CELEBRITY

เจ้าชายคาร์ล ฟิลิปแห่งสวีเดนผู้ถูกบูลลี่จนท่านทรงรู้สึกว่าเป็นสัญลักษณ์ของ 'ความโง่'

แม้จะเป็นเจ้าชายแต่มิวายโดนทำร้ายและตราหน้าด้วยความโหดร้าย เรื่องนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนองค์กรอิสระครั้งใหญ่ของตัวท่าน

     เมื่อพูดถึงการบูลลี่แน่นอนว่าโลกยุคใหม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างยิ่ง มีการจำกัดความการบูลลี่ในหลากแนวทางหลายรูปแบบ ตั้งแต่ Physical Bullying (บูลลี่ทางร่างกาย) ไปจนถึง Cyber Bullying (บูลลี่ทางโลกออนไลน์) แต่คนส่วนใหญ่มักคิดว่ามีแต่คนต่ำต้อยด้อยกว่าเท่านั้นที่จะโดนบูลลี่จากคนรอบข้าง ทว่าเหตุการณ์ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปเมื่อผู้ถูกบูลลี่อย่างหนักและจำฝังใจมาจนถึงทุกวันนี้ หนักจนติดภาพจำและยึดเป็นเส้นมาตรฐานความเลวร้ายในชีวิตกลับเป็นเจ้าชายพระองค์หนึ่งในราชวงศ์ยุโรป เรื่องนี้น่าสนใจจนเราอยากหยิบเอามาเล่า เพราะเรื่องนี้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างมีคุณภาพ

เจ้าชายคาร์ล ฟิลิปกับลุคสูทลายตารางในงานพิธีทางการ / ภาพ: Kungahuset

     Prince Carl Philip of Sweden, Duke of Värmland หรือเจ้าชายคาร์ล ฟิลิปแห่งสวีเดน ดยุกต์แห่งวาร์มแลนด์คือบุคคลต้นเรื่องของเราในวันนี้ พระองค์ทรงเคยได้รับประสบการณ์อันเลวร้ายมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เรียกได้ว่าการเป็นสมาชิกราชวงศ์มิได้ทำให้ท่านรอดพ้นจากเงื้อมมือของเหล่าจอมบูลลี่ได้ เรื่องมีอยู่ว่าท่านทรงมีอาการบกพร่องทางการอ่านหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Dyslexia โรคนี้มีความหนักเบาแตกต่างกัน ส่งผลต่อแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เจ้าชายคาร์ล ฟิลิปทรงเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จุดนี้จึงเป็นปมให้กับท่านโดนแก๊งค์บูลลี่กลั่นแกล้งเข้าเต็มๆ ในช่วงเวลานั้นมันอาจเป็นเรื่องธรรมดาที่ยังไม่ค่อยมีใครตระหนักนัก แต่เมื่อนำมาเล่าสู่กันฟังในตอนนี้ทุกคนกลับเห็นจากหลังมือสู่หน้ามือว่าสิ่งนี้ควรได้รับการแก้ไข ไม่ใช่เพราะเขาเป็นเจ้าชาย แต่ไม่มีใครควรโดนปฏิบัติอย่างนี้เลยแม้แต่นิด

เจ้าชายคาร์ล ฟิลิปขณะยังทรงอยู่ในช่วงวัยรุ่น / ภาพ: POPSUGAR

     ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเจ้าดิสเล็กเซียกันก่อน ถ้าอธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายคือภาวะปัญหาด้านการอ่านเขียน สะกดคำ เป็นอาการจากความผิดปกติจากสมองซีกซ้าย ซึ่งดิสเล็กเซียไม่ถือเป็นโรค รักษาหายขาดไม่ได้ ทำได้เพียงพัฒนาให้ก้าวข้ามอุปสรรคได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ละวัยจะมีอุปสรรคต่างกันเช่นเรียนรู้คำใหม่แทบไม่ได้ในวัยเด็ก การจัดลำดับคำในช่วงวัยเริ่มเข้าโรงเรียน ปัญหาการทำความเข้าใจบริบทการสื่อสารในสังคมสำหรับวัยผู้ใหญ่ อาการบกพร่องเช่นนี้อาจทำให้ผู้มีอาการเกิดปัญหาด้านการเรียนรู้ การเข้าสังคม รวมถึงเสี่ยงจะเกิดโรคสมาธิสั้นอีกด้วย นับว่าเป็นภาวะที่ไม่มีใครอยากเผชิญ เพียงแต่ว่าคนเรากำหนดชะตาชีวิตไม่ให้เป็นนู่นนี่นั่นไม่ได้ขนาดนั้น...



WATCH




อีกหนึ่งภาพความทรงจำของเจ้าชายคาร์ล ฟิลิปขณะยังทรงเป็นวัยรุ่น

     กลับมาที่ชีวิตของเจ้าชายคาร์ล ฟิลิปแห่งสวีเดน ท่านทรงเริ่มใช้ชีวิตส่วนพระองค์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ในประเทศสวีเดนเหมือนกับเด็กๆ ทั่วไป แต่ปัญหาแรกที่ท่านต้องเผชิญคงหนีไม่พ้นการบูลลี่ความผิดปกติด้านร่างกาย เมื่อเขาบกพร่องทางการอ่านเขียนและทำความเข้าใจคำศัพท์ เด็กผู้ชายวัยเดียวกันจึงหยิบจุดนี้มาล้อเลียนและกลั่นแกล้งเจ้าชายราวกับเขาไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ เจ้าชายคาร์ล ฟิลิปกลายเป็นเหยื่อของการบูลลี่โดยไร้ซึ่งเกราะป้องกัน สมัยนั้นท่านทรงต้องฝ่าฟันอุปสรรคมาด้วยตัวเอง ถึงแม้จะดำรงศักดิ์เป็นถึงเจ้าชายของประเทศแต่ก็ไม่ได้รับประกันได้เลยว่าจะได้รับการปกป้องต่างจากเด็กคนอื่นภายในสังคม

บรรยากาศของ Vasaloppet เส้นทางการแข่งขันสกีที่แต่คนอยากพิชิต / ภาพ: Courtesy of Vasaloppet

     มันไม่ใช่การบูลลี่แต่อุปสรรคในการเรียนก็ทำให้เจ้าชายต้องทรงตรากตรำกับวิชาการเรียนมากกว่าคนอื่น ท่านทรงใช้เวลาวัยเรียนอยู่ในสวีเดนจนจบการศึกษาภาคบังคับและย้ายไปเรียนแบบไพรเวทสคูลที่คอนเนคทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา และแล้วท่านก็ทรงฝ่าฟันมาได้ในหลายเรื่องอย่างน่าชื่นชม เอาชนะอาการบกพร่องเพื่อไต่เต้าสู่ลำดับศักดิ์ทหาร นอกจากนี้ยังคงมุ่งเน้นสู่ความสนใจหลักอย่างการออกแบบกราฟิกถึงขั้นทรงเคยรับการฝึกงานที่ National Geographic มากไปกว่าเรื่องการเรียนเจ้าชายยังทรงสนใจเรื่องกีฬาไล่ตั้งแต่ฟุตบอล ว่ายน้ำ ไปจนถึงสกี ซึ่งอย่างหลังสุดท่านทรงเคยบันทึกประวัติศาสตร์ให้ตัวเองด้วยการพิชิต Vasaloppet เส้นทางการแข่งขันสกีที่ยาวที่สุดในโลกได้ ถือเป็นพระปีชาสามารถระดับสูงที่เข้ามาแทนที่ข้อบกพร่องเรื่องการอ่านเขียนได้อย่างมีมิติน่าสนใจ

เจ้าชายคาร์ล ฟิลิป แม้ภายนอกจะดูสมบูรณ์แบบ แต่ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ย่อมมีข้อด้อยบางอย่างในชีวิตซึ่งของท่านคืออาการดิสเล็กเซีย / ภาพ: Bekia

     “เพื่อนแกล้งเพื่อนอาจ(เคย)เป็นเรื่องรับได้ในสังคม แต่สื่อโจมตีไม่ใช่สิ่งที่รับได้” พอทรงยศเป็นถึงเจ้าชายย่อมถูกคนทั่วไปจับตามองอยู่แล้ว ในอุดมคติของใครหลายคนมองว่าคำว่า “เจ้าชาย” ต้องเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ เมื่อเจ้าคาร์ล ฟิลิปทรงตอบสนองบรรทัดฐานในอุดมคติของสังคมไม่ได้จึงโดนวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาด้วยความไม่เข้าใจแก่นแท้ของอาการดิสเล็กเซียกันแม้แต่น้อย และเรื่องนี้เจ้าชายไม่ได้โดนเพียงพระองค์เดียว เพราะสมาชิกในราชวงศ์อย่างกษัตริย์กุสตาฟและเจ้าหญิงวิกตอเรียก็ทรงได้รับเสียงแห่งความโหดร้ายนี้ เช่นเดียวกันกับอีกเด็กนับล้านคนที่มีอาการเดียวกัน สังคมทั่วโลกต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง และผู้คนในสังคมต้องทำความเข้าใจเรื่องดิสเล็กเซียรวมถึงอาการบกพร่องอื่นๆ มากขึ้นกว่านี้

ลุคอันดูเพียบพร้อมของเจ้าชายคาร์ล ฟิลิปในปี 2013 / ภาพ: POPSUGAR

     มันร้ายแรงไปถึงการดูหมิ่นเหยียดหยาม...อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้วว่าดิสเล็กเซียไม่ใช่โรคที่รักษาหาย เป็นอาการบกพร่องซึ่งจะแสดงมากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ถึงอย่างไรก็ไม่ควรสร้างบรรทัดฐานให้คนเรารู้สึกว่าด้อยค่าหรือเป็นที่น่าอับอายในสังคม แต่สื่อหลายกลุ่มสมัยก่อนไม่ได้คิดเช่นนั้น ปี 2013 เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเมื่อเจ้าคาร์ล ฟิลิปทรงขึ้นกล่าวสปีชในงานกาล่าของแวดวงกีฬางานหนึ่ง วันนั้นข้อผิดพลาดเกิดขึ้น เสียงตะกุกตะกัก คำผิดๆ ถูกๆ จุดนี้สื่อเล่นย้ำซ้ำเติมเจ้าชายอย่างเต็มที่พร้อมกับตราหน้าท่านในเหตุการณ์ด้วยการเปรียบลักษณะว่าเป็นความโง่เขลา ท่านทรงเสียใจอย่างมากเพราะมันเจ็บปวดเหลือเกินที่กลายเป็นตัวแทนแห่งความไม่เฉลียวฉลาดเพียงเพราะดิสเล็กเซีย ท่านไม่ได้ห่วงแค่ความรู้สึกท่านเอง แต่เจ้าชายผู้เข้าใจโลกยังห่วงผู้เผชิญชะตากรรมความบกพร่องเดียวกันด้วยโควตที่ว่า “ไม่มีอะไรน่าเศร้าไปกว่าการที่ใครบางคนถูกตัดสินว่าโง่เพียงเพราะอาการดิสเล็กเซีย”

ภาพงานอภิเษกสมรสอันหวานดูดดื่มของเจ้าชายคาร์ล ฟิลิป และ เจ้าหญิงโซเฟีย / ภาพ: People

     เรื่องราวมันลามไปถึงสะใภ้ของราชวงศ์ เมื่อมีการบูลลี่กับใครบางคน คนรอบตัวมักจะโดนหางเลขไปด้วยตามปรากฏการณ์โดมิโน เจ้าหญิงโซเฟียผู้เป็นพระวรชายาของเจ้าชายคาร์ล ฟิลิปได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เพราะสื่อจับจ้องเล่นเรื่องการปิดประตูไม่ต้อนรับสมาชิกคนใหม่ในราชวงศ์ เรื่องราวหนักถึงขนาดว่าครอบครัวของเจ้าชายคาร์ล ฟิลิปกีดกันมิให้ยุ่งเกี่ยวกับเจ้าชาย หรือแม้แต่งานแต่งงานที่อาจจะไม่เกิดขึ้น แต่สุดท้ายเจ้าชายก็ทรงออกมาโต้ว่าครอบครัวของท่านเปิดกว้างรับสมาชิกใหม่คนนี้เสมอ พร้อมทรงเคยเปรียบเปรยว่าการบูลลี่โซเฟียไม่ได้ต่างอะไรกับการที่ท่านถูกบูลลี่เมื่อสมัยก่อนเลย ด้วยความเป็นปุถุชนคนธรรมดามาก่อนที่ทำให้โซเฟีย(ก่อนรับการอวยยศ)การเป็นประเด็นร้อนจากวังสวีเดน

เจ้าชายคาร์ล ฟิลิปและเจ้าหญิงโซเฟีย ทรงกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับประเด็นดิสเล็กเซีย / ภาพ: Tek Portal

     ความเพียบพร้อมเป็นแค่มายาคติแต่ความบกพร่องคือเรื่องจริงของทุกคน...ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ละคนมีความบกพร่องไม่เว้นแม้กระทั่งผู้อยู่ในฐานันดรศักดิ์ระดับเจ้าของดินแดนศิวิไลซ์ เรื่องนี้เจ้าชายคาร์ล ฟิลิปจึงทรงพร้อมเป็นกระบอกเสียงสำคัญเพื่อปกป้องผู้มีความบกพร่องเดียวกับตัวท่านอย่างจริงจัง และนอกจากนี้ยังมีองค์กรเพื่อต่อต้านการบูลลี่ในชื่อ “Prince Carl Philip and Princess Sofia's Foundation” และยังทรงเป็นผู้สนับสนุนองค์กรเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมอีกมากมายหนึ่ง 1 ในนั้นคือ “The Swedish National Dyslexia Association” ที่คอยดูแลปกป้อง และเสริมสร้างโอกาสให้กับผู้ประสบกับอาการดิสเล็กเซียในประเทศสวีเดน ถือว่าท่านใช้เสียงของท่านอย่างเต็มที่เพื่อประชาชนชาวสวีดิชอย่างแท้จริง

แม้ทั้งคู่จะเคยเผชิญเรื่องราวอันโหดร้ายแต่สุดท้ายก็ทรงผ่านมาได้พร้อมทั้งมีชีวิตครอบครัวแสนอบอุ่น / ภาพ: @prinsparet

     สุดท้ายเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าทุกคนล้วนประสบปัญหาจากการบูลลี่ไม่มากก็น้อย ประเด็นความละเอียดอ่อนจากอาการต่างๆ ไม่ใช่ปมด้อยที่คนจะรุมบูลลี่ เพราะไม่มีเหตุผลไหนสมควรพอจะทำให้คนๆ หนึ่งควรถูกจับเป็นเป้าซ้อมยิงปืนของใครก็ตาม มนุษย์มีศักดิ์ศรีเท่ากัน มายาคติ อุดมคติ บรรทัดฐานทางสังคมควรเลิกขีดเส้นกั้นเพื่อแบ่งแยกหยามเหยียดซึ่งกันและกันได้แล้ว ความเจริญทางบ้านเมืองต้องมาควบคู่กับความเจริญทางสังคมและจิตใจ เราควรเข้าอกเข้าใจถึงความรู้สึกผู้อื่นมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรคนเราไม่ได้ผิดปกติหรอก เพียงแต่ว่ามลทินที่สังคมป้ายให้และตราหน้าเอาไว้ว่า “ผิดแปลก” ทำให้พวกเขาต้องหลุดจากวงโคจรหรือเป็นเหยื่อผู้น่าสงสารในสังคม รู้เช่นนี้แล้วเราคงต้องกลับมาทบทวนบรรทัดฐานการตัดสินมนุษย์ด้วยกันภายในจิตใจให้ลึกซึ้งลงอีกครั้ง ไม่แน่เราอาจจะเคยพลาดพลั้งไปครั้งใดครั้งหนึ่งเช่นกัน เมื่อมีแล้วก็ขอให้เป็นบทเรียนที่จะสอนว่าไม่มีความเท่าเทียมไหนสมบูรณ์แบบไปกว่า “Humanism”

 

ข้อมูล: Vogue Australi, Daily Mail, Tek Portal, Swedish Royal Court, Dyslexia Help, The Local SE, Express และ Royal Central

WATCH

คีย์เวิร์ด: #PrincePhilip