FASHION

ไฮไลต์ #VogueGlobalConversations EP.2 'การอนุรักษ์แบบยั่งยืนของแฟชั่น' กับหลักคิดของ 2 ดีไซเนอร์

บทสรุป #VogueGlobalConversation ตอนแรกกับเรื่องความยั่งยืนในโลกแฟชั่นผ่านมุมองดีไซเนอร์ดังทั้ง Stella McCartney และ Gabriela Hearst

     “อยู่ๆ คำว่ายั่งยืนก็เป็นคำที่ถูกใช้อย่างฟุ่มเฟือยมากๆ” Stella McCartney กล่าวเปิดระหว่างการพูดคุยกับ Gabriela Hearst และ Eugenia de la Torriente แห่งโว้กสเปน ในรายการ Vogue Global Conversations ที่ซึ่งนักออกแบบทั้งสองได้มาพบปะกับคุณบรรณาธิการเพื่อพูดคุยว่าพวกเธอทำอย่างไรเพื่อคงไว้ซึ่งความตระหนักรู้ต่อสิ่งแวดล้อม และ ความคิดบวกท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา 

 

     “สำหรับดิฉันการอนุรักษ์อย่างยังยืนนั้นเป็นเรื่องของสภาวะทางความคิด...ในท้ายที่สุดแล้วทั้งหมดเป็นเรื่องความสมดุล ในความคิดเห็นของฉันสิ่งที่สำคัญคือการใช้ทรัพยากรที่ธรรมชาติมีให้ และใช้มันอย่างระมัดระวัง ไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือย” สเตลลากล่าวสรุป กาเบรียลาเห็นพ้องว่า “การอนุรักษ์อย่างยั่งยืนเป็นวิถีปฏิบัติในทำนองเดียวกับการฝึกทำสิ่งต่างๆ จนเป็นนิสัย คือต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่ท้าทายแต่เป็นไปได้ และเมื่อคุณเริ่มมั่นใจในตัวเองมากขึ้นว่าคุณทำได้ คุณก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปสู่ความท้าทายต่อไป”

 

     ในการบทสนทนาราวชั่วโมงนี้นักออกแบบทั้งสองแบ่งปันรายละเอียดของกิจวัตรของตัวเองในการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และพร้อมกันนี้ก็ถกกันว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นในวงกว้างสามารถนำกรรมวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้อย่างไรบ้าง “เราจะย้อนกลับไปทำเหมือนเมื่อก่อนก็ได้นะ แต่ฉันหวังว่าคงไม่” สเตลลากล่าว “คนที่ไม่ได้คิดแบบเดียวกับพวกเราก็เริ่มเข้าใจกันมากขึ้นว่ามีอีกหนทางหนึ่งที่ดีกว่า ซึ่งทำให้ฉันมีความหวัง เพราะฉันรู้ดีว่ามันมีทางที่ดีกว่า และฉันหวังว่าคนอื่นๆ จะเห็นแล้ว ณ ขณะนี้”

Stella McCartney ดีไซเนอร์ผู้โด่งดังเรื่องการออกแบบสอดคล้องกับความยั่งยืน / ภาพ: Courtesy of Stella McCartney

การอนุรักษ์อย่างยั่งยืนใช้เวลา 

     การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมต้องใช้เวล นี่เป็นสิ่งที่วงการแฟชั่นในวงกว้างจำเป็นต้องทำความเข้าใจ “สำหรับแบรนด์ Stella McCartney กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เรามีถือกำเนิดขึ้นจากการที่เราเรียนรู้จากวัตถุดิบตั้งต้นและทำงานกันล่วงหน้านานนับปี” สเตลลาอธิบาย “ฉันทำงานกับโรงงานเดียวกันกับที่หลายแบรนด์หรูใช้ แต่ฉันทำงานกับพวกเขาล่วงหน้านานกว่ามากเพราะฉันต้องการใช้พืชที่เก็บเกี่ยวมาอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ฉันต้องการให้ใช้เวลาในการขนส่งวัตถุดิบน้อยกว่า และต้องการให้มีการใช้ยาฆ่าแมลงน้อยกว่า ซึ่งจะทำให้กระบวนการผลิตใช้เวลามากกว่า”

 

     กาเบรียลาเห็นด้วยว่าการค้นหากระบวนการผลิตทางเลือกเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้อย่างง่ายดาย “เราตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2021 อย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าภายใต้เราจะถูกผลิตขึ้นจากวัตถุดิบที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่” ดีไซเนอร์ผู้เล็งเห็นประเด็นสิ่งแวดล้อมเล่า “เราใช้เวลาหลายเดือนในการทำสิ่งที่ฉันเรียกว่า ‘ออกล่าและรวบรวม’ วัตถุดิบสำหรับคอลเล็กชั่นรีสอร์ตและ คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ โดยอย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์ได้มาจากวัตถุดิบที่มีอยู่แล้ว” ฤดูใบไม้ผลินี้เธอจะเปิดตัว “The Garment Journey” ซึ่งจะมี QR code อยู่บนป้ายของเสื้อผ้าแต่ละชิ้นของเธอซึ่งบอกเล่าเรื่องราวการผลิตของผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นตั้งแต่หัวจรดเท้า 

 

     “ฉันหวังว่าผู้คนจะมองกลับมาและพิจารณากรอบเวลา” ดีไซเนอร์สาวชาวอังกฤษกล่าวสรุป “พวกเขาจะสามารถเคารพการที่เราใช้เวลามากกว่าเพราะเราต้องการให้การทำงานออกมาดีกว่า”

Gabriela Hearst ดีไซเนอร์ชาวอุรุกวัยผู้รังสรรค์ผลงานเพื่อสิ่งแวดล้อม / ภาพ: WSJ

ขยะคือความล้มเหลวของงานออกแบบ

     “การอนุรักษ์อย่างยั่งยืนคือการเรียนรู้วิธีการทำงานภายใต้ข้อจำกัดและการควบคุม ซึ่งในความคิดของดิฉันมันเป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับความคิดสร้างสรรค์” กาเบรียลากล่าว “อย่างที่สเตลลาบอกค่ะว่าทรัพยากรเราไม่ได้มีอยู่เป็นอนันต์ เราจำเป็นต้องหาจุดสมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภค.…ในท้ายที่สุดแล้วการมีของเหลือทิ้งคือข้อบกพร่องในการออกแบบ ตามธรรมชาติไม่มีการเหลือทิ้ง”

 

     “เราต้องหยุดและพิจารณาสิ่งที่เหลือทิ้งว่ามันกำลังไปถึงจุดที่เกินเยียวยา” สเตลลาย้ำอีกครั้งโดยชี้ไปตัวเลขจากการกักตัวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่แสดงว่าการปล่อยสารคาร์บอนในอากาศจากประเทศจีนลดลงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ “ในช่วงเวลาสั้นๆ เราได้เห็นว่าธรรมชาตินั้นเหลือเชื่อแค่ไหน มันเยียวยาตัวเองเร็วมากหลังจากที่เราหยุดทำร้ายมันแค่วินาทีเดียวเท่านั้น เห็นแล้วมีความหวังมาก จะมีสักวันไหมที่เราจะรักษาโลกให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้  ดูเหมือนจะเป็นไปได้อยู่นะ.… เราแค่ต้องฟันฝ่าจุดนี้ออกไปให้ได้พร้อมกับความหวัง และต้องตระหนักว่าเรากำลังใช้ทรัพยากรมากเกินไป”

 

     นักออกแบบทั้งสองชูเรื่องการใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่และเนื้อผ้าที่ยั่งยืนเพื่อลดปริมาณของเหลือทิ้ง “ที่แบรนด์สเตลลานอกจากเราจะพิถีพิถันในการเลือกวัตถุดิบแล้ว ข้อดีทางสิ่งแวดล้อมอีกอย่างหนึ่งคือเราไม่ฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลเลยทีเดียว เราน่าจะฉุดให้ผู้บริโภคเดินช้างลง คิดและตั้งคำถามมากขึ้น ทำให้พวกเขาไตร่ตรองมากขึ้นในการเลือกใช้ของ” สเตลลาสรุปปิดท้ายประเด็นนี้



WATCH




Eugenia de la Torriente บรรณาธิการบริหารโว้กสเปน / ภาพ: Vogue Spain

ความยั่งยืนให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ 

     “เอาเข้าจริงๆ ไม่ว่าเราจะใส่ศีลธรรมจรรยาเข้าไปในผลิตภัณฑ์ของเรามากมายแค่ไหนก็ไม่มีวันเพียงพอที่จะโน้มน้าวให้คนซื้อของเรากาเบรียลาพูดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา “พวกเขาจะซื้อก็ต่อเมื่อของนั้นเป็นของที่คุณภาพดีเพราะว่าได้รับการออกแบบมาอย่างดี.… ไม่มีใครซื้อของคุณเพียงเพราะคุณหวังดีกับโลกหรอก” เธอกล่าวต่อโดยเล่าว่าการเติบโตในฟาร์มที่อุรุกวัยได้สอนให้เธอรู้ว่าความยั่งยืนและคุณภาพคือสองสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ “เราได้เรียนรู้เรื่องความยั่งยืนจากมุมมองแห่งประโยชน์นิยมคือต้องผลิตสินค้าที่มีอายุยืนยาว เราใช้ชีวิตไปกับการบริโภคของแค่ไม่กี่อย่าง แต่ของเหล่านั้นสร้างมาอย่างดีมากจนมันทนทานต่อพลังของธรรมชาติ”

 

     “เราเรียนรู้ที่จะเติมโตทางธุรกิจด้วยคุณภาพ มากกว่าปริมาณ” เธอกล่าว และเสริมว่าเธอเลือกไม่ขายส่งกระเป๋าของเธอที่ได้รับความนิยม ซึ่งถ้าเธอเลือกแบบนี้ธุรกิจของเธออาจโตได้เป็นสองเท่า แต่มันแปลว่าจะต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มเป็นเท่าตัวเช่นกัน “เราระมัดระวังมากเรื่องกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยพยายามที่จะไม่ผลิตหรือขายของออกไปจำนวนมากเกินจำเป็น”

 

     “เราจะใช้สินค้าบางชิ้นที่อลังการ อินเทรนด์ น่าใช้ ไร้กาลเวลาอย่างที่กาเบรียลาว่าก็ได้ แต่เวลานี้เราต้องใช้ของอย่างคุ้มค่าด้วยความเคารพ และในทางหนึ่งก็กลับเข้าสู้ความสมถะด้วย” สเตลลาเสริมว่า “เราต่างก็รู้ว่าก่อนหน้านี้เราก็พยายามกันมาระดับหนึ่ง แต่เราทำได้ดียิ่งกว่านี้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะตั้งคำถามว่าจะทำยังไง และทำให้ได้เมื่อทุกอย่างกลับสู้สภาวะปกติ”

 

ติดตามบทสรุป #VogueGlobalConversations ตอนอื่นๆ ได้ที่โว้กประเทศไทย

 

voguefreeapril2020

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueGlobalConversation