny Fontane ลูกบุญธรรมคนหนึ่งของดอน วิโตซึ่งมีอาชีพเป็นนักร้องในลาสเวกัสมาขอความช่วยเหลือจากดอน วิโตให้เขาได้แสดงภาพยนตร์ซึ่งตัวเอกมีบทบาทใกล้เคียงกับตัวเขา ดอน วิโตรับปากและส่ง Tom Hagen ทนายประจำตัว ไปพบ Jack Woltz ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวแต่กลับถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดี ดอน วิโตรู้ทันทีว่าผู้กำกับคนนี้ไม่สามารถเจรจาอย่างสุภาพชนได้อีกต่อไป ในเช้าวันรุ่งขึ้น Woltz ตื่นขึ้นก็ต้องตกตะลึงไม่เชื่อสายตาตัวเอง เมื่อพบกับหัวม้าตัวโปรดของเขากองอยู่บนเตียงพร้อมเลือดที่เจิ่งนอง เขารู้ได้ทันทีว่านี่คือการขู่เตือนเอาชีวิตจากตระกูล Corleone ทำให้ท้ายที่สุด Johny ก็ได้แสดงนำในหนังเรื่องนี้ตามความปรารถนา

ภาพ : ฺBiography, Bostonhassle, Static.wikia, Amazonaws, Productplacementblog,
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim

WATCH

คีย์เวิร์ด: #TheGodfather