Vogue Scoop
FASHION

'Diversity' เมื่อโลกแฟชั่นเต็มไปด้วย 'ผู้ชาย' และอาจไม่ใช่พื้นที่ของ 'ผู้หญิง' อย่างที่ใครคิด

รู้หรือไม่ว่า...หัวเรือใหญ่ของแบรนด์แฟชั่นลักชัวรีสังกัด Kering ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายผิวขาวทั้งสิ้น ตอกย้ำความกลับกลอกของโลกแฟชั่นที่คุยโวถึง 'ความหลากหลาย' ว่าอาจไม่ใช่เรื่องจริง! #VogueScoop

     หนึ่งในโชว์ที่สะเทือนใจคนแฟชั่นมากที่สุดในช่วงปารีสแฟชั่นวีก ประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2024 ก็เห็นจะหนีไม่พ้นโชว์สุดท้ายของดีไซเนอร์หญิงมือฉมัง Sarah Burton แห่งแบรนด์ Alexander McQueen หลังจากที่ร่วมหัวจมท้ายกับแบรนด์มานานกว่า 2 ทศวรรษ บัดนี้ก็ถึงเวลาประกาศวางมือแล้วอย่างสมบูรณ์แบบ ทว่าคนแฟชั่นฟรอนต์โรว์ยังไม่ทันน้ำตารื้น บริษัท Kering ผู้ถือลิขสิทธิ์แบรนด์ Alexander McQueen ก็สร้างความประหลาดใจครั้งใหม่แทบจะทันที ด้วยการประกาศแต่งตั้ง Seán McGirr อดีตหัวหน้าแผนกเสื้อผ้าสำเร็จรูปจาก J.W. Anderson ขึ้นแท่นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คนใหม่แห่ง Alexander MacQueen พร้อมพาเหล่าสาวกแฟชั่นเดินทางเข้าสู่ยุคใหม่ทันควัน

     การประกาศแต่งตั้ง Seán McGirr ให้ขึ้นเถลิงอำนาจเป็นหัวเรือใหญ่ของแบรนด์แฟชั่นระดับตำนานในเครือ Kering รอบนี้ ยังได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในประเด็นของ ‘ความหลากหลาย’ ให้กลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้งในอุตสาหกรรมแฟชั่น เพราะเมื่อหลายคนได้มองย้อนกลับไปสำรวจแบรนด์แฟชั่นระดับลักชัวรีในเครือ Kering ก็จะพบว่า แบรนด์ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้การกุมอำนาจของเหล่าครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ที่เป็น ‘ผู้ชายผิวขาว’ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Sabato De Sarno ที่แบรนด์ Gucci , Demna ที่แบรนด์ Balenciaga, Anthony Vaccarello ที่แบรนด์ Saint Laurent หรือ Matthieu Blazy ที่แบรนด์ Bottega Veneta ซึ่งส่งผลให้เกิดคำถามที่น่าขบคิดตามมาว่า “ไหนเล่าคือความหลากหลายที่วงการแฟชั่นคุยโวนักหนา” ซึ่งสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของเหล่าผู้เสพแฟชั่นสายตื่นรู้อย่างจัง

     แม้ว่าแบรนด์แฟชั่นระดับลักชัวรีหลายต่อหลายแบรนด์จะเคยให้คำมั่นสัญญาในการปรับปรุงประเด็นนี้ แต่ก็ดูเหมือนว่าความพยายามของแบรนด์เหล่านั้นจะยังไม่ประสบความสำเร็จรอบด้านมากพอ เพราะคำถามเรื่องความหลากหลายในการคัดเลือกหัวเรือใหญ่ของแบรนด์ลักชัวรีในบริษัท Kering ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาซ้ำซากที่หยั่งรากลึกลงไปในพื้นที่อุตสาหกรรมแฟชั่นมายาวนาน กับความสำเร็จสูงสุดของผู้หญิงในอุตสาหกรรมแห่งนี้ ที่ดูจะเป็นไปได้ยากกว่าผู้ชายเป็นไหนๆ หนึ่งในเรื่องที่ได้รับการถกเถียงมานานคือ ประเด็นเรื่องค่าตอบแทนของดีไซเนอร์หญิง ตามอ้างอิงจากข้อมูลของ Teen Vogue พบว่าแฟชั่นดีไซเนอร์ผู้หญิงได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนในการสร้างสรรค์ผลงานน้อยกว่าแฟชั่นดีไซเนอร์ชายมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าเป็นช่องว่างทางความเหลื่อมล้ำที่น่าตกใจไม่น้อย ในขณะที่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคสินค้าแฟชั่นลักชัวรีล้วนแล้วแต่เป็นผู้หญิงทั้งสิ้น นั่นเองจึงนำไปสู่คำถามกระทุ้งการเคลื่อนไหวแนวอุดมการณ์ของโลกแฟชั่นสมัยใหม่ว่า “นี่คือพื้นที่ของผู้หญิง หรือเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมของความหลากหลายจริงๆ หรือ”...

     ในอุตสาหกรรมที่มักจะโอ้อวดว่ากำลังก้าวกระโดดไปข้างหน้าในทุกมิติ พร้อมนำเสนอวัฒนธรรม WOKE ให้ทั่วโลกได้ตื่นตัวอย่างวงการแฟชั่นนั้น ยังคงมีประเด็นความไม่เท่าเทียมซ่อนเร้นอยู่ดังที่กล่าวไป แม้ว่าฉากหน้าจะถูกฉาบไว้ด้วยภาพฝัน อย่างการดึงเอานางแบบพลัสไซซ?และนางแบบผิวสี มาร่วมงานมากเท่าไหร่ก็ตาม ทว่าความจริงก็คือแฟชั่นโชว์แค่ 22 โชว์ จาก 64 โชว์เท่านั้น ในช่วงมิลานแฟชั่นวีกประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2024 ที่ผ่านมา ที่ดำเนินการโดยผู้หญิง และมีดีไซเนอร์ผู้หญิงเพียงสองคนเท่านั้นในตารางโชว์มิลานแฟชั่นวีกฤดูกาลล่าสุด ที่ดำรงตำแหน่งเป็นหัวเรือใหญ่ด้านการสร้างสรรค์ของแบรนด์ดัง

     อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นหนึ่งในขั้วความคิดเห็นที่พิจารณาผ่านเลนส์ความเท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติอย่างเข้มข้น ทว่าในอีกฟากหนึ่งของการถกเถียงประเด็นดังกล่าว ยังมีการออกความเห็นว่า การแต่งตั้งใครสักคนให้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คงไม่ได้พิจารณาจากเรื่องของเพศหรือสีผิวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งปัญหานี้ก็เกิดขึ้นในวงการฮอลลีวู้ดเช่นเดียวกัน เมื่อผู้กำกับหญิงหรือนักแสดงหญิงหลายคนประสบความสำเร็จสูงสุดได้แค่เพียง ณ บริเวณเพดานแก้ว (ในฝัน) ที่สังคมโลกปิตาธิปไตยสร้างบรรทัดฐานเอาไว้ให้ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์



WATCH




ข้อมูล : Vogue Business และ Hypebeast

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueScoop #Diversity