FASHION

ไฮไลต์ #VogueGlobalConversations EP.1 'อนาคตของความคิดสร้างสรรค์' กับ Marc Jacobs และ Kenneth Ize

บทสรุป #VogueGlobalConversation ตอนแรกกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ผ่านมุมองดีไซเนอร์ดังทั้ง Marc Jacobs และ Kenneth Ize

     ในตอนแรกของรายการ Vogue Global Conversations ทาง Edward Enninful แห่งโว้กอังกฤษได้จัดการเสวนากับ Marc Jacobs และ Kenneth Ize สองนักออกแบบผู้อยู่ในช่วงอาชีพที่แตกต่างกัน มาร์คผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงแห่งวงการแฟชั่นตั้งแต่ยุค 90s ส่วนเคนเนธเพิ่งจะได้มีโชว์ที่ปารีสแฟชั่นวีก ทั้งสองนำเสนอความคิดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ท่ามกลางวิกฤติไวรัสโคโรน่า และทิศทางที่วงการแฟชั่นจะพัฒนาไปหลังจากโรคระบาดหายไป

Edward Enninful บรรณาธิการบริหารโว้กอังกฤษ / ภาพ: @edward_enninful

     “ผมทำงานในทีม การพบปะกันทุกวันคือตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดผลงานของผมและพวกเขาในแต่ละฤดูกาล เพราะฉะนั้น ณ เวลานี้ผมคงพูดไม่ออกว่ามันคือห้วงเวลาที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์” มาร์คเอ่ยขึ้น “การสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดขึ้นในสภาวะสูญญากาศ มันอาจจะเกิดอยู่ในฟองสบู่แห่งวงการแฟชั่น แต่ตัวเร่งปฏิกิริยาทั้งหมดคือแรงกระตุ้นที่มาจากโลกทั้งใบที่ทำให้เรามีแรงขับเคลื่อน พลังงาน และ ตัณหาที่จะสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา” จากนั้นดีไซเนอร์ชาวอเมริกันอธิบายต่อว่าการล็อคดาวน์และแยกตัวสร้างความท้าทายให้กับการทำงานร่วมกันระหว่างเขาและทีมมากมาย ในขณะที่พวกเขาต้องพัฒนาเนื้อผ้าที่อิตาลีและสร้างคอลเล็กชั่นร่วมกัน “ตอนนี้เราทำอะไรไม่ได้เลยจริงๆ จนกว่าเราจะค้นพบหนทางใหม่ในการทำงาน จนกว่าเราจะรังสรรค์วิธีใหม่ที่จะสร้างงาน หรือ จุดหมายใหม่ที่จะพุ่งชน” เขากล่าวโดยเน้นความสำคัญของการค้นหาหนทางใหม่ๆ ในการออกแบบและผลิตแฟชั่น และการที่เขาและทีมกำลังรื้อถอนและคิดกรอบการทำงานที่พวกเขาใช้ในช่วงที่ผ่านมาเสียใหม่ “การแบกอดีตไว้คงไม่ใช่ลู่ทางที่ดีที่สุดในการเดินต่อไปข้างหน้า” เขากล่าวเสริม “ตอนนี้รู้สึกเหมือนว่าสิ่งที่ผมทำ เสื้อผ้าที่ผมออกแบบ และวิธีการนำเสนอโชว์ในแบบที่เคยเป็นมาจะไม่มีตัวตนในแบบที่เราเคยรู้จักและเคยทำมาอีกต่อไปแล้ว”

 

คอลเล็กชั่นของเคนเนธส่วนใหญ่สร้างร่วมกับช่างทอผ้าที่ประเทศไนจีเรียซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา สำหรับเขาแล้วการคงไว้ซึ่งความคิดสร้างสรรค์หมายรวมไปถึงการแสวงหากระบวนการทำงานใหม่ๆ  เมื่อเร็วๆ นี้เขาได้ออกแบบเครื่องทอผ้าแบบใหม่ที่แจกให้กับช่างทอผ้าของเขาทุกคนตามหมู่บ้านต่างๆ ในไนจีเรีย “การทำแบบนี้เปิดโอกาสให้เราได้เห็นว่าเราสามารถทำอะไรกับเครื่องทอผ้านี้ได้บ้าง เราสามารถส่งไปให้ช่างทอได้ตามบ้านของพวกเขา และสามารถทอผ้าจากที่บ้านได้” ดีไซเนอร์หนุ่มอธิบาย “นอกจากนั้นมันเปิดโอกาสให้เราได้เห็นข้อดีของการใช้วิธีนี้กับชุมชนที่เราร่วมงานด้วยอีก นอกจากมันจะเป็นความท้าทายสำหรับผมแล้วมันก็ยังน่าตื่นเต้นมากเช่นเดียวกันครับ” ด้วยความที่ช่างทอผ้าบางคนของเคนเนธอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เขาจึงจำเป็นต้องพูดคุยและออกแบบงานผ่าน WhatsApp “มันน่าสนใจมากนะครับ!” เขากล่าว และเพิ่มเติมด้วยว่า “เรากำลังคิดไปถึงวิธีต่างๆ ที่เราพอจะทำได้ในการพัฒนาชุมชน โดยผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย สำหรับผมการที่เราสามารถส่งข้อมูลต่างๆ ให้คนในชุมชนของเราเป็นเรื่องสำคัญมาก”

Marc Jacobs ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Marc Jacobs / ภาพ: @themarcjacobs

     นักออกแบบทั้งสองเห็นพ้องต้องกันว่าทันทีที่โลกกลับสู่สภาวะปกติแฟชั่นโชว์ต้องเกิดต่อไป แม้ว่ารูปแบบอาจเปลี่ยนไปจากที่เราคุ้นเคยกัน “ในคอลเล็กชั่นหนึ่ง เช่น คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง 2020 เป็นการลงทุนสูงและเสื้อผ้าก็ราคาสูง เราผลิตออกมาในปริมาณที่น้อยมากแต่การลงทุนมหาศาล ที่ผ่านมาทั้งหมดเพื่อฉัพพรรณรังสีที่ส่องแสงรอบๆ เป็นผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจมากกว่าทุกสิ่ง” มาร์คกล่าวโดยอธิบายต่อว่าคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง 2020 นี้ไม่ได้อยู่ในขั้นตอนของการผลิต มิหนำซ้ำเขาและทีมก็ยังไม่ได้เริ่มการออกแบบคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ 2021 เลย

 

     “แฟชั่นโชว์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ขาดไม่ได้เลย” ดีไซเนอร์ชาวไนจีเรียกล่าวเพิ่มเติมในภายหลังพร้อมเล่ารายละเอียดว่าการที่เขาได้นำอาภรณ์ของเขามาแสดงที่กรุงปารีสเป็นการช่วยให้เขาได้เข้าถึงตลาดใหม่ๆ “แฟชั่นโชว์กระตุ้นยอดขายของเราครับ เมื่อได้มีโชว์ทำให้ลูกค้าสบายใจว่าสินค้าเหล่านี้จะยังมีความสำคัญอยู่ เพราะว่าคู่ควรกับการอยู่ตรงจุดนี้” ในขณะเดียวกันมาร์ค เห็นว่าตารางแฟชั่นโชว์อาจควรปรับเพื่อให้ได้จังหวะการก้าวเดินที่ไตร่ตรองทางความคิดมาอย่างดี “ถ้าจะให้ปรับคือแฟชั่นโชว์ควรมีแค่ปีละ 2 ครั้งเท่านั้นล่ะครับ” เขากล่าว “ผมคิดว่าจำนวนของที่เราทำ ปริมาณสินค้าที่เราผลิต และจำนวนครั้งที่เราแสดงสิ้นค้าเหล่านี้มันมากเกินควร”



WATCH




Kenneth Ize ดีไซเนอร์ไฟแรงชาวไนจีเรีย / ภาพ: @kennethize

     ในท้ายที่สุดนักออกแบบทั้งสองยืนกรานว่าแม้ในช่วงเวลาอันมืดมนเช่นนี้ความคิดสร้างสรรค์สามารถเป็นแสงนำทางให้เราได้  เคนเนธเล่าว่าเขากำลังใช้เวลานี้ในการคิดกลยุทธ์ดิจิทัลของแบรนด์เขาเสียใหม่ “ผมว่าทุกคนก็กำลังพูดถึงว่าการสร้างคอนเทนต์สำคัญอย่างไร เรื่องราวเบื้องหลังทุกอย่างสำคัญมาก” เขากล่าว “ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีวันหยุดอย่างไรก็ต้องไปต่อ เราต้องหาทางทำ ผมเชื่อว่าลู่ทางในการเดินต่อไปข้างหน้าคือเราต้องสร้างคอนเทนต์และใช้พื้นที่ในมือในการบอกเล่าเรื่องราวของเรา” 

 

     ความคิดข้างต้นก็ถูกสะท้อนกลับในวาจาของมาร์คว่า “ความคิดสร้างสรรค์จะไม่มีวันหยุด เพราะมันคือสิ่งจำเป็น ในช่วงกักตัวนี้ทุกคนจะอยู่ในสภาพไหนถ้าไม่มีหนังสือให้อ่าน หรือ ภาพยนตร์ให้ดู ผมไม่รู้ว่าผมจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีเหตุผลให้แต่งตัวในทุกๆ วัน มันคือสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับผม มันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญพอๆ กับอะไรทั้งหมด.…การใช้ความคิดสร้างสรรค์ และ ความคิดสร้างสรรค์นั้นจำเป็นอย่างไร้ข้อกังขา ยังไงมันก็ไม่มีวันตาย”

 

ติดตามบทสรุป #VogueGlobalConversations ตอนอื่นๆ ได้ที่โว้กประเทศไทย

 

voguefreeapril2020

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueGlobalConversation