Vogue Scoop Designer's Departure
FASHION

'Designer's Departure' เมื่อเหล่าดีไซเนอร์ลาออก เกมเก้าอี้ดนตรีในโลกแฟชั่นจึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง

#VogueScoop ผ่านมาแค่ 3 เดือน แต่มีดีไซเนอร์จากแบรนด์ดังระดับโลกลาออกไปแล้วถึง 3 คนด้วยกัน สิ่งนี้สะท้อนอะำรในโลดแฟชั่น และหลังจากนี้เกมเก้าอี้ดนตรีในโลกแฟชั่นจะเป็นอย่างไรต่อไป ต้องติดตาม

     ผ่านปี 2024 มาเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลกจะมีมากมาย จนไม่อยากจะเชื่อว่าทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงแค่ 90 วัน หนึ่งในเหตุการณ์ไฮไลต์สำคัญที่เกิดขึ้นติดต่อกันมาตั้งแต่ต้นปี และชวนให้คนแฟชั่นทั่วโลกฉงนไปตามๆ กัน ก็เห็นจะหนีไม่พ้นปรากฏการณ์ “เก้าอี้ดนตรี” ของเหล่าแบรนด์แฟชั่น ที่กำลังเริ่มขึ้นอีกครั้ง จากการประกาศลาออกกะทันหันของเหล่าดีไซเนอร์หัวเรือใหญ่ สิ่งนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย แต่ยังเกี่ยวโยงกับการวางหมากของบนกระดานแฟชั่นของบริษัทใหญ่ที่ถือครองลิขสิทธิ์แบรนด์แฟชั่นชื่อดัง ที่ต้องการเป็นที่หนึ่งในตลาดทั่วโลก

     ไล่เเรียงมาตั้งแต่ข่าวสุดช็อกที่ประกาศออกไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2023  สำหรับการลงจากตำแหน่งของ Matthew M. Williams ที่ Givenchy ที่มีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา สร้างคำถามให้เกิดขึ้นในวงสนทนาของคนแฟชั่นฟรอนต์โรว์ไม่รู้จบที่คาดเดากันไปต่างๆ นานา ทั้งเรื่องของการเปลี่ยนแนวทางงานดีไซน์จากหน้ามือเป็นหลังมือ, การยุบคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ของแบรนด์จีวองชี่ ที่ยังคงถูกตั้งคำถามจากเหล่านักวิจารณ์แฟชั่นว่าฝีมือไม่ถึง หรือกระทั่งการเดินทางเข้ามารับตำแหน่งด้วยความคาดหวังสูงสุด ต่อจากดีไซเนอร์หญิงคนก่อน Clare Waight Keller ซึ่งทำผลงานเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ และอีกมากมาย แม้ว่าเจ้าตัวจะออกมาให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า ที่ตัดสินใจบอกลาแบรนด์จีวองชี่ ก็เพื่อที่จะเดินหน้าทำโปรเจกต์อื่นๆ ต่อไป รวมถึงแบรนด์ของตัวเองในชื่อ 1017 ALYX 9SM ด้วย ทำให้เมื่อช่วงแฟชั่นวีกที่ผ่านมาผลงานของจีวองชี่จึงกลายเป็นผลงานคั่นเวลารอหัวเรือใหญ่คนใหม่โดยทีมสตูดิโอไปโดยปริยาย ซึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างอื้ออึง

     ถัดจากแมทธิวมาเพียงแค่ 2 เดือน ข่าวที่ช็อกคนวงการแฟชั่นมากที่สุดไม่แพ้กัน ก็คือการประกาศลาออกจากแบรนด์ของตัวเองของ Dries Van Noten ดีไซเนอร์ชาวเบลเยียม วัย 65 ปี หลังจากให้กำเนิดและปลุกปั้นแบรนด์แฟชั่นอันเป็นที่รักของคนแฟชั่นหลายคนมาเป็นเวลานานกว่า 4 ทศวรรษ นับจากคอลเล็กชั่นปฐมฤกษ์ในปี 1986 ทว่าความน่าสนใจของการก้าวลงจากตำแหน่งหัวเรือใหญ่ครั้งนี้ ยังอยู่ที่ข้อความในจดหมายน้อยที่ Dries Van Noten ได้ร่างเอาไว้กับมือ ก่อนปล่อยออกมาให้เหล่าสาวกแบรนด์ได้อ่านและรู้สึกใจหายไปตามๆ กัน ส่วนหนึ่งในข้อความยาวเหยียด 2 หน้ากระดาษนั้นระบุว่า “ผมรู้สึกว่ามันถึงเวลาของคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถแล้วที่จะเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานให้กับแบรนด์” ซึ่งนั่นเองคือส่วนหนึ่งของข้อความจากจดหมายที่ผู้เขียนมองว่าน่าสนใจ และได้ขมวดเอาทุกเหตุผลใจความสำคัญมาไว้ให้เข้าใจในประโยคเดียวแล้วเรียบร้อย และแม้ว่าตอนนี้เราจะยังไม่รู้ว่าเด็กรุ่นใหม่คนไหนที่จะถูกเลือกให้มานั่งแท่นหัวเรือใหญ่คนใหม่ของ Dries Van Noten แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามมากทีเดียว



WATCH




     อีกหนึ่งการลากออกจากแบรนด์ที่เพิ่งช็อกคนในวงการแฟชั่นไปสดๆ ร้อนๆ คงต้องยกให้กับ Pierpaolo Piccioli ดีไซเนอร์หัวเรือใหญ่ของแบรนด์ Valentino ที่ประกาศลงจากตำแหน่งกะทันหันไปเมื่อไม่ถึงสัปดาห์ พร้อมทิ้งท้ายด้วยคอลเล็กชั่น Le Noir เอาไว้ให้ดูต่างหน้า ราวกับว่าการเลือกใช้สีดำเพียงสีเดียวตลอดทั้งโชว์นั้น คือการไว้อาลัยให้กับการจากลาในครั้งนี้ของเขา ซึ่งหลังจากที่ข่าวช็อกวงการเรื่องนี้แพร่สะพัดออกไปไม่ถึง 24 ชั่วโมง ข่าวลือลูกใหม่ก็โหมกระพือขึ้นทันที เมื่อ WWD รายงานว่า Alessandro Michele ได้เข้าเจรจากับแบรนด์ Valentino ในประเด็นการขึ้นดำรงตำแหน่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนใหม่ให้กับแบรนด์ Valentino ซึ่งเชื่อมโยงกับการเข้าซื้อสัดส่วนกิจการ 30 เปอร์เซ็นต์ก่อนหน้านี้ของบริษัท Kering และตั้งเป้าเข้าซื้อกิจการทั้งหมดของ Valentino ในอีก 5 ปีข้างหน้า นั่นเองจึงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า นี่คือหนึ่งในกลยุทธุ์เกมเก้าอี้ดนตรีของบริษัท Kering อย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม แบรนด์ Valentino ยังได้ออกมาประกาศล่าสุดด้วยว่าจะเว้นว่างการโชว์คอลเล็กชั่นเสื้อผ้าผู้ชายและคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งคนแฟชั่นและเหล่าสาวกก็ต้องตามดูต่อไปว่าใครจะเป็นผู้โชคดีคนนั้น

     ปรากฏการณ์เกมเก้าอี้ดนตรีที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรในวงการแฟชั่น ทว่าสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงเชิงเศรษฐกิจ สังคม ปรัชญา และวัฒนธรรม ของแบรนด์ต่างๆ ทว่าสิ่งหนึ่งที่ท้าทายท่ามกลางการก้าวลงจากตำแหน่ง หรือเปลี่ยนเก้าอี้ ก็คงจะเป็นการรักษาอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้คงอยู่ ท่ามกลางโลกทุนนิยมที่ขูดรีดปริมาณมากกว่าคุณภาพเหลือเกิน สิ่งนั้นสำคัญที่สุด

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueScoop #DesignerDeparture