FASHION

ใครเป็นคนคิดกางเกงยีนส์ขึ้นมา...โว้กพาย้อนรอยประวัติศาสตร์ยีนส์ที่คุณใส่อยู่ทุกวัน

ย้อนรอยที่มาของคำว่ายีนส์ตั้งแต่คำนิยามความเป็นเนื้อผ้าไปจนถึงไลน์ประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน

     กางเกงยีนส์ไอเท็มสามัญประจำบ้านไม่ว่าเพศไหน วัยไหน ยุคไหนก็ต้องมีติดตู้เสื้อผ้ากันไว้สักตัว แต่น้อยคนจะรู้ว่าแท้จริงแล้วยีนส์ ๆ ๆ ที่เราพูดและเป็นไอเท็มชิ้นโปรดของใครหลายคนมีที่มาอย่างไรกันแน่ ตอนนี้เนื้อผ้าสากนิด ๆ แต่คงทนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและแบ่งแยกกลุ่มราคาไว้อย่างหลากหลายมาก มีตั้งแต่ราคาหลักร้อยสำหรับกางเกงยีนส์บ้าน ๆ ไปจนถึงหลักแสนสำหรับเดนิมแวร์แบบไฮเอนด์ วันนี้เราจะพาแฟน ๆ โว้กย้อนเวลากลับไปดูว่าจุดเริ่มต้นของความอมตะนี้เกิดขึ้นและคงอยู่จนถึงปัจจุบันได้อย่างไร...

ภาพวาดวิถีชีวิตของชาวเจนัวที่มีเสื้อผ้ายีนส์ปรากฏอยู่ / ภาพ: Collezione d’arte della Fondazione Cariplo, Milano

     ก่อนที่เราจะไปถึงเรื่องกางเกงเราต้องรู้จักก่อนว่าจุดกำเนิดของผ้าเหล่านี้มันมีที่ที่ไปอย่างไร เริ่มกันที่เนื้อผ้ากันก่อน ผ้ายีนส์ที่เรารู้จักกันนั้นมีต้นกำเนิดการเรียกและความแตกต่างกันถึง 3 แบบมี 2 ชื่อที่คุ้นหูอย่าง เดนิมและยีนส์ ส่วนอีกชื่อคือผ้าดังการี ถามว่า 3 ตัวนี้แตกต่างกันไหมตอบเลยว่าต่าง! ในสมัยก่อนแต่ละเมืองจะมีความโดดเด่นเรื่องวัสดุในการผลิตสินค้าเอง ต้นตำรับมีหลักฐานว่าคำว่ายีนส์น่าจะเกิดอย่างแรกสุดมาจากการเรียกเมืองเจนัว (Genoa) ในภาษาฝรั่งเศสว่า “จีนส์ (Gênes)” แต่คำนี้ในสมัยนั้นยังเป็นชื่อเรียกของเนื้อผ้าไม่เกี่ยวกับประเภทเสื้อผ้าแต่อย่างใด ผ้าจากเมืองเจนัวถูกแปรรูปเป็นเสื้อผ้าหลากหลายชนิด และมันค่อย ๆ โด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ จากความคงทน สารพัดประโยชน์ และราคาถูกจนทำให้มีภาพวิถีชีวิตชาวอิตาเลียนยุ่งเกี่ยวกับผ้าชนิดนี้อยู่ตลอดในช่วงศตวรรษที่ 16-17 มันยอดเยี่ยมถึงขนาดกองทัพเรือของเจนัวให้เหล่ากะลาสีสวมใส่เป็นเครื่องแบบประจำเลยทีเดียว

ลายทอผ้าเดอนีมส์แบบโคลสอัพ / ภาพ: Nick Hood

     เมื่อคำว่ายีนส์เกิดก่อนแล้วเดนิมมาจากไหน? หลายคนอาจจะคิดว่าเดนิมเป็นเนื้อผ้าหลักในผลิตยีนส์ถ้าหากพูดเช่นนี้ในปัจจุบันก็ไม่ผิดนัก แต่ถ้าย้อนกลับไปยุคสมัยใกล้เคียงกันชาวฝรั่งเศสที่เรียกเมืองเจนัวว่าจีนส์อยากจะผลิตผ้าแบบนี้บ้างแต่ก็พวกเขาไม่ใช่แค่ลอกเลียนแบบ เหล่าเฟรนช์แมนพัฒนาการทอขึ้นมาอีกรูปแบบที่เมืองนีมส์ (Nîmes) ผ้าชนิดนี้จึงถูกเรียกว่า “serge de Nîmes” คำว่าเดอนีมส์จึงเพี้ยนมาเป็นเดนิมจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นเนื้อผ้าหลักในการผลิตกางเกงสีน้ำเงินที่เรารู้จักกันดี และเดนิมก็กลายเป็นศัพท์บัญญัติของเนื้อผ้าที่คนรู้จักไปทั่วโลก



WATCH




ผ้าดังการีที่มีภาพจำเป็นเสื้อเอี๊ยมของผู้หญิง / ภาพ: IndiaMART

     “ดังการี” ชื่อไม่คุ้นหูไม่ได้แปลว่าไม่มีบทบาท เสื้อผ้าสีน้ำเงินหรือขาวเนื้อหยาบคือผ้าฝ้ายทอมือมีจุดกำเนิดจากดองกรีเมืองท่าติดกับมุมไบประเทศอินเดีย มันมีชื่อเดิมว่าดังกรีก่อนที่ชาวอังกฤษผู้รับผ้าเหล่านี้มาจากอินเดียเพื่อทำเสื้อผ้าสำหรับการใช้แรงงาน เพราะมันทั้งทนและถูกอย่างมาก การออกเสียงจึงเพี้ยนไปเป็นดังการีในเวลาต่อมา ซึ่งจุดมุ่งหมายการใช้ผ้าประเภทนี้ดั้งเดิมเองก็เหมือนกับที่ชาวอังกฤษเอาไปใช้ คนอินเดียเองก็ใช้ผ้าประเภทนี้ผลิตเป็นเสื้อผ้าสำหรับคนแร้นแค้นเช่นกัน นับว่าต้นกำเนิดของผ้าชนิดนี้สะท้อนถึงรากเหง้าความเป็นชนชั้นแรงงานของกางเกงยีนส์ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญมันถูกจำผิดเพี้ยนกลายเป็นเสื้อเอี๊ยมไปแล้วในปัจจุบัน

เหล่ากะลาสีที่มีชุดยูนิฟอร์มเป็นยีนส์สีน้ำเงิน / ภาพ: GUILD

     ปี 1795 ตำนานยีนส์ในมิติเสื้อผ้าได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างจริงจังจากชายที่ชื่อว่า Jean-Gabriel Eynard ที่มุ่งหน้าสู่เมืองเจนัวเพื่อทำธุระเชิงพาณิชย์ ก่อนที่ปี 1800 กองทหารเมสซิน่าจะบุกเข้ามาในเมืองไว้วางใจให้ฌอง-เกเบีรยลจัดหาชุดให้ และความขึ้นชื่อของเนื้อผ้าประจำเมืองก็กลายเป็นยูนิฟอร์มทันทีในชื่อ “bleu de Genes” หรือในภาษาอังกฤษว่า “Blue Jeans” นั่นเอง! แต่นี่ก็ยังไม่ใช่การผลิตกางเกงยีนส์อย่างจริงจังในแบบที่เรารู้จัก ปี 1800 ยังไม่ปรากฏความพิเศษของกางเกงยีนส์ในแถบยุโรปเพียงแต่ว่าเมืองเจนัวก็ประกาศชัดว่าชุดจากผ้ายีนส์คือเอกลักษณ์ของพวกเขา

Jacob Davis และ Levi Strauss / ภาพ: bolidster

     เหมือนพระเจ้าได้ยินเสียงเรียกหา Levi Strauss ชายชาวเยอรมันย้ายมาในนิวยอร์กเพื่อมาช่วยพี่ชายในธุรกิจเสื้อผ้าและสิ่งทอในปี 1851 ต่อมาขยับขยายย้ายถิ่นฐานมาที่ซานฟรานซิสโกในปี 1853 ก่อนจะเขาจะได้พบกับ Jacob Davis ลูกค้าประจำในเวลาในเวลาต่อมา ปี 1872 จาค็อบเริ่มชักชวนลีวายทำเสื้อผ้าที่มีหมุดทองแดงเป็นส่วนประกอบในแบบที่เราเห็นกันในกางเกงยีนส์จนถึงปัจจุบัน ก่อนที่ในปี 1873 ตำนานของกางเกงยีนส์จะเกิดขึ้นเมื่อพวกเข้าใช้ผ้าเดนิมจากเมืองนีมส์เพราะเหมาะกับจุดประสงค์ในการผลิตเพื่อคนงานโรงงาน คนงานเหมืองและผู้ใช้แรงงานกลุ่มอื่น ๆ นี่จึงกลายเป็นการสานต่อรากฐานจากประวัติศาสตร์เนื้อผ้าสู่ไอเท็มสุดอมตะนับตั้งแต่เป็นต้นนั้นมา

แฟชั่นผู้ใช้แรงงานในสมัยปี 1920s / ภาพ: LiveAbout

     ใคร ๆ ก็ใส่ยีนส์...เหล่าคนงานผู้ชายยุค ‘10s-30s ต่างยึดถือกางเกงยีนส์เสื้อน้ำเงินนี้เป็นยูนิฟอร์ม เพราะคนงานทุกรูปแบบมีกางเกงยีนส์ติดตัวด้วยความคงทนประกอบกับราคาที่ สามารถซื้อได้โดยไม่ลำบาก เหตุผลทั้งหลายทำให้ตลอด 20-30 ปีในยุคนี้หันไปทางไหนก็เจอแต่หนุ่ม ๆ ใส่กางเกงยีนส์กันหมดโดยเฉพาะสังคมอเมริกัน กลับกันกับสังคมยุโรปและอาจจะมีสังคมอเมริกันชนชั้นสูงที่มองว่ายีนส์คือเนื้อผ้าระดับล่างและใส่เครื่องแบบกึ่งทางการอย่างเดรสและสูทต่อไป

James Dean กับการสไตลิ่งกางเกงยีนส์สุดเท่ / ภาพ: oscars.org

     ใส่ยีนส์แล้วโคตรเท่! ช่วงยุค ‘50s เหมือนแฟชั่นมันกลับตาลปัตร เหล่าบรรดาซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวู้ดทั้ง Marlon Brando และ James Dean หยิบเอาเสื้อผ้าของชนชั้นแรงงานนี้มาใส่แมตช์กับเสื้อยืดขาวง่าย ๆ เสียอย่างนั้น แทนที่พวกเขาจะโดนดูถูกและมองว่าเป็นประชากรชนชั้นล่าง ทั้ง 2 กลับเปลี่ยนหน้าแฟชั่นโลกและพายีนส์เข้าสู่กระแสป๊อปคัลเจอร์ กลายเป็นว่าใครมิกซ์แอนด์แมตช์ยีนส์ได้เก๋คือเท่สุด ๆ ในอีกแง่หนึ่งผู้หญิงกับกางเกงแมสคิวลีนในยุคนั้นมันช่างไม่สอดคล้องกันเสียเลย คำว่า “กบฎแฟชั่น” ยังถูกมองว่าเท่เมื่อผู้ชายใส่เท่านั้น

คู่หนุ่ม-สาวกับกางเกงยีนส์ในยุค ‘70s ที่แฟชั่นเริ่มถูกก่อกบฎด้วยผ้าสีฟ้า / ภาพ: tumblr

     เอาล่ะถึงเวลาขบถเต็มตัว...โลกเดินทางมาถึงกระแสฮิปปี้ เหล่าหนุ่มสาวล้วนออกมาแต่งตัวด้วยสีสันสดใสและสไตล์ที่สะท้อนถึงอิสรภาพ กางเกงยีนส์ไป 1 ในนั้น ผู้ตีกรอบข้อจำกัดออกหยิบเอากางเกงยีนส์มาใส่พร้อมกับเปิดกว้างด้านสไตล์เห็นได้จากทรงของกางเกงและเนื้อผ้ารวมถึงการสร้างสรรค์ลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้กางเกงยีนส์มีบทบาทอยู่ในกระแสแฟชั่นโลกของทั้ง 2 เพศเป็นครั้งแรกในช่วงยุค ‘60s และมันก็ส่งผลไปถึงยุค ‘70s ที่การสวมกางเกงยีนส์คือเสน่ห์ความเซ็กซี่ พอโลกเปิดกว้างมาขึ้นการหยิบผ้าดิบเหล่านี้มาสร้างสรรค์เป็นแจ๊กเก็ตหรือกระโปรงก็นับเป็นไอเดียที่สร้างความฮอตฮิตอย่างมากในยุคนั้น แต่ก็ถูกมองว่ามันช่างดูอเมริกันสุด ๆ

Brooke Shields กับโฆษณากางเกงยีนส์คอลเล็กชั่นแรกของ Calvin Klein / ภาพ: InStyle

     พอเข้าสู่ยุค ‘80s จากเวิร์กแวร์และเครื่องหมายขบถทางแฟชั่นกลับคืบคลานเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นกระแสหลักอย่างจริงจัง เพราะเริ่มมีดีไซเนอร์ของแบรนด์หยิบเอากางเกงยีนส์มาผลิตและออกแบบให้สดใหม่ยิ่งขึ้นตามสไตล์แบรนด์อย่าง Calvin Klein หลังจากนั้นยีนส์ถือเป็นไอเท็มของทุก ๆ ยุคที่ต้องจับตามองว่ามันจะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างไรบ้างตั้งแต่สกินนี่ สลิม ขาม้า ขากระบอก ขากระดิ่ง เอวสูง เอวต่ำและอื่น ๆ อีกมากมาย ถือว่าเป็นหมุดแห่งแฟชั่นอีกชิ้นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคงอยู่อย่างไม่เสื่อมความนิยมและพัฒนาตามโลกไปเสมอ

กางเกงยีนส์แบบอสมมาตรมาเขย่าเทรนด์ปี 2019 นี้ / ภาพ: Lyst

     กลับมาที่เรื่องต้นกำเนิดของมันอีกครั้งไม่ว่าจะเมืองนีมส์ เจนัวหรือดังกรี ชื่อของมันถูกเข้าใจผิดเพี้ยนมาตลอด จีนส์หรือยีนส์ไม่ใช่คำศัพท์ที่หมายถึงเนื้อผ้าอีกต่อไป มันสะท้อนถึงอิทธิพลใหญ่กว่าที่สามารถแปลงโฉมผ้ามาสู่เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างประเภทของเครื่องแต่งกาย ในขณะที่เดอนีมส์หรือเดนิมกลายเป็นคอนเซปต์หลักเมื่อพูดถึงผ้าสีฟ้าและน้ำเงินที่สามารถนำไปผลิตเป็นยีนส์ และสุดท้ายดังการีเหมือนถูกแยกออกมาคนละชนิดทั้งที่มันคือประเภทผ้าเอามาทำสินค้าคล้าย ๆ กันและถูกจำผิดเพี้ยนกลายเป็นประเภทเสื้อเอี๊ยมไปแล้ว เห็นได้ชัดว่ายีนส์คือสิ่งที่ผิดเพี้ยนที่สุดเพราะรากฐานของมันไม่ได้ใช้เรียกประเภทเสื้อผ้ามาตั้งแต่แรก และตอนนี้มันกลายเป็นว่าเรียกยีนส์เฉย ๆ ก็กลายเป็นกางเกงยีนส์ไปเสียแล้วทั้ง ๆ ที่ต้นกำเนิดมาจากประเภทของเนื้อผ้ารูปแบบหนึ่งของประเทศอิตาลี

ภาพการ์ตูนบนเว็บไซต์แนะนำการท่องเที่ยวของเมืองเจนัวที่คอยประกาศว่าพวกเขาคือผู้คิดค้นยีนส์ / ภาพ: Guida Genova

     เอ๊ะ! แล้วเราพลาดอะไรไปไหม...ใช่แล้วล่ะคุณพลาดเรื่องราวในยุคปัจจุบันของเมืองเจนัว ตอนนี้ถ้าคุณเดินไปที่ท่าเรือริมน้ำของเมือง คุณจะเห็นใครก็ใส่กางเกงยีนส์ ทุกคนบอกว่ามันมาจากอเมริกากลายเป็นว่าประวัติศาสตร์ดั้งเดิมสุดในการใช้ผ้ายีนส์ถูกลบเลือนไปพร้อมกับประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนโดยความนิยมจาก 2 ผู้ริเริ่มกางเกงยีนส์อย่างเป็นทางการ คนละเลยชื่อนี้ไปจนแทบจะสูญสิ้น บางครั้งมันก็น่าน้อยใจเหมือนกันเมื่อผ้าที่ถูกคิดค้นโดยบรรพบุรุษตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 15-16 กลับถูกเขียนทับด้วยหน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนใหม่ในหลายร้อยปีให้หลัง ตอนนี้ไอเท็มชิ้นนี้คือความอมตะปรากฏอยู่ทุกซอกทุกมุมแฟชั่นโลก แต่ห้ามลืมเด็ดขาดว่าทั้งเจนัว นีมส์และดังการีคือชื่อที่ต้องนึกถึงเมื่อสวมสิ่งทอเนื้อแข็งและทนทานสีฟ้านี้ และวันนี้ 24 เมษายนวันเดนิมโลกเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์การถูกข่มขืนของหญิงสาวแต่ไม่ได้รับการปกป้องเพราะกางเกงยีนส์ที่รัดแน่นเกินไป (อ่านต่อได้ ที่นี่) นี่คือทั้งหมดของความซับซ้อนจากไอเท็มอมตะเหนือกาลเวลาที่ชื่อว่า “ยีนส์”

 

ข้อมูล: GUILD, LiveAbout, Italian Notes, wikipedia & History of Jeans

WATCH

คีย์เวิร์ด: Jeans