FASHION

ความงามสุดสยองของสตรียุคโบราณ! ย้อนรอยประวัติศาสตร์คอร์เซ็ตเพื่อเอวคอดแสนเจ็บปวด

     ภาพของศิลปินสาวตัวแม่แห่งยุค 1980s อย่างมาดอนน่า ในชุดคอร์เซ็ตซาตินสีชมพู ฝีมือการสร้างสรรค์โดย Jean Paul Gaultier สำหรับทัวร์คอนเสิร์ต Ambition Tour ในช่วงปี 1990s  ของเธอนั้น ยังติดตาใครต่อใครหลายคน กระทั่งยังได้กลายเป็นดั่งรูปแบบไอคอนิกที่โลกแฟชั่นให้การยอมรับ และนำไปลอกเลียนแบบ ต่อยอดเป็นไอเท็มดีไซน์ใหม่ต่อมาอีกไม่รู้จบ หรือแม้แต่ใครก็ตามที่เป็นแฟนภาพยนตร์สุดแสนคลาสสิกเช่น Titanic นั้น ก็ยังคงเคยได้เห็นฉากที่นางเอกของเรื่องอย่าง โรส นั้นถูกรัดรึงไว้ด้วยคอร์เซ็ต ภายใต้กระโปรงสุ่ม และชุดดีไซน์แบบสุภาพสตรีวิกตอเรียน ที่เมื่อได้สืบความย้อนกลับไปต่างก็พบว่า คอร์เซ็ตนี้เองที่เป็นดั่งนิยามความงามของหญิงสาวในสมัยอดีตกาล ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นวงกว้างทางฝั่งตะวันตก (ไม่ต่างจากคติความงามของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในอดีตกาล ที่เชื่อว่าการรัดเท้าลูกสาวให้กลายเป็นรูปดอกบัวนั้นคือความงาม) นิยามความงามที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ไม่เพียงสรรสร้างให้หญิงสาวมีรูปร่างงามในสายตาของคนรอบข้างเท่านั้น หากยังกักเก็บเบื้องหลังความทรมาน และถูกจารึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์โลกอันยาวนานไว้ด้วยเช่นกัน

ภาพของคอร์เซ็ตแบบคลุมสะโพก (ซ้าย) และคอร์เซ็ตแบบ S-Bend (ขวา) / ภาพ : calram.fr

     

     Corsets นั้นนับเป็นอีกชิ้นเครื่องแต่งกายที่ขาดไม่ได้ ที่ถูกสวมใส่โดยผู้หญิงเป็นหลัก (ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 18 เราก็อาจจะเคยได้เห็นเหล่าสุภาพบุรุษฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชาวออสเตรียนนั้น ถูกรัดรึงไปด้วยคอร์เซ็ตภายใต้เสื้อแจ็กเก็ต และกางเกง ที่ทำให้รูปร่างน่าชื่นชมมากขึ้น) ในโลกฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 โดยวิวัฒนาการของเจ้าคอร์เซ็ต นิยามความงามแห่งโลกตะวันตกยุคเก่าที่ว่านี้ เริ่มต้นจากดีไซน์เสื้อท่อนบนที่มีลักษณะแขนกุด และรัดรูป ที่คนสมัยเก่ายังมองว่าสิ่งนี้คือชุดชั้นในของหญิงสาว ที่ได้รับการสรรสร้างขึ้นจากวัสดุกระดูกวาฬ ก่อนที่ต่อมาในยุคเฟื่องฟูความนิยมจึงไปตกอยู่ที่วัสดุอย่างเหล็กกล้าแทน โดยลักษณะของคอร์เซ็ตที่เราต่างคุ้นเคยกันดีนี้จะต้องบีบรัดล้อมรอบซี่โครงของผู้สวมใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเอวที่จะถูกบีบอัดให้เล็กลงเท่าที่ต้องการไปโดยปริยาย... หากการบีบรัดก็จะแตกต่างออกไปตามรุ่นของคอร์เซ็ต โดยที่รูปร่างของคอร์เซ็ตที่มีวิวัฒนาการมานานหลายศตวรรษนั้น ถูกออกแบบสลับกันอยู่เพียงสองรูปแบบหลักๆ คือระหว่างรูปแบบที่ยาวครอบคลุมส่วนของสะโพกหญิงสาว และอีกหนึ่งรุ่นที่สั้นกว่า ซึ่งอย่างหลังนี้จะมีศูนย์กลางที่รอบเอวชัดเจน สร้างนิยามความงามติดปากเหล่าสุภาพสตรีชนชั้นสูงในยุคนั้นว่า S-Bend (เน้นช่วงบั้นท้ายให้ยกสูงขึ้น) ช่วยให้สุภาพสตรีนั้นมันรูปร่างแบบนาฬิกาทรายได้ชัดเจนกว่ารุ่นแรก และได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงปี 1800 จนกระทั่งปี 1900 (ในยุคสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย)

1 / 3

ภาพของคอร์เซ็ตที่ทำมาจากกระดูกวาฬ / ภาพ : wikipedia


2 / 3

ภาพวาดการ์ตูนแสดงการแต่งตัวของหญิงสาวสมัยวิกตอเรียน / ภาพ : famsf.org


3 / 3

ภาพแสดงลักษณะและรูปแบบต่างๆคอร์เซ็ต / ภาพ : waist training




WATCH




     นิยามความงามของคอร์เซ็ตไม่เพียงตีกรอบ และกักขังสุภาพสตรียุคเก่าให้ถูกกดทับอยู่ภายใต้ขนบแห่งมายาคติความงามที่สังคมชายเป็นใหญ่ได้กำหนด หากยังนำพามาซึ่งความเลวร้ายทางการใช้ชีวิตประจำวัน ด้านสุขภาพ และร่างกายอย่างแสนสาหัส เมื่อนิยามความงามที่เฉียดใกล้ความตายมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกอย่างคอร์เซ็ตนี้เดินทางมาถึงศตวรรษที่ 19 อันนับเป็นโมงยามที่สูงที่สุดแห่งคอร์เซ็ตก็ว่าได้ เพราะคอร์เซ็ตในยุคนี้มีให้เลือกในราคาที่หลากหลาย จนคอร์เซ็ตกลายเป็นชิ้นเสื้อผ้าที่หลายคนสามารถเข้าถึงได้ ถูกสวมใส่โดยผู้หญิงชั้นสูง ไปจนถึงชนชั้นกลาง และเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยผู้หญิงในชนชั้นแรงงานด้วยเช่นกัน จนกระทั่งแพทย์บางคนที่ได้เล็งเห็น และเป็นห่วงในการเปลี่ยนแปลงที่รุกล้ำ และกลืนกินพื้นที่สังคมที่ละน้อยของคอร์เซ็ตนี้ ได้ออกมากล่าวโทษว่า คอร์เซ็ตที่เจ้าหล่อนในสังคมต่างกระเสือกกระสนทำงานเก็บเงินก้อน แล้วนำเงินที่ได้นั้นไปซื้อคอร์เซ็ตมาใส่ เพื่อให้เป็นไปตามครรลองความงามของสังคมในสมัยนั้น มันช่างไม่คุ้มค่ากับที่ต้องแลกมากับโรคระบบทางเดินหายใจผิดปกติ และยังสร้างความเสียหายโดยตรงต่อกระดูกซี่โครง พร้อมด้วยอวัยวะภายในที่จะเกิดข้อบกพร่องตามมา และที่น่าสังเวชใจที่สุดคือสุภาพบุรุษทั้งหลายก็คงจะมองว่าคุณไม่งาม หากการสวมคอร์เซ็ตได้คร่าชีวิตเด็กในครรภ์ของหญิงสาวยุคนั้นไปจำนวนไม่น้อยทีเดียว จนกระทั่งวงการแพทย์ให้สมยานามว่า คอร์เซ็ตก็ไม่ต่างอะไรจากเครื่อทรมานนักโทษ กระนั้นสุภาพสตรีส่วนมากในยุคนั้นก็ยังคงห่วงจินตนาการทางเพศของฝั่งตรงข้ามที่เฝ้ามองเธอ มากกว่าชีวิตตัวเองเป็นไหนๆ เพียงแค่ลดระดับการรัดรึงให้แน่นน้อยลงเท่านั้น หากแฟชั่นคอร์เซตก็ยังเป็นที่นิยมในคนหมู่มากเช่นนั้นต่อไป

มาดอนน่า (ซ้าย) - คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 1993 โดย John Galliano (กลาง) - จีจี้ ฮาดิด บนรันเวย์โชว์คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ปี 2019 โดยปราด้า (ขวา)

 

     What’s goes around comes around ยังคงเป็นสำนวนสุดแสนคลาสสิกที่ใช้ได้กับทุกเรื่องเสมอ เพราะหลังจากที่มัดมัวแซลล์โคโค่ ชาเนลได้ปลดแอกหญิงสาวจากคุกความงามคอร์เซ็ตจนได้แล้ว โลกของสุภาพสตรีก็เปลี่ยนไปตลอดกาล ชีวิตประจำวันของสุภาพสตรีที่ไร้คอร์เซ็ต ทำให้หญิงสาวสามารถออกมาทำงานได้อย่างชายชาตรี ขับรถได้โดยไม่ต้องง้อผู้ชายทุกครั้งไป และอีกมากมาย หากในวงการแฟชั่นนั้นคอร์เซ็ตยังปรากฏตัวบ่อยครั้ง แต่ก็เป็นเพียงชิ้นแฟชั่นที่ถูกหยิบใช้ในบางโอกาสเท่านั้น ตามความพอใจของผู้สวมใส่ ไม่ใช่กรอบสังคมบังคับอย่างเช่นในยุคอดีตที่ผ่านมา และแม้ว่าจิตใต้สำนึกของหญิงสาวหลายคนยังคงมองหาเสื้อผ้าภายนอกประเภทเดียวกันนี้บ่อยครั้ง หรือแม้แต่คำว่า หุ่นนาฬิกาทราย ยังถูกยึดถือมาจนปัจจุบันนี้ หากเจ้าหล่อนเหล่านั้นก็คงจะตาสว่างเสียทีว่า ยังมีวิธีอื่นบนโลกที่สามารถทำให้พวกเธอเป็นเจ้าของรูปร่างนาฬิกาทรายได้ โดยไม่ต้องบีบรัดเอวด้วยกระดูกวาฬอีกต่อไป เธอเหล่านั้นจึงเปลี่ยนไปสู่การเล่นกีฬา และการใช้ชีวิตที่มีสุขภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค 1960s และยุค 1970s ที่ทำให้วัฒนธรรมการรัดตัวของคอร์เซ็ตนั้นถูกทิ้งร้างอย่างสิ้นเชิง ผู้หญิงในยุคนั้นต่างหันมากินอาหาร ออกกำลังกาย หรือเลือกทำศัลยกรรมเพื่อรูปร่างแทน

ฉากหนึ่งจากภาพยนตร์เรื่อง Titanic / ภาพ : Youtube

 

     ทุกวันนี้คอร์เซ็ตยังคงถูกสวมใส่โดยผู้ที่ชื่นชอบ หรือกระทั่งการแต่งกายข้ามเพศ และการล้อเลียนในคาบาร์เลต์ กระนั้นก็เป็นไปอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า คอร์เซ็ตนั้นไม่เคยหายตัวไปจากอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างแท้จริง เพราะในยุค 1970s วิเวียนเวสต์วู้ด ยังเคยได้เริ่มใช้คอร์เซ็ตให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความงามแบบพังค์บนหน้าประวัติศาสตร์ของแบรนด์เธอ ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นการเสริมพลังให้กับผู้หญิง รวมไปถึงดีไซเนอร์ระดับตำนานคนอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Jean-Paul Gaultier และ Thierry Mugler ที่ได้รวมชิ้นคอร์เซ็ตไว้ในการออกแบบในช่วงปี 1980 หรือแม้แต่ Stella McCartney, Yves Saint Laurent, Tom Ford และ Nicolas Ghesquière ก็เคยได้ทดลองการออกแบบผลงานของเขากับคอร์เซ็ตมาแล้วทั้งสิ้น แม้แต่แวดวงนิตยสารแฟชั่นยังมีประเพณีอันยาวนานในการถ่ายภาพแฟชั่นที่พวกเขามักจะใช้คอร์เซ็ต เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิงมาจนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันที่พรมแดนของนิยามความงามถูกพร่าเลือน และเป็นมากกว่าสิ่งที่เราจะคาดคิด เราต่างสวยได้ในแบบของเราโดยที่คำตัดสินจากสังคมไม่ใช่ปัจจัยหลักอีกต่อไป ตัวเราเองเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์เลือกได้ว่าตัวของเราจะสวยแบบไหน ดังนั้นการเลือก หรือไม่เลือกหยิบคอร์เซ็ตมาใส่ในยุคนี้ ก็คงไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไรแล้วเช่นกัน...

WATCH

คีย์เวิร์ด: #HistoryOfCosets