CELEBRITY

'1917' ความยอดเยี่ยมที่ยังพลาดการคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ 2020

     รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมคือรางวัลที่ยิ่งใหญ่ของค่ำคืนอันทรงเกียรติหรือจะเรียกได้ว่าเป็นรางวัลของวงการภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเป็นเป้าหมายสูงสุดของเหล่าทีมงานทุกฝ่าย หลายปีที่ผ่านมาภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่ได้รับรางวัลมักเป็นภาพยนตร์ที่สอดแทรกแง่คิดไว้อย่างลึกซึ้ง เทคนิคการอุปมาอุปไมยโดยใช้บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์มาเป็นตัวกำหนดความเข้มข้นของเนื้อเรื่อง เหตุผลเหล่านี้ทำให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาหนังที่ดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่ายนั้นไม่ถูกชายตามองแม้แต่นิดเดียวแต่ปีนี้ “1917” ทำลายกำแพงความคิดปิดกั้นนั้นจนสูญสิ้น

     อะไรทำให้ 1917 เป็นตัวเต็งของออสการ์ครั้งนี้...เราต้องถามก่อนว่าคุณดูหนังสักเรื่องเพื่ออะไร ถ้าคุณตอบว่าความสนุก 1917 ก็ตอบสนองคุณได้ ถ้าถามว่าชอบดูหนังที่เข้าใจง่ายไหม ถ้าคุณตอบว่าใช่อีก 1917 ก็ให้คุณได้ หรือคุณจะเป็นเด็กนิเทศฯที่ชื่นชอบการดูหนังเพื่อวิเคราะห์โปรดักชั่น 1917 ก็ยิ่งโดดเด่นขึ้นไปอีก นี่ยังไม่นับอีกหลายต่อหลายเรื่องที่ภาพยนตร์สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม แน่นอนว่าบางคนอาจจะไม่ได้คิดเช่นนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราการันตีได้ว่า 1917 มีองค์ประกอบที่ตอบโจทย์ได้แขนงการดูหนังได้อย่างดีเยี่ยม ถึงแม้อาจจะไม่ได้เข้มข้นไปสักทุกด้านแต่ความครบรสจากการสร้างด้วยกึ๋นของ Sam Mendes มันตอบโจทย์คอหนังจริงๆ

     จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือประเด็นเรื่องโปรดักชั่นลองเทค การถ่ายแบบไหลยาวใช้วิธีแพนกล้องไปมาเก็บรายละเอียดอย่างครบถ้วนคือเสน่ห์ที่ 1917 เสิร์ฟร้อนเทคนิคนี้ให้ผู้ชมได้สัมผัสอีกครั้ง หลังจาก Birdman คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ปี 2015 เหมือนหลายคนก็เฝ้ารอการกลับมาของภาพยนตร์ลองเทค อะไรทำให้ 1917 พิเศษกว่าลองเทคธรรมดา ด้วยเส้นเรื่องหนังสงครามทำให้กล้องสามารถฉายฉากแสดงถึงความกว้างใหญ่ เคว้งคว้าง หรือทำให้ลุ้นจนต้องบบมือกับฉากโคลสอัพ ในขณะเดียวกันก็เล่นกับระดับความตื่นเต้นของคนดูด้วยการเล่นมุมกล้องผ่านวัตถุต่างๆ ตั้งแต่ก้อนหิน กำแพง ไปจนถึงศพ! กว้าง-แคบๆๆ เล่นแบบนี้จนผู้เขียนนิยามให้เลยว่า “ฉากอันกว้างใหญ่บีบหัวใจให้เหลือดวงนิดเดียว...”



WATCH




     มาถึงเนื้อเรื่องกันบ้างต้องบอกว่าตัวละครอย่าง William Schofield และ Thomas Blake ได้รับภารกิจที่หนักหน่วงเกินกว่าทหารทั่วไปจะคาดคิด นี่คือสิ่งที่เซอร์ไพรส์คนดูให้อึ้งตั้งแต่ต้นเรื่อง (ยิ่งอึ้งถ้าคุณไม่รู้ประวัติศาสตร์หรือดูตัวอย่างมาก่อนหน้านี้เลย) การเดินทางอันแสนยาวไกลที่มีเป้าหมายต้องนำสารยุติการบุกข้าศึกไปให้ทหารระดับผู้บังคับบัญชาในอีกซีกสมรภูมิ หนทางไม่ง่ายทั้งยาวไกลและบีบคั้นด้วยเวลา นี่ทำให้การถ่ายทำแบบลองเทคมีเสน่ห์แบบทวีคูณ เพราะอารมณ์ในการเดินทาง ความเหนื่อยล้า ความรู้สึกบีบคั้นหัวใจ และอีกหลายความรู้สึกถูกถ่ายทอดออกมาราวกับว่าผู้ชมกำลังอยู่ข้างๆ ตัวละครหลักอย่างไรอย่างนั้น

     พอพูดถึงเนื้อเรื่องก็ต้องต่อยอดมาถึงการดำเนินเรื่อง การถ่ายลองเทคนั้นอาจจะสอดแทรกแง่มุมลึกซึ้งได้อย่างที่ผู้ชนะรางวัลออสการ์ปี 2015 ทำ แต่ 1917 มาคนละทาง ภาวะสงครามที่ทั้งกดดันและหดหู่ถูกเล่าอย่างเรียบง่ายและไม่ยัดเยียด ก็แค่นั่ง ดู และฟังเท่านี้ 1917 ก็จะพาคุณย้อนไปปีเดียวกับชื่อหนังและส่งคุณเข้าสู่สนามรบในฐานะผู้สังเกตการณ์อย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว รู้สึกตัวอีกทีก็เหมือนกับว่าหัวใจเราถูกเขย่าจากทุกซีนที่เกิดขึ้น ก้าวแต่ละก้าวมันรีเทคไม่ได้อีกต่อไปจนคุณจะรู้สึกว่าก้าวแต่ละก้าวมันสำคัญมากถ้าพลาดแม้แต่ครั้งเดียวหมายถึงชีวิต ซึ่งมันเป็นความรู้สึกแบบที่ทหารคนหนึ่งต้องรู้สึกแน่ๆ ในสงครามจริง เล่าเรื่องเรียบแบน ง่าย นิ่งเฉย แต่เก็บครบทุกรายละเอียดรวมทั้งความสมจริง ปืนไรเฟิลของสคอร์ฟิลด์บรรจุกระสุนได้ทั้งหมด 10 นัด และในเรื่องเขาก็ใช้มันไปแค่ 10 นัดจริงๆ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อถึงความละเอียดนี้

     อีกเรื่องที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือเหตุการณ์ที่หยิบยกมาเล่า ความน่าสนใจอยู่ที่เป้าหมายที่ดูเป็นไปไม่ได้แต่ทหารกล้าเองก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน เรื่องนี้เป็นเกร็ดเล็กๆ ทางประวัติศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่ 1 นี่ล่ะที่ทำให้ 1917 สุดยอด เพราะประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นหาข้อมูลยากและยืนยันข้อเท็จจริงยากมาก การจะสร้างเหตุการณ์ในภาพยนตร์อิงกับเหตุการณ์จริงต้องอาศัยเวลาและการวิเคราะห์ขั้นสูงสุด และที่สำคัญช่วงเวลานี้เป็นเส้นเวลาทางประวัติศาสตร์ทางสงครามที่ไม่ค่อยมีใครเลือกยกมาเล่า ถ้าไม่ใช่สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามยุคใหม่ ก็จะเห็นสงครามเก่าแก่ย้อนไปคนละยุคเลย 1917 จึงเป็นจุดแข็งในเรื่องการทำการบ้านเข้ามาอีกเรื่อง

     แต่ไม่ใช่ว่า 1917 จะโดดเด่นเรื่องการเล่าเรื่องและโปรดักชั่นอย่างเดียวเท่านั้น ทีมงานสอดแทรกแง่คิดต่างๆ ไว้ได้อย่างแยบยลเหมือนกัน ลองวิเคราะห์สังคมยุคนั้นจะเห็นว่าแต่ละคนต่างที่มา ต่างมีชุดความคิด เรื่องราวเบื้องหลัง และความเชื่อเป็นของตัวเอง ทุกคนนำเสนอแง่มุมของตัวเองอย่างหนักแน่น คนหนึ่งเชื่อแบบหนึ่ง อีกคนก็เชื่ออีกแบบหนึ่ง ความคิดเหล่านี้มันฝังอยู่ในมนุษย์ยุคนั้นชนิดแทบปรับเปลี่ยนไม่ได้ แต่ละคนไม่เปิดรับฟังความคิดเห็นคนอื่นได้เท่าที่ควร มีปมขัดแย้งกันง่าย แม้แต่สคอร์ฟิลด์กับเบลกที่ต้องร่วมหัวจมท้ายในสภาพคับขันยังมีความคิดที่ขัดแย้งกันอยู่เสมอ หรือแม้แต่สคอร์ฟิลด์กับทหารนายอื่นๆ ก็ไม่ได้มีความคิดที่ไปในทางเดียวกันสักเท่าไหร่นักในหลายฉาก

     อารมณ์มนุษย์ปรับเปลี่ยนการกระทำได้! หลักเหตุผลถูกผันเปลี่ยนไปด้วยอารมณ์ อยากมา อยากทำ ต้องการจะทำให้สำเร็จ ฉากเบลกเสียชีวิตด้วยน้ำมือทหารเยอรมันเป็นซีนอารมณ์ที่ส่งให้สคอร์ฟิลด์มีเป้าหมายอย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นไม่ใช่เพราะการใช้เหตุผลเท่านั้น แต่มันคือนัยยะทางอารมณ์ ไม่ว่าจะอารมณ์อะไรก็แล้วแต่ หรือแม้แต่ความอ่อนโยนที่มีต่อเด็กและผู้หญิงในฉากเออกูสต์ จุดนี้เองทำให้ตัวละครเอกถูกเรียกว่า “มนุษย์” 1917 แอบแทรกเรื่องนี้ไว้ในซีนสำคัญ บางครั้งความคิดที่มีหลักหนักแน่นเปรียบเสมือนบริบทสังคมยุคใหม่ที่ทุกคนต้องหนักแน่นในเรื่องเหตุผล แต่สุดท้ายสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์กลับไม่ใช่แค่การใช้เหตุผลแค่อย่างเดียว แต่มันคืออารมณ์ที่สะท้อนการมีความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจ ถ้าไม่มีจุดนี้มนุษย์ก็คงไม่ต่างอะไรกับหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง...

     แต่ก็ไม่แน่หุ่นยนต์มนุษย์มีจริงในสงคราม บทสนทนาของสคอร์ฟิลด์และเบลกเรื่อง “เหรียญกล้าหาญ” มันพิเศษมากแม้จะมีระยะเวลาแค่นาทีเดียวก็ตาม “สิ่งของหนึ่งสิ่งไม่ได้มีคุณค่าต่อคนทุกคนเสมอไป”  เหรียญกล้าหาญอาจจะล้ำค่าและดูทรงเกียรติ มีไว้ประดับวงศ์ตระกูล บางคนแม้ตายก็ยอมแลก รบไม่กลัวขวากหนามใดๆ ในขณะที่อีกคนมองว่ามันก็แค่เศษโลหะธรรมดาไม่ได้มองว่ามันวิเศษวิโสอะไรเลย นี่ถือเป็นการตั้งแง่กับเรื่องความกล้าหาญ ชาตินิยม และความคลั่งไคล้สงคราม เพราะถึงแม้คุณจะรบให้ตาย กล้าให้ตาย คุณก็คือมนุษย์ ศัตรูก็คือมนุษย์ มันไม่ได้ต่างอะไรกับเหยื่อตกปลาหรอกนะ เมื่อคุณคาบมัน เจ้าของเหยื่อก็บงการได้อย่างเต็มที่ เหรียญกล้าหาญก็เช่นกันเมื่อคุณอ้าปากเสพรับด้วยความโหยหาเมื่อใด เมื่อนั้นก็กลายเป็นเครื่องมือทำลายล้างในสงครามชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง

     และการเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อกะเทาะเปลือกสังคมอย่างตัวละครที่ดูตลก หยาบคาย และโง่เขลาลั่นวาจาเหยียดชนชาติอื่นซึ่งเป็นการสร้างความเกลียดชังและถือเป็นเชื้อเพลิงปะทุสงคราม เมื่อคนถูกสั่งสอนให้เป็นส่วนหนึ่งในชาติและต้องชังอีกหนึ่งชาติ มันคือกลไกการล้างสมองแบบไม่รู้ตัวเพื่อคนบงการจะได้หุ่นยนต์มีชีวิตเพื่อมาต่อสู้กัน ความเป็นมนุษย์ได้สูญสิ้นไปในระยะเวลาหนึ่ง...แต่ความเป็นมนุษย์จะตกอยู่กับผู้ชมแทน เมื่อสคอร์ฟิลด์ต้องเดินทางอย่างโดดเดี่ยวเจอเหตุการณ์บีบคั้นครั้งแล้วครั้งเล่า ความรู้สึกอึดอัดจากอารมณ์ที่การกำกับภาพตั้งใจสร้างกระแทกเราแบบจังๆ ลุ้นว่าสคอร์ฟิลด์จะได้พบผู้พันคนสำคัญเพื่อยุติการโจมตีเมื่อใด การเอาใจช่วย หงุดหงิด บีบคั้น และอื่นๆ อีกมากมาย ทุกอารมณ์อยู่ในซีนนี้มีเพื่อเตือนใจว่าผู้ชมทุกคนยังเป็นมนุษย์เมื่อเรายังมีอารมณ์ไปกับตัวละครราวกับวิ่งไปด้วยกันเลยทีเดียว เมื่อภารกิจลุล่วงยังมีอาฟเตอร์ช็อกมาเค้นความรู้สึกกันต่อกับซีนอารมณ์ บางครั้งมนุษย์ไม่ต้องใช้เหตุผลใดๆ การใช้อารมณ์ของตัวละครถูกเล่าผ่านภาพเพื่อแทรกซึมเข้าสู่อารมณ์ของผู้ชมที่สุดท้ายความรู้สึกที่เรียบง่ายที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์คือการกลับไปหาคนที่เรารัก นี่ล่ะคือจุดแข็งโป๊กของภาพยนตร์ 1917

 

     สุดท้ายเรื่องนี้คงเป็นเหมือนการเล่าเรื่องที่เรียบง่ายแต่ซ่อนความน่าสนใจในทุกอนูแบบไม่ต้องพยายามค้นหามัน เพียงนั่ง ดู และ ฟัง ทั้งหมดมันถูกถ่ายทอดมาแบบย่อยเสร็จสรรพ หนังดีที่ไม่ต้องวิเคราะห์ก็เก็บรายละเอียดได้อย่างครบถ้วนพร้อมลุ้นไปพร้อมกับตัวละครไปตลอด 2 ชั่วโมงในเรื่องและเกินกว่า 20 ชั่วโมงของตัวละคร แต่ถ้าตั้งใจวิเคราะห์ก็สอดแทรกอะไรไว้ไม่น้อยเหมือนกับไอเท็มลับในเกมที่ไม่จำเป็นต้องมีก็จบเกมได้ แต่ทว่าความยอดเยี่ยมเหล่านี้มันอาจจะดูผิวเผินเกินไปสำหรับเวทีออสการ์ยิ่งเมื่อเทียบกับผู้ชนะอย่าง Parasite แม้หนังสงครามโลกครั้งที่ 1 เรื่องเยี่ยมจะกวาดรางวัลมาทั่วทุกสารทิศแต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะได้รางวัลใหญ่จากเวทีออสการ์ปีนี้ บางครั้งจุดเด่นเรื่องความลึกซึ้งของเนื้อหาที่ต้องเคี้ยวและย่อยอย่างตั้งใจก็เป็นความโปรดปรานของออสการ์เสมอมา “1917” คงทำดีสุดเท่านี้จริงๆ ในเส้นทางตัวเอง ไม่มีอะไรต้องเสียใจมีแต่ต้องแสดงความยินดีกับความสุดยอดของผู้ชนะที่เขาเล่าเรื่องราวของสังคมได้เหมือนขยี้ปมจนแหลกละเอียดจริงๆ

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Oscars2020