FASHION

แรงบันดาลใจจากดินแดนมหัศจรรย์สู่โลกแฟชั่นของ ‘อลิซ’

Alice in Wonderland สามารถสร้างแรงบันดาลใจในโลกแฟชั่นได้อย่างน่าสนใจ

     กระต่ายสีขาว นาฬิกาพกพา ปาร์ตี้จิบน้ำชา และเจ้าแมวยิ้มแฉ่ง อาจเป็นภาพเพนต์กุหลาบแดงและทาร์ตแยม หรือไม่ก็สำรับไพ่และนกฟลามิงโกสักตัวสองตัว แต่ที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นเดรสสีน้ำเงินและที่คาดผม (พร้อมทั้งถุงน่องลายทางเป็นตัวเลือกเพิ่มเติม) แม้จะไม่เอ่ยทั้งชื่อเรื่องและผู้ประพันธ์ แต่ทุกคนก็คงจะทราบได้โดยง่ายว่าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนถูกหยิบยกมาจากหนังสือเล่มใด ตัวละครและองค์ประกอบทั้งหลายแหล่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายจนแทบไม่ต้องเอ่ยคำว่า ‘อลิซ’ หรือ ‘ดินแดนมหัศจรรย์’ เลยเสียด้วยซ้ำ

ภาพวาดอลิซในปาร์ตี้น้ำชา Mad Hatters สำหรับ Alice’s Adventures in Wonderland ของ John Teniel ในปี 1865 / ภาพ: VICTORIA AND ALBERT MUSEUM, LONDON

     นับตั้งแต่อลิซย่างกรายเข้าสู่โพรงกระต่ายและปรากฏกายต่อการรับรู้ของผู้คนเป็นครั้งแรกผ่าน ‘Alice’s Adventures in Wonderland’ ในปี 1865 เด็กหญิงตัวน้อยผู้มีความสงสัยใคร่รู้ ชอบทดลองทำสิ่งใหม่ๆ และหุนหันพลันแล่นเป็นบางครา ได้รับการวาดฝันขึ้นโดย ลูอิส แคร์รอล (หรือในชื่อจริงว่า ชาลส์ ดอดจ์สัน) กลายร่างเป็นวรรณกรรมพร้อมภาพประกอบที่เสริมให้ตัวละครดูโดดเด่นและน่าติดตาม นอกจากบนหน้าหนังสือแล้ว อลิซเคยปรากฏตัวอยู่ในการ์ตูน ภาพยนตร์ ภาพถ่ายแฟชั่น และภาพวาดเหนือจริง เธอได้ถูกแต่งแต้มขึ้นมาหลายครั้งหลายครา เริ่มตั้งแต่นักวาดภาพประกอบอย่าง จอห์น เทนเนียล ในรูปแบบการวาดเส้นที่ดูน่าขบขันด้วยการแต่งกายของเธอในชุดผ้ากันเปื้อนสำหรับเด็ก สวมทับลงบนเดรสตัวในพร้อมแขนเสื้อพองๆ ฟูๆ คล้ายตุ๊กตา ไปจนถึงศิลปินและนักเขียนอย่าง ตูเว ยานซอน ผู้วาดภาพอลิซออกมาดั่งต้องมนตร์ทว่าแฝงไปด้วยความซึมเซาที่น่าค้นหาลงบนหนังสือภาคภาษาสวีดิชในปี 1966

     ขณะนี้มีการจัดนิทรรศการเพื่อชุบชีวิตเหล่าคาแร็กเตอร์ให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง ณ พิพิธภัณฑ์ Victoria & Albert ในกรุงลอนดอน โดยนิทรรศการ ‘Alice: Curiouser and Curiouser’ ประกอบด้วยการจัดเซตติ้งของฉากที่น่าตื่นตาตื่นใจ การสร้างภาพจำลองเสมือนจริงผ่านมุมมองของแว่น Virtual Reality รวมทั้งจัดแสดงสิ่งของต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับอลิซ ทั้งต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือไปจนถึงคอสตูมที่ใช้สำหรับละครเวที นิทรรศการในครั้งนี้ยังจัดแสดงความเป็นมาของอลิซ การนำเธอกลับมาสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆ และการเข้าถึงวัฒนธรรมต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางของเธอในช่วง 156 ปีที่ผ่านมา เธอเป็นเสมือนแรงบันดาลใจให้กับหลากหลายงานสร้างสรรค์ เริ่มตั้งแต่ความคิดเห็นในช่วง 1960s ที่ว่าตัวละครมีความเกี่ยวพันกับอาการประสาทหลอน ไปจนถึงผลงานภาพยนตร์ของทิม เบอร์ตัน ในปี 2010 ที่ปรับเปลี่ยนความเป็นอลิซให้แปลกใหม่ห่างไกลจากต้นฉบับเดิม ดินแดนมหัศจรรย์ที่เธอออกผจญภัยอันประกอบไปด้วย แมด แฮทเทอร์, หนอนผีเสื้อ, คลื่นน้ำตามหาศาล, และราชินีโพแดงผู้ร้ายกาจ กลายร่างจากตัวละครบนหน้าหนังสือสู่การตีความในรูปแบบใหม่ผ่านจอภาพยนตร์

 

‘อลิซบลู’ ในตำนาน

     ชื่อเสียงของ ‘อลิซ’ นั้นเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในหลากหลายแขนง แต่ตัวตนของเธอได้แผ่ขยายครอบคลุมมาถึงวงการแฟชั่นอย่างมีนัยสำคัญ ภายในนิทรรศการ ‘Alice: Curiouser and Curiouser’ ยังมีการจัดแสดงผลงานจากเหล่าดีไซเนอร์ชื่อดัง Iris van Herpen, Viktor & Rolf, รวมถึง Vivienne Westwood ผู้ดีไซน์ปกหนังสือเวอร์ชั่นพิเศษของลูอิส แครอลที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2015 แถมวิเวียนยังชื่นชมความสงสัยใคร่รู้ของตัวละครและการก้าวออกจากกรอบความคิดเดิมๆ ที่ว่าเด็กๆ จะต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่อย่างว่าง่าย นอกเหนือจากดีไซเนอร์ที่กล่าวมาข้างต้น ดินแดนมหัศจรรย์จากปลายปากกาของแครอลยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับดีไซเนอร์อีกมากมายแทบจะทุกยุคทุกสมัย และในทางกลับกัน วงการแฟชั่นได้หล่อหลอมความเข้าใจของเราขึ้นใหม่ เพื่อให้เข้าถึงตัวตนของอลิซและเหล่าพวกพ้องของเธอได้อย่างงดงามมากยิ่งขึ้น

ชุด Iris Van Herpen ในนิทรรศการ Alice: Curiouser and Curiouser / ภาพ: V&A

     เมื่อนึกถึงเด็กหญิงตัวน้อยที่สามารถยืดขยายจนตัวใหญ่โตและย่อส่วนจนตัวเล็กจ้อยเดินทางข้ามผ่านเรื่องราวอันแปลกประหลาดมาอย่างน่าเหลือเชื่อ เรามักจะจินตนาการถึงเด็กหญิงที่สวมใส่เดรสสีน้ำเงินพร้อมที่คาดผมอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ เช่นเดียวกับเดรสลายตารางและรองเท้าส้นสูงสีแดงทับทิมที่โดโรธีสวมใส่ใน ‘The Wizard of Oz’ (1939) หรือฮู้ดสีแดงที่หนูน้อยสวมใส่ใน ‘Little Red Riding Hood’ เครื่องแต่งกายเหล่านี้สร้างอัตลักษณ์ที่ชัดเจนให้กับพวกเธอ (แม้ว่าเวอร์ชั่นเริ่มแรกของ ‘หนูน้อยหมวกแดง’ คือหนูน้อยที่สวมใส่ฮู้ดสีเหลืองก็ตามที)

     ถึงแม้ว่าภาพของอลิซในช่วงปลายยุควิคตอเรียจะออกมาด้วยกันหลากหลายเวอร์ชั่น แต่ภาพจำของอลิซที่ได้รับการนิยามออกมาใหม่ ผมสลวยสีบลอนด์, เดรสสีน้ำเงินและรองเท้าไซส์จิ๋วสีดำ ล้วนเกิดจากการเสริมแต่งตัวตนของเธอผ่านหน้าจอโทรทัศน์ตามแบบฉบับของดิสนีย์ในปี 1951 ด้วยฝีมือการวาดลายเส้นโดย แมรี่ แบลร์ โดย ‘อลิซ’ เวอร์ชั่นนี้มีความสอดคล้องกับภาพวาดโดย จอห์น เทนเนียล บวกกับความร่วมสมัยที่เพิ่มเติมให้เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น ส่วนเฉดสีน้ำเงินบนเดรสของเธอนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘อลิซบลู’ จากการที่ อลิซ รูสเวลต์ ลองเวิร์ธ นักเขียนและลูกสาวคนโตของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 26 เท็ดดี้ รูสเวลต์ ได้สวมใส่ชุดกระโปรงทรงหลวมเน้นทรวดทรงช่วงเอวที่มีเค้าโครงมาจาก ‘New Look’ ช่วงหลังสงครามของคริสเตียน ดิออร์



WATCH




John Galliano (ราชินีโพแดง) Alexis Roche (พระราชา) และ Natalia Vodianova (อลิซ) ในแฟชั่นของโว้กอเมริกาฉบับเดือนธันวาคม 2003 / ภาพ: Anna Leibovitz

     เหล่าดีไซเนอร์และช่างภาพต่างหยิบยกความสง่างามของเดรสตัวนี้มาอ้างอิงในผลงานหลายต่อหลายครั้ง ในปี 2003 โว้กอเมริกาได้ถ่ายทำแฟชั่นเซตโดยได้นางแบบสาวชาวรัสเซีย Natalia Vodianova แปลงกายเป็นอลิซในเซตเสื้อผ้าสีน้ำเงินที่ตัดเย็บขึ้นมาโดยเฉพาะ ภาพถ่ายแต่ละภาพได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวผ่านเลนส์โดย Annie Leibovitz และสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นที่สุดก็คือบรรดาดีไซเนอร์ชื่อดังที่ร่วมสวมคาแรคเตอร์เป็นตัวละครในดินแดนมหัศจรรย์ของอลิซ (บางตัวละครมาจากภาคต่อ ‘Through the Looking-Glass’ (1871)) ซึ่งแน่นอนว่าคอสตูมจัดเต็ม ทั้ง Viktor & Rolf ในบทบาทฝาแฝด Tweedledum และ Tweedledee, John Galliano ในชุดราชินีโพแดง, Tom Ford รับบทกระต่ายขาว, และ Stephen Jones ผู้รับบทเป็นแมด แฮทเทอร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เกรซ คอดดิงตัน อดีตครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ทางฝั่งโว้กอเมริกา นิยามการถ่ายทำแฟชั่นเซตนี้ออกมาสามคำ “หมดพลัง, เบิกบานใจ” และ “ดั่งต้องมนต์” ส่วนอลิซในเวอร์ชั่น Vodianova นั้นถือเป็นการผสมรวมความใสซื่อไร้เดียงสาและความบึ้งตึงที่ดูน่าขบขันซึ่งสื่อออกมาเป็นอลิซที่เรารู้จักได้เป็นอย่างดี

     เมื่อไม่นานมานี้ Tim Walker ช่างภาพแฟชั่นชาวอังกฤษที่มักจะมีผลงานแหวกแนวชวนเพ้อฝัน บอกเล่าเรื่องราวของอลิซบนหน้าปฏิทิน Pirelli ปี 2018 ในมุมมองที่ฉีกออกไปจากกรอบความคิดที่มีแต่เดิม อลิซและผองเพื่อนในเวอร์ชั่นนี้ประกอบด้วยนางแบบและนายแบบผิวสีทั้งหมด นำโดยนางแบบสาวชาวออสเตรเลีย Duckie Thot เจ้าของฉายา “The Black Barbie” เธอกลายร่างเป็นอลิซในเดรสตัวสั้นสีเบบี้บลูและรองเท้าแพลตฟอร์มส้นสูงปรี๊ด มาพร้อมกับนางพญาแดร็กควีนอย่าง RuPaul ที่สวมบทบาทเป็นราชินีโพแดงจอมเผด็จการ

 

 

Natalia Vodianova (อลิซ) Stephen Jones (แมดแฮตเตอร์) และ Christian Lacroix ในแฟชั่นของโว้กอเมริกาฉบับเดือนธันวาคม 2003 / ภาพ: Anna Leibovitz

เสน่ห์มัดใจอันเหลือล้นของสาวน้อยในดินแดนมหัศจรรย์

     ความสง่างามและน่าค้นหาของอลิซได้รับการถ่ายทอดออกมาอย่างหมดจดโดยช่างภาพมากฝีมือทั้งสอง ถือเป็นผลงานที่สื่อสารตัวตนของเธอออกมาได้อย่างน่าสนใจ ทั้งตลกขบขันและชวนให้ลอยละล่องไปกับภาพเพ้อฝัน จากเด็กหญิงตัวน้อยในนิยายที่เห็นกันจนชินตาสู่การปั้นแต่งตัวตนของเธอขึ้นมาใหม่ ทว่าคงไว้ซึ่งองค์ประกอบของความเป็นอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ได้อย่างครบถ้วน นอกจากความงดงามและตัวตนของอลิซที่กล่าวมาข้างต้น เรื่องราวการเดินทางของเธอนั้นยังได้รับการตีความออกมาในหลากหลายรูปแบบ บ้างก็ว่าเป็นนิทานสำหรับเด็กและไม่ได้มีสาระอะไรเกินกว่านั้น ในขณะที่บางคนเปิดเปลือยถึงความมืดมนและความสั่นสะเทือนที่อยู่ภายใต้ฉากหน้าของตัวละครที่ดูไร้แก่นสาร ทั้งนี้ ก็คงจะขึ้นอยู่กับมุมมองและการตีความที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละคน เพราะถึงอย่างไร ภาพฝันของโลกแฟชั่นมักพึ่งพิงอารมณ์ความรู้สึกที่แสนจะซับซ้อนเหล่านี้มาเป็นแรงขับเคลื่อน ก็ในเมื่อความโกลาหลของดินแดนมหัศจรรย์มันช่างน่าดึงดูดใจเสียขนาดนั้น!

Prada คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2019 / ภาพ: Vogue US

     ณ จุดนี้ คงยากที่จะหาดีไซเนอร์, ช่างภาพ หรือ สไตลิสต์ ที่ไม่เคยกระโดดลงไปในโพรงกระต่ายหรือลื่นไถลลงสู่เมืองกระจก ไม่ว่าจะเป็นความนิยมชมชอบของ Miuccia Prada ที่มีต่อที่คาดผมสไตล์อลิซ, Alice Temperley ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการหลบหนีไปสู่โลกแห่งจินตนาการของอลิซ, หรือทีเชิ้ตพร้อมภาพวาดเวอร์ชั่น จอห์น เทนเนียล ที่ Comme Des Garçons สร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นพิเศษ

     สำหรับเหล่าผู้สร้างงานศิลปะ…อลิซแสดงให้เห็นถึงพลังของการจินตนาการแบบเด็กๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนในวงการแฟชั่นมักจะหยิบยกขึ้นมาใช้ จนก่อเกิดเป็นภาพที่คุ้นตาของการแต่งตัวด้วยลังกระดาษในวัยเยาว์และการประกาศให้โลกรู้ถึงความตื่นเต้นจนออกนอกหน้าเมื่อพบเจอกับสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ การปลุกอลิซขึ้นมาโลดแล่นอีกครั้งจึงไม่ต่างอะไรกับการถลาเข้าสู่โลกแห่งดินแดนมหัศจรรย์ที่เราคุ้นเคยและพึงพอใจที่จะชุบชีวิตมันขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

 

ข้อมูล: vogue.co.uk

แปล: ชนิสรา กตัญญูทวีทิพย์

เรียบเรียง: ปภัสรา นัฏสถาพร

WATCH