FASHION

ไขทุกเหตุผลของเพลงในโชว์ Gucci FW20 เมื่อตำนานจากหลายแขนงล้วนมีความเกี่ยวข้องกับเพลงนี้

     แคตวอล์กทรงกลมของ Gucci ที่เคลื่อนตัวไปราวกับม้าหมุนไซไฟในแฟชั่นโชว์คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2020 กลายเป็นภาพตระการตาเพื่อเปิดสัปดาห์แฟชั่นประจำเมืองมิลานอย่างสมศักดิ์ศรี ในแง่ของชิ้นงานเสื้อผ้านั้น Alessandro Michele ยังคงเดินหน้าผสมผสานขั้วตรงข้ามและโฟกัสงานสไตลิ่งข้ามสายพันธุ์ต่อไป (แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจะบีบบังคับให้แบรนด์ต้องลดทอนความคลั่ง เพื่อเพิ่มเติมชิ้น ‘สวมใส่ได้จริง’ เข้าไปให้มากขึ้น)

นางแบบที่แสดงความหลากหลายของนิยามความสวยงามผ่านรูปลักษณ์์์์์์ที่แตกต่าง และ บรรยากาศการปรากฏตัวของเหล่าผึ้งงานเบื้องหลังแฟชั่นโชว์ของ Gucci / ภาพ: Vogue Runway - Valerio Mezzanotti for NOWFASHION

     อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะกระแสโลกที่เหล่า ‘ชนชายขอบ’ ทุกรูปแบบกำลังได้รับการสรรเสริญเทิดทูน บัดนี้จึงถึงคราวสดุดีและคารวะแด่เหล่าฮีโร่ในซอกหลืบ ‘ตัวเล็กตัวน้อย’ ผู้ผลักดันสร้างงานให้เกิดโชว์อันยิ่งใหญ่ ตั้งแต่เดรสเซอร์ผู้ช่วยนางแบบ-นายแบบแต่งตัว เรื่อยไปจนถึงช่างแต่งหน้า-ทำผม และโปรดิวเซอร์อีกร้อยแปดพันประการ

Federico Fellini ผู้กำกับชื่อดังชาวอิตาเลียนผู้สร้างสรรค์ผลงานระดับตำนานมาหลายต่อหลายเรื่อง / ภาพ: The Times

     เราขอข้ามไปในประเด็นเซตติ้งเข้างาน ซึ่งยก ‘หลังเวที’ มาต้อนรับคนแฟชั่นเป็น ‘ฉากหน้า’ เนื่องจากคุณคงจะเห็นเอดิเตอร์กับอินฟลูเอนเซอร์โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียกันจนเอือมตั้งแต่เมื่อคืน (19 กุมภาพันธ์ 2563 ตามเวลาในประเทศไทย) เช่นเดียวกับการกล่อมโชว์ด้วยสปีชจากผู้กำกับระดับตำนานของอิตาลี Federico Fellini เจ้าของผลงานภาพยนตร์ขึ้นหิ้ง อาทิ 8 ½ , La Strada และ La Dolce Vita ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 3 แรงบันดาลใจหลัก (นอกเหนือจากวัยเยาว์ของตัวดีไซเนอร์เอง และประเด็นทางศาสนา...อีกแล้ว) ของคอลเล็กชั่นที่มีพื้นฐานอยู่บนธีมหลักคือ ‘พิธีกรรม’



WATCH




Ida Rubinstein (ซ้าย) นางระบำชาวรัสเซียที่ Maurice Ravel (ขวา) ประพันธ์เพลงBoléro ให้เพื่อใช้ในการจัดแสดงโชว์รอบปฐมทัศน์เมื่อปี 1928 / ภาพ: JWA -  Gramophone

     เวทมนตร์ดำที่ได้รับการคำนวณมาอย่างลงรายละเอียดอีกจุดปรากฏผ่านดนตรีประกอบโชว์ ซึ่งอะเลสซานโดรเลือกใช้บทเพลง Boléro โดยคีตกวีชาวฝรั่งเศส Maurice Ravel

     ดนตรีประพันธ์ความยาว 15 นาที 50 วินาที ตามฉบับดั้งเดิม (ที่ได้รับการดัดแปลงเพื่อขึ้นเวทีโดยกุชชี่ในครั้งนี้) ถือเป็นชิ้นงานระดับประวัติศาสตร์ที่ชนชาติฝรั่งเศส ตลอดจนชาวยุโรปหลายๆ ประเทศภูมิใจ มันหลอมรวมทวีปและโลกเข้าไว้ด้วยอายุ 92 ปีนับแต่ได้รับการประพันธ์ขึ้นเพื่อนางระบำชาวรัสเซีย Ida Rubinstein ในการจัดแสดงรอบปฐทัศน์เมื่อปี 1928 ณ โรงอุปรากรกรุงปารีส


ตัวอย่างบทเพลง Boléro อีกหนึ่งเวอร์ชั่นของ Maurice Ravel / วิดีโอ: TheWickedNorth

     แรกเริ่มเดิมทีนั้น ความหมายระหว่างบรรทัดโน้ตสื่อสารถึงการวิพากษ์เปรียบเทียบการโฆษณาชวนเชื่อ หากพลังของการจัดแสดงสดต่างหากที่ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของชิ้นงานไปตลอดกาล อาจกล่าวได้ว่า ระบบตัวโน้ตส่วนหนึ่งในงานชิ้นนี้ก็มีบุคลิกพิเศษในตัวมันเองคือ สามารถเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ในทันที ซึ่งแตกต่างจากเพลงคลาสสิกทั่วไป ทั้งนี้ทั้งนั้น นักวิจารณ์ Allan Bloom เคยแสดงทัศนะไว้ในบทความปี 1987 ของเขาว่า จังหวะในแนวร็อกของมัน “สื่อถึงการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่”

หนังสือโน้ตเพลง Boléro 3 หน้าแรก / ภาพ: affordance.info

     การเคลื่อนตัวไปอย่างเชื่องช้าเรียงร้อยจนกลายเป็นลายนิ้วมือของบทประพันธ์ดนตรีชิ้นนี้ (ซึ่งแฝงกลิ่นอายบรรยากาศแบบสเปนตามชื่อ) ไม่ต่างจากผลงานดนตรีคลาสสิกอีกมากมาย ที่ระบบตัวโน้ตสอดคล้องกับระบบการเคลื่อนไหวของนักแสดง ความน่าสนใจของจังหวะการเรียงลำดับตัวโน้ตและระบำนี้มีตัวอย่างที่เด่นชัดมากมาย หนึ่งในนั้นได้แก่ บทเพลง Dance of the Little Swans (หรือที่วงการเรียกขานกันในนาม Dance of the Cygnets) โดยคีตกวีชาวรัสเซีย Pyotr Ilyich Tchaikovsky ซึ่งต่อยอดมาสู่งานระบำ Pas de Quatre ชิ้นอมตะ ที่บัลเลรินา 4 หงส์สาวต้องคล้องแขนก้าวกระโดดพร้อมกันตามจังหวะหยุดและจังหวะตก

Pas de Quatre งานระบำชิ้นอมตะที่ต้องอาศัยฝีมือบัลเลรินาทั้ง 4 คนในการวาดลวดลายการกระโดดตามจังหวะเฉพาะตัวของเพลงบนเวที / ภาพ: In Time Gone By...

     Boléro นี้ก่อให้เกิดเอฟเฟกต์เดียวกัน กล่าวคือ ท่วงทำนองหลักซึ่งคิดค้นขึ้นมาด้วยเทคนิคการแต่งเพลงด้วยนิ้วเดียว ก่อนนำมาประสานเข้ากับการประพันธ์เพื่อวงออร์เคสตราผ่านเครื่องดนตรีมหาศาลในภายหลังนี้ชวนให้ผู้ฟังและผู้ชมเห็นนิมิตเป็นการเคลื่อนไปตามวัฏฏะ หรือวนเวียนเป็นวงกลม


ฉากจบสุดตราตรึงจากภาพยนตร์เรื่อง Les Uns et les Autres / วิดีโอ: Nataniel Costard

      ฉบับที่โด่งดังที่สุดคือฉากจบอันละเมียดละไมในภาพยนตร์เรื่อง Les Uns et les Autres จากปี 1981 (ซึ่งบอกเล่าความสัมพันธ์ของผู้คน 3 เชื้อชาติหลัก คือ อเมริกา, รัสเซีย และฝรั่งเศส ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และในภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Boléro) นักระบำหนุ่ม Jorge Donn เปลือยท่อนบนร่ายรำเป็นวงกลมอยู่กลางผู้ชม โดยมีหอไอเฟลตระหง่านเป็นฉากหลังสุดแสนอลังการ ในขณะที่นักแสดงหญิง Geraldine Chaplin บุตรสาวของตลกดาวค้างฟ้าฮอลลีวู้ด Charlie Chaplin ครวญเพลงอยู่ห่างไปแถวขาหอคอยทั้ง 4 ต้น

Rudolf Nureyev, Benjamin Millepied และ Robert Bolle นักบัลเลต์หนุ่มต่างยุคที่เคยเปิดการแสดงสดในบทเพลง Boléro / ภาพ: A Dancer's Life - Le Parisien - Reddit

     นอกจาก ฮอร์เฮ่ ดอนน์ ชาวอาเจนตินาจะโด่งดังจนมีโอกาสเปิดการแสดงซ้ำผลงานเด่น ที่สร้างภาพจำให้กับตน บนเวทีสดในปีถัดมาแล้ว ตัวเด็ดสายบัลเลต์จากสุดยอดตำนานฝ่ายชาย Rodolf Nureyev เรื่อยไปถึง Benjamin Millepied นักบัลเลต์หนุ่มสามี Natalie Portman และสุดหล่อบัลเลต์เนตไอดอลรุ่นล่าสุด Roberto Bolle ก็ล้วนเคยเปิดการแสดงสดในบทเพลงนี้ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในงานชิ้นนี้มาแล้วทั้งสิ้น

ความยิ่งใหญ่ของฟุตบอลโลก France 98 ที่ Yves Saint Laurent นำเสนอผลงานกลางสนาม / ภาพ: Musée Yves Saint Laurent

     ท่วงทำนองเอื่อยอมยวนเย้าที่ค่อยๆ โหมขึ้นราวกองทหารเข้าบุกยึดแนวหน้านี้เป็นที่จดจำระดับนานาชาติอีกครั้งในปี 1998 ในพิธีใหญ่ของฟุตบอลโลก FIFA World Cup เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ภายในสเตเดียมสนามกีฬา Stade de France เมื่อห้องเสื้อแห่งความภูมิใจของชาวเมืองน้ำหอมอย่าง Yves Saint Laurent นำเสนอความยิ่งใหญ่ของดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้ง ผ่าน 300 ลุคแห่งความทรงจำตลอดการทำงาน ก่อนเหล่านางแบบทยอยเคลื่อนตัวเรียงรายกันออกมาบนแคตวอล์กกลางแจ้งลายท้องฟ้า เพื่อประกอบเข้าเป็นโลโก้สัญลักษณ์ YSL ต่อหน้าสายตา 1,700 ล้านคู่ ซึ่งเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวผ่านทางการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

เหล่านางแบบ-นายแบบอวดโฉมลุคพร้อมกับเหล่าคนเบื้องหลังที่ปรากฏกายอยู่บนแพลตฟอร์มม้าหมุนในโชว์ครั้งนี้ / ภาพ: Valerio Mezzanotti for NOWFASHION

     นับเป็นอีกคอลเล็กชั่นหนึ่งที่อะเลสซานโดรเลือกเฉลิมฉลองอย่างมีนัยยะให้กับบทอ้างอิงโบราณ ที่เขาโปรดปรานเป็นการส่วนตัว และสะท้อนระบบการสร้างงานที่ยากนักบุคคลภายนอกจะเข้าอกเข้าใจหากไม่เคยมีโอกาสได้เข้ามาเห็นอย่างใกล้ชิด แน่นอนว่าวัฏจักรของอุตสาหกรรมแฟชั่นจะเวียนหมุนต่อไป (อาจเร่งสปีดกว่างานระบำดั้งเดิม เพื่อกวดฝีเท้าให้ทันกับไฮดรอลิกสไตล์ม้าหมุนของกุชชี่) ในขณะที่ภูตแรงงานจิ๋วก็เริ่มมีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากเป็นที่สังเกตมากขึ้นกว่าแต่ก่อนบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม เราเพียงแต่หวังใจว่ามันจะมิใช่เพียงกิมมิกในโลกแห่งกระแส Sustainability เท่านั้น

WATCH

คีย์เวิร์ด: #FW20 #FW2020