.jpeg)
FASHION
9 กฎเกณฑ์แห่งราชวงศ์ ที่ถูกทำลายลงโดยควีนอลิซาเบธที่ 2บางครั้งโลกก็บังคับให้เราออกจากกรอบ |
ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 อันเป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดขึ้น และดำรงอยู่บนการเปลี่ยนแปลงระหว่างโลกยุคดั้งเดิม และโลกยุคปัจจุบัน ที่ก่อเกิดสิ่งท้าทายมากมายต่อราชวงศ์อังกฤษ หลายครั้งที่กฎเกณฑ์อัน (เคย) หนักแน่นยังต้องยอมแพ้ต่อโลกยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉาบฉวย และหลายครั้งที่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ยังต้องทรงสละทิฐิไว้ด้านหลัง ปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามกระแสโลก เพื่อย้ำเตือนทั้งตนเอง และประชาชนว่า ราชวงศ์ยังคงแข็งแกร่ง และพร้อมทำหน้าที่เพื่อประเทศอย่างแข็งขันตามสมัยโลกที่เปลี่ยนแปลง ครั้งนี้โว้กจึงขอรวบรวม 9 เหตุการณ์ ที่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ทรงกรุยทางสายใหม่ ไม่ทำตามกฎเกณฑ์แห่งราชวงศ์ดั้งเดิมมาให้ทุกคนได้รู้กันที่นี่...
พระองค์ทรงเปลี่ยนวิธีการสวมยศนำหน้าชื่อให้กับพระปนัดดาของพระองค์
ภาพ : Matt Porteous
ในปี 2012 สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ได้ทรงออกสิทธิบัตรพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงใหม่ สำหรับพระปนัดดาทุกพระองค์ หรือเหล่าเหลนๆ ทั้งสามคนในขณะนั้น ที่เป็นลูกของเจ้าชายวิลเลียมว่าด้วยเรื่อง ควรจะได้รับการสวมยศขึ้นต้นเป็น HRH หรือ เจ้าชายและเจ้าหญิง ซึ่งลูกชายคนโตของเจ้าชายวิลเลียมอันได้แก่เจ้าชายจอร์จนั้น ควรจะได้รับการสวมยศนำหน้าเป็น His Royal Highness, Prince (ชื่อต้นของเจ้าชายจอร์จ) ในขณะที่ชาร์ลอตต์ และหลุยส์ ที่เป็นพี่น้องในลำดับถัดมา จะได้รับการเรียกเป็น Lady และ Lord นำหน้าแทน
สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นผู้พาราชวงศ์อังกฤษเข้าสู่ยุคโทรทัศน์อย่างแท้จริง
ภาพ : HIstoria
แน่นอนว่าสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ทรงโปรดในการทอดพระเนตรโทรทัศน์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระองค์ ที่ต้องการจะให้พระราชพิธีราชาภิเษกในปี 1953 นั้นได้รับการเผยแพร่ผ่านทางโทรทัศน์ ซึ่งนับเป็นการพาราชวงศ์เข้าสู่ยุคแห่งโทรทัศน์โดยสมบูรณ์ ถึงแม้ว่า ณ ตอนนั้นจะยังทรงมีพระอาการเขินอายต่อหน้ากล้องบ้างเล็กน้อย หากก็ยังคงต่อต้านขนบความคิดของที่ปรึกษาส่วนพระองค์ โดยมีพระราชกระแสรับสั่งอนุญาตให้กล้องถ่ายทำ เข้ามาในพื้นที่ของ Westminster Abbey ได้ เพื่อที่จะสามารถเก็บภาพของงานพระราชพิธีได้อย่างใกล้ชิด เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนได้ชื่นชมกันสืบไป
พระองค์ทรงมีพระราชานุญาตให้งานแต่งงานของพระขนิษฐาได้รับการถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์ได้
ภาพ : Daily Sketch
ย้อนกลับไปในช่วงปี 1960 เรายังได้รับชมพิธีเสกสมรสของพระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 หรือที่เรารู้จักกันในนามของเจ้าหญิงมากาเร็ต และแอนโทนี โจนส์สามีของเธอ ผ่านทางโทรทัศน์โดยครั้งนั้น งานวิวาห์ของทั้งคู่ที่ถูกจัดขึ้นที่ Westminster Abbey มียอดผู้ชมจำนวนมากกว่า 300 ล้านการรับชมทั่วโลก ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งพิธีเสกสมรสแห่งราชวงศ์อังกฤษ ที่ช่วยกรุยทางให้กับการถ่ายทอดสดพิธีเสกสมรสของเหล่าสมาชิกราชวงศ์ต่อมาในยุคปัจจุบัน ที่เราได้รับชมกันนั่นเอง
สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระราชานุญาตให้เจ้าชายชาลส์เข้าพิธีเสกสมรส กับหญิงสาวที่ผ่านการหย่าร้างได้
ภาพ : Shutterstock
ก่อนที่ห้วงเวลาจะดำเนินมาถึงในปี 2002 หลายคนยังคงได้ทราบถึงกฎเกณฑ์ และข้อห้ามไม่ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์นั้น แต่งงานกับบุคคลซึ่งผ่านการหย่าร้าง อีกทั้งหากคู่สมรสของเขาผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่... หากว่าในปี 2002 นั้น อย่างที่เราต่างทราบกันเป็นอย่างดีว่า กฎเกณฑ์ข้อนี้ได้ถูกทำลายลงเรียบร้อยแล้ว ด้วยมีพระราชานุญาติจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ให้สามารถเข้าพิธีเสกสมรสกับบุคคลที่ผ่านการหย่าร้าง และคู่สมรสของเขายังมีชีวิตอยู่ได้แล้ว เริ่มต้นการกรุยทางให้กับเจ้าชายชาลส์ให้ได้สามารถเข้าพิธีเสกสมรสกับคู่รักอย่าง คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลได้ แม้ว่าเธอจะเคยผ่านการหย่าร้างมาแล้ว และสามีเก่าของเธออย่าง แอนดรูว์ พาร์กเกอร์ โบลส์ จะยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม
พระองค์ทรงมีพระราชานุญาติให้เจ้าชายแฮร์รี่ใช้โบสถ์เป็นสถานที่ประกอบพิธีการเสกสมรสกับเมแกน มาร์เคิล ผู้ซึ่งเคยผ่านการหย่าร้างมาแล้วได้
ภาพ : Danny Lawson
ถึงแม้ว่า เมื่อครั้งที่เจ้าชายชาลส์ได้เข้าพิธีเสกสมรสกับคามิลลานั้น จะไม่ได้ถูกจัดขึ้นในโบสถ์ โดยตามที่ USA Today ได้เคยรายงานข่าวไว้ในตอนนั้น ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า สถานที่ประกอบพิธีการอย่างโบสถ์นั้น ไม่เหมาะสมที่จะใช้เพื่อจัดพิธีการเสกสมรสระหว่างเจ้าชายชาลส์ และคามิลลา... ทว่าเมื่อกลางปี 2018 ที่ผ่านมา ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ได้ทรงมีพระราชานุญาติให้เจ้าชายแฮร์รี่เข้าพิธีเสกสมรสกับเมแกน มาร์เคิล ผู้ซึ่งเคยผ่านการหย่าร้างมาแล้วได้ อีกทั้งยังมีพระราชกระแสรับสั่งให้ใช้โบสถ์เป็นสถานประกอบพีธีการได้อีกด้วย ดังที่เราได้ชื่นชมกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว...
สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ทรงให้การต้อนรับเมแกน มาร์เคิล เพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสของเหล่าสมาชิกราชวงศ์ ก่อนที่เธอจะเข้าพิธีเสกสมรสกับสมาชิกในราชวงศ์อังกฤษอย่างเป็นทางการ
ภาพ : Alan Davidson
นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก็เกิดขึ้นได้ เมื่อพระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้เชิญบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวราชวงศ์อย่างเมแกน มาร์เคิล มาอยู่ด้วยในช่วงเวลาคริสต์มาส ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญ เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา เพราะแม้แต่ก่อนหน้านี้ เคต มิดเดิลตัน ผู้ซึ่งอยู่ในสถานะคู่หมั้นของเจ้าชายวิลเลียม ก็ยังมิได้รับเชิญมาก่อนเช่นกัน...
พระองค์ได้ทรงลงพระนามาภิไธยต่อหน้าสาธารณชน
ภาพ : Mike Forster
นับเป็นอีกกฎเกณฑ์ และข้อห้ามที่เคร่งครัด ที่สมาชิกราชวงศ์จะต้องไม่ให้ลายเซ็นแก่สาธารณชน ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการป้องกันไม่ให้เกิดการปลอมแปลงลายเซ็นของสมาชิกราชวงศ์เกิดขึ้น หากข้อห้ามข้อนี้ก็ได้ถูกทำลายลงในปี 1998 เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ได้เสด็จเยือนประเทศมาเลเซีย พร้อมกับทรงลงพระนามาภิไธยแก่เด็กๆ บนลูกบอลซ็อกเกอร์นั่นเอง
สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ทรงไม่ถือเนื้อถือตัว
ภาพ : A Davidson
หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่พระองค์ได้เสด็จเยือน ณ สถานฑูตประเทศแคนาดา ในกรุงลอนดอน เพื่อเฉลิมฉลองให้กับวาระที่ประเทศแคนาดามีอายุครบ 150 ปี โดย David Johnston ได้สัมผัสพระกรของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 และเดินอยู่ข้างๆ พระองค์ตลอดทางพรมแดง เพราะพรมแดงนั้นมีความลื่น จึงจำเป็นต้องประคองสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เอาไว้ และการสัมผัสครั้งนี้ได้รับการอนุญาตแล้วเป็นที่เรียบร้อย
อ้อมกอดที่ดังไปทั่วโลก
ภาพ : Shutterstock
ตามที่ได้กล่าวไปเมื่อข้อที่แล้วว่า การถึงเนื้อถึงตัวเหล่าสมาชิกราชวงศ์นั้นเป็นเรื่องยาก และหากใครเคยได้อ่านเรื่องราวชีวประวัติของ Michelle Obama ในหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดชื่อ Becoming แล้ว ก็คงจะได้ผ่านตากับความตอนหนึ่งที่กล่าวถึง อ้อมกอดของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ว่า พระองค์ทรงไม่กลัวที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎของราชวงศ์ในครั้งนั้น ที่เข้ามาสวมกอดดิฉัน และนั่นก็คงเป็นเพราะเหตุผลที่ฉันคิดเอาเองว่า เราทั้งคู่ต่างเป็นสตรีที่เหนื่อยล้าจากการถูกกดขี่ด้วยรองเท้าด้วยกันทั้งคู่ นั่นเอง