FASHION

ย้อนรอยชุดแต่งงานสีชมพูของดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ กับดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสง่างาม

ชุดแต่งงานสีชมพูอันโดดที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคนมีเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจไม่แพ้ความสวยงามเบื้องหน้า

เรื่อง: Hamish Bowles

     เมื่อสาวงามเปรียบดังเทพยดาอย่าง Lady Alice Christabel Montagu Douglas Scott ร่างจดหมายจากปราสาท Drumlanrig ถึงนักออกแบบเสื้อผ้าชาวลอนดอนอย่าง นอร์แมน ฮาร์ตเนล ในปี 1935 ไหว้วานให้เขาช่วยออกแบบเดรสสำหรับงานแต่งงานของเธอในเดือนพฤศจิกายน เส้นทางอาชีพของดีไซเนอร์ผู้นี้ได้แปรเปลี่ยนไปตลอดกาล เขาได้ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในผู้ปั้นแต่งรูปโฉมเหล่าราชวงศ์อังกฤษได้งดงามตระการตาที่สุดในศตวรรษที่ 20

ภาพสเก็ตช์เจ้าหญิงอลิซ ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ สวมชุดแต่งงานโทนสีแดงระเรื่อ ในปี 1935 โดย นอร์แมน ฮาร์ตเนล จากหนังสือ ‘Silver and Gold’ ที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 1955 / ภาพ: Evans Brothers Limited

     เลดี้ อลิซ คือธิดาของ ดยุคที่ 7 แห่ง Buccleuch ผู้ถือครองที่ดินมากผืนที่สุดในสกอตแลนด์ เธอได้รับการหมั้นหมายและกำลังจะเข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายเฮนรี่ ดยุกแห่งกลอสเตอร์ บุตรของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร และควีนแมรี่ผู้น่าเกรงขาม และยังเป็นถึงน้องชายของกษัตริย์องค์ต่อไปอย่างสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 (และดยุกแห่งวินด์เซอร์) และที่สำคัญที่สุด หลานสาวของดยุก เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (ก่อนดำรงตำแหน่ง ควีนอลิซาเบธที่ 2) และเจ้าหญิงมากาเร็ต โรส น้องสาวของเธอ จะรับหน้าที่เป็นเพื่อนเจ้าสาว

     ดยุกได้สร้างความน่าหวาดหวั่นแก่บิดาและมารดาของเขา ด้วยการมีความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาวกับนักบินหญิงผู้มาดมั่นอย่าง Beryl Markham การหมั้นหมายกับเลดี้ อลิซ ถือเป็นวิธีการตัดปัญหาที่รวบรัดและเหมาะสมที่สุด เนื่องด้วย เลดี้ อลิซ พรั่งพร้อมไปด้วยรูปโฉมและสมบัติพัสถาน เธอเติบโตในคฤหาสน์หลากหลายแห่ง นอกจากที่ Drumlanrig แล้ว ยังมีที่ Boughton, Bowhill, Dalkeith, และ Eildon Hall นั่นทำให้ที่พักอาศัยในอนาคตของเธออย่าง ยอร์กเฮาส์ ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ ในกรุงลอนดอน ดูเรียบง่ายไปถนัดตา (ยอร์กเฮาส์ได้กลายเป็นบ้านพักของเจ้าชายชาลส์ในเวลาต่อมา) ส่วนที่ประทับชั่วคราว ณ Aldershot บ้านหลังแรกที่เป็นที่พักอาศัยหลังสมรส ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กันกับกรมทหารของดยุก ภริยาของเขาเคยกล่าวไว้ว่า “สิ่งเดียวที่บ่งบอกถึงความเป็น ‘รอยัล’ คือการปรากฏกายของสามีของฉัน”

เจ้าหญิงอลิซ ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ สวมชุดสั่งตัดพิเศษโดย นอร์แมน ฮาร์ตเนล ในวันแต่งงานของเธอ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1935 / ภาพ: Getty - Vogue US

     ดยุกคือเจ้าชายองค์แรกที่ได้รับการศึกษาที่โรงเรียน (แม้แต่พี่ชายของเขายังได้รับการศึกษาโดยครูสอนพิเศษ) แม้กระนั้น ความเฉลียวฉลาดของเขายังนับว่าอ่อนด้อย และเขายังมีความผิดปกติทางด้านการพูด เช่นเดียวกับคิงจอร์จที่ 6 พี่ชายของเขา การขอ ‘เลดี้ อลิซ’ (หรือน้องสาวของเพื่อนสนิทคนหนึ่งของเขา) แต่งงาน นับว่าขาดความโรแมนติกโดยสิ้นเชิง เขา “พึมพำมันออกมาในขณะที่เรากำลังเดินเล่นกันตามปกติ” เธอระลึกได้ในภายหลัง

      ใน ‘Silver and Gold’ หนังสืออัตชีวประวัติของฮาร์ตเนล  ที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 1955 เขาได้กล่าวถึงเลดี้ อลิซไว้ว่า “โครงหน้าบริเวณโหนกแก้มที่ดูงดงามราวกับได้รับการปั้นแต่งและรอยยิ้มที่ถูกกล่าวขานว่า ‘คล้ายคลึงกับตุ๊กตาโนมที่อยู่ในป่า’” เมื่อเธอย่างกรายเข้ามาในซาลอนสุดชิค ณ ทาวน์เฮาส์ตามแบบฉบับศตวรรษที่ 18 บนถนนบรูตัน



WATCH




ภาพสเก็ตช์ของเจ้าหญิงเอลิซาเบธสวมชุดแต่งงาน โดย นอร์แมน ฮาร์ตเนล ปี 1947 / ภาพ: Getty - Vogue US

     ตัวซาลอนนั้นเพิ่งได้รับการตกแต่งโดย Norris Wakefield ด้วยแผ่นกระจกเจียระไนเพ้นท์ลายใบยูคาลิปตัสสีเขียว-เทา ที่ฮาร์ตเนลรู้สึกว่าเหมาะสมและลงตัว ทว่าดูขัดแย้งกับสีสันของสายรุ้งที่เขาชื่นชอบอยู่ในที (การตกแต่งภายในของ Wakefield ได้รับการเก็บรักษาไว้ในฐานะที่เป็นหนึ่งในอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกรุงลอนดอน) เลดี้ อลิซ ได้คัดเลือกชุดแต่งกายบางส่วนจากคอลเล็กชั่นของฮาร์ตเนลเพื่อสวมใส่ในวันแต่งงาน (รวมถึงชุดเนื้อผ้ากำมะหยี่สำหรับการเดินทางไปฮันนีมูน) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระหว่างการพูดคุยรายละเอียดเรื่องชุดแต่งงาน “ความเรียบง่ายที่สมบูรณ์แบบ” คือสิ่งที่เจ้าสาวต้องการ ซึ่งคงจะทำให้ฮาร์ตเนลถึงกับเสียวสันหลัง เนื่องด้วยตัวเขานั้นหลงรักความเว่อร์วังอลังการและ “ความแวววาวระยิบระยับของเลื่อมหลากสี” โดยเดรสที่เขาได้สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อสาวงามเดบูตองต์อย่าง Margaret Whigham (ขณะนี้ได้ถูกจัดเก็บในคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์วิคตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต) สำหรับงานแต่งงานของเธอกับ Charles Sweeney สองปีก่อนที่งานจะจัดขึ้น แสดงออกชัดแจ้งถึงสไตล์อันโดดเด่นของเขา: เดรสแขนยาวระย้าสไตล์ยุคกลางและเลื่อมประดับรูปดาวขอบมุก ใช้ช่างเย็บผ้าทั้งหมด 30 คน ในระยะเวลาถึง 6 อาทิตย์ แต่เจ้าสาวก็ยังตกอกตกใจเมื่อฮาร์ตเนลยื่นบิลให้เธอในราคา 54 ปอนด์

เจ้าหญิงเอลิซาเบธสวมชุดสั่งตัดพิเศษโดย นอร์แมน ฮาร์ตเนล ในวันแต่งงานของเธอ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1947 / ภาพ: Getty - Vogue US

     ถึงกระนั้นแล้ว ฮาร์ตเนลเห็นพ้องกับความดึงดันของเลดี้ อลิซ ในการใช้ผ้าทูลล์สำหรับเวล ด้วยความรู้สึกว่า “ก้อนเมฆที่ล่องลอยของผ้าทูลล์เนื้อโปร่งบางให้ลุคโมเดิร์นและเรียบโก้ดูงดงามอย่างลงตัว” มากกว่าผ้าลูกไม้ล้าสมัยที่ทำให้ดู “ไร้ชีวิตชีวาและหม่นหมองไปตามอายุขัย” เฉกเช่น “วิกผมอันลีบแบนของผู้พิพากษา”

     ฮาร์ตเนลทำตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายและสรรสร้างเดรสที่เรียบง่ายและร่วมสมัย มาพร้อมชุดแขนยาวที่ได้รับการเย็บเก็บให้พอดีสัดส่วนของผู้สวมใส่ และเสื้อคอสูงเย็บติดกับช่อดอกส้มประดิษฐ์ขนาดเล็ก ชายกระโปรงยาวสไตล์ Cathedral เหมาะสมกับสถานที่จัดงานอย่างวิหารเวสท์มินสเตอร์เป็นที่สุด “เป็นเพราะแสงสลัวในวิหาร ตัวเดรสจึงไม่ควรเป็นสีขาวทื่อๆ แต่ควรเป็นโทนซอฟท์ๆ แต่งแต้มด้วยประกายมุก” ฮาร์ตเนลกล่าวในอัตชีวประวัติของเขา แต่การไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่ของเขานั้น ได้มองข้ามความเป็นจริงที่ว่า ตัวเจ้าสาว ณ ขณะนั้นมีอายุ 34 ปี (ในสมัยนั้นถือว่าอายุมากสำหรับการแต่งงาน) อาจต้องการสวมเดรสที่แสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าโทนสีขาวสไตล์หญิงสาวบริสุทธิ์

ภาพสเก็ตช์ของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตสวมชุดแต่งงาน โดย นอร์แมน ฮาร์ตเนล ปี 1960 / ภาพ: Getty - Vogue US

     งานแต่งงานโอ่อ่าอลังการนี้ เดิมทีแล้วจะจัดขึ้นที่วิหารเวสท์มินสเตอร์ แต่บิดาของเจ้าสาวเกิดเสียชีวิตก่อนที่งานจะถูกจัดขึ้น และบิดาทางฝ่ายเจ้าบ่าวหรือคิงจอร์จที่ 5 เกิดป่วยอย่างกะทันหัน จึงเป็นการสมควรกว่าที่จะจัดงานกันอย่างพอประมาณในโบสถ์ส่วนตัว ณ พระราชวังบักกิงแฮม ระหว่างการเดินทางไปยังพระราชวัง เจ้าสาวสวมผ้าขนเออร์มินคลุมไหล่ เพื่อคลายความหนาวจากภายนอกรถม้าที่ได้รับการรังสรรค์ขึ้นจากกระจกแก้ว และเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในระหว่างพิธีจึงไม่มีการถ่ายภาพใดๆ ทั้งสิ้น แต่หลังจากนั้น เจ้าสาวผู้ยิ้มร่าและรอยัลกรูมผู้เหนียมอายได้ภาพช็อตพิเศษเมื่อพวกเขาเดินออกไปทักทายฝูงชนบริเวณระเบียงจุดไอคอนิคของพระราชวังบักกิงแฮม โดยเธอได้ทำการโบกมือแกว่งไกวไปมาให้แก่ผู้คนทางด้านล่าง ซึ่งวิธีการโบกข้อมืออย่างเต็มแรงเช่นนี้ ไม่เคยมีราชนิกุลองค์ใดกระทำมาก่อน (สำนักข่าวบริติช ปาเตได้บันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น) มีการนำเก้าอี้ตัวเล็กออกมาที่ระเบียงเพื่อให้เจ้าหญิงมากาเร็ต โรส มองเห็นฝูงชนที่มาต้อนรับ และฝูงชนเหล่านั้นยังได้ยลโฉมกระโปรงทูลล์จับกลีบของเธอด้วยเช่นกัน

     เพิ่มเติมจากภาพพอร์ตเทรตอย่างเป็นทางการของงานแต่งงาน เจ้าสาวยังได้รับการถ่ายภาพแฟชั่นเซตโดย Madame Yevonde ซึ่งโด่งดังมาจากการถ่ายภาพพอร์ตเทรตเหนือจริงของเหล่าสาวสวยในวงสังคมชั้นสูง รวมถึงนวัตกรรมการพิมพ์ภาพสี Vivex (กระบวนการพิมพ์ภาพสีในยุคแรกเริ่ม) ในภาพพอร์ตเทรตของ Madame Yevonde “ประกายมุก” บนเนื้อผ้าซาตินของฮาร์ตเนลปรากฏออกมาเป็นสีชมพูระเรื่ออย่างเด่นชัด ช่างถ่ายภาพได้สร้างความอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก ด้วยการจัดวางช่อดอกกุหลาบสีแดงเข้มไว้บริเวณฝ่าเท้าของเจ้าสาว เพื่อช่วยเสริมให้สีชมพูมีความโดดเด่นและแจ่มแจ้งมากยิ่งด้วย

     การเรียงร้อยสอดประสานสีชมพูของฮาร์ตเนลได้รับการตอบรับอย่างงดงาม: “พวกเราพึงพอใจเป็นอย่างมาก” ควีนแมรี่ผู้น่าเกรงขามได้กล่าวไว้ “พวกเรามีความเห็นว่าทุกอย่างช่างงดงามเหลือเกิน”

เจ้าหญิงมาร์กาเร็ตสวมชุดสั่งตัดพิเศษโดย นอร์แมน ฮาร์ตเนล ในวันแต่งงานของเธอ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ปี ค. ศ. 1960 / ภาพ: Getty - Vogue US

     ไม่นานนัก ควีนแมรี่สั่งตัดชุดราตรีสำหรับตนเอง เธอต่อรองราคาได้อย่างช่ำชองและสง่าผ่าเผย ด้วยการยืนยันกับฮาร์ตเนล ว่า 35 Guineas ที่เขาขอสำหรับเดรสแต่ละตัว จากเดรสทั้งหมดสามตัวที่สั่งตัด นั้นไม่เพียงพอ และออกปากอย่างชัดเจนว่าเธอจะจ่ายให้เขา 45 Guineas ต่อชุด เป็นค่าตอบแทน

     ด้วยความปลื้มปริ่มในสิ่งที่ได้สัมผัส ณ ซาลอนของฮาร์ตเนล มารดาของเจ้าหญิงน้อยตกลงใจที่จะเป็นลูกค้าของเขา แม้ว่าช่างตัดเสื้อที่น่านับถืออย่าง Madame Handley Seymour ผู้ที่ตัดเย็บชุดแต่งงานของเธอ (ลอกเลียนมาจากนางแบบ โดย Jeanne Lanvin) คือผู้ที่ถักทอเสื้อคลุมสำหรับพิธีบรมราชาภิเษก ฮาร์ตเนลกลับกลายเป็นผู้แต่งองค์ทรงเครื่องให้พระราชินี สำหรับทริปเยือนประเทศฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นานนัก เมื่อบิดาของพระราชินีทรงสิ้นพระชนม์ เสื้อผ้าหลากสีในตู้เสื้อผ้าของเธอต้องได้รับการสับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงสองสัปดาห์ ฮาร์ตเนลให้ความเห็นที่แสนจะชาญฉลาดว่า แทนที่จะเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าสีดำทั้งหมด เสื้อผ้าเซตใหม่นี้ควรได้รับการตัดเย็บในโทนสีขาว ซึ่งไม่ได้ผิดแผกไปจากขนบธรรมเนียมการไว้อาลัยของราชวงศ์แต่อย่างใด เสื้อผ้าในโทนสีขาวเหล่านี้ได้รับการยืนยันอย่างชัดแจ้งว่าทำให้ผู้สวมใส่ดูโดดเด่นสะดุดตาเมื่ออยู่ในภาพถ่าย และชุดราตรีอันสุดแสนจะโรแมนติกที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปินอย่าง Winterhalter และ Hayter ได้ส่งต่อแรงสั่นสะเทือนไปยังดีไซเนอร์รุ่นใหม่ชาวปารีเซียงอย่างคริสเตียน ดิออร์ ด้วยเช่นกัน โดยชัยชนะของฮาร์ตเนล ในครั้งนี้ ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้ตัดเย็บเสื้อผ้าของพระราชินีอย่างเป็นทางการ จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต (ฮาร์ตเนลได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์โดย ควีนเอลิซาเบธ หรือ ควีนมัม ในปี 1977)

ชุดแต่งงานสั่งตัดพิเศษของ มาร์กาเร็ต แคมป์เบล ดัชเชสแห่งอาร์กีลล์ โดย นอร์แมน ฮาร์ตเนล ที่ได้รับการสวมใส่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปี ค. ศ. 1933 / ภาพ: V&A Images

     ฉันมีโอกาสได้ไปเยือนซาลอนของฮาร์ตเนล ในช่วงปี 1980s เนิ่นนานหลังจากที่เขาลาจากโลกนี้ไปแล้ว และเห็นหุ่นโชว์เสื้อผ้าของควีนเอลิซาเบธ (ควีนมัม) ที่ยังคงสวมใส่เดรสพิมพ์ลายผ้าชิฟฟ่อนแวววับและชุดราตรีส่องประกายแวววาว ที่ได้รับการตัดเย็บอย่างพิถีพิถันโดยนักออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าผู้จงรักภักดี ในช่วงชีวิตหลังจากนั้นของฮาร์ตเนล ที่นอกเหนือจากการดีไซน์เสื้อผ้าให้ควีนมัม เขายังมีโอกาสได้ออกแบบทั้งชุดแต่งงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปินชาวอิตาเลียนอย่าง Botticelli สำหรับเจ้าหญิงเอลิซาเบธในปี 1947 และเสื้อคลุมอันสง่างามสำหรับพิธีบรมราชาภิเษกในปี 1953 ขณะเดียวกัน เจ้าหญิงมากาเร็ต น้องสาวของควีนเอลิซาเบธที่สอง ได้รับการออกแบบชุดแต่งงานโดยฮาร์ตเนล สำหรับพิธีแต่งงานของเธอและ Anthony Armstrong-Jones เช่นกันกับเลดี้ อลิซ Armstrong-Jones ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าชุดแต่งงานสำหรับภรรยาของเขาจะต้องเน้นไปที่ความเรียบง่าย และด้วยหลักการดีไซน์ที่เรียบง่ายถึงขีดสุดของฮาร์ตเนล ทำให้เดรสผ้าออร์แกนดี้สีขาวกลายเป็นตัวกะเกณฑ์มาตรฐานสำหรับความสง่างามสไตล์ ‘รอยัล ชิค’ นับแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากการรับใช้ประชาชนในฐานะตัวแทนของราชวงศ์อังกฤษ เจ้าหญิงอลิซ ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ ใช้ชีวิตมาอย่างยืนยาวเสียยิ่งกว่าสามีของเธอถึงสามทศวรรษ และสิ้นพระชนม์ในปี 2004 ด้วยพระชนมมายุ 102 พรรษา

 

ข้อมูล: vogue.com

แปล: ชนิสรา กตัญญูทวีทิพย์

WATCH