ออม ดิษยา สรไกรกิติกูล
FASHION

คุยกับ 'ออม-ดิษยา' หัวเรือใหญ่แห่ง DISAYA ในวันที่ต้องรีแบรนด์อีกครั้งในรอบเกือบ 20 ปี!

"การรีแบรนด์ครั้งนี้ของ DISAYA เหมือนโชคชะตาเป็นตัวกำหนด" ออม-ดิษยา บอกกับโว้กประเทศไทยไว้แบบนั้น...

     “การรีแบรนด์ครั้งนี้ทำให้พลังในตัวออมกลับมาเต็มเปี่ยม เหมือนได้ย้อนกลับไปตอนที่เรายังเรียนอยู่ที่อังกฤษ ไฟในตัวเราลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมแล้วที่จะเป็นสาว DISAYA คนใหม่” นั่นคือคำตอบบางช่วงจากปาก “ออม-ดิษยา สรไกรกิติกูล” หัวเรือใหญ่ของแบรนด์ DISAYA ที่ได้นั่งคุยกับโว้กประเทศไทย ภายในบูติกสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ในสายวันหนึ่ง น้ำเสียงและแววตาของออมฉายความตื่นเต้นกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อถูกถามถึงความรู้สึกที่แบรนด์ DISAYA ต้องเดินทางมาพบกับทางแยกใหญ่อีกครั้ง กับการตัดสินใจรีแบรนด์ในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ...

     ไม่ต้องพูดให้มากความว่า ออม-ดิษยา สรไกรกิติกูล คือหนึ่งในความสำเร็จของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย และนับเป็นนักออกแบบมือฉมังตั้งแต่เมื่อครั้งที่เธอยังเป็นนักเรียนแฟชั่นสาขาการออกแบบเสื้อผ้าผู้หญิง ณ มหาวิทยาลัย Saint Martin ประเทศอังกฤษ ออมกลายเป็นดาวเด่นและเฉิดฉายในหมู่นักเรียนแฟชั่นรุ่นเดียวกันด้วยฉายา Teddy Bear Girl ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคนแฟชั่นที่มีโอกาสได้ชมแฟชั่นโชว์ระดับปริญญาตรีของเธอ กับการสร้างสรรค์คอลเล็กชั่นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตุ๊กตาหมี ความพิเศษอยู่ที่คอนเซ็ปต์การนำเสนอ ที่ออมได้เนรมิตชุดตุ๊กตาหมีหลายรูปแบบที่สามารถหักมุมกลายเป็นชุดกระโปรงและแฟชั่นไอเท็ม ซึ่งชุดฟินาเล่ของโชว์ในครั้งนั้นคือการสร้างสรรค์ชุดตุ๊กตาหมีขนาดเท่าคนจริง ให้นางแบบสวมทับ ก่อนที่สุดท้ายตุ๊กตาหมีตัวดังกล่าวจะถูกกลับออกมาเป็นโททัลลุคชุดกระโปรงสวยสะกด จนออมได้รับรางวัลประจำปีนั้นไปครอง และทำให้ออมกลายเป็นนักเรียนนักออกแบบที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างจากพีอาร์เอเจนซี่และสื่อมวลชนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งออมได้เล่าถึงหนึ่งในผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซให้โว้กฟังว่า “ตอนนั้นผลงานที่ประทับใจที่สุดก็คือชุดที่ Amy Winehouse เอาไปสวมใส่ถ่ายปกอัลบั้ม Back to Black รู้สึกดีใจและยังจำได้ถึงทุกวันนี้ กระทั่งที่ตอนที่เขาเสียชีวิต ออมยังได้เอาชุดนี้ไปเปิดประมูลที่ประเทศอังกฤษ เพื่อนำรายได้บริจาคให้กับ Amy Winehouse Foundation ด้วย”

Disaya

(ผลงานระดับปริญญาตรีของ 'ออม-ดิษยา สรไกรกิติกูล' ในชื่อคอลเล็กชั่นว่า Imaginary Friend)

 

     แบรนด์ DISAYA มีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จาก Boudoir by DISAYA แบรนด์ชุดชั้นในที่ออมปั้นขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเธอเอง ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนอยู่ด้วยแพสชั่นอันเต็มเปี่ยม นั่นเองที่ถูกตัดทอนมาจนกลายเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ DISAYA ที่มีความหมายมากกว่าแค่การใช้เทคนิคการตั้งชื่อตามกระแสนิยมของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ช่วงนั้น แต่ต้องการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์งานออกแบบของตัวเองตั้งแต่จุดเริ่มต้น และสะท้อนตัวตนของตัวเองผ่านชื่อแบรนด์ตั้งแต่วินาทีแรกที่อ่านออกเสียง

     กระนั้นหนทางของ DISAYA ก็ไม่ได้หวานชื่น หรือสวยสดใสเหมือนดีไซน์ของเสื้อผ้าที่ทุกคนได้เห็นบนราวแขวนเสื้อเสียทีเดียว แม้ว่าออมจะเป็นดีไซเนอร์หญิงที่มีประสบการณ์โชกโชน ทั้งการร่วมฝึกงานที่ห้องเสื้อแบรนด์ดังอย่าง DIOR เมื่อครั้งที่ดีไซเนอร์ระดับตำนาน John Galliano ยังกุมบังเหียนอยู่ที่นั่น หรือแม้แต่ข้อเสนอที่น้อยคนจะได้รับ กับการให้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ประเทศอิตาลีถาวร เพื่อทำงานกับห้องเสื้อ Alberta Ferretti ทันทีหลังเรียนจบปริญญาโท ด้วยศักยภาพรอบด้านของเจ้าตัวเอง แต่ออมกลับบอกกับโว้กว่า “แม้เราจะได้รับการยอมรับจากหลายคนในตอนที่เราเรียน ทว่าการเปิดแบรนด์แฟชั่นเป็นของตัวเองนั้น ไม่ใช่แค่วาดรูปหรือดีไซน์เสื้อผ้าเป็นแล้วทุกอย่างจะจบ เพราะการเปิดแบรนด์มันไม่ใช่งานด้านศิลปะอย่างเดียว แต่มันต้องมีความรู้ถึงเรื่องการตลาด การจัดการ ไปจนถึงเรื่องของโปรดักชั่นเบื้องหลัง เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งขอยอมรับตามตรงเลยว่าเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัด แต่เราต้องดูแลเรื่องพวกนี้ให้ครบทุกด้าน ยิ่งเรื่องโปรดักชั่นสำหรับออมมองว่ายากมาก เราต้องคิดวางแผนไม่ให้มันมีปัญหา ต้องคิดว่าจะส่งผลิตที่ไหน ต้องหาแหล่งวัสดุว่าจะรับจากที่ไหน โปรดักชั่นพวกนี้มันมาด้วยกันทั้งหมด แต่ทั้งหมดต้องยกเครดิตให้กับสามี เอ-ดนัย สรไกรกิติกูล ที่มาช่วยชีวิตเราเอาไว้ตรงนี้” ออมเล่าให้โว้กฟังพร้อมกลั้วหัวเราะไปพร้อมกัน ไม่เพียงเท่านั้นแต่ออมยังเสริมอีกว่า พอเธอทำแบรนด์มาถึงขนาดนี้แล้วสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลยคือ เธอได้ประสบการณ์การทำงานอย่างมาก ทั้งการเอาตัวรอดในสนามแฟชั่นที่เข้มข้น เรื่อยไปจนถึงงานด้านการจัดการที่นอกเหนือจากการออกแบบ ที่ออมยืนยันว่าหาไม่ได้จากในห้องเรียน ทั้งหมดคือประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งสิ้น

Disaya

(ผลงานภาพสเก็ตช์คอลเล็กชั่นระดับปริญญาโทของ 'ออม-ดิษยา สรไกรกิติกูล)

 

     จากวันที่เริ่มต้นจนถึงวันนี้ก็นับเวลากว่า 17 ปีแล้ว ที่ DISAYA ขึ้นแท่นเป็นแบรนด์แฟชั่นระดับท็อปในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ พร้อมฐานลูกค้าที่มั่นคงและหนาแน่นตลอดมาทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ แต่นั่นก็ไม่ใช่ยอดภูเขาเอเวอร์เรสต์แห่งความสำเร็จเดียวที่ออมปักธงเอาไว้ให้กับแบรนด์ DISAYA ทว่าออมยังคงมองหาลู่ทางความสำเร็จให้กับแบรนด์อยู่เสมอ กระทั่งที่วิกฤตการณ์โควิด-19 ได้จบลง เปิดทางให้ออมและครอบครัวเดินทางกลับไปเยือนประเทศอังกฤษ ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเธออีกครั้ง และได้กลับไปพบกับเพื่อนเก่าในอุตสาหกรรมแฟชั่นหลายคน ที่แนะนำให้ออมลองกลับมาชิมลางบนสนามตลาดแบบเอ็กซ์ปอร์ตอีกครั้งหลังจากที่วางมือไปสักพัก ซึ่งนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของการรีแบรนด์ครั้งยิ่งใหญ่ของแบรนด์ DISAYA

     “หลังจากที่โฟกัสตลาดประเทศไทยมาสักพักใหญ่ พอกลับมาทำตลาดเอ็กซ์ปอร์ตอีกครั้ง ออมก็กลับมาตื่นเต้นใหม่อีกครั้ง แล้วพอได้กลับไปทำงานกับเพื่อนๆ บรรยากาศเก่าๆ ก็กลับมา มันเหมือนเราได้กลับไปทำงานที่นั่นจริงๆ ทุกความทรงจำสมัยเรียนย้อนกลับมาแบบพรั่งพรู มาพร้อมกับพลังงานของตัวเองสมัยที่ยังเป็นนักเรียนแฟชั่นที่หายไปนานกลับมาด้วย จำได้ว่าตอนที่เริ่มทำคอลเล็กชั่นล่าสุดนี้ ที่จะเป็นคอลเล็กชั่นประเดิมการรีแบรนด์ ออมเริ่มช้ากว่าซีซั่นปกติ ทำให้เหลือเวลาสร้างสรรค์ผลงานแค่ประมาณ 2-3 สัปดาห์เท่านั้น ทุกอย่างก็ทำผ่านออนไลน์ คุยกันผ่านออนไลน์ แต่ไม่รู้ทำไม เราถึงมีแรงทำมันจนเสร็จลุล่วงทันเวลา จำได้ว่ายิ่งทำยิ่งสะใจ (หัวเราะ) อาจเป็นเพราะความรู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปตอนเป็นนักเรียนด้วย แพสชั่นในการทำงานเราเลยเต็มเปี่ยม ไม่มีวันหมด เหมือนกลับมาเฟรชอีกครั้ง” ออมเล่าถึงช่วงเวลาในการเก็บตัวเพื่อตั้งหน้าตั้งตาสร้างสรรค์ผลงานคอลเล็กชั่นรีแบรนด์ให้โว้กประเทศไทยฟังแบบนั้น



WATCH




Disaya

     “แล้วแบบนี้ DISAYA จะเปลี่ยนไปแค่ไหน...” โว้กถามต่อ

     “เสื้อผ้าที่สร้างสรรค์ออกมาก็ยังเป็นตัวตนของสาว DISAYA แต่ก็จะมีลูกเล่นเพิ่มมากขึ้น กับทั้งรายละเอียด และเทคนิคที่เพิ่มมากขึ้น การรีแบรนด์ครั้งนี้เราได้ไปทำงานกับครีเอทีฟเอเจนซี่ชื่อดังที่นั่นอย่าง CLO Studios ที่มีการปรับลุคเปลี่ยนโลโก้จากเดิม ซึ่งขั้นตอนการปรับเปลี่ยนโลโก้ไม่ใช่เรื่องง่าย มีการคุยปรึกษากันอยู่กหลายครั้งจนเกิดเป็นโลโก้ใหม่ ที่ถ้าสักเกตดีๆ จะมีรายละเอียดสำคัญทั้งความขนานของตัวอักษร ไปจนถึงมุมที่มีความโค้งมนมากขึ้น รวมไปถึงโลโก้ที่เหมือนรูปหมี ซึ่งสะท้อนกลับไปถึงตัวตนของออมตั้งแต่เมื่อครั้งเป็น Teddy Bear Girl ที่จะกลับมาโลดแล่นอยู่ในแบรนด์ DISAYA ต่อจากนี้ด้วย”

     ไม่เพียงแค่โลโก้หรือภาพลักษณ์ของแบรนด์เท่านั้นที่เปลี่ยนไป ทว่าออมยังเล่าให้โว้กฟังต่อไปอีกว่า ดีเอ็นเอของความเป็นสาว DISAYA คนใหม่ ยังเพิ่มความเย้ายวน และความดาร์ก มีความหลอนๆ เข้ามาเพิ่มมากขึ้น มีการใส่ความแม่มดหน่อยๆ ลงไป ทั้งหมดถ่ายทอดผ่านคีย์วิชชวลใหม่ ที่ทางแบรนด์ DISAYA ได้ร่วมงานกับ Nicola Neri สไตลิสต์ชาวอิตาลีผู้สร้างสรรค์ลุคให้กับแบรนด์หรูและนิตยสารแฟชั่นชื่อดังมากมาย และ Daisy Walker ช่างภาพและผู้กำกับศิลป์ชาวอังกฤษผู้เคยร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลก อาทิ Loewe, Maison Margiela, Nike และ Victoria Beckham มาแล้ว ซึ่งโว้กประเทศไทยขอให้จับตามองให้ดีหลังจากนี้ เพราะเชื่อว่าแบรนด์ DISAYA จะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์เหล่าสาวกอีกเรื่อยๆ แน่นอน

     บทสนทนาระหว่างหัวเรือใหญ่แห่ง DISAYA และโว้กประเทศไทยจบลงแบบนั้น แบบที่ออมทิ้งท้ายเอาไว้ว่า เธอรู้สึกสนุก และสะใจมากที่เห็นทุกอย่างออกมาเป็นรูปเป็นร่างขนาดนี้ รู้สึกดีใจที่เราได้กลับไปเยี่ยมเยียนบางส่วนของดีเอ็นเอที่หล่นหาย ณ ประเทศอังกฤษ ดีใจที่จะได้ขยายฐานลูกค้าไปจนถึงงานดีไซน์ที่จะกินพื้นที่กว้างขึ้นจากเดิม

     ท้ายที่สุดก่อนที่เราทั้งคู่จะผละตัวออกจากวงสนทนานี้ ออมได้ทิ้งท้ายไว้ด้วยประโยคที่น่าสนใจที่โว้กขอยกให้เป็นใจความสำคัญของความสำเร็จในครั้งนี้ และเป็นบทเรียนแรกให้เหล่าดีไซเนอร์หน้าใหม่ว่า “ทั้งหมดที่ทำมาคือแพสชั่น คือความชอบทั้งสิ้น ถ้าไม่ชอบจริง คงทำไม้ได้ขนาดนี้”...

 

WATCH

คีย์เวิร์ด: #DISAYA