FASHION

ตีแผ่โลกซีรีส์ Y...ตลาดบันเทิงระดับนานาชาติ ที่ทำให้สาววายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

วิเคราะห์ทีละประเด็น ให้เห็นภาพความ Y ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างชัดเจน มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันกับโว้ก

    หลังจากที่ภาพยนตร์เพศทางเลือกอย่าง “รักแห่งสยาม” ที่ถูกเคลือบฉาบด้วยโปสเตอร์โปรโมตหน้าตาใสไร้เดียงสาของเด็กหนุ่ม และเด็กสาวทั้ง 4 คน ได้เซอร์ไพรส์คนดูกับความโจ่งแจ้ง และกล้าหาญที่ต้องการจะนำเสนอรูปแบบความสัมพันธ์ “ชายรักชาย” เป็นครั้งแรกๆ ในสังคม จนได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในด้านชื่นชม และตั้งคำถาม ไปทั่วในเวลาเดียวกัน และแน่นอนว่าก็ได้กรุยทางให้กำเนิดภาพยนตร์เพศทางเลือกอีกมากมายตามมาในวงการภาพยนตร์ไทย กระทั่งเมื่อผ่านเวลามากว่าทศวรรษ เราก็เริ่มได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการนำเสนอเนื้อหา “ความหลากหลายทางเพศ” ดังกล่าวในวงการละคร และภาพยนตร์ไทยในอัตราส่วนที่มากขึ้นตามลำดับด้วยเช่นกัน เฉกเช่น "ซีรีส์ Y" เป็นต้น... (แท้จริงแล้วยังมีคู่รักชาย-ชายปรากฏในซีรีส์เรื่อง "รักแปดพันเก้า" (2547) มาก่อนอีกด้วย)

 

 ซีรีส์ “Y” คืออะไร...

(ซ้าย) กัปตัน-ชลธร คงยิ่งยง และ (ขวา) ไวท์-ณวัชร์ พุ่มโพธิงาม ในซีรีส์เรื่อง Love Sick The Series ออกอากาศทางช่อง 9 MCOT ปี 2557

 

     หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า แท้จริงแล้วคำว่า "Y" ในที่นี่ มาจากศัพท์ภาษาญี่ปุ่นว่า "Yaoi" (ยาโออิ) ซึ่งศัพท์ดังกล่าวนั้นยังเกิดขึ้นมาพร้อมกันกับศัพท์อีกคำว่า Boy's Love (บอยส์เลิฟ) ที่มีความหมายถึง “ความสัมพันธ์ระหว่างชาย-ชาย” "คู่จิ้นชาย-ชาย" และ "ชายจิ้นชาย" ซึ่งก็เป็นตามที่เราทุกคนได้เห็นกันเกลื่อนในช่วงเวลานี้ นั่นคือการจับคู่ผู้ชายมาจิ้นกับผู้ชายอีกคนโดยกลุ่มผู้หญิง ที่เมื่อย้อนกลับไปบนหน้าประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นก็จะพบได้ทันทีว่า วัฒนธรรมแบบวายเกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โดยปรากฏในการ์ตูนผู้หญิงของประเทศญี่ปุ่น (และนั่นก็เป็นจุดกำเนิดของกลุ่มสาววาย) และนี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมวายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวัฒนธรรมวายก็ได้รับการเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาแล้วด้วยเช่นกัน เริ่มจากการแปลวรรณกรรม หรือการ์ตูนญี่ปุ่น ไปจนถึงการเริ่มสร้างวัฒนธรรมวายโดยนักเขียนไทย บนหน้าเว็บไซต์ที่วัยรุ่นไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีนั่นคือ Dek-d ก่อนที่ในเวลาต่อมานิยายวายที่ถูกแต่งขึ้นโดยคนไทยนั้นจะถูกหยิบยกขึ้นมาทำเป็น “ซีรีส์วาย” จริงๆ บนหน้าจอโทรทัศน์

     จุดเปลี่ยนสำคัญก็เห็นจะหนีไม่พ้นซีรีส์วายเรื่องแรกที่ได้รับการฉายบนโทรทัศน์จริงจังอย่าง “Love Sick the Series” ในปี 2557 ก่อนที่ความสำเร็จในครั้งนั้นจะส่งผลให้มีภาคต่อในเวลาต่อมา ที่สามารถกรุยทางให้กับซีรีส์วายอีกนับร้อยเรื่องต่อมาได้สำเร็จ พร้อมสร้างวัฒนธรรม “สาววาย” และ “คู่จิ้น” ให้เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในสังคมไทย โดยจุดขายสำคัญอย่างหนึ่งที่สาววาย และคนทั่วไปมิอาจปฏิเสธได้ก็คงจะหนีไม่พ้นที่ว่า ซีรีส์วายนับเป็นซีรีส์ที่สร้างเส้นเรื่องขึ้นมาด้วยการเล่นกับจินตนาการของผู้เสพเป็นหลัก จนสามารถให้กำเนิดคำกริยาใหม่ในระบบไวยากรณ์ที่เรียกว่า “จิ้น” ขึ้นมาในสังคม

 

คาแร็กเตอร์ตัวละครที่ไม่เคยก้าวพ้นวัยเรียน

1 / 5

อ๊อฟ-จุมพล อดุลกิตติพร และ กัน-อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์ จากซีรีส์เรื่อง "ทฤษฎีจีบเธอ" จากค่าย GMM


2 / 5

สิงโต-ปราชญา เรืองโรจน์ และ คริส-พีรวัส แสงโพธิรัตน์ จากซีรีส์เรื่อง "SOTUS The Series" จากค่าย GMM


3 / 5

เต-ตะวัน วิหครัตน์ และ นิว-ฐิติภูมิ เตชะอภัยคุณ จากซีรีส์เรื่อง "Dark Blue Kiss" จากค่าย GMM


4 / 5

มิว-ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ และ กลัฟ-คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์ จากซีรีส์เรื่อง "TharnType The Series" จากค่าย มี มายด์ วาย จำกัด


5 / 5

บาส-สุรเดช พินิวัตร์ และ ก๊อต-อิทธิพัทธ์ ฐานิตย์ จากซีรีส์เรื่อง "เดือนเกี้ยวเดือน" จากค่าย Chachi Digital Media Co., Ltd. (CCDM) และ Motive Village




WATCH




    หลายคนก็คงจะสงสัยไม่ต่างกันว่าเพราะเหตุใด ซีรีส์วายที่ได้รับการเลือกมานำเสนอผ่านหน้าจอโทรทัศน์ส่วนมากจึงมีแพทเทิร์นของตัวละครตายตัว นั่นคือมักจะเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นให้อยู่ในจำกัดพื้นที่ของวัยเรียนมัธยม และมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่เมื่อเราได้หันไปสำรวจตลาดนวนิยายสายวาย (ที่ในเวลานี้แพร่กระจายเป็นจำนวนมากอยู่ทุกหัวมุมถนน) ก็พบว่ายังมีนิยายวายอีกหลายเรื่องที่มีการสร้างตัวละคร และคาแร็กเตอร์ของตัวละครที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของวัยเรียน ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง “นิทานพันดาว” ที่กำลังจะลงจอฉายในอีกไม่นานนี้ ทว่ากลับไม่ค่อยถูกเลือกมานำเสนอผ่านโทรทัศน์มากเท่าที่ควร

     ตั้งแต่ “เดือนเกี้ยวเดือน”, “Sotus The Series ภาคแรก”, “Dark Blue Kiss”, "ทฤษฎีจีบเธอ", “TharnType the series” และอีกมากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นซีรีส์วายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของวัยเรียนทั้งสิ้น ซึ่งแน่นอนว่าเหตุผลหนึ่งที่ผู้กำกับมักจะเลือกหยิบนิยายวายที่เกิดขึ้นในวัยมัธยม และมหาวิทยาลัยมาสร้างเป็นซีรีส์นั้น ก็เพราะว่าสิ่งที่นำเสนอไปนั้นจะสามารถสัมพันธ์ และจุดร่วมบางอย่างกับกลุ่มคนดูที่ส่วนมากเป็นนักเรียนได้ง่ายกว่า หรือหากพูดตามหลักการของมาร์เก็ตติ้งแล้วก็คือ "การเลือกนำเสนอเนื้อหาคอนเทนต์ให้ตรงกับกลุ่มคนดูส่วนมาก" นั่นเอง อีกทั้งหลายคนยังให้เหตุผลตอบข้อสงสัยนี้ต่อไปอีกว่า ถ้าซีรีส์วายคือการเล่นล้อกับความรู้สึกคนดูแล้วล่ะก็... วัยเรียนนี่แหละที่ตอบโจทย์ที่สุด เพราะวัยเรียนยังนับว่าเป็นวัยที่มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือนจริง ที่ยังสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระเต็มที่ทั้งทางกาย ทางอารมณ์ และการกระทำ ดังนั้นหลายๆ อย่างที่ถูกสร้างขึ้นจากปลายปากกาของนักเขียนจึงอาจจะเกิดขึ้นได้จริงในจินตนาการของคนดู และดูสมเหตุสมผล ให้คนดูเก็บไปฝันกันต่อว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริงอยู่รอบตัวเราแน่ๆ ซึ่งต่างกับวัยผู้ใหญ่ที่ความรับผิดชอบในชีวิตที่มากขึ้นอาจจะกลายเป็นตัวจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกบางอย่างได้ไม่เต็มที่เท่ากับวัยเรียน หรือแม้แต่การสร้างตัวละครวัยเรียนที่เด็ก และไร้เดียงสากว่าวัยมัธยมปลาย และมหาวิทยาลัยก็ตาม ที่อาจจะส่งผลถึงอาการจิ้นของกลุ่มคนที่เสพนวนิยายวายให้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน หรือ “ฟิน” ได้ไม่สุดนั่นเอง

 

ระบบการปกครองซีรีส์วายแบบ “มาตาธิปไตย”

ภาพจากซีรีส์เรื่อง "เพราะเราคู่กัน เดอะ ซีรีส์" ออกอากาศในปี 2563

 

     วัฒนธรรมนิยายวายดั้งเดิมถือกำเนิดมาจากนักเขียนหญิงเพื่อกลุ่มผู้อ่านที่เป็นผู้หญิง (สาววาย) เป็นหลัก ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ทว่าผ่านมากว่าหลายทศวรรษ “งานเขียนสตรีเพื่อสตรี” อย่างนวนิยายวายก็ยังคงดำรงคอนเซปต์มาได้อย่างแข็งแกร่ง ที่ขยายออกไปให้เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันก็เห็นจะเป็นเพียงฐานผู้อ่าน และผู้ชม ที่ไม่ได้มีเพียงผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มเพศทางเลือกเพิ่มขึ้นมาด้วย เพื่อสังเกตการณ์ และจับตาดูความเป็นไปของความวายว่าคล้ายจริงแค่ไหน กระนั้นสิบหยิบหนึ่งเราก็ยังเห็นนักเขียนส่วนมากที่ทำหน้าที่กำหนดจักรวาลเป็นผู้หญิงเสียส่วนใหญ่เสมอ และนี่แหละคือที่มาของระบอบการปกครองแบบ "ผู้หญิงเป็นใหญ่ในโลกวาย"

     การที่ส่วนใหญ่แล้วหญิงสาวได้เป็นคนจรดปากกาเขียนวาด กำหนดจักรวาลวายนั้น ยังได้ส่งผลให้ใครหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตอยู่หลายจุด หนึ่งในนั้นคือการสร้างตัวละคร “หญิงสาว” ในซีรีส์วายขึ้นมาเป็น 2 คาแร็กเตอร์หลัก นั่นคือตัวละครฝ่ายดี แทนสายตาของผู้เขียนเองที่คอยเฝ้ามอง ช่วยเหลือ ประคับประคอง และสนับสนุนตัวละครคู่จิ้นหลัก ให้ลงเอยกันอย่างแฮปปี้เอนดิ้งได้ในที่สุด พูดได้อย่างง่ายก็คงไม่ต่างจากการแทนตัวผู้เขียนลงไปเป็นตัวละครประเภทนี้เสียเอง อีกหนึ่งลักษณะตัวละครคือ ตัวละครผู้หญิงร้าย ที่คอยสร้างความปั่นป่วน พอให้เลือดของคนดูนั้นสูบฉีด สร้างรสกลมกล่อมให้ซีรีส์วายมีสีสันมากกว่าฉากรักเลี่ยนน้ำตาลของคู่พระอก และนายเอก แต่ท้ายที่สุดแล้วส่วนมากตัวละครนี้ก็เป็นเพียงตัวละครที่เข้ามาร้ายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หนำซ้ำตอนจบยังหายไปแบบไม่ลงเอยกับใครก็มี จนอาจจะตั้งข้อสังเกตได้ว่า ตัวละครสาวนิสัยร้ายเหล่านี้คือผลผลิตจากความคิดที่ว่า “เมื่อฉันไม่ได้ ใครก็อย่าหวังจะได้” ของผู้เขียนก็เป็นได้

 

พื้นที่แจ้งเกิดสำคัญของดาราหนุ่มวัยรุ่น

(ซ้าย) ไบรท์-วชิรวิชญ์ ชีวอารี และ (ขวา) วิน-เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร จากซีรีส์เรื่อง "เพราะเราคู่กัน เดอะ ซีรีส์"

 

     เวลานี้ไม่มีใครไม่รู้จักคู่จิ้น “ไบรท์-วิน” จากซีรีส์วายที่โด่งดังเป็นพลุแตกอย่าง “เพราะเราคู่กัน เดอะ ซีรีส์” ซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถหยิบยกมาให้เห็นภาพชัดเจน และยืนยันว่าซีรีส์วายคือพื้นที่แจ้งเกิดของดาราหนุ่มที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนุ่ม “ไบรท์-วชิรวิชญ์ ชีวอารี” นักแสดงหนุ่มมากความสามารถวัย 22 ปี ผู้ผ่านผลงานการแสดงมานับไม่ถ้วน ที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นละครเรื่องรูปทอง, ก่อนอรุณจะรุ่ง, My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน และอีกมากมาย ก่อนที่จะมาเข้าล็อคโด่งดังที่สุดในปีนี้กับซีรีส์วายที่ทำให้สาววายทั่วประเทศพร้อมจะขานชื่อรับกันเป็นแถบๆ

     ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่ไบรท์คร่ำหวอดในวงการบันเทิง แต่ยังไม่เคยมีครั้งไหนที่ถูกสปอตไลท์จับจ้องแบบตรงจุดอย่างนี้มาก่อน เป็นชะตากรรมเช่นเดียวกันกับเด็กหนุ่มในวงการบันเทิงไทยอีกหลายๆ คน ที่ตอนนี้ก็มักจะเลือกพาตัวเองเข้าไปมีบทบาทในซีรีส์วาย เพื่อเป็นเส้นทางที่ทำให้ตัวเองนั้นได้รับความนิยมได้เร็ว และง่ายขึ้น กระนั้นความง่าย และเร็วที่ว่า ก็ต้องแลกมาด้วยฝีมือการแสดงระดับหนึ่งด้วยเช่นกัน เพราะถ้าฝีมือไม่ถึงโปรเจกต์นั้นก็มีอันต้องพับเก็บไปแบบเงียบๆ ในที่สุด แต่ในอีกมิติหนึ่งของการแจ้งเกิดของเหล่าเด็กหนุ่มผ่านพื้นที่ซีรีส์วายนั้น ก็สะท้อนให้เห็นว่า ณ ปัจจุบัน กลุ่มแฟนคลับสาววายได้ขยายตัวกลายเป็นแฟนคลับขนาดใหญ่กว่าในอดีต (จนอาจเรียกได้ว่ามีจำนวนมากกว่าแฟนคลับกลุ่มอื่นๆ ด้วยซ้ำ) ที่พร้อมผลักดันให้ดาราวัยรุ่นที่ตนเองชื่นชอบนั้นเขยิบเข้าไปใกล้สปอตไลต์มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าที่ซีรีส์วายมีฐานแฟนคลับมากเพียงนี้ ก็สืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมซีรีส์วายจากทั้งเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น หรือไทย ที่โอนถ่าย และไหลเวียนเปลี่ยนไปมาระหว่างกันนั่นเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่การมาชุบตัวในพื้นที่วายจะกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่สุดตอนนี้ของเหล่าเด็กหนุ่มทั่วทั้งวงการ เพราะฐานแฟนคลับในที่นี่ไม่ได้มีเพียงสาววายไทยเท่านั้น...

 

“Y” ในชีวิตจริง ความฝัน และอุตสาหกรรมบันเทิงระดับนานาชาติ

(ซ้ายบน) บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล และ พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร, (ซ้ายล่าง) อิน-สาริน รณเกียรติ และ หมอเน๋ง-ศรัณย์ นราประเสริฐกุล, (ขวา) มาร์ค และ แบมแบม วง GOT 7

 

     ใครว่า “ความ Y” เกิดขึ้นแค่ในซีรีส์เท่านั้น หากลองสังเกตไปให้ทั่วรอบๆ ตัว จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีทั้งเพจ Cute Boy ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ มากมายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด การนำเสนอเด็กหนุ่มหน้าตาใสกิ๊ง และโมเมนต์ใกล้ชิดต่างๆ เพื่อสนองจินตนาการสุดฟินของเหล่าสาววาย ไปจนถึงข่าวคราวการจิ้นนักแสดงหนุ่ม กับเพื่อนไฮโซในชีวิตจริง เรื่อยไปจนถึงการจิ้นกันของสมาชิกชายในวงเดียวกัน กระทั่งวัฒนธรรมความ Y ยังไปปรากฏในจักรวาลละครน้ำเน่าหญิงชายทั่วไป ในฐานะคู่รอง เป็นพระรอง เป็นเพื่อนพระเอก เป็นเพื่อนนางเอก และอีกมากมาย จนอาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมคู่จิ้น และความวายได้เปลี่ยนถ่ายสู่อณูชีวิตของเราในทุกๆ ด้านแล้วเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งก็นับเป็นเรื่องดีไม่น้อย

(ซ้าย) นิว-ฐิติภูมิ เตชะอภัยคุณ และ เอิร์ธ-พิรพัฒน์ วัฒนเศรษสิริ ในซีรีส์ Y ของต่างประเทศ / (ขวา) ซีรีส์ Y สัญชาติจีนเรื่อง Addicted (Webseries)

 

     “ตลาด Y” ดูเหมือนจะไม่ใช่ “ตลาดวาย" อีกต่อไป อุตสาหกรรมซีรีส์วายของไทยนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ขยายตัวมากอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระจายอิทธิพลไปทั่วทั้งวงการบันเทิง ละคร ภาพยนตร์ ศิลปะ แฟชั่น และอีเว้นต์ ที่เรามักได้เห็นเด็กหนุ่มน่ารักตระเวนออกอีเว้นต์ทั่วประเทศไทยแบบวันเว้นวัน กลายเป็นพรีเซนเตอร์ และแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับแบรนด์แฟชั่นสตรีต สกินแคร์ ไปจนถึงเครื่องสำอาง สร้างรายได้ให้ค่ายต้นสังกัดนับไม่ถ้วน และแน่นอนว่าทุกอย่างไม่ได้หยุดเพียงในประเทศไทยเท่านั้น เพราะสาววายต่างรู้ดีว่า มีหลายครั้งที่เราก็ห้ามใจไม่ไหวที่จะต้องซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วเหินฟ้าตามไปให้กำลังใจพวกเขาในฐานะแฟนคลับของ “คู่จิ้น” ในต่างแดนอยู่บ่อยครั้ง นั่นแหละคือสิ่งที่การันตีได้เป็นอย่างดีว่า วัฒนธรรม Y ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงนานาชาติไปแล้วเรียบร้อย

     อย่างไรก็ตาม “วัฒนธรรมซีรีส์ Y” ก็นับเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ที่น่าจับตามองต่อไป...

WATCH

คีย์เวิร์ด: #SeriesY #VogueCulture