FASHION

เจาะลึกประวัติ Norman Norell ดีไซเนอร์ชาวอเมริกันคนแรกที่เปิดไลน์น้ำหอมภายใต้แบรนด์แฟชั่น

ดีไซเนอร์คนนี้ถือเป็นต้นแบบของการสรรสร้างแบรนด์แฟชั่นของฝั่งอเมริกา และมีอิทธิพลต่อแนวทางการทำงานในอุตสาหกรรมนี้จวบจนปัจจุบัน

     แบรนด์แฟชั่นกับน้ำหอมดูจะเป็นของคู่กันมาเป็นเวลานาน นานจนหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าจุดเริ่มที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นอย่างไร แบรนด์ชื่อดังไม่ว่าจะเป็น Chanel, Louis Vuitton, Dior, Gucci และแบรนด์ชั้นนำฝั่งยุโรปอื่นๆ ก็ต่างมีไลน์น้ำหอมอันโด่งดังทั้งสิ้น ส่วนฝั่งอเมริกาก็มี Tom Ford และ Ralph Lauren ที่ยืนหยัดอยู่ในบนลิสต์รายชื่อแบรนด์ยอดนิยมอยู่เสมอ ทว่าพวกเขาไม่ใช่ผู้ริเริ่มการสร้างสรรค์น้ำหอมเอกลักษณ์เฉพาะตัวภายใต้ชื่อแบรนด์แฟชั่น เพราะมีดีไซเนอร์ชาวอเมริกันที่เปิดตลาดน้ำหอมภายใต้แบรนด์แฟชั่นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อเมริกา

Norman Norell (ซ้าย) ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น American Balenciaga / ภาพ: Vintage-Retro

     Norman David Levinson หรือชื่อในวงการว่า Norman Norell คือดีไซเนอร์ระดับตำนานของวงการแฟชั่นฝั่งอเมริกาที่เราจะเล่าเรื่องราวความยอดเยี่ยมของเขาในบทความนี้ เขาเกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 1900 ณ เมืองโนเบิลส์วิลล์ รัฐอินเดียนา เขาเติบโตมาในครอบครัวแฟชั่นอย่างแท้จริง เพราะพ่อเขาทำอาชีพ “Haberdasher” หรือผู้ซื้อขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเสื้อผ้า ก่อนครอบครัวจะย้ายไปเมืองอินเดียนาโปลิส เมืองใหญ่ในรัฐเดียวกัน เพราะพ่อต้องการขยายกิจการของเขาให้ใหญ่ขึ้น และนี่คือเส้นทางที่เหมือนปูทางอย่างสวยงามให้นอร์แมนอย่างสมบูรณ์แบบ เขามีโอกาสเข้าโรงละครเป็นประจำเพราะพ่อเขาซื้อโฆษณากับโรงละครของรัฐ เขาไม่ได้เข้าไปเพื่อแค่เสพความบันเทิงแล้วกลับบ้าน แต่เขาเลือกที่จะจดจำและนำมาวาดภาพสเกตช์ โดยงานส่วนใหญ่เป็นฉากและคอสตูมของนักแสดง เส้นทางชีวิตเหมือนส่องทางให้เขาก้าวขึ้นมาช่วยพี่ชายบริหารร้านของพ่อ แต่เขากลับไม่ได้สนใจร้านตัวเองสักเท่าไหร่ แต่เลือกที่จะเดินบนเส้นทางศิลปะของตัวเองอย่างเด็ดเดี่ยว

Helen D'Algy และ Rudolph Valentino ใน A Sainted Devil (1924) โดยทั้ง 2 คนสวมเสื้อผ้าฝีมือการออกแบบร่วมระหว่าง Adrian, Natacha Rambova และ Norman Norell / ภาพ: Adrian Adolph Greenburg

     นอร์แมนในวัย 19 ปีเลือกศึกษาการวาดภาพอย่างจริงจังที่ Parsons School of Design ณ มหานครนิวยอร์ก ก่อนจะศึกษาสาขาออกแบบแฟชั่นที่ Pratt Institute ก่อนจะเปลี่ยนชื่อในวงการเป็นนอร์แมน นอร์เรล หลังจากเริ่มศึกษาด้านศิลปะอย่างเจาะลึกได้ 3 ปีเขาก็เริ่มทำงานกับ Paramount Pictures ในฐานะคอสตูมดีไซเนอร์ที่รังสรรค์ผลงานให้กับดาราชื่อดังอย่าง Rudolph Valentino เขาใช้เวลา 2 ปีกับพาราเมาต์และแยกทางกันเนื่องจากองค์กรต้องการย้ายฐานออกจากนิวยอร์ก ด้วยเหตุผลนี้เขาจึงเดินทางต่อสู่เส้นทางบรอดเวย์ ก่อนจะได้เริ่มศึกษาการทำเสื้อผ้าของจริงกับ Charles Armour แทนที่การสร้างสรรค์งานศิลปะบนเวทีละคร จุดเปลี่ยนชีวิตตรงนี้ทำให้เขาเตรียมเฉิดฉายไปดีไซเนอร์ดาวรุ่งดวงใหม่ของสหรัฐอเมริกา



WATCH




Hattie Carnegie ดีไซเนอร์หญิงผู้เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของ Norman Norell / ภาพ: Wiki Commons

     “Hattie Carnegie Era” ปี 1928 เขาเริ่มร่วมงานกับ Hattie Carnegie ในฐานะดีไซเนอร์แผนกสั่งตัดพิเศษ เมื่อแฮตตี้ได้ตัวเขามาก็เปิดไลน์เสื้อผ้าลักชัวรีขึ้นมาทันที นอร์แมนกลายเป็นดีไซเนอร์ผู้เป็นที่รู้จักของเหล่าซูเปอร์สตาร์มากมาย ก่อนจะแยกทางกันด้วยปัญหาการทำชุดให้ดาราละครเวทีชื่อดัง จบยุคแฮตตี้ด้วยระยะเวลา 12 ปีกว่า ตอนนั้นชื่อของเขาโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแวดวงผู้มีชื่อเสียง แม้ชุดของเขาจะมีราคาแพงหูฉี่แต่มันเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เพราะเขารังสรรค์ชุดที่มีความทันสมัย หรูหรา และสอดแทรกเทคนิคงานฝีมือจากการทำเสื้อผ้าละครเวทีอยู่เสมอ ดังนั้นเขาจึงใช้เวลาไม่นานในการหางานใหม่ และสุดท้ายก็มาลงหลักปักฐานกับ Anthony Traina เจ้าของธุรกิจเสื้อผ้ารายใหญ่ และเชื่อไหมว่าเขาปฏิเสธเงินก้อนโตจากแอนโธนี เนื่องจากเขาอยากรับเงินจำนวนไม่มากแต่ได้ใช้ความคิดของตัวเอง มากกว่ารับเงินเยอะแล้วถูกตีกรอบจนไม่สามารถทำงานอย่างลื่นไหลได้

Norman Norell ในช่วงวัยหนุ่ม ช่วงที่เขาเริ่มก้าวขึ้นมาเป็นดีไซเนอร์ระดับท็อปของสหรัฐอเมริกา / ภาพ: Fashion Model Directory

     Traina-Norell ถือเป็นการร่วมมือกันที่สั่นสะเทือนวงการแฟชั่นฝั่งอเมริกาอย่างมาก เพราะด้วยทุนของแอนโธนีและฝีมือของนอร์แมน แบรนด์เติบโตอย่างรวดเร็ว คราวนี้เขาเน้นความเรียบหรู ความใส่ใจเรื่องรายละเอียด และความอมตะของดีไซน์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นชุดเดรสหรือเสื้อโค้ตก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดถูกนิยามให้เป็นสัญลักษณ์ทางสังคมของหญิงสาวชนชั้นสูงชาวอเมริกันเลยทีเดียว และแล้วในปี 1943 ช่วงยุคสงครามโลกเขาก็ไม่หยุดออกแบบเสื้อผ้าจนสามารถคว้ารางวัล American Fashion Critics’ Award หรือ Coty Fashion Award ในปัจจุบันได้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 1943 อีกทั้งยังควบตำแหน่งอาจารย์ที่ปรึกษาพิเศษในสถาบันพาร์สัน ซึ่งเขาเป็นศิษย์เก่าอีกด้วย หลายคนกล่าวว่าผลงานของเขาเป็นเรดี้ทูแวร์ที่ใช้เทคนิคระดับกูตูร์ และเขาก็เป็นคนแรกในประวัติศาตร์ที่สลักชื่อตัวเองลงบนป้ายแบรนด์บนเสื้อผ้า ทุกคนยอมรับในฝีมือของเขาอย่างมาก เขาเหมือนพ่อมดแห่งแฟชั่นที่สามารถล่วงรู้ถึงความต้องการของผู้หญิงและคอยกำหนดเทรนด์แฟชั่นอยู่เสมอ

Marilyn Monroe เลือกสวมชุดสุดไอคอนิกของ Norman Norell อย่าง Mermaid Dress ในงานลูกโลกทองคำปี 1962 / ภาพ: Vogue US

     ช่วงหลังสงครามโลกเขาก็ยังยืนหนึ่งในวงการได้อย่างมั่นคง เขาเดินทางไปปารีสเพื่อนำเสนอผลงานอย่างสม่ำเสมอ และเขาก็เป็นคนแรกๆ ที่จัดการแสดงผลงาน 2 รอบต่อปีในสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังชนะรางวัลเดิมอีกครั้งในปี 1951 ก่อนจะเข้าสู่หอเกียรติยศในปี 1956 ซึ่งเขาก็เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์อีกเช่นเดียวกัน และในปีเดียวกันเขายังคงสร้างชื่ออย่างต่อเนื่องด้วยการออกแบบชุดแต่งงานให้ Marilyn Monroe และชุดสำหรับงานลูกโลกทองคำปี 1962 ก่อนจะแยกทางกับแอนโธนีที่เกษียณอายุตัวเองและวางมือไป ต่อมาเขาตัดสินใจเปิดแบรนด์ของตัวเองเป็นครั้งแรกในปี 1960 ซูเปอร์สตาร์ก็หลั่งไหลกันมาฝากสถานการณ์เป็นลูกค้าวีไอพีของนอร์แมนแบบไม่เว้นวรรค รวมถึงเหล่าสตรีหมายเลขหนึ่งก็เลือกแบรนด์นอร์แมน นอร์เรลล์เป็นตัวเลือกลำดับแรกๆ เช่นกัน และที่สำคัญที่สุดคือภรรยาของ  Charles Revlon ผู้ก่อตั้งแบรนด์บริษัทเครื่องสำอาง Revlon ที่ต่อมากลายเป็นกุญแจสำคัญให้เขาผลิตน้ำหอมภายใต้ชื่อตัวเองได้สำเร็จ

ชุด Mermaid Dress ของ Norman Norell ในช่วงยุค '60s ที่หากตีราคาเทียบค่าเงินปัจจุบันบางชุดมีราคาแตะหลักล้านบาท / ภาพ: Vogue US

     ยุค ‘60s เหมือนจะเป็นทั้งยุคทองฝังเพชรและยุคอันโหดร้ายของนอร์แมนในเวลาเดียวกัน เขาเลือกสรรธีมการออกแบบได้อย่างยอดเยี่ยมเสมอ ทุกคนเชื่อวิสัยทัศน์การมองโลกแฟชั่นของชายวัยเกษียณคนนี้ แขกระดับวีไอพีไม่เคยถอนตัวจากการเป็นลูกค้าของเขาได้เลย และตอนนั้นราคาเสื้อผ้าเขาพุ่งกระฉูดทะลุเพดาน โดยมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 500 – 4,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถ้าเทียบกับค่าเงินในปัจจุบันก็จะอยู่ที่ราวๆ 4,000 – 30,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 140,000 - 1,000,000 บาทเลยทีเดียว!

น้ำหอมแบรนด์ Norman Norell ที่ออกมาครั้งแรกปี 1968 / ภาพ: Colognoisseur

     และอย่างที่กล่าวไปว่าเมื่อรู้จักกับแบรนด์เรฟลอนเขาจึงมีโอกาสเปิดไลน์น้ำหอมของตัวเองขึ้นในปี 1968 สามารถทำยอดขายทะลุ 1,000,000 เหรียญสหรัฐฯ และถือเป็นแบรนด์แฟชั่นอเมริกันแบรนด์แรกที่ทำไลน์น้ำหอมออกสู่ตลาดจนกลายเป็นต้นแบบของแบรนด์แฟชั่นจวบจนปัจจุบัน ทว่าเรื่องความนิยมและปัญหาสุขภาพกลับทำให้ยุคทองฝังเพชรไม่ได้สดใสอย่างที่ใครหลายคนคิด นอร์แมนต้องเผชิญกับมะเร็งช่องคอเนื่องจากสูบบุหรี่จัด การผ่าตัดก็ไม่ประสบผลสำเร็จทำให้เขาต้องกลายเป็นดีไซเนอร์เสียงกระซิบไปนับตั้งแต่ปี 1962 และในปี 1969 เขายังต้องรับการรักษาโรคไส้เลื่อน และเริ่มมีอาการป่วยแทรกซ้อนขึ้นมาเรื่อยๆ และวันที่ 16 ตุลาคม 1972 สถาบันพาร์สันจัดโชว์เพื่อฉลองให้นอร์แมนในวาระครบรอบ 50 ปีในอุตสาหกรรมแฟชั่น แต่ 1 วันก่อนงานเริ่มเขาเกิดอาการสโตรกและไม่สามารถร่วมงานได้ ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 25 ตุลาคม หรือ 9 วันหลังจากนั้น สิริรวมอายุ 72 ปี

ผลงานการออกแบบชิ้นท้ายๆ ของ Norman Norell ก่อนจะเสียชีวิตในปี 1972 / ภาพ: Colette

     หลังจากนอร์แมนเสียชีวิต ชื่อเสียงและผลงานของเขาไม่เคยหายตามลมหายใจเขาไปแต่อย่างใด ผู้คนในอุตสาหกรรมแฟชั่นฝั่งอเมริกายังคงยึดวิถีการพัฒนารูปแบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง เสื้อผ้าของแบรนด์ก็ยังคงขายได้ในราคาหลักหลายพันเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นแบรนด์ที่มีราคาสูงที่สุดของอเมริกาในเวลานั้นอีกด้วย ผลงานชิ้นไอคอนิกก็ถูกหยิบมาถอดรหัสว่าทำไมแฟชั่นของนอร์แมนจึงประสบความสำเร็จถึงเพียงนี้ แม้ปัจจุบันโลกแฟชั่นอาจหมุนเร็วจนวิถีดั้งเดิมเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้วได้สูญสลายหายไป แต่ชื่อของนอร์แมนสมควรจะอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรถูกลบเป็นอันขาด เพราะเขาคือต้นแบบแฟชั่นระดับไฮเอนด์จากฝีมือคนอเมริกันถึงคนอเมริกันอย่างแท้จริง

 

ข้อมูล:

vogue.com

townandcountrymag.com

vintage-retro.com

blog.colettehq.com

WATCH