FASHION

เจาะลึกทุกเรื่องเกี่ยวกับแฟชั่นโอต์ กูตูร์ ใครบ้างที่เรียกผลงานตนว่าโอต์ กูตูร์ได้

แม้แฟชั่นเฮาส์หลายร้อยแบรนด์จะอยากขนานนามว่าตนเองเป็นแฟชั่นเฮาส์กูตูร์สักเพียงไหนก็ไม่สามารถเรียกได้สุ่มสี่สุ่มห้า

ย้อนไปช่วงศตวรรษที่ 19 ในเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างกรุงปารีส ศิลปะทางแฟชั่นที่เรียกกันว่า “โอต์ กูตูร์” ถือกำเนิดขึ้น เสื้อผ้าเหล่านี้ตัดเย็บด้วยกรรมวิธีที่ซับซ้อนและต้องใช้ช่างฝีมือที่มีความสามารถชั้นสูงในการเก็บทุกรายละเอียดอย่างประณีตบรรจงที่สุด งานกูตูร์ทุกชิ้นต้องตัดเย็บด้วยมือตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย และใช้สัดส่วนของผู้สวมใส่เป็นมาตรวัดอย่างเฉพาะเจาะจง เรียกง่ายๆ ว่า “สั่งตัดเท่านั้น” แฟชั่นเฮาส์กูตูร์จะต้องใช้ทีมงานจำนวนมากสำหรับตัดเย็บชุดโอต์ กูตูร์เพียงหนึ่งชุด

 

Charles Frederick Worth กูตูริเยร์รายแรกของโลก ผู้ก่อตั้ง Chambre Syndicale de la Couture Parisienne / ภาพ: VogueUS

 

แม้แฟชั่นเฮาส์หลายร้อยแบรนด์จะอยากขนานนามว่าตนเองเป็นแฟชั่นเฮาส์กูตูร์สักเพียงไหนก็ไม่สามารถเรียกได้สุ่มสี่สุ่มห้า การจะประกาศว่าตนเป็นกูตูริเยร์จะต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรมฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ซึ่งปัจจุบันสมาชิกสมาคมโอต์ กูตูร์มีเพียง 15 แบรนด์เท่านั้น ได้แก่ Adeline André, Alexandre Vauthier, Alexis Mabille, Chanel, Christian Dior, Frank Sorbier, Giambattista Valli, Jean Paul Gaultier, Julien Fournié, Maison Margiela, Maurizio Galante, Schiaparelli, Stéphane Rolland, Givenchy และ Yiqing Yin โดยในแต่ละปีแฟชั่นเฮาส์ทั้ง 15 แห่งจะต้องนำเสนอคอลเล็กชั่นกูตูร์ของตนเองในสัปดาห์กูตูร์ปีละ 2 หนคือ Spring/Summer และ Autumn/Winter

 

คอลเล็กชั่นโอต์ กูตูร์ประจำซีซั่น Fall 2017 จาก Dior / ภาพ: Indigital.tv

 

นอกจากแฟชั่นเฮาส์ที่เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ 15 แห่งแล้ว ในแต่ละปีจะมีแบรนด์ที่ได้รับเชิญให้นำเสนอคอลเล็กชั่นกูตูร์ในฐานะ Corresponding Members หรือกลุ่มแฟชั่นเฮาส์ที่มีกระบวนการผลิตและตัดเย็บเข้าข่ายมาตรฐานของโอต์ กูตูร์ แต่ไม่ได้มีสำนักงานหลักอยู่ในฝรั่งเศส เช่น Valentino และ Elie Saab ซึ่งกลุ่มนี้มักได้รับเชิญเป็นประจำเกือบทุกซีซั่น นอกจากนั้นยังมีแบรนด์ที่เข้าร่วมโชว์ในฐานะ Guest Members หรือกลุ่มแฟชั่นเฮาส์ที่ได้รับเชิญเป็นครั้งคราวแต่ไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ได้แก่เหล่าแบรนด์เรดี้ทูแวร์สัญชาติอื่นอย่าง Proenza Schouler, Rodarte หรือแม้กระทั่ง A.F. Vandevorst

 

Versace ต้องใช้ช่างฝีมือผู้ชำนาญถึง 6 คนสำหรับตัดเย็บชุดโอต์ กูตูร์ / ภาพ: Vogue US

 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าความยากลำบากในการตัดเย็บและความประณีตบรรจงทุกรายละเอียดถือเป็นหัวใจสำคัญของโอต์ กูตูร์ แฟชั่นเฮาส์จะต้องใช้ช่างฝีมือทั้งหมดราวๆ 6 คนต่อการตัดเย็บ 1 ชุด ใช้เวลากว่า 200 ชั่วโมงในการตัดเย็บชุดเรียบๆ ในคอลเล็กชั่นกูตูร์ 1,000 ชั่วโมงสำหรับชุดที่มีการปักประดับ และใช้เวลากว่า 6,000 ชั่วโมงตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายสำหรับชุดฟินาเล่สุดตระการ ส่วนใหญ่แล้วชุดโอต์ กูตูร์จะต้องฟิตติ้งกันตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปเพื่อความเป๊ะทุกสัดส่วน ครั้งหนึ่งกูตูริเยร์อย่าง Dior เคยฟิตติ้งชุดกูตูร์มากถึง 10 ครั้ง ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งสุดท้ายกินเวลาไปเป็นหลักปีเลยทีเดียว

 

รายละเอียดสุดปราณีตที่ตัดเย็บด้วยมือทุกขั้นตอนบนชุดจากคอลเล็กชั่นโอต์ กูตูร์ประจำซีซั่น Fall 2017 จาก Giambattista Valli/ ภาพ: Indigital.tv

 

แน่นอนว่าชุดสุภาพสตรีชั้นสูงย่อมมาในสนนราคาที่สูงลิ่วเช่นกัน ราคาโดยเฉลี่ยของชุดโอต์ กูตูร์อยู่ที่ราวๆ 350,000 บาท และสามารถไต่ขึ้นไปถึง 3 ล้านบาทสำหรับชุดเจ้าสาว มาถึงตรงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าใครกันหนอจะควักเงินหลักล้านเพื่ออาภรณ์เหล่านี้ “นอกจากดาราและเซเลบริตี้ระดับโลกแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่ของเราเป็นสุภาพสตรีผู้มั่งคั่งจากฝั่งตะวันออกกลาง” หัวเรือใหญ่แห่ง Emanuel Ungaro กล่าว ส่วน Alexander Vauthier เองก็มีฐานลูกค้ากูตูร์กระจายอยู่ทั่ว ไล่ตั้งแต่อเมริกา อังกฤษ เบลเยียม ฝรั่งเศส รัสเซีย ไปจนถึงตะวันออกกลางเช่นเดียวกัน

 

ข้อมูล: Vogue US, Fédération Française de la Couture du Prêt-à-Porter des Couturiers et des Créateurs de Mode

ภาพ: Vogue US, Indigital.tv

WATCH