FASHION

โว้กพาย้อนเจาะลึกประวัติที่มาของรถตุ๊ก ๆ กับเอกลักษณ์ที่ทำไมมันถึงเป็นไทยหนักหนา...

โว้กพาย้อนประวัติของรถตุ๊ก ๆ กับการพัฒนาและกระแสป๊อปคัลเจอร์ที่ทำให้ตุ๊ก ๆ มันถึงแสดงถึงความเป็นไทย

เนื้อหาสำคัญ

  • เปิดที่มาของรถตุ๊ก ๆ ไทย
  • ความสำคัญของรถตุ๊ก ๆ ต่อการคมนาคม
  • ทำไมรถตุ๊ก ๆ ถึงสะท้อนความเป็นไทย
  • บทบาทของรถ 3 ล้อคันนี้ที่ปรากฏในป๊อปคัลเจอร์

___________________________________________________________

 

     ยานพาหนะอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยที่คนทั้งโลกรู้จักคือ “รถตุ๊ก ๆ” คนไทยอยู่และซึมซับบรรยากาศท้องถนนที่เต็มไปด้วยรถ 3 ล้อลักษณะเปิดโล่งบริการรับ-ส่งมาอย่างยาวนาน แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าแท้จริงแล้วรถสุดเก๋ไม่เหมือนใครในโลกนี้มีต้นกำเนิดมาจากไหน มีความเป็นมาอย่างไร และทำไมเพียงแค่ยานพาหนะสัญจรที่ดูเรียบง่ายสบาย ๆ แต่มันช่างเต็มไปด้วยพลังแห่งสัญลักษณ์ความเป็นไทยที่พร้อมให้คนทั่วโลกได้นึกถึงและจดจำอยู่เสมอ แม้แต่ในแฟชั่นเซตของโว้กประเทศไทยฉบับกุมภาพันธ์ปี 2019 ยังมีการถ่ายภาพนางแบบระดับโลกคู่กับรถ 3 ล้อเครื่องแบบนี้ด้วย วันนี้โว้กจึงจะพาย้อนเวลาเจาะลึกเกี่ยวกับรถ 3 ล้อแห่งประเทศไทยคันนี้

บรรยากาศการสัญจรของรถ 3 ล้อถีบโบราณ / ภาพ: poonimarat

     รถ 3 ล้อคำบ่งบอกถึงยานพาหนะแสนโบราณซึ่งเรามักจะย้อนนึกถึง 3 ล้อถีบในแบบฉบับโบราณในประเทศ ก่อนจะมีระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น ๆ 3 ล้อถีบถือว่าเป็นวิธีการเดินทางทางบกที่สะดวกสบายและค่อนข้างรวดเร็ว ในสมัยก่อนวิถีชีวิตชาวไทยติดน้ำมาจนถึงช่วงยุครัตนโกสินทร์ การเดินทางระยะไกลยังใช้รถไฟและเรือเป็นหลัก แต่การเดินทางภาคพื้นดินที่เป็นรูปแบบส่วนตัวยังคงใช้แรงงานคนเข้าช่วย ถ้าเปรียบกับการเดินทางทางชลมารค 3 ล้อถีบคงเป็นเหมือนเรือแจว ที่มีผู้บังคับทิศทางและขับเคลื่อนไปอย่างเชี่ยวชาญ สร้างความสะดวกสบายแบบเป็นตัวส่วนตัวในยุคสมัยนั้น ยานพาหนะแบบนี้มีมาตั้งแต่ช่วงยุค พ.ศ.2470 เริ่มจากการใช้จักรยานต่อพ่วงที่นั่ง กระบะและหลายต่อหลายสิ่งเพื่อฟังก์ชั่นการใช้งานที่แตกต่างกัน และความดั้งเดิมของการแต่งเติมถูกปรับเปลี่ยนเป็นจักรยานยนต์ติดพ่วงบ้างแต่ก็หลงเหลืออยู่น้อยเต็มที

รถยนต์รุ่นปี พ.ศ. 2448 / ภาพ: baanjomyut.com

     ย้อนกลับไปวันที่รถยนต์เข้ามาในประเทศไทย เหมือนวงการยานยนต์ในประเทศไทยจะเปลี่ยนรูปแบบไปไม่น้อย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีรถยนต์ส่วนตัวคันแรกเข้ามาหลังจากนั้นก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่จำกัดอยู่ในแวดวงคนชนชั้นสูงเท่านั้น ต่อมาผู้คนทั่วไปเริ่มสามารถครอบครองรถยนต์ส่วนบุคคลได้ประกอบกับถนนที่พัฒนาทำให้การวิ่งโดยใช้รถเครื่องก็สะดวกสบายมากขึ้น ข้ามมาถึงกรุงเทพมหานครยุคปี พ.ศ. 2500 เมืองหลวงแห่งนี้เริ่มเฟื่องฟู รถยนต์สัญจรไปมาหนาแน่นบนท้องถนน รถสาธารณะยังเป็นรูปแบบของรถรางและรถประจำทาง (รถเมล์) ซึ่งวิ่งตามเส้นทางที่กำหนดไว้ รถโดยสารรับจ้างเองก็มีลักษณะเหมือนรถยนต์ปกติอีกทั้งมีราคาค่อนข้างแพงทำให้ทางเลือกของคนยุคนั้นถือว่าค่อนข้างถูกจำกัดตามฐานะทางเศรษฐกิจ



WATCH




รถยนต์รุ่น Daihatsu Midget DK ที่ปัจจุบันยังมีใช้อยู่ในจังหวัดอยุธยาในชื่อ "ตุ๊ก ๆ หน้ากบ" / ภาพ: WheelsAge

     ปีพ.ศ. 2503 ตำนานของรถ 3 ล้อผลัดภาพลักษณ์จาก 3 ล้อถีบและจักรยานแต่งเติมมาสู่รถ 3 ล้อเครื่องเต็มตัวจนเป็นต้นกำเนิดของรถตุ๊ก ๆ โดยเริ่มจากการนำเข้ามาของรถไดฮัทสุรุ่นมิดเจ็ท ดีเค (Midget DK) เข้ามาขายในย่านเยาวราช  (ปัจจุบันรุ่นนี้ยังใช้อยู่ในจังหวัดอยุธยาที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “ตุ๊ก ๆ หน้ากบ”) ด้วยความสะดวกสบายของรถขนาดเล็กแต่ยังเพียบพร้อมด้วยฟังก์ชั่นรถยนต์เกือบครบ คนไทยจึงเกิดไอเดียนำเจ้ารถกระบะบรรทุกจิ๋วแต่แจ๋วมาดัดแปลงแต่งเติมที่นั่งและหลังคาเพื่อใช้โดยสารทดแทน 3 ล้อถีบในวันที่ถูกห้ามใช้บนท้องถนนเนื่องจากพัฒนาการของถนนและเทคโนโลยียานยนต์ขณะนั้นที่การเดินทางแบบโบราณอาจทำให้เกิดปัญหาความติดขัดและอันตรายได้

รถตุ๊ก ๆ รุ่น Daihatsu Midget MP4 มีประตูข้างที่สันนิษฐานว่าชาวต่างชาติอาจได้ยินนิยามเสียงมาจากคันนี้ (ปัจจุบันใช้อยู่ในจังหวัดตรังตามภาพ) / ภาพ: Expique

     เราเกือบไม่มีโอกาสได้เห็นตุ๊ก ๆ แล้ว! รถ 3 ล้อเครื่องดัดแปลงเหล่านี้ออกโลดแล่นบนท้องถนนได้เพียง 5 ปี ทางราชการเห็นว่าเป็นรถที่มีประสิทธิภาพต่ำและกีดขวางเส้นทางบนท้องถนน แต่ก็สามารถอยู่รอดมาเกือบ 60 ปีแล้ว รถตุ๊ก ๆ ไม่เคยหยุดพัฒนาแม้จะรอดจากการถูกกวาดล้าง ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมารูปแบบของมันถูกปรับเปลี่ยนให้ใช้งานได้ดีในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสมรรถภาพซึ่งตอนนี้เครื่องยนต์ไม่เป็นปัญหาต่อการเดินทางแต่อย่างใด และเครื่องยนต์นี้เองเป็นสาเหตุที่มันได้ชื่อว่า “ตุ๊ก ๆ” ตามเรื่องเล่าที่คนยึดถือกันมาตลอดก็คือชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการรถประเภทนี้ไม่สามารถนิยามได้ว่ามันเรียกว่าอะไรจึงเรียกตามเสียงเครื่องยนต์ที่ดังขึ้น “ตุ๊ก ๆ” หลายคนอาจจะแปลกใจสำหรับเสียงสุดฉงนว่าเหล่าฝรั่งมังค่าได้ยินเช่นนั้นได้อย่างไร มันก็ไม่แปลกนักในแง่ของภาษาเพราะเรายังเรียกฝนตกว่า “แปะ ๆ” ฟ้าร้อง “ครืน ๆ” หรือไก่ขันที่ฝรั่งถอดเสียงมาว่า “Cock-a-doodle-doo” และด้วยคำเรียกเหล่านั้นจึงกลายเป็นคำเรียกของรถเอกลักษณ์ไทยคันนี้สำหรับคนทั่วโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมา

รถตุ๊ก ๆ จอดอยู่หน้าบริเวณพระบรมมหาราชวัง / ภาพ: My Little Adventure

     แล้วทำไมมันถึงแสดงถึงความเป็นไทยในเมื่อรถก็มาจากญี่ปุ่นและที่อื่นก็มีรถลักษณะคล้าย ๆ กันอยู่ทั่วโลก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าตุ๊ก ๆ ไม่ใช่สัญลักษณ์ที่คนไทยนิยามให้เป็นสิ่งชูโรงของประเทศเรา แต่สิ่งเหล่านี้ถูกชาวต่างชาตินิยามและตั้งขึ้นว่าควรได้รับฐานะเช่นนั้น จากประสบการณ์สิ่งที่พวกเขาได้เห็นและสัมผัส ในวันที่ทุกที่บนโลกมีรถยนต์ รถเมล์ รถโดยสารชมวิวขนาดใหญ่ รถรางและรถอื่น ๆ อีกมากมาย มองกลับมาที่ประเทศไทย เมื่อเข้าถึงเมืองเก่าเหล่านักท่องเที่ยงคงไม่อยากจะพาตัวเองอุดอู้อยู่ในกระจกของรถแท็กซี่ หรือความยากลำบากเกินไปของรถประจำทาง รถ 3 ล้อเครื่องนี้สามารถพานักท่องเที่ยวเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย ชมบรรยากาศของสถานที่ท่องเที่ยวแบบใกล้ชิด นั่งรับลมต้านกับความเร็ว ทั้งหมดสร้างความประทับใจให้กับชาวต่างชาติและตั้งภาพจำเกี่ยวกับรถตุ๊ก ๆ ว่าคือสัญลักษณ์แห่งการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเกาะรัตนโกสินทร์

รถตุ๊ก ๆ ที่ดัดแปลงจนเป็นภาพคุ้นตาของชาวไทยขณะกำลังบรรทุกผู้โดยสารต่างชาติเที่ยวชมเมือง / ภาพ: iclubviajes

     นอกจากนี้รูปลักษณ์ของมันถูกดัดแปลงมาอีกรอบหนึ่ง ไม่ใช่การนำรถจากโรงงานมาวิ่งในทันที จะเห็นได้ว่ารถแต่ละคันมีเอกลักษณ์ที่พร้อมจะให้ผู้ใช้บริการสนุกสนานอยู่เสมอ นั่นช่วยให้รถ 3 ล้อธรรมดามีจุดเด่นขึ้นมาแม้ในบางครั้งจะมีการติดตั้งหลายอย่างมากเกินไปก็เถอะ ลองนึกภาพดูสิสิ่งที่เหมือนสิ่งปกติเรียบง่ายแต่ถูกดัดแปลงเล็กน้อยอย่างรถเมล์สีแดง 2 ชั้นของลอนดอน หรือรถยนต์ธรรมดาสีเหลืองติดอุปกรณ์เล็กน้อยเป็นแค็บของนิวยอร์ก ตุ๊ก ๆ ของเราก็เข้าข่ายอยู่ในประเภทเดียวกันนั่นล่ะ มันช่างสะท้อนถึงรูปแบบการใช้ชีวิตผ่านการดัดแปลงสิ่งรอบตัวของคนไทยอยู่เสมอ จากรถกระบะขนาดจิ๋วในวัฒนธรรมญี่ปุ่น สู่การใช้โดยสารผู้คนและขนของภายในเมือง

Roger Moore ในฉากภาพยนตร์เรื่อง James Bond ภาค Octopussy ปี ค.ศ.1983 / ภาพ: Spotern

     ตอกย้ำภาพจำของยานพาหนะนี้ให้กับประเทศไทยด้วยการที่รถตุ๊ก ๆ ปรากฏอยู่บนกระแสโลกและป๊อปคัลเจอร์สำคัญ ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพยนตร์ที่ดังไกลในระดับโลกอย่าง James Bond สมัยยุคคลาสสิกภาค Octopussy โดยมี Roger Moore หนุ่มหล่ออมตะนำแสดงกับฉากที่ขึ้นรถตุ๊ก ๆ สีเหลือง-แดงแบบโบราณกลายเป็นส่วนโดดเด่นในภาพยนตร์เรื่องนี้ในสายตาชาวโลกขนาดสายลับสุดหล่อจากอังกฤษยังต้องนั่ง! และตอกย้ำความมาดเท่ของแท็กซี่ 3 ล้อนี้ด้วยโฆษณาที่ Pierce Brosnan ที่รับบทสายลับ 007 เช่นเดียวกับโรเจอร์ก็มาถ่ายทำโฆษณาของ VISA โดยใช้คอนเซปต์ตุ๊ก ๆ เช่นกัน

ฉากจากภาพยนตร์เรื่ององค์บากขณะจาพนมแสดงการใช้รถตุ๊ก ๆ เข้าฉากแอคชั่น / ภาพ: @หลบแบบดิจิตัล

     วงการภาพยนตร์ไทยก็เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันรถตุ๊ก ๆ สู่สายตาชาวโลก ในวันที่ต่างชาติเริ่มจดจำรถคนนี้กับการผูกโยงภาพลักษณ์ชาวไทยได้แล้ว เราสามารถย้ำพวกเขาได้อีกครั้งว่านี่ล่ะคือไทยแลนด์เพราะในกระแสหนังไทยเองก็มีการใช้รถประเภทนี้ประกอบฉากหลายต่อหลายครั้ง แต่ที่เห็นจะโด่งดังไกลระดับอินเตอร์เห็นจะเป็นภาพยนตร์เรื่ององค์บาก นำแสดงโดยจาพนม ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนังแอคชั่นที่โด่งดังในระดับสากลและเป็นจุดเริ่มต้นให้โทนี่จามีโอกาสได้ไปแสดงศิลปะการต่อสู้สุดแข็งแกร่งในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดอย่าง Fast and The Furious

ชุดประจำชาติิของแนท-อนิพร เฉลิิมบูรณะวงศ์ในการประกวดมิสยูนิเวิร์สปี 2015 / ภาพ: khaosodenglish

     หลังจากที่เราเห็นสื่อบันเทิงเชิงแอคชั่นมาแล้ว รถตุ๊ก ๆ ก็เข้าไปอยู่ในแคมเปญการเที่ยวชมเมือง รวมถึงโปรโมชั่นการท่องเที่ยวในประเทศหลายครั้ง แต่ที่ทำให้รถตุ๊ก ๆ โด่งดังในเชิงวัฒนธรรมความสวยงามก็คือการประกวดมิสยูนิเวิร์สปี 2015 รอบชุดประจำชาติ โดยตัวแทนจากประเทศไทย แนท-อนิพร เฉลิมบูรณะวงศ์สวมชุด “ตุ๊ก ๆ ไทยแลนด์” ขึ้นอวดโฉมและย้ำเตือนถึงความเป็นไทยผ่านยานยนต์ซึ่งติดอยู่ในภาพจำของทุกคนบนโลก เมื่อพูดถึงประเทศไทยต้องพูดถึงตุ๊ก ๆ และถ้าพูดถึงตุ๊ก ๆ ก็นึกถึงประเทศไทยเช่นกัน

Amanda Murphy ขณะถ่ายภาพให้กับโว้กประเทศไทยฉบับเดือนกุมภาพันธ์นี้ 

     โว้กประเทศเองก็ได้นำเสนอแฟชั่นเซตฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ช่วงกลางคืนในชื่อ One Night In Bangkok ที่แสดงแง่มุมช่วงเย็น-ค่ำของกรุงเทพมหานครโดยในบางภาพมีตุ๊ก ๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญและออกมาเป็นภาพที่สะท้อนถึงประเทศไทยผ่านมุมมองของนางแบบระดับโลกอย่าง Amanda Murphy ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

 

     จากที่มาเรื่องความฉลาดในการดัดแปลงรถอันเรียบง่ายสู่การใช้งานตามวิถีชีวิตชาวไทยเมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว ตอนนี้รถตุ๊ก ๆ กลายเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่สร้างชื่อให้กับประเทศไทยอย่างมาก สะท้อนถึงวัฒนธรรมการดัดแปลงสิ่งของเพื่อการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมของคนไทย ความดีไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับคนไม่ใช่สิ่งของวัตถุ ฉะนั้นเมื่อโลกจดจำสิ่งนี้เป็นรูปแบบเอกลักษณ์ของประเทศไทยอย่างหนึ่งจงทำให้มันเป็นสัญลักษณ์ที่น่าภาคภูมิใจ และสามารถกล่าวชื่นชม “ตุ๊ก ๆ ไทยแลนด์” ได้อย่างเต็มปาก ประวัติศาสตร์และที่มาบ่งบอกสิ่งที่เป็นอยู่ แต่สิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันจะกลายเป็นอดีตเพื่อบ่งบอกสิ่งที่จะเป็นในอนาคต หวังว่าด้านลบของผลผลิตด้านยนตรกรรมนี้จะไม่ครอบงำและทำให้มันเสื่อมสภาพเลือนหายไปจากสังคมไทย...

WATCH

คีย์เวิร์ด: TukTuk