SOCIETY

เปิดใจ Claire Ptak ผู้อยู่เบื้องหลังเค้กแต่งงานราชวงศ์ของเมแกน มาร์เคิลและเจ้าชายแฮร์รี่

ความสำคัญของเค้กแต่งงานราชวงศ์คือการเป็นสัญลักษณ์หนึ่งทางประวัติศาสตร์ที่ผู้คนทั่วโลกจดจำได้เป็นอย่างดี

เรื่อง: Osman Ahmed

     อาจกล่าวได้ว่า งานแต่งงานของเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน มาร์เคิลถือเป็นวาระที่ได้รับการจดจำในหน้าประวัติศาสตร์ จากการเบี่ยงออกจากกฎเกณฑ์และขนบธรรมเนียมการแต่งงานของเหล่าเชื้อพระวงศ์ที่มีมาแต่เก่าก่อน ไม่เว้นแม้แต่การคัดเลือกเค้กแต่งงาน เป็นเวลายาวนานหลายศตวรรษที่รอยัลเวดดิ้งเค้กมักใช้ฟรุ้ตเค้กแบบดั้งเดิมแต่งแต้มเป็นชั้นๆ สำหรับพิธีการ เนื่องด้วยความชุ่มฉ่ำของเนื้อเค้กที่ผสมผสานไปกับแอลกอฮอล์และผลไม้แห้งได้อย่างลงตัว นอกจากนั้น ฟรุ้ตเค้กยังสามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานานหลายเดือน และโดยส่วนใหญ่เค้กสำหรับรอยัลเวดดิ้งไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อรับประทานภายในงาน แต่เพื่อให้แขกที่มาร่วมงานนำกลับไปเป็นที่ระลึก
 

     จึงเป็นที่ประหลาดใจอย่างยิ่ง เมื่อตอนนั้นพระราชวังเคนซิงตันประกาศออกมาว่า เค้กสำหรับรอยัลเวดดิ้งในครั้งนี้จะเป็นเค้กเอลเดอฟลาวเวอร์ (ที่ไม่ได้รับการจัดวางเป็นชั้นๆ ตามแบบฉบับดั้งเดิม) และสปันจ์เค้กรสเลมอนแต่งหน้าเค้กด้วยบัตเตอร์สก็อตช์ ประดับประดาไปด้วยดอกพีโอนี่และดอกกุหลาบ ที่ได้รับการออกแบบให้รับประทานในงานพิธีโดยทันที ส่วนหญิงสาวที่รับหน้าที่ดูแลเรื่องขนมเค้ก ถือเป็นผู้ที่ห่างไกลจากตัวเลือกโดยปกติเป็นอย่างยิ่ง เธอผู้นั้นคือ Claire Ptak ที่ทำงานภายใต้ ‘ไวโอเล็ต เบเกอรี่’ ร้านซึ่งซุกตัวอยู่บนถนนอันเขียวขจีในย่านแฮคนีย์ แถบอีสต์ลอนดอน เลื่องลือจากการเป็นคอมมิวนิตี้ที่มากด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่แสดงออกผ่านชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ด้วยความแตกต่างที่ว่านี้ จึงเป็นการยากยิ่งที่จะได้รับการอนุมัติจากเหล่าเชื้อพระวงศ์ผู้สูงศักดิ์

ภาพ: Kensington Palace

     “ฉันปลาบปลื้มใจเป็นอย่างมากที่พวกเขาเลือกธุรกิจอิสระ และฉันชื่นชมการที่พวกเขายืนหยัดเพื่อสิ่งนี้” Ptak กล่าวกับโว้กระหว่างมื้ออาหารเที่ยงใจกลางกรุงลอนดอน หนึ่งสัปดาห์ก่อนพิธีแต่งงาน ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นเมื่อมาร์เคิลค้นพบ The Violet Bakery Cookbook หนังสือที่ว่าด้วยการทำอาหารของ Ptak ที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 2015 มาร์เคิลติดต่อขอสัมภาษณ์เธอสำหรับไลฟ์สไตล์บล็อกของตนเองที่มีชื่อว่า The Tig ซึ่งปิดตัวลงก่อนที่ข่าวการหมั้นหมายของเธอจะแพร่กระจายออกไป ผ่านไปถึงสามปี จู่ๆ Ptak ก็ได้รับการติดต่อจากมาร์เคิลอีกครั้ง และครั้งนี้ถือเป็นกรณีที่พิเศษเสียยิ่งกว่าครั้งไหนๆ

     “เธอขอให้ฉันเข้าพบที่พระราชวังเคนซิงตันและแนะนำตัวเลือกสำหรับเค้กแต่งงานให้กับเธอและแฮร์รี่” Ptak กล่าว “ฉันพยายามนึกถึงช่วงเวลาที่งานแต่งงานจะถูกจัดขึ้นและดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิ รวมถึงรสชาติที่ฉันชื่นชอบ”

ภาพ: Sophie Davidson

     ตัวเลือกแรกที่เธอนำเสนอได้รับการเห็นชอบในทันที เค้กสปันจ์รสเลมอนจากชายฝั่งอามาลฟีและน้ำเชื่อมเอลเดอฟลาวเวอร์ “ฉันรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่เราแชร์ความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกันในเรื่องของการดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน” Ptak กล่าว “เจ้าชายแฮร์รี่ให้ความสนใจกับมันจริงๆ และคุณพ่อของเขาก็สนับสนุนการทำฟาร์มออร์แกนิคเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับฉัน” สำหรับวันงาน Ptak เสาะหาวัตถุดิบเท่าที่จะทำได้จากตำหนักซานดริงแฮม บ้านส่วนพระองค์ของควีนเอลิซาเบธ ณ เมืองชนบทอย่างนอร์โฟล์ค (เป็นที่น่าเสียดายสำหรับพวกเรา ที่ตัวเค้กเป็นการสั่งทำขึ้นพิเศษและไม่นำมาจำหน่ายที่ไวโอเล็ต เบเกอรี่หลังจากวันเสาร์)

     เช่นเดียวกับมาร์เคิล Ptak มาจากแคลิฟอร์เนีย เธอเติบโตที่เมืองอินเวอร์เนส เมืองเล็กๆ ใกล้กับซานฟรานซิสโก และกิจกรรมหลังเลิกเรียนของเธอก็คือการเรียนรู้วิธีทำอาหารจากคุณแม่และคุณยาย เมื่ออายุได้ 14 ปี เธอได้งานพิเศษที่คาเฟ่เล็กๆ และหลังจากนั้นได้ย้ายไปทำงานให้กับร้านเบเกอรี่ในย่านที่เธออยู่อาศัย

     แต่จุดเริ่มต้นที่แท้จริง เกิดขึ้นระหว่างที่เธอศึกษาทางด้านภาพยนตร์ที่ Mills College วิทยาลัยสตรีในเมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เธอได้รู้จักกับร้านอาหารชื่อดังในเมืองเบิร์กลีย์ ‘Chez Panisse’ ที่มักจะได้รับการจัดอันดับให้เป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา ผู้ก่อตั้งเป็นถึงเชฟระดับตำนานอย่าง Alice Waters ที่เปิดร้านอาหารแห่งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1971 ถือเป็นร้านอาหารที่ขายบรรยากาศระดับพรีเมี่ยม พร้อมด้วยวัตถุดิบท้องถิ่นที่ได้รับการคัดสรรมาเป็นอย่างดี และการจัดร้านที่ให้ความรู้สึกเสมือนนั่งดินเนอร์อยู่ในงานสังสรรค์ “อลิซคือผู้ที่คอยให้คำชี้แนะแก่ฉัน” Ptak กล่าว “เธอได้ไปเล่าเรียนถึงที่ซอร์บอร์นในกรุงปารีส และเมื่อกลับมาจากประเทศฝรั่งเศส เธอรู้สึกว่าจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้อาหาร (อเมริกัน) ได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น” Ptak ฝึกฝนการทำอาหารกับวอเตอร์เป็นเวลาถึงสามปี ก่อนจะโยกย้ายไปลอนดอนหลังจากที่เธอตกหลุมรักกับหนุ่มชาวอังกฤษ



WATCH




ภาพ: Sophie Davidson

     Ptak มาถึงที่อีสต์ลอนดอนในปี 2005 ในช่วงที่บริเวณนั้นกำลังเริ่มต้นก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่ “กาแฟรสชาติดีไม่มีขายเลยแม้สักที่เดียว” เธอเล่า และเพื่อเยียวยาจิตใจจากอาการโฮมซิก เธอจึงเริ่มอบขนมอเมริกันสุดคลาสสิกอย่างคัพเค้กและบัตเตอร์สก็อตช์บลอนดี้ และหลังจากนั้นไม่นานจึงค่อยๆ ตั้งซุ้มขายขนมบนบรอดเวย์มาร์เก็ต นั่นทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะร้านขนมเค้กเพื่อสุขภาพที่คัดสรรวัตถุดิบจากธรรมชาติ และสร้างสีสันของขนมด้วยวิธีพูเรหรือการปรุงผลไม้ให้สุกและกรองส่วนน้ำออกมาใช้ แทนการแต่งแต้มขนมด้วยสีผสมอาหาร เป็นต้น “ฉันต้องการทำขนมโฮมเมดที่เรียบง่ายให้ออกมาอย่างดีที่สุด” เธออธิบายอย่างชัดถ้อยชัดคำ

     ในปี 2010 เธอเปิดร้านไวโอเล็ต และได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้ติดตามที่จงรักภักดีต่อขนมหวานของเธอ ขนมทุกๆ ชนิดได้รับการปรุงแต่งภายในร้าน และถึงแม้ว่า Ptak จะไม่ได้ทำงานอยู่ในครัวแล้ว เธอยืนกรานว่าพนักงานทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับวัตถุดิบที่พวกเขาใช้ “ฉันสนับสนุนให้ทุกคนทดลองชิมผลไม้ และถ้ารสชาติมันไม่ได้เรื่อง ก็ไม่ควรนำออกมาใช้” ณ ตอนนี้ สิ่งที่ฉันชอบที่สุดในเมนูก็คือแซนวิชปิ้งสอดไส้กิมจิ ทำจากเนยแข็ง Colston Bassett และเชดดาที่บ่มจนได้ที่จาก Neal’s Yard หัวหอมซอยและกิมจิรสจัดจ้าน (เครื่องเคียงแบบดั้งเดิมของชาวเกาหลี ทำจากผักที่ได้รับการดองและหมักเพื่อให้ได้รสชาติที่ทั้งเผ็ดและเปรี้ยว)

ภาพ: Getty - Vogue UK

     สำหรับรอยัลเวดดิ้ง Ptak กลับเข้าครัวเพื่อดูแลทุกๆ รายละเอียดของขนมเค้กด้วยตนเอง เพื่อให้เธอและทีมงานรังสรรค์รอยัลเวดดิ้งเค้กได้อย่างไม่ติดขัด ทางพระราชวังบักกิงแฮมได้จัดเตรียมพื้นที่ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ สำหรับการจัดแต่งและเคลื่อนย้ายรอยัลเค้กไปยังพระราชวังวินด์เซอร์ “เมื่ออยู่หน้างาน เรายืนยันทุกๆ ครั้งว่าจะเซตอัพในสถานที่จัดงานแต่งงาน มันไม่เกิดอะไรขึ้นกับตัวเค้กหรอก เว้นแต่จะมีใครเดินชนจนล้มคว่ำนั่นแหละ!”

     เมื่อถึงเวลาเลือกชุดสำหรับงานสำคัญ เธอยกหูถึงเพื่อนดีไซเนอร์ Simone Rocha ที่เคยอาศัยอยู่ติดกับร้านไวโอเล็ตบนวิลตันเวย์ “ซีโมนดีไซน์เสื้อผ้าลายฉลุออกมาได้อย่างงดงาม ซึ่งฉันคิดว่าน่าจะเหมาะสมที่จะสวมใส่เพื่อให้สอดคล้องกับดอกไม้สดที่ฉันจะใช้ตกแต่งบนตัวเค้ก” สำหรับลูกทีมทั้งหมดที่ช่วยเธอเตรียมเค้กในพระราชวังบักกิงแฮม แบรนด์สัญชาติอังกฤษอย่าง Sunspel รับหน้าที่เนรมิตชุดคอตต้อนและผ้ากันเปื้อนสไตล์มินิมอล “เราไม่สวมชุดสีขาวสำหรับเชฟ เพราะเราไม่ใช่แนวนั้น” Ptak กล่าว

     สำหรับพวกเขาแล้ว นี่คือประสบการณ์ที่เหนือจริงอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะการปรากฏตัวที่ไม่คาดคิดของผู้มาเยือน ซึ่งเริ่มจะมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากการประกาศเรื่องรอยัลเวดดิ้งอย่างเป็นทางการ Ptak ยังหวังด้วยว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจอิสระในละแวกใกล้เคียง “ผู้คนจากทั่วโลกต่างหลั่งไหลเข้ามาที่นี่” เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม “ฉันสงสัยอยู่เสมอว่าพวกเขาจะผิดหวังหรือไม่ เพราะว่ามันเล็กมากและค่อนข้างจะผุพัง!” คงไม่ถึงขนาดที่เธอว่าสักทีเดียว เพราะท้ายที่สุดแล้ว เวดดิ้งเค้กของเธอก็ได้รับการเฉิดฉายอยู่ในพระราชวังไม่ใช่หรือ…

 

ข้อมูล: vogue.co.uk

แปล: ชนิสรา กตัญญูทวีทิพย์

WATCH