Renaissance, Renaissance คือ, Renaissance ประวัติศาสตร์, Beyoncé, Beyoncé single ladies, Beyoncé เพลง
LIFESTYLE

“Renaissance vs. Single Ladies” คำถามเชิงประวัติศาสตร์ที่ใช้เพลง Beyoncé อันชวนตระหนักคิด

Philomena Cunk จาก Cunk on Earth โยนคำถามเชิงปั่นประสาท แต่ก็ชวนคนทั่วโลกตระหนักคิดและมองโลกในมุมมองที่ต่างออกไป

     การพัฒนาเชิงสังคมและวัฒนธรรมปรากฏให้เห็นตามหน้าประวัติศาสตร์ทุกส่วนทั่วโลก ดูเหมือนว่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องราวความสำเร็จของมวลมนุษยชาติ หลายครั้งมีการจารึกถึงยุคสมัยที่ถูกนิยามตามกลไกการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปทางสังคม ทว่าบรรทัดฐานเหล่านั้นกลับถูกยึดจากโลกตะวันตกหรือกลุ่มชนชั้นนำทางสังคมที่มักเป็นชาวคอเคซอยด์เสียส่วนใหญ่ ดังนั้นประโยคคำถามใน Cunk on Earth ซีรี่ส์สไตล์ Mockumentary จึงกลายเป็นชนวนชวนฉุกคิดสำคัญว่าความยิ่งใหญ่เหล่านั้นเป็นความยิ่งใหญ่ที่สมจริงหรือเป็นเพียงการยกยอการเปลี่ยนแปลงจากคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทางสังคมกันแน่

     คำถามของ Philomena Cunk ที่อาจทำให้คนขำขันแต่กลับมีแง่มุมชวนตระหนักคือการพูดถึงยุคเรเนซองส์หรือยุคการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมว่ามีความสำคัญมากกว่าเพลง “Single Ladies” ของ Beyoncé ฟังเผินๆ อาจจะดูเหมือนมุกตลกหน้านิ่งชวนขำทั่วไป ทว่าเมื่อมองอย่างลึกซึ้งมันมีกลไกความสงสัยอันผูกโยงกับชุดความคิดเรื่องการยึดโลกตะวันตกของชาติพันธุ์คนผิวขาวสอดแทรกอยู่ เพราะแท้จริงแล้วยุคที่ศิลปะรุ่งเรืองขึ้นใหม่ในฝั่งยุโรปก็ล้วนพูดถึงงานศิลปะของเหล่าศิลปะชาติพันธุ์ตัวเอง และตั้งบรรทัดฐานตามยุคสมัยให้กลายเป็นการแบ่งช่วงประวัติศาสตร์ยุคใหม่ให้ก้าวตามฉบับโลกตะวันตก

Renaissance, Renaissance คือ, Renaissance ประวัติศาสตร์, Beyoncé, Beyoncé single ladies, Beyoncé เพลง

Beyoncé กับเพลง Single Ladies ที่สร้างกระฮิตไปทั่วโลกและสร้างวัฒนธรรมการฟังเพลง รวมถึงความนิยมของผู้หญิงผิวดำทั่วทั้งโลก / ภาพ: IMBd

     สำหรับเพลงดังของบียอนเซ่นั้นนักวิชาการก็พูดถึงเรื่องนี้ว่าเป็นการพัฒนาศิลปะในเชิงหนึ่งแต่ก็ไม่ได้มีสาระสำคัญเท่ากับเรเนซองส์ แต่ถ้ามองถึงรายละเอียดผลงานของบียอนเซ่และศิลปินผิวดำคนอื่นๆ ก็มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงความนิยมของโลกนี้ไปไม่มากก็น้อย ยุคดิจิทัลที่ดนตรีฮิปฮอปและไลฟ์สไตล์อู้ฟู่ผูกโยงเข้าหากัน รากฐานดนตรีจากชนชั้นรองในสังคมกลายเป็นเรื่องใหญ่และหล่อหลอมคนให้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับไปค่านิยมใหม่นี้เช่นกัน วิถีแห่งการ “Flex” ของดนตรีฮิปฮอปก็เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของมนุษย์ทั่วโลกได้เช่นกัน เรเนซองส์อาจเปลี่ยนแปลงยุโรป แต่ดนตรีที่โลกดิจิทัลเชื่อมคนเข้าหากันง่ายขึ้นเปลี่ยนคนทั้งโลก คำถามคือดนตรีจากชนชั้นรองในโลกยุคใหม่กำลังสร้างวิถีที่เป็นสากลและครอบคลุมกว่าการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยก่อนหรือไม่ แม้การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจไม่ยิ่งใหญ่อลังการจนถูกจารึกก็ตาม

     การตอกย้ำประวัติศาสตร์ให้ขึ้นตรงกับวิถีการเปลี่ยนแปลงโดยยึดถือชนชั้นนำในสังคมจากฟากยุโรปเป็นส่วนกลางถูกยกขึ้นมาพูดอีกครั้งหลังคำตอบของศาสตราจารย์อย่าง Martin Kemp ว่า “เรเนซองส์ฟื้นฟูเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมแบบองค์รวม และอะไรก็ตามที่บียอนเซ่ทำ ผมไม่คิดว่าเธอจะมีแรงผลักดันที่จะทำถึงจุดนั้น” ฟิโลมิน่า(ตัวละครในเรื่อง) จึงตอบกลับด้วยคำถามว่า “ถ้าอย่างนั้นผลงานของชายแท้ผิวขาวไม่กี่คนปัดตกชื่อบียอนเซ่ไปเลยใช่ไหม” มันก็น่าคิดนะว่าถึงจุดนี้การหยอกล้อด้วยมุกตลกที่ดูเหมือนกวนประสาทไปขำๆ นั้นสอดแทรกความคลางแคลงใจบางอย่างอยู่




WATCH




     อย่างที่กล่าวไปว่าผลผลิตเชิงวัฒนธรรมของคนที่ไม่ใช่ชาติพันธุ์คอเคซอยด์มีอิทธิพลอย่างมากในยุคปัจจุบัน บียอนเซ่เองก็มีผลงานที่จุดกระแสความนิยมทั่วโลกได้ ก็อาจจะจริงที่เธอไม่ได้สร้างผลงานตามแรงขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงฟื้นฟูสังคมวัฒนธรรม ทว่าในมุมหนึ่งก็ต้องตั้งคำถามว่าการมุ่งเน้นเรื่องศิลปะในยุคเรเนซองส์ผู้คนทั้งหลายตั้งใจที่จะพลิกโลกจากหน้ามือเป็นหลังมือขนาดนั้นหรือไม่ หรือเพียงแค่ต้องการนำศิลปะคืนสู่สังคมหลังจากห่างหายไปและต้องการล้มล้างแนวคิดแบบเดิมโดยไม่ได้คิดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจนถูกนิยามเป็นยุคสมัยอันยิ่งใหญ่

     สุดท้ายเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์แบบสมัยใหม่ เริ่มวิเคราะห์ข้อมูลแบบเจาะลึก เค้นปัญหา และทิศทางของสังคมโดยไม่เพียงคล้อยตามจารึกก็จะทำให้เกิดข้อสงสัยใหม่ๆ แน่นอนล่ะว่าทุกคนคงคุ้นเคยกับยุคเรเนซองส์และการฟื้นฟูศิลปะให้กลับมารุ่งโรจน์ แต่ถ้าไม่ใช่โลกยุคใหม่คำถามของฟิโลมิน่าอาจไม่ใช่สาระที่ใครจะสนใจ ไม่แน่ว่าบียอนเซ่ที่มีความตั้งใจจะถ่ายทอดผลงานของตัวเอง ซึ่งเป็นผลผลิตเชิงมรดกวัฒนธรรมของคนชาติพันธุ์อื่นนอกจากคอเคซอยด์อาจกำลังต้องการเปลี่ยนแปลงค่านิยมบางอย่างแบบองค์รวม และเพลงของเธอก็กลายเป็นผลงานศิลปะที่คนทั่วโลกรู้จัก รสนิยมการฟังเพลง การชื่นชมไอดอล การใช้ชีวิตที่สะท้อนผ่านบทเพลง และแรงบันดาลใจของบียอนเซ่อาจยิ่งใหญ่กว่าที่คิด หากลองปรับเปลี่ยนมุมมอง สุดท้ายคำถามที่ฟิโลมิน่ายื่นมาอาจจะไม่ได้เต็มไปด้วยหลักการและเหตุผล แต่ก็ทำให้เราสนุกกับการท่องประวัติศาสตร์แบบเปรียบเทียบ และชวนตระหนักถึงความสำคัญของทุกวัฒนธรรมที่มีผลต่อคนทั่วโลก ไม่เพียงแต่มุ่งความสนใจสู่บันทึกประวัติศาสตร์ที่แน่นอนว่าเกิดจากยุคสมัยของการครอบครองอำนาจบาทใหญ่ของชาติพันธุ์และเพศชั้นนำทางสังคม

WATCH

คีย์เวิร์ด: #CunkonEarth