เก้าอี้ดนตรีแฟชั่น
FASHION

VOGUE SCOOP | คนแฟชั่นคาดหวังอะไร เมื่อดีไซเนอร์เริ่มงานที่แบรนด์ใหม่แล้วในยุคเปลี่ยนผ่าน

ถึงเวลาคาดการณ์กันแล้วว่าหลังจากที่จบ ปรากฏการณ์เก้าอี้ดนตรีโลกแฟชั่น แต่ละแบรนด์จะถูกพลิกโฉมไปอย่างไร เมื่อเหล่าดีไซเนอร์คนใหม่เริ่มทำงานที่แบรนด์ใหม่แล้วอย่างเป็นทางการ อะไรที่คนแฟชั่นคาดหวังอยากเห็นกันบ้าง...

     “วุ่นวาย” หนึ่งในคำนิยามโลกแฟชั่นในช่วงปีที่ผ่านมา ให้กับปรากฏการณ์ เกมเก้าอี้ดนตรีโลกแฟชั่น ที่มีการสับเปลี่ยน ลาออก และแต่งตั้ง หัวเรือใหญ่ของแบรนด์ระดับตำนานกันอย่างต่อเนื่องไม่เว้นแต่ละวัน อันเนื่องมาจากผลพวกของการชะลอตัวการเติบโตของสินค้าลักชัวรี ที่กำลังท้าทายคนแฟชั่นอย่างถึงที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ครั้งยิ่งใหญ่ในรอบทศวรรษนี้ในวงการแฟชั่นยังสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับเหล่าสาวกแบรนด์นั้นๆ ไม่น้อย หลายแบรนด์เป็นไปตามข่าวลือก่อนหน้านี้ ทว่าหลายแบรนด์ก็นับว่าเกินความคาดหมาย แต่กระนั้นทุกอย่างก็ยังไม่อาจถูกตัดสินได้เพียงแค่การประกาศชื่อดีไซเนอร์เท่านั้น คงต้องรอดูกันในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2025 ที่จะถึงนี้ว่า ใครจะร่วงและใครจะรอด...

     การเปลี่ยนแปลงหัวเรือใหญ่ของแบรนด์แฟชั่นลักชัวรีเกือบทุกแบรนด์ในช่วงที่ผ่านมานั้น ไม่เพียงสร้างความประหลาดใจให้กับโลกแฟชั่นเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับการคาดการณ์หลายกระแสถึงไดเร็กชั่นของแบรนด์ต่างๆ ที่อาจจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งอาจทำให้หลายคนสมหวัง และทำให้หลายคนผิดหวัง เป็นธรรมดา

     (ตามไปอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับยุคใหม่ของแบรนด์ CHANEL ได้ที่ https://www.vogue.co.th/fashion/news/article/matthieu-blazy-strat-working-at-chanel)

     หากจะให้ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เห็นจะต้องพูดถึงกรณีล่าสุดอย่าง Jonathan Anderson ที่ลาออกจาก LOEWE เพื่อมารับตำแหน่งหัวเรือใหญ่คนใหม่ที่ Dior Homme ต่อจาก Kim Jones ซึ่งสร้างความคาดหวังให้กับคนแฟชั่นในหลายทาง อนึ่งการมาถึงของ Jonathan Anderson ในครั้งนี้หมายถึงการพาเอาความคิดสร้างสรรค์ที่เคยสร้างชื่อให้กับ LOEWE มาผสมผสานเข้ากับดีเอ็นเองานออกแบบของ Dior Homme ซึ่งนั่นหมายถึงความคาดหวังที่จะได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า Craftsmanship หรือ งานฝีมือ ที่เขาคนนี้ถนัดรวมอยู่ในผลงานที่แบรนด์ใหม่นี้ด้วย นอกจากนี้ Matthieu Blazy ที่มาดำรงตำแหน่งและเพิ่งเริ่มงานไปเมื่อต้นเดือนเมษายน 2025 อย่างเป็นทางการที่ CHANEL นั้น ก็ถูกคาดหวังแบบเดียวกัน เพราะฝีไม้ลายมือเกี่ยวกับงานฝีมือที่เขาเคยฝากไว้ที่ Bottega Veneta นั้น เป็นหนึ่งในผลงานสุดไอคอนิกที่ถูกพูดถึงเสมอ และยิ่งได้มาทำงานร่วมกับแบรนด์ CHANEL ที่มีกรุช่างศิลป์หลากหลายแขนงอยู่ในมือเช่นนี้แล้ว ก็ยิ่งทำให้คนแฟชั่นคาดหวังว่าผลงานคอลเล็กชั่นที่โชว์งานฝีมือของเมซง CHANEL ในยุคต่อจากนี้ไป จะต้องออกมามหัศจรรย์ไม่น้อย

     อีกหนึ่งเซอร์ไพรส์คือการย้าย Demna จาก Balenciaga มาพลิกฟิ้นสถานการณ์ที่ Gucci ก็ยังสร้างเสียงวิจารณ์ให้แตกออกเป็นสองขั้ว ที่บ้างก็ว่าเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ เนื่องจากเคยเห็นงานออกแบบในคอลเล็กชั่นแคปซูลสุดพิเศษที่เคยเขย่าโลกแฟชั่นมาแล้ว ระหว่าง Gucci x Balenciaga ทว่าอีกฝั่งก็มองว่าหากการเดินทางมาถึง Gucci ของ Demna ยังมาพร้อมกับรูปแบบงานออกแบบเดิมๆ การวางหมากครั้งนี้ของ Kering Group ที่เสี่ยงแสนเสี่ยงก็อาจจะผิดมหันต์ก็เป็นได้

     (ตามไปอ่านเรืื่องราวเกี่ยวกับการมาถึงของ Jonnathan Anderson ที่ Dior Homme เพิ่มเติมได้ที่ https://www.vogue.co.th/fashion/inspirations/article/dior-homme-jonathan-anderson-predictation)

     ไม่เพียงแค่ผลงานของเหล่าดีไซเนอร์ย้ายแบรนด์ที่ถูกคาดหวัง แต่ยังรวมไปถึงเซ็ตดีไซน์ของโชว์รันเวย์ ที่นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสื่อสารให้คอลเล็กชั่นของพวกเขานั้นออกมากลมกล่อม ก็ถูกคาดหวังจากเหล่าคนแฟชั่นเช่นกัน พลันให้นึกไปถึงรอยต่อแห่งยุคของ CHANEL ที่เห็นเป็นบทเรียนชัดเจน จากยุคของ Karl Lagerfeld ผู้ถมทุกความยิ่งใหญ่บนรันเวย์ สู่ยุคสมัยของ Verginie Viard ผู้เงียบสงบ ที่เปลี่ยนมู้ดแอนด์โทนและความรู้สึกคนแฟชั่นที่รับชมโชว์จากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

     เมื่อการเปลี่ยนหัวเรือใหญ่ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนหน่วยบุคคลบุคคลเดียวในแบรนด์ แต่หมายถึงการรื้อสร้างไดเร็กชั่นของแบรนด์ เกมเก้าอี้ดนตรีครั้งประวัติศาสตร์จึงยังส่งผลกระทบสู่องคาพยพทุกภาคส่วนของแบรนด์นั้นๆ รวมไปถึง KOLs ที่เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของโลกแฟชั่นยุคนี้ หลายครั้งที่การเปลี่ยนดีไซเนอร์คือการเปลี่ยนลิสต์ดาราฟรอนต์โรว์ไปจนถึงเหล่าแบรนด์แอมบาสเดอร์ และคอมมูนิตี้ของแบรนด์ กระทั่งที่สื่อแฟชั่นระดับโลกหลายหัวมีการคาดการณ์ว่าอาจเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เกมเก้าอี้ดนตรีแบรนด์แอมบาสเดอร์ ต่อจากเกมเก้าอี้ดนตรีดีไซเนอร์ ซึ่งนั้นคือคือความท้าทายครั้งใหม่ที่เหล่าแบรนด์แอมบาสเดอร์ประจำแบรนด์ในยุคเปลี่ยนผ่านต้องเจอ และต้องทำการบ้านเกี่ยวกับดีไซเนอร์หัวเรือใหญ่คนใหม่อย่าหนัก

     ยกตัวอย่างที่ต้องจับตามองคือ แบรนด์ Gucci ในยุคสมัยของ Demna ต่อจากยุคสมัยของ Sabato De Sarno ที่จะต้องออกมาแตกต่างกันอย่างแน่นอน การเปลี่ยนผ่านสุดแสนท้าทายนี้ ส่งผลให้แบรนด์แอมบาสเดอร์ชาวไทยทั้ง ใหม่-ดาวิกา, กลัฟ-คณาวุฒิ และ บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ ต้องตั้งรับให้ทันและทำการบ้านอย่างหนักในการทำหน้าที่แบรนด์แอมบาสเดอร์ เพราะดูท่าแล้วคงจะไม่ใช่เกมที่ง่ายนัก ส่วนอีกหนึ่งแบรนด์ที่แม้ว่าในยุคก่อนหน้าจะมีดีเอ็นเอความคิดสร้างสรรค์ชัดเจนอย่าง Dior Homme ก็ใช่ว่าเหล่าแบรนด์แอมบาสเดอร์จะสามารถชะล่าใจได้ เพราะการมาถึงของ Jonathan Anderson นั้นมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์และคอนเซ็ปต์การทลายเส้นแบ่งทางเพศที่เข้มข้นกว่าในยุคของ Kim Jones อย่างแน่นอน ดังนั้นทั้ง มาย-ภาคภูมิ, อาโป-ณัฐวิญญ์ และ เจมส์-จิรายุ ก็จำเป็นต้องทำการบ้านเพื่อนำเสนอตัวตนผ่านผลงานในยุคใหม่ของ Dior Homme ให้ได้ นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนถึงตัว KOLs ที่เคยทำงานร่วมกับแบรนด์ ซึ่งก็ต้องมาจับตาดูกันต่อไปว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น...

     (สามารถตามไปอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับโลกแฟชั่นได้ที่ https://www.vogue.co.th/fashion/article/dior-kols-fashion-war)




WATCH

 
Close menu