FASHION

VOGUE HISTORY | การชุบชีวิต Gucci ในยามวิกฤติโดย Tom Ford ที่เปลี่ยนโฉมแบรนด์ไปตลอดกาล

จากประเด็นความขัดแย้งในครอบครัวและวิกฤติเชิงธุรกิจของ Gucci ผู้ที่เข้ามาชับชีวิตแบรนด์คือ Tom Ford และภาพจำครั้งนี้อาจเกิดขึ้นอีกครั้งในรูปแบบใหม่ในยุค Demna

     ตามหน้าประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่และยาวนานของ Gucci ตลอดหลายทศวรรษนี่คือกิจการในครอบครัวที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ทุกคนเชื่อเรื่อง “อาถรรพ์ของรุ่นที่ 3” กันหรือไม่ เรื่องราวที่คนหลายยุคหลายสมัยจะกล่าวกันว่าธุรกิจใหญ่โตหรือองค์กรที่ประสบความสำเร็จของครอบครัวจะต้องเผชิญกับวิกฤติในรุ่นที่ 3 สำหรับเรื่องนี้เป็นความเชื่อและจุดเกิดเหตุแห่งความบังเอิญ นำมาสู่การเชื่อมโยงภายในจิตใจของมนุษย์ที่นำสมการมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์แบบพอเหมาะพอดี ซึ่งกุชชี่ในรุ่นที่ 3 ก็ถูกใส่ไว้ในสมการด้วยเช่นกัน หลังจากนั้นการเปลี่ยนแปลงตลอดกาลก็ขึ้น ดั่งคำนิยามที่ผู้เขียนระบุใน #VOGUEHISTORY ครั้งนี้ว่า “Gucci’s Forever Changes”

     การเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้แต่แบรนด์แฟชั่นและเครื่องหนังเก่าแก่จากเมืองฟลอเรนซ์ที่ถือเป็นแบรนด์ชูโรงของอุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลี ปี 1921 Guccio Gucci ริเริ่มโปรเจกต์แรกกับการรังสรรค์กระเป๋าเดินทาง ก่อนจะสร้างมาตรฐานและเทรนด์การค้นหาโลกแห่งการเดินทางผ่านงานฝีมือ ก่อนจะเริ่มพัฒนากระเป๋าและรองเท้าที่มีเอกลักษณ์ในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็น Gucci Bamboo ในปี 1947 และ Horsebit Loafer ในปี 1953 ก่อนจะก้าวกระโดดสู่กระเป๋า Gucci Jackie รวมถึงลวดลายดอกไม้บนผ้าพันคอและลวดลายโมโนแกรมที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ต่อมาก็เริ่มสร้างสรรค์งานเรดี้ทูแวร์ในยุค 1960s และเริ่มมุ่งหน้าหาตลาดต่างประเทศเต็มตัว
 

     ท่ามกลางบรรยากาศการพัฒนาสู่ตลาดต่างประเทศและความรุ่งเรื่องผ่านฝีมือของตั้งแต่ผู้ก่อตั้งไปถึงบรรดาเครือญาติอย่าง Rodolfo, Aldo, Maurizio รวมถึง Paolo แต่แล้วความขัดแย้งก็เกิดขึ้น ด้วยความหลากหลายของสมาชิกในครอบครัว มุมมอง วิถีไลฟ์สไตล์ และเป้าหมายที่อาจไม่ตรงกัน รวมถึงมีตัวละครเสริมเข้ามาเติมไฟอย่าง Patrizia Reggiani ภรรยาของเมาริซิโอ นอกจากนี้ยังมีการดึง Dawn Mello ผู้อำนวยการสร้างสรรค์คนแรกของแบรนด์อย่างเป็นทางการเข้ามาทำงานในปี 1989 และมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางตั้งแต่การลดการผลิต ไปจนถึงการดึงเอาไอเท็มคลาสสิกกลับมาชุบชีวิตอีกครั้ง พร้อมดึงตัวเอาบุคคลเอกแห่งเรื่องในบทความนี้อย่าง Tom Ford มาร่วมงาน หลังจากนั้นไม่นานก็มีเหตุการณ์การซื้อ-ขายหุ้นของบริษัท และกุชชี่ก็ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวอีกต่อไป มากไปกว่านั้นเมาริซิโอยังถูกฆาตกรรมอย่างเหี้ยมโหดหน้าสำนักงานใหญ่ ณ เมืองมิลาน บทตอนต่อไปของกุชชี่จึงมาพร้อมการรื้อฟื้น (อ่านเรื่องราวฆาตกรรมของตระกูลกชุชชี่ได้ ที่นี่)

     การเข้ามาของทอม ฟอร์ดคือสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงขนานแท้ เพราะเขาเป็นดีไซเนอร์คนแรกที่ไม่ได้ทำงานภายใต้การควบคุมดูแลของสมาชิกตระกูลกุชชี่โดยสมบูรณ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาของดีไซเนอร์อเมริกันคนนี้พลิกโฉมและชุบชีวิตแบรนด์ขึ้นมาใหม่โดยสมบูรณ์ แม้จะมีข้อครหาถึงการเปลี่ยนแปลงและมุ่งเน้นนำเสนอความเย้ายวนแบบสุดขีด แต่นั่นก็เป็นการสร้างชะตาใหม่ให้แบรนด์เก่าแก่จากฟลอเรนซ์ให้ยืนหยัดในสารบบแฟชั่นโลกอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงเวลาที่กำลังฟื้นฟูจากความขัดแย้ง โศกนาฏกรรม และปมทางธุรกิจ

     คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 1995 คือคอลเล็กชั่นเปิดตัวทอม ฟอร์ดอย่างเป็นทางการ ถือเป็นหมุดบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงที่สุด ภาพจำของแบรนด์เครื่องหนังและเสื้อผ้าที่อาจค่อยๆ โรยราไปตามยุคสมัย ถูกแปรเปลี่ยนเป็นภาพแห่งความ ‘chic’ ในสไตล์ทอม ฟอร์ด และต่อมาก็เป็นยุคไอคอนิกของกุชชี่และเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของวงการแฟชั่นโลก การเข้ามาของเขาจึงไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงยุคสมัยหรือการนำเสนอมิติความสวยงามรูปแบบใหม่ๆ เพียงเท่านั้น แต่หมายถึงการเปิดโลกกุชชี่ให้ทุกคนได้สัมผัสในแบบที่ใครหลายคนอาจไม่คาดคิด

     จากประโยคสุดท้ายในย่อหน้าล่าสุด “การเปิดโลกกุชชี่ให้ทุกคนได้สัมผัสในแบบที่ใครหลายคนอาจไม่คาดคิด” ที่กล่าวไปอาจย้อนกลับมาอีกครั้ง ในปี 2025 ยุคสมัยอันเรืองรองของกุชชี่อาจกำลังประสบปัญหาอย่างหนักหน่วง Sabato de Sarno ก้าวออกจากแบรนด์ไปด้วยผลงานที่อาจไม่น่าประทับใจนักในเชิงธุรกิจ แบรนด์ประกาศแต่งตั้ง Demna ขึ้นเป็นหัวเรือใหญ่คนใหม่ หากใครเป็นสาวกแฟชั่นจะทราบดีว่าสไตล์ของทั้งคู่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และการเปลี่ยนแปลงและเปิดโลกกุชชี่ใบใหม่อาจเป็นคำตอบของคำถามและข้อครหาด้านการทำธุรกิจที่ตัวเลขถดถอยลงหลักสิบเปอร์เซ็นต์ในช่วงที่ผ่านมา

     การกอบกู้วิกฤติทางเศรษฐกิจอาจพาเราย้อนกลับไปสู่ความทรงจำเมื่อราว 3 ทศวรรษก่อน วันนั้นทอม ฟอร์ดคือฮีโร่ที่เป็นบุคคลเบื้องหน้าสำหรับการสรรสร้างผลงานเพื่อชุบชีวิตกุชชี่ที่เต็มไปด้วยปัญหา วันนี้ความคาดหวังถูกส่งต่อให้เดมน่าในฐานะผู้นำคนใหม่ แม้รายละเอียดจะแตกต่างแต่สถานการณ์ความถดถอยเชิงธุรกิจมีลักษณะคล้ายคลึงกัน การแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วด้วยการเปลี่ยนแนวทางพร้อมผู้นำจะเป็นทางออกอีกครั้งหรือไม่ และเดมน่าจะสามารถพลิกโฉมกุชชี่อย่างที่ทอม ฟอร์ดเคยทำเมื่อ 30 ปีก่อนได้หรือไม่อย่างไร นี่อาจเป็นอีกครั้งที่เราเห็นมนต์เสน่ห์ความสวยงามในสไตล์กุชชี่ที่แปลกตาไปจากเดิม เรื่องราวทั้งหมดนี้จึงทำให้ผู้เขียนหยิบยกเรื่องราวของทอม ฟอร์ดและประวัติศาสตร์กุชชี่ยุคก่อนหน้าเพื่อนำเสนอในคอนเซปต์ “การเปลี่ยนแปลงตลอดกาลของกุชชี่” ในครั้งนี้


(สามารถอ่านเรื่องราว VOGUE HISTORY ตอนล่าสุดได้กับบทความ VOGUE HISTORY | ย้อนความสัมพันธ์ของ DIOR และประเทศญี่ปุ่น ที่ยาวนานกว่า 70 ปี!)

WATCH

TAGS : GUCCI TOMFORD
 
Close menu