Takashi Murakami
FASHION

บันทึกการเดินทางสู่เกียวโต กับนิทรรศการ Takashi Murakami Mononoke Kyoto ที่ทุกคนไม่ควรพลาด

'ผมมองว่างานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่ง ผมจึงตั้งใจสร้างโชว์นี้ขึ้นมา เพราะต้องการให้คนเดินทางมาที่เกียวโตเพราะศิลปะครับ' Takashi Murakami บอกโว้กประเทศไทยเอาไว้แบบนั้น

©Takashi Murakami/Kaikai Kiki Co., Ltd. All Rights Reserved.
Photo: Alex Lau @alexchlau

 

     “ผมมองว่างานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่ง ผมจึงตั้งใจสร้างโชว์นี้ขึ้นมา เพราะต้องการให้คนเดินทางมาที่เกียวโตเพราะ ศิลปะครับ นั่นคือประโยคที่สะท้อนให้เห็นความตั้งใจแรก ที่โพล่งออกมาจากปากของ Takashi Murakami ศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยรุ่นใหญ่ชาวญี่ปุ่นวัย 62 ปี ที่ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานให้กับอุตสาหกรรมศิลปะนับไม่ถ้วน ซึ่งหลังจากที่เขาได้โลดแล่นสร้างสรรคค์และแสดงผลงานในต่างประเทศไปทั่วโลก ก็ถึงเวลาหวนคืนสู่รากเหง้าของตัวเองอีกครั้ง กลับมาจัดนิทรรศการศิลปะเดี่ยวขนาดใหญ่ครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษที่ประเทศญี่ปุ่น ในชื่อ "Takashi Murakami Mononoke Kyoto" ซึ่งนับเป็นนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ครั้งแรกในโตเกียว ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ KYOCERA กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในนิทรรศการไฮไลต์สำคัญเพื่อร่วมเฉลิมฉลองให้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้ ที่ตั้งตระหง่านผ่านร้อนผ่านหนาว อยู่คู่กับกรุงเกียวโตมาอย่างยาวนานถึง 90 ปี

     ท่ามกลางพื้นที่จัดแสดงอันกว้างขวาง ภายในถูกแบ่งออกเป็นโซนจัดแสดงผลงานของทาเกชิ มูราคามิ ประมาณ 170 ชิ้น ซึ่งมีตั้งแต่ภาพวาด เรื่อยไปจนถึงงานประติมากรรม ที่โว้กเชื่อแน่ว่าผลงานเหล่านี้จะมีอิทธิพลอย่างยิ่งยวดต่อแวดวงศิลปะร่วมสมัยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะผลงานของมูราคามินั้น ไม่ใช่ผลงานประเภทที่มองได้แค่ว่า “สวยดาษดื่น” ตามรูปลักษณ์ภายนอกที่ปรากฏให้เห็น ทว่าเบื้องลึกของแรงบันดาลใจที่เชื่อมโยงเอา “ญี่ปุ่นดั้งเดิม” เข้ากับ “วัฒนธรรมร่วมสมัยยอดนิยม” ที่นำเสนอโดยอะนิเมะ มังงะ และวิดีโอเกม หรือที่คนทั่วโลกต่างรู้จักกันดีในนามของป็อปคัลเจอร์ของญี่ปุ่น ก็นับเป็นแก่นแท้สำคัญที่ส่งเสริมให้ผลงานของมูราคามิแข็งแกร่งและแตกต่าง อีกทั้งผลงานของศิลปินเบอร์ใหญ่คนนี้ยังพิจารณาลงลึกไปถึงความรู้สึกอ่อนไหวและแง่มุมทางสังคมของชาวญี่ปุ่นในยุคหลังสงคราม เช่นเดียวกับเศรษฐกิจทุนนิยม การเมือง และศาสนา ด้วยการใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อรวมแนวคิดเหล่านี้เข้ากับกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งมูราคามิยอมเองรับว่า เขาได้สร้างสรรค์ผลงานอันหลากหลายที่ตั้งคำถามถึงคุณค่าและความหมายสำคัญของงานศิลปะ อาชีพของเขาถือได้ว่าเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องในการท้าทายวงการศิลปะระดับนานาชาติ ซึ่งค่านิยมตะวันตกได้กลายเป็นบรรทัดฐานที่ถูกยอมรับ ผสมผสานกับแรงกระตุ้นใหม่ๆ จากมุมมองของประเทศญี่ปุ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เกิดเป็นผลงานเหล่านี้ขึ้นมา

     “ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ ผมพยายามตามหาและขบคิดว่าจริงๆ แล้วศิลปะคืออะไรกันแน่... ก่อนที่ผมจะพบว่าหนึ่งในหลายๆ นิยามของศิลปะนั้น มันก็คือเรื่องของ ‘ทรัพยากรการท่องเที่ยว’ ซึ่งผมอยากจะยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยผลงานของศิลปินเอก Claude Monet กับผลงาน ‘Water Lilies’ ของเขา ที่สามารถดึงดูดผู้คนให้มายังสถานที่(จัดแสดงผลงาน)นั้นได้ ซึ่งผมเองในฐานะของศิลปินก็มีโอกาสได้ไปที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งตอนที่ผมยังเป็นเด็ก ผมก็มักจะตีความศิลปะไปในแง่ของการผลักดันบางอย่างไปข้างหน้า หรือในแง่ของศิลปะเพื่อศิลปะเท่านั้น แต่ตอนนี้ผมกลับคิดว่าศิลปะเองก็ไม่ต่างจากทรัพยากรการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถดึงดูดผู้คนจากโพ้นทะเลให้เดินทางไปสู่สถานที่นั้นๆ และด้วยโชว์นี้ผมก็ต้องการให้ผู้คนเดินทางมาที่เกียวโตเพราะศิลปะด้วยเช่นกันครับ” มูราคามิบอกกับโว้กประเทศไทยเอาไว้แบบนั้น หลังจากที่เราได้โยนคำถามง่ายๆ เกี่ยวกับนิยามของศิลปะในมุมมองของศิลปินที่ผ่านโลกมาเกินครึ่งชีวิต ลงไปกลางวงพูดคุย เพื่อเริ่มบทสมทนาในครั้งนี้



WATCH




     มูราคามิในคอสตูมหมวกโมทีฟรูป “Murakami Flower” สีคัลเลอร์ฟูล หนึ่งในผลงานเลื่องชื่อและประสบความสำเร็จที่สุด ยังคงถ่อมตัวอธิบายเพิ่มเติมถึงเรื่องราวของนิทรรศการศิลปะของเขาต่อไปว่า “ผมเองก็ไม่ค่อยชำนาญนักเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเกียวโต แต่ผมได้ยินมาว่าที่นี่ใกล้ๆ กับ Heian-jingu และมีประตูศาลเจ้าขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ถัดไปจากพิพิธภัณฑ์ สิ่งเหล่านั้นจริงๆ ถูกสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในสมัยไทโช หรือยุคเมจิ ในตอนที่ประเทศญี่ปุ่นพยายามเปิดกว้าง และนำเสนอวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นให้โลกใบนี้ได้เห็น ก่อนที่ต่อมาเกียวโตจะได้กลายมาเป็นสถานที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวมาเยือนหลังจากที่ญี่ปุ่นเปิดกว้างมากขึ้นในยุคหลัง ดังนั้นผมเลยพยายามที่จะนำเสนอมุมมองของเมืองเกียวโตออกมาในงานต่างๆ ในนิทรรศการครังนี้ด้วย สำหรับผมแล้วนิทรรศการนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบเลยก็ว่าได้ ที่คุณจะได้ตีความศิลปะไปพร้อมกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ซึ่งคุณอาจจะได้รับมุมมองใหม่ๆ การตีความใหม่ๆ จากสถานที่และวัฒนธรรมที่โอบล้อมคุณอยู่ในเวลานั้น ซึ่งผมมองว่ามันออกจะยอดเยี่ยมมาก ลองมองแบบนี้ว่า ในมุมของเมืองโตเกียวที่อยู่แนวหน้าและเป็นเมืองที่ทันสมัย ทุกอย่างยังใหม่มากในแง่ของวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่องหรือเทคโนโลยี มันจึงอาจไม่ใช่การเรียนรู้จากประวัติความเป็นมาหรือเรียนรู้สิ่งเก่าแก่ที่มีอยู่ก่อน และนำสิ่งนั้นมาประยุกต์เข้ากับสิ่งใหม่เสียทีเดียว ซึ่งแตกต่างจากที่นี่ ที่เกียวโต ซึ่งเป็นอดีตเมืองหลวงที่มีความเป็นมาและเก่าแก่”

     ไม่เพียงแค่เรื่องของประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจที่มูราคามิพยายามเติมลงไปเป็นส่วนผสมสำคัญในผลงานของเขาที่ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ทว่าเรื่องราวมุมมืดอีกด้านของเกียวโตก็กลายเป็นหนึ่งในส่วนผสมหลักที่ช่วยตัดเลี่ยนให้กับผลงานของเขาด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังสร้างรสขมปะแล่มให้กับเหล่าคนญี่ปุ่นที่เดินทางมาชื่นชมผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของเขาได้อย่างดี เพื่อจุดประกายให้เกิดบทสนทนาวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป 

     จากผลงานที่ถูกจัดแสดงประมาณ 170 ชิ้น ในพื้นที่แบ่งโซนเกือบ 10 โซน ตั้งแต่ภาพวาดบนผนังทอดยาว  เรื่อยไปจนถึงงานประติมากรรม หรือหุ่นยนต์ของเล่น ที่ได้รับอิทธิพลมาจากป็อปคัลเจอร์ของญี่ปุ่นโดยตรง มูราคามิยังได้แอบกระซิบบอกถึงผลงานที่นับว่าเป็นไฮไลต์สำคัญ ที่เขาคิดเอาเองว่าเหล่าสาวกที่มีโอกาสจะได้มาเยือนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะต้องได้มาเห็นกับตาตัวเองก็คือ ภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่รอต้อนรับทุกคนอยู่ด้านหน้าของนิทรรศการ นั่นคือ “Rakuchū-Rakugai-zu Byōbu: Iwasa Matabei RIP” ซึ่งเป็นการนำเอาภาพวาดโดย Iwasa Matabei มาทำใหม่ ให้เกิดเป็นสไตล์ของงานศิลปะแบบร่วมสมัย และในขณะที่เขาสร้างผลงานศิลปะ มูราคามิยังค้นพบว่าเทคนิคการวาดภาพคัตสึฮิโระ โอโตโมะ ศิลปินผู้วาดและเนรมิตอะนิเมะชื่อดัง 'Akira' ให้มีชีวิตนั้น ใช้เทคนิคแบบเดียวกับ Iwasa Matabei ซึ่งการค้นพบสิ่งนั้นถือเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจมากสำหรับเขา

Takashi Murakami

©Takashi Murakami/Kaikai Kiki Co., Ltd. All Rights Reserved.
Photo: Alex Lau @alexchlau

 

     อย่างไรก็ตาม ระหว่างบรรทัดในบทสนทนาที่กำลังออกรส การมองไปรอบๆ ห้องนิทรรศการ "Takashi Murakami Mononoke Kyoto"  ณ Kyoto City KYOCERA Museum of Art ที่ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า นี่ไม่ใช่เพียงนิทรรศการงานศิลปะที่เลือกเอาผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมของศิลปินร่วมสมัยเลื่องชื่อของญี่ปุ่นคนนี้มาจัดวางรวมๆ กันไว้ในพื้นที่โถงทอดยาวที่ถูกกั้นแบ่งด้วยผนังอย่างดีเท่านั้น ทว่าทุกอย่างถูกเรียงร้อยเข้าหากันเป็นเรื่องราวอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ต่างจากแผนที่บันทึกการเดินทางตลอดชีวิตการเป็นศิลปินของมูราคามิที่ถูกกางแผ่ออกให้เห็นถึงเนื้อใน ที่แม้แต่เหล่าสาวกเองก็อาจไม่เคยได้เคยได้เห็นมาก่อนด้วยซ้ำ

     บทสนทนาครั้งนี้ระหว่างโว้กประเทศไทย และมูราคามิ จบลงอย่างเรียบง่ายด้วยประโยคถามไถ่ที่ว่า “บทชีวิตต่อไปของศิลปินที่ชื่อมูราคามิคืออะไร”...

     “ทั้งที่ญี่ปุ่นหรือในประเทศไทยที่นับถือวิถีชาวพุทธที่ว่า ถ้าหากคุณหยุดกินอาหารในไม่ช้าคุณก็จะตาย แต่มันจะใช้เวลาหนึ่งหรือสองเดือนที่ร่างของคุณจะค่อยๆ ย่อยสลายและคุณก็กลับกลายไปเป็นดินและจากไป ผมคิดว่าตอนนี้ผมเหมือนกำลังเข้าสู่กระบวนการนั้นเลย ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วผมจะอ้วนขึ้นก็ตาม” มูราคามิทิ้งท้ายเอาไว้แบบนั้น พร้อมเสียงระเบิดหัวเราะครั้งใหญ่ ที่เราไม่ได้เห็นเลยตลอดบทสนทนายาวเกือบชั่วโมงจนกระทั่งตอนจบนี้

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueArt #TakashiMurakami