FASHION

6 จิวเวลรี่ต้องคำสาป...เมื่อเหล่าเพชรสวยสะกด มีเบื้องหลังคือเรื่องเล่าสุดลี้ลับ

     คุณเชื่อเรื่องลี้ลับไหม...นี่คือคำถามแรกที่เราขอถามแบบตีแสกหน้าคุณทุกคน ก่อนที่คุณ หรือใครก็ตามจะได้อ่านบทความต่อจากนี้ (ด้วยวิจารณญาณ) เพราะครั้งนี้โว้กจะพาทุกคนไปรู้จักกับเหล่าจิวเวลรี่ชิ้นสวยอันเลื่องชื่อ กับเบื้องหลังที่มาพร้อมกับเรื่องราวลี้ลับที่ทำเอาผู้ครอบครองหลายคนยังต้องสละทิ้งเหล่าเครื่องเพชรในตำนานเพื่อแลกกับชีวิต และนี่คือ 6 อัญมณีต้องคำสาปที่โว้กรวบรวมมาให้ทุกคนได้ชมกันแล้วที่นี่

 

The Hope Diamond

ภาพ : smithsonian magazine

 

     ลิสต์รายชื่อนี้จะไม่สมบูรณ์ หากเราไม่ได้กล่าวถึงเพชร Hope Diamond เม็ดนี้ ที่กลายเป็นจำเลยให้คนได้กล่าวหาว่าเป็น เพชรต้องคำสาป มานานนับศตวรรษ ด้วยขนาด 45.52 กะรัตนี้ ที่เก็บงำเรื่องราวโศกนาฏกกรมในอดีตไว้มากมาย หากเป็นที่รู้จักกันดีเมื่อสืบกลับไปแล้วพบว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระมเหสีของพระองค์อย่าง มารี อ็องตัวแนตต์ คือผู้ถือครองเพชรสีฟ้าเม็ดนี้ ในช่วงที่เกิดการรปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งใหญ่ปี 1789 ก่อนที่เครื่องประหารกิโยตินจะบั่นคอของมารี อ็องตัวเนตต์ เป็นขวัญตาให้กับเหล่าประชาชนผู้เรียกร้องความเท่าเทียมโดยรอบได้เห็น  ตอกย้ำคำสาปแช่งที่ฝังอยู่ในแววเพชรเม็ดนี้ว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของความงามล้ำค่าของโฮป ไดมอนด์ อาจจะต้องมีจุดจบเช่นเดียวกันนี้

     ตามหลักฐานแล้วสุภาพสตรีคนสุดท้ายที่มีโอกาสเป็นเจ้าของเพชรเม็ดนี้ คือสาวชาวอเมริกันนามว่า Evalyn McLean ทว่าจุดจบของเธอก็ดูไม่ต่างจากเจ้าของคนเก่าสักเท่าไหร่ เมื่อลูกสาวของเธอต้องเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาด ส่วนลูกชายของเธอก็ต้องเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ อีกทั้งสามีที่รักยังทิ้งเธอไปกับผู้หญิงคนอื่น และตรอมใจตายในที่สุด ผู้ดูแลทรัพย์สินของเอวาลีนจึงได้ขายโฮป ไดมอนด์ให้กับ แฮร์รี่ วินสตัน ผู้ที่บริจาคมันให้กับ สมิธ โซเนียน โดยไม่สามารถเก็บไว้เป็นเจ้าของส่วนตัวได้ และแน่นอนว่ามันยังคงอยู่ที่นั่นจนถึงทุกวันนี้

 

The Black Orlov

ภาพ : Gem Selected

 

     แบล็ก ออร์โลฟ มีขนาด 67.50 กะรัต เป็นที่รู้จักกันในนามของ Eye of Brahma Diamond (ดวงตาแห่งพระพรหม) อัญมณีชิ้นนี้ถูกขโมยมาจากรูปปั้นโบราณของเทพเจ้าฮินดู เช่นเดียวกับเรื่องราวแสนน้ำเน่าของเหล่าเพชรต้องคำสาป ที่ถูกขโมยมาชิ้นอื่นๆ และแน่นอนว่าจุดจบของผู้เป็นเจ้าของก็ไม่ต่างกัน

     ในปี 1932 ตัวแทนจำหน่ายเพชรแห่งหนึ่งได้นำ แบล็ก ออร์โลฟ เดินทางไปยังนครนิวยอร์ก เพื่อส่งต่อให้กับผู้รับซื้ออัญมณีรายหนึ่ง ก่อนที่ในเวลาต่อมาเขาจะฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงมาจากตึกระฟ้า และในทำนองเดียวกัน Nadia Orlov เจ้าหญิงแห่งรัสเซียผู้เคยครอบครองเพชรเม็ดนี้ ยังตัองฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดออกจากตึกในขณะที่ครอบครองเพชรเม็ดนี้อยู่ ประวัติหน้าสุดท้ายของอัญมณีชิ้นนี้คือ แบล็ก ออร์โลฟ ถูกซื้อไปโดย Charles F. Winson และถูกตัดออกเป็นสามชิ้น เพื่อนำไปเจียระไนใหม่เป็นเครื่องประดับ 3 ชนิด เพื่อเป็นการพยายามทำลายคำสาปดังกล่าวลง

 

The Koh-i-Noor



WATCH




ภาพ : Quora

 

     โคห์อินัวร์ คือเพชรขนาด 105.6 กะรัต มีน้ำหนัก 21.6 กรัม และยังเคยถูกบันทึกว่าเป็นเพชรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ตามหลักฐานนั้นค้นพบในประเทศอินเดีย พร้อมกับเพชรคู่แฝดที่มีชื่อว่า ดารยา-เย-นัวร์ โดยโคห์อินัวร์นั้นมีประวัติอันยาวนานกว่า 5,000 ปี โดยตกเป็นเพชรของหลายราชวงศ์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็น ราชปุตแห่งอินเดีย, ราชวงศ์โมกุล, ราชวงศ์อัฟชาริด, ราชวงศ์ดูร์รานี, ราชวงศ์ซิกข์ ก่อนที่จะตกไปอยู่ในมือของจักรวรรดิอังกฤษ (โดยมีเรื่องเล่าว่าทหารจากอังกฤษได้ไปขโมยมา) ซึ่งในปัจจุบันยังเกิดเป็นข้อพิพาทที่ถกเถียงกันถึงต้นกำเนิด ที่มา และเจ้าของที่แท้จริงอยู่

     โคห์อินัวร์ได้รับการนำขึ้นถวายสมเด็จพระราชินีนาถ วิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ในปี ค.ศ. 1850 และทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ทำการตัด และเจียระไนใหม่ ในปี ค.ศ. 1862 เพื่อให้มีการกระจายแสงที่ดีขึ้น ทำให้มีน้ำหนักลดลงจาก 186 กะรัต เหลือ 105.6 กะรัต และถูกใช้ประดับเป็นเพชรเม็ดกลางของพระมหามงกุฎ ที่ปัจจุบันยังได้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์หอคอยแห่งลอนดอน ซึ่งตามตำนานฮินดูโบราณได้กล่าวไว้ว่า พระกฤษณะ คือผู้ที่สวมใส่เพชรเม็ดนี้ และว่ากันว่า “ผู้ใดได้ครอบครองเพชรเม็ดนี้ จักได้ครองโลก หากแต่จักพบพานความโชคร้ายต่าง ๆ ของมันด้วย” และโดยตำนานแล้ว ผู้ที่จะสามารถสวมใส่เพชรโคห์อินัวร์ได้ จะต้องเป็นสุภาพสตรี หรือพระเจ้าเท่านั้น เพราะหากสุภาพบุรุษคนใดสวมใส่ เขาคนนั้นก็จะพบแต่ความโชคร้าย ซึ่งเป็นผลมาจากคำสาปของเจ้าของเพชรตามคำร่ำลือ

 

The Delhi Sapphire

ภาพ : thetimes.co.uk

 

     ปรัมปราลึกลับของพลอยสีม่วง Delhi Sapphire เม็ดนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อทหารอังกฤษนายหนึ่งได้ขโมยอัญมณีอันมีค่านี้ มาจากวิหารของพระอินทร์ ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งสงครามฮินดูตามความเชื่อ ทว่าหลังจากที่ทหารผู้นั้นได้ครอบครองพลอยสีม่วงสมใจ กลับต้องพบพานกับโชคร้ายนับไม่ถ้วน ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจส่งมอบมันให้กับนักวิทยาศาสตร์ชื่อ จอห์น เฮรอน ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์ผู้นั้นจะพยายามทำลายพลอยเม็ดนั้นทันที แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

     ในความพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อกำจัดความโชคร้าย และปัญหาสุขภาพ ที่เขาเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากพลอยสีม่วงเม็ดนี้ เขาได้ตัดสินใจโยนเดลีแซฟไฟร์ลงไปในคลองรีเจนต์ ในกรุงลอนดอน อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าการโยนพลอยสีม่วงเม็ดนั้นลงไปในคลอง จะไม่เพียงพอที่จะหนีรอดจากคำสาปไปได้ เพราะเพียงอีกไม่กี่เดือนถัดมา ช่างจิวเวลรีคนหนึ่งได้ส่งคืนเดลีแซฟไฟร์กลับไปให้เขาอีกครั้ง และอัลเลนก็ได้เก็บพลอยสีม่วงเม็ดนั้นไว้ในห้องปิดตายจนกระทั่งเขาเสียชีวิต ก่อนที่ในตอนนี้เดลีแซฟไฟร์จะได้ไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ London Natural History Museum พร้อมคำแนะนำอย่างเข้มงวด ที่ห้ามไม่ให้ผู้เข้าชมสัมผัสเดลีแซฟไฟร์ด้วยมือเปล่า

 

The Sancy Diamond

 

ภาพ : worthy

 

     นอกจากรูปวาดของหญิงสาวปริศนาโมนาลิซ่า ที่กลายเป็นนางเอกของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ในกรุงปารีสแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนคาดหวังว่าจะได้บินลัดฟ้ามาเห็นกับตา ก็คงจะหนีไม่พ้นเพชรรูปทรงลูกแพร์ขนาด 55.23 กะรัต ที่มีสีเหลืองซีด นามว่า The Sancy Diamonds เมื่อมองโดยรวมแล้วก็คงไม่ต่างอะไรจากอัญมณีเม็ดอื่นๆ หากแท้จริงแล้วยังได้เก็บงำเบื้องหลังแสนลึกลับเอาไว้ เพราะมันถูกเล่าขานต่อกันมาว่า ถูกขโมยมาจากประเทศอินเดีย ในสมัยศตวรรษที่14 โดยทหารชาวฝรั่งเศส ก่อนที่กษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษจะทรงนำอัญมณีดังกล่าวมาประดับไว้ที่พระมหามงกุฎเพื่อความโชคดี (รวมถึงกษัตริย์แห่งอังกฤษ และฝรั่งเศสอีกหลายพระองค์) โดยที่ไม่รู้เลยแม้แต่น้อยว่าอัญมณีเม็ดนี้ต้องคำสาปว่า กษัตริย์องค์ใดที่ได้สวมใส่เพชรเม็ดนี้ จะมีอันเป็นไปอย่างน่าสยดสยองทุกพระองค์ ระหว่างนั้นเพชรแซนซี่ยังได้หายสาบสูญ และถูกค้นพบใหม่อยู่หลายครั้งตามสถานที่ต่างๆ กระทั่งกษัตริย์องค์สุดท้ายที่ได้สวมใส่มันก็คือ พระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 ซึ่งในภายหลังยังถูกฆ่าชิงทรัพย์ในที่สุด ตอกย้ำคำสาปที่หลายคนหวาดกลัว

 

The Regent Diamond

ภาพ : worthy

 

     ปิดท้ายกันด้วยอีกหนึ่งอัญมณี ที่ปัจจุบันยังถูกจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ แห่งกรุงปารีส กับ Regent Diamond ที่มีขนาดอยู่ที่ 140.64 กะรัต มีชื่อเสียงในการตกแต่งดาบของนโปเลียนที่มีสีฟ้าจางๆ และแน่นอนว่าเดิมทีแล้วเพชรเม็ดนี้ถูกขโมยมา โดยทาสแรงงานคนหนึ่ง ผู้เริ่มต้นคำสาปทั้งหมด...

     ในช่วงปี 1700 เดอะ รีเจนต์ ไดมอนด์ ถูกค้นพบในประเทศอินเดีย ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีทาสแรงงานได้ลักลอบขโมยมันออกมาจากเหมือง Golconda ด้วยการซ่อนไว้ที่บาดแผลที่ขาของตน (ตามเรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมา) ก่อนที่จะตัดสินใจขายมันให้กับกัปตันเรือที่ตัวเองโดยสารเพื่อมุ่งหน้าสู่ยุโรป ทว่าสุดท้ายแล้วกัปตันเรือกลับคำ และไม่ให้เงินตามที่ตกลงกันไว้ ก่อนที่จะฆ่าทาสแรงงานคนนั้นเสีย ซึ่งก่อนตายทาสนั้นได้สาปแช่งเพชรก้อนมหึมานี้ไว้ ซึ่งคำสาปนั้นดูเหมือนจะเป็นจริง เพราะต่อมากัปตันคนดังกล่าวก็ได้ขายเพชรเม็ดนี้ให้กับพ่อค้าเพชรในราคา 5,000 เหรียญ ก่อนที่จะจบชีวิตตัวเองลงด้วยการผูกคอตายอย่างไร้สาเหตุ

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Jewelry