LIFESTYLE

เปิดภาพของเหล่าอาสาสมัคร กลุ่มคนเบื้องหลังที่ทำให้โอลิมปิก 2020 สมบูรณ์แบบที่สุด

เหล่าอาสาสมัครคือความน่าประทับใจของการแข่งขันครั้งนี้ เพราะพวกเขาอยู่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ที่กรุงโตเกียว

     โอลิมปิก 2020 ณ กรุงโตเกียวนับเป็นมหกรรมกีฬาที่ฟื้นฟูจิตใจคนทั่วโลกได้เป็นอย่างดี เรื่องราวน่าประทับใจเกิดขึ้นทั้งในแง่ของเกมกีฬา การจัดการแข่งขัน รวมถึงแรงใจจากเพื่อนมนุษย์ที่ส่งต่อถึงกันโดยใช้โอลิมปิกเป็นสะพาน สถิติมากมายถูกทำลาย ความมุ่งมั่นของนักกีฬาสร้างภาพที่เปี่ยมไปด้วยพลัง พร้อมเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาหลายต่อหลายเรื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้สู้ต่อ แต่มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญให้โอลิมปิกครั้งนี้สมบูรณ์แบบ พวกเขาคือคนกลุ่มคนที่เป็นดั่งทองหลังพระอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “อาสาสมัคร”

     อาสาสมัครที่มาร่วมเป็นกลไกการขับเคลื่อนโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงคนญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลยังเปิดรับกลุ่ม “Non-Japanese” ให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์หน้าสำคัญอีกด้วย ซึ่งเหล่าอาสาสมัครครั้งนี้ได้รับการคัดเลือกจากทั่วโลกและมีการฝึกอบรบภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในช่วงปลายปี 2019 โดยเกณฑ์การรับสมัครนั้นต้องเกิดก่อน 1 เมษายน 2002 และมีสัญชาติญี่ปุ่น หรือถ้าเป็นชาวต่างชาติต้องมีวีซ่าญี่ปุ่นระหว่างช่วงการจัดโอลิมปิก (24 กรกฎาคม ถึง 9 สิงหาคม) และมีกำหนดการทำงานขั้นต่ำอย่างน้อย 10 วันขึ้นไป

     พวกเขาต้องทำงานอย่างต่อเนื่องถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน ได้รับมอบหมายหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายถึงการมีโอกาสเข้าร่วมในโปรแกรมการแข่งขันหลากหลายชนิดกีฬา โดยหน้าที่สำคัญของพวกเขาคือการจัดการระเบียบหน้างาน ทั้งการจัดแจงที่นั่ง ดูแลนักกีฬา รวมถึงตรวจตั๋วเข้าชม(หน้าที่นี้ถูกเปลี่ยนเป็นการดูแลเหล่าทีมสตาฟฟ์แทน เพราะไม่สามารถเปิดให้ผู้ชมเข้าสนามได้) แท้จริงแล้วเหล่าอาสาสมัครมีหน้าที่แบบจำเพาะเจาะจงด้วย การสุ่มหน้าที่เป็นเพียง 1 ใน 10 ประเภทอาสาสมัครในโอลิมปิกครั้งนี้เท่านั้น



WATCH




     นอกเหนือจากการสุ่มหน้าที่แล้วยังมีประเภท Guidance หรือไกด์แนะนำทางและอำนวยความสะดวกพื้นฐานแก่เหล่าผู้มาเยือน ประเภท Events คืออาสาสมัครที่คอยช่วยเหลือนักกีฬาก่อน ระหว่าง และหลังการแข่งขัน ประเภท Mobility Support รับหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเดินทาง ประเภท Personal Support เป็นอาสาสมัครที่คอยช่วยเหลือเรื่องภาษา การสัมภาษณ์ รวมถึงต้อนรับเหล่านักกีฬานานาชาติ และประเภท Operational Support คือเหล่าอาสาสมัครที่อยู่ในจุดลงทะเบียนต่างๆ

     นอกจากนี้ยังมีฝ่าย Healthcare หรือเหล่าอาสาสมัครที่มีความรู้ด้านการแพทย์ สามารถช่วยเหลือทั้งเรื่องอาการบาดเจ็บไปจนถึงการตรวจสารกระตุ้น ประเภท Technology เป็นอีกบทบาทสำคัญเพราะมีหน้าที่ในการจัดการเรื่องการสื่อสาร รวมถึงผลคะแนนของแต่ละการแข่งขัน ประเภท Media ถือเป็นอีกฝ่ายเป็นหัวใจหลักในครั้งนี้ เพราะเป็นส่วนที่จะช่วยให้สื่อมวลชนสามารถทำงานอย่างราบรื่นและสามารถนำเสนอเรื่องราวในโอลิมปิกครั้งนี้ให้ได้มากที่สุด และประเภทสุดท้ายคือ Ceremonies หรือเหล่าอาสาสมัครผู้เชิญรางวัล สิริรวมมีการเปิดรับสมัครทั้งหมด 10 ประเภท แบ่งเป็นสุ่มหลากหลายหน้าที่ 1 ประเภท และหน้าที่เฉพาะเจาะจงอีก 9 ประเภท คาดการณ์ว่าโอลิมปิกครั้งนี้มีอาสาสมัครมากถึง 70,000 - 80,000 คน

     ถึงแม้ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้นมีอาสาสมัครถอนตัวไปราว 10,000 คน เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เหล่าอาสาสมัครที่เหลืออยู่ก็สามารถทดแทนจำนวนที่ขาดหายไปได้อย่างไร้ที่ติ ทุกฝ่ายต่างชื่นชมว่าเหล่าอาสาสมัครในโอลิมปิกครั้งนี้ว่าทำงานได้อย่างประมีสิทธิภาพ ทั้งเรื่องการจัดการ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และที่สำคัญคือความเป็นมิตรที่ทุกคนสัมผัสได้ และทั้งหมดคือเบื้องหลังของจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้โอลิมปิก 2020 สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง

1 / 8



2 / 8



3 / 8



4 / 8



5 / 8



6 / 8



7 / 8



8 / 8



WATCH

คีย์เวิร์ด: #Olympic #Tokyo2020