LIFESTYLE

3 เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกกับสถานะ 'วีรสตรี' ของแต่ละประเทศที่สร้างแรงบันดาลใจไปทั่วโลก

เหรียญทองหมายถึงสัญลักษณ์ของผู้ชนะ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้พวกเธอพยายามอย่างหนักจนกลายเป็นวีีรสตรีด้านกีฬาของแต่ละประเทศ

     การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวรอบนี้มีปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย กีฬาชนิดหลากหลายชนิดมีผลการแข่งขันพลิกล็อคอยู่พอสมควร เหมือนนักกีฬาหลายประเทศมีความทะเยอทะยานสูงสุดเพื่อคว้าเหรียญรางวัลให้ได้ และนี่คือเสน่ห์ของโอลิมปิกที่ยากจะหาจากการแข่งขันกีฬาทัวร์นาเมนต์ไหนในโลก และสัปดาห์แรกของการแข่งขันก็มีนักกีฬาหญิง 3 คนที่สร้างช่วงเวลาสำคัญของชีวิตและประเทศบ้านเกิดตัวเอง โว้กจึงรวมความพิเศษมาเล่าให้แฟนๆ อ่านกันในบทความนี้

ภาพขณะ Hidilyn Diaz คว้าชัยในโอลิมปิก 2020 / ภาพ: Olympics

ทองประวัติศาสตร์กับการแบกน้ำหนักเหนือขีดจำกัด

     วันที่ 26 กรกฎาคม 2021 ต้องกลายเป็นวันสำคัญของประเทศฟิลิปปินส์ เพราะ Hidilyn Diaz จอมพลังสาวได้คว้าเหรียญทองกีฬายกน้ำหนักรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 55 กิโลกรัมได้สำเร็จ และถือเป็นเหรียญทองเหรียญแรกของฟิลิปปินส์ในกีฬาโอลิมปิก ความสามารถของเธอก้าวเกินขีดจำกัดของนักกีฬารุ่นนี้ในยุคปัจจุบันไปได้อย่างน่าตกใจ เพราะการเรียกน้ำหนักครั้งแรกที่ 94 กิโลกรัมถือว่าเป็นน้ำหนักมหาศาลมากเมื่อเทียบกับขนาดตัว และเป็นรองเพียงแค่นักกีฬาจากอุซเบกิสถานเท่านั้น ซึ่งฮิดิลินปิดท่าสแนชทำน้ำหนักสูงสุดที่ 97 กิโลกรัม ขึ้นเป็นอันดับที่ 2 ของรายการ

ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของประเทศฟิลิปปินส์ที่ Hidilyn Diaz ขึ้นรับเหรียญทองโอลิมปิก / ภาพ: The Guardian

     สถานการณ์ขับเคี่ยวอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะกับนักกีฬาจากจีนซึ่งเป็นตัวเต็งของรายการนี้ และเป็นผู้ครองสถิติโลกน้ำหนักรวมคนปัจจุบันอีกด้วย ทั้งคู่สู้กันอย่างเข้มข้นเว้นระยะห่างกันแบบโลต่อโล รอบสุดท้ายจีนเรียกน้ำหนักที่ 126 กิโลกรัมในท่าคลีนแอนด์เจิร์ก และทุกคนก็คิดว่าเธอต้องคว้าชัยไปได้แน่นอน ทว่าฮิดิลินพลิกชะตาชีวิตด้วยการเรียกน้ำหนัก 127 กิโลกรัม ซึ่งถ้าทำได้จะทำลายสถิติโอลิมปิกในท่านี้และคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ไปครอง เธอเดินเข้ามาพร้อมกับความมั่นใจและแบกความหวังของคนทั้งประเทศ ก่อนจะยกลูกเหล็กขึ้นค้างไว้ได้จนกรรมการให้ผ่าน ณ ตอนนั้นเหมือนโลกหยุดหมุน เธอสร้างประวัติศาสตร์เหรียญทองเหรียญแรกให้ประเทศฟิลิปปินส์ และกลายเป็นวีรสตรีแห่งวงการกีฬาบ้านเขาทันที



WATCH




การฝึกซ้อมภายในที่พักเพื่อรักษาสภาพร่างกายเมื่อปีที่แล้ว ช่วงโควิด-19 กำลังเริ่มระบาดหนัก / ภาพ: @hidilyndiaz

     เส้นทางการเป็นวีรสตรีของฮิดิลินไม่ได้มาจากความเพียบพร้อมด้านสภาพแวดล้อมเหมือนนักกีฬาจากชาติใหญ่ๆ เธอต้องสร้างยิมขึ้นมาเองนอกจากยิมทั้งหมดไม่เปิดให้ฝึกซ้อมเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เธอต้องใช้อุปกรณ์รอบตัวเช่นถังน้ำ กระเป๋า และทุกอย่างที่เพิ่มน้ำหนักได้มาใช้ซ้อมแทนอุปกรณ์กีฬาสากล นอกจากนี้ฮิดิลินยังต้องติดอยู่ในมาเลเซียช่วงหนึ่ง ต้องฝึกซ้อมอย่างทรหดแบบห่างไกลบ้านเกิด ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้เรื่องราวนี้น่าประทับใจยิ่งขึ้น จากความพยายามขั้นสูงสุด การหมั่นเพียรฝึกซ้อมแม้จะขาดปัจจัยหลายอย่าง วันนี้เธอทำสำเร็จแล้ว กว่า 97 ปีที่รอคอยวีรสตรีแห่งวงการกีฬาฟิลิปปินส์ได้จารึกประวัติศาสตร์ไว้ที่โอลิมปิกโตเกียว 2020

ช่วงออกสตาร์ตการแข่งขันไตรกีฬาในโอลิมปิก 2020 ที่แสดงถึงการขับเคี่ยวอันเข้มข้นของนักกีฬากว่า 56 ชีวิต / ภาพ: The New York Times

ปอดเหล็กและความพยายามพุ่งเป้าสู่ความสำเร็จของนักไตรกีฬา

     ตลอดระยะเวลาหลายปี Flora Duffy คือนักกีฬาชั้นยอดของการแข่งขันไตรกีฬา พลังความรวดเร็วในการว่ายน้ำ ความแข็งแกร่งในการปั่นจักรยาน และพลังปอดสุดท้ายสำหรับขับเคี่ยววิ่งแข่งระยะหฤโหด ทั้งหมดหลอมรวมกันอยู่ในตัวตนฟลอร่าเสมอ เธอคือนักไตรกีฬาดีกรีระดับอีลิท ที่สามารถคว้าแชมป์โลกมาแล้วหลายสมัย เรียกว่าฟลอร่าคือเต็งจ๋ามาทุกครั้งไม่ว่ารายการไหนๆ เหลือเพียงแค่โอลิมปิกเท่านั้นที่นักกีฬาปอดมหัศจรรย์คนนี้ยังไม่เคยได้สัมผัสความหอมหวานของชัยชนะ

ช่วงเวลาเฮือกสุดท้ายก่อน Flora Duffy พุ่งเข้าเส้นชัย / ภาพ: JNews

     วันที่ 27 กรกฎาคม 2021 เหมือนวันประวัติศาสตร์ของฟลอร่าและชาวเบอร์มิวดาทุกคน เธอและนักกีฬาอีก 55 คนออกสตาร์ตลงว่ายน้ำในวันที่พายุโหมกระหน่ำกรุงโตเกียว บรรยากาศสร้างความยากลำบากในการแข่งขันอย่างยิ่ง กดดันยิ่งกว่าครั้งไหนๆ เพราะด้วยชื่อเสียงและดีกรีที่เธอต้องการพุ่งทะยานไปสู่จุดสูงสุดในอาชีพ เพราะโอลิมปิก 3 ครั้งที่ผ่านเธอไม่เคยสัมผัสช่วงเวลาบนโพเดียมเลยแม้แต่ครั้งเดียว เธอทำได้ดีตั้งแต่รอบว่ายน้ำ รักษามาตรฐานการขี่จักรยานได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเริ่มออกวิ่งด้วยแรงเฮือกสุดท้าย ก่อนจะพุ่งตัวเข้าเส้นชัยคว้าเหรียญทองให้กับตัวเองได้สำเร็จ

ช่วงเวลาฉลองเหรียญทองของ Flora Duffy / ภาพ: The Guardian

     ความสำเร็จของฟลอร่าคือความยิ่งใหญ่ของยักษ์ใหญ่ในดินแดนแสนจิ๋ว เพราะนี่คือเหรียญทองเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ของเบอร์มิวดา ประเทศที่มีประชากรประมาณ 60,000 คนเท่านั้น! นอกจากประวัติศาสตร์ของชาติแล้วเธอยังถูกบันทึกลงในโอลิมปิกอีกว่าเป็นตัวแทนของประเทศขนาดเล็กที่สุดที่สามารถคว้าเหรียญทองจากเวทีโอลิมปิกได้ เชื่อไหมว่าระยะทางรวม 51 กิโลเมตรของการแข่งขันไตรกีฬา ณ กรุงโตเกียวยาวกว่าระยะทางในการเดินทางตัดจากฟากหนึ่งไปถึงอีกฟากหนึ่งของเบอร์มิวดาเสียอีก ฟลอร่าคือนักกีฬาประวัติศาสตร์ของดินแดนขนาดเล็กแห่งนี้ และวันนี้เธอกลายเป็นวีรสตรีผู้จารึกความทรงจำไว้ให้แฟนกีฬาทั่วโลกได้สำเร็จ และกวาดความสำเร็จสูงสุดในการเป็นนักไตรกีฬาเรียบร้อยแล้ว

ช่วงเวลาระหว่างการปั่นของ Anna Kiesenhofer / ภาพ: Road.cc

จากด็อกเตอร์ด้านคณิตศาสตร์สู่การคว้าเหรียญที่แม้แต่ตัวเต็งของรายการยังไม่คาดคิด

     “เหรียญทองปาฏิหาริย์” สื่อทุกสำนักทั่วโลกต่างยกย่องเหรียญทองการแข่งขันจักรยานประเภทถนน (Road Race) ประจำโอลิมปิกครั้งนี้ว่าเป็นเหรียญทองมหัศจรรย์ เพราะก่อนการแข่งขันจะเริ่มทุกสายตาจับจ้องไปที่ทีมนักแข่งจากประเทศเนเธอแลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Annamiek van Vleuten สุดยอดตัวเต็งที่ทุกคนคาดการณ์ว่าจะต้องคว้าเหรียญทองไปได้แน่ๆ สำหรับ Anna Kiesenhofer เหมือนเป็นไม้ประดับที่ไม่มีใครชายตามอง เธอมาตัวคนเดียว แม้แต่ชาวออสเตรียชาติบ้านเกิดยังไม่คาดคิดว่าแอนนาจะก้าวขึ้นมาในตำแหน่งผู้นำได้เพราะเธอเป็นเพียงนักกีฬาสมัครเล่นเท่านั้น

ลีลาการถลาเข้าเส้นชัยของ Anna Kiesenhofer / ภาพ: The Japan Times

     แม้จะเคยคว้าแชมป์บางรายการมาบ้างแต่ความโดดเด่นด้านวิชาการทำให้เธอดำเนินชีวิตด้วยอาชีพเกี่ยวกับวิชาการเป็นหลัก โดยเธอจบการศึกษาระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยประจำเมืองเวียนนา ก่อนจะจบปริญญาโทที่เคมบริดจ์ และมีดีกรีด็อกเตอร์จากการจบการศึกษาที่แคว้นกาตาลัน เธอโดดเด่นมากเรื่องวิชาคณิตศาสตร์ ชีวิตวนเวียนอยู่กับวิชาชีพด้านนี้อยู่เสมอ แต่นั่นไม่ได้ทำให้แอนนาละทิ้งความคลั่งไคล้เรื่องการปั่นไปแต่อย่างใด แม้จะเคยได้แชมป์แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้ เธอจึงเลือกใช้ชีวิตในฐานะนักคณิตศาสตร์ควบสถานะนักปั่นสมัครเล่นมากกว่านักปั่นมืออาชีพ

Annamiek van Vleuten ฉลองชัยตอนเข้าเส้นชัยเพราะคิดว่าตัวเองเข้าเป็นอันดับ 1 / ภาพ: JNews

     เป็นเรื่องที่ยากจะเชื่อว่า ดร.แอนนา จะกำชัยในการแข่งขันนี้ เพราะแผนการออกตัวก็ทำหลายคนเซอร์ไพรส์เมื่อฉีกตัวทิ้งห่างกลุ่มผู้นำไปตั้งแต่แรก ซึ่งปกตินักแข่งมักไม่เร่งสปีดในช่วงแรกและพยายามเกาะกลุ่มเพื่อเอื้อประโยชน์ในการรักษาแรงและทำสปีดด้วยการบังลมให้กันและกัน ทว่าแอนนากลับใช้โอกาสนี้พุ่งทะยานไปก่อน พยายามสร้างกลุ่มเล็กๆ ด้านหน้า ช่วงที่หลายคนในกลุ่มย่อย 5 คนนั้นหมดแรงลงไปทีละนิด นักปั่นจากออสเตรียฉีกตัวออกไปปั่นแบบเดี่ยวๆ ในชนิดที่ทุกคนคาดว่าเธอจะหมดแรงในไม่ช้าและโดนกลุ่มตัวเต็งที่มีนักปั่นจากเนเธอร์แลนด์ถึง 4 คนแซงไปได้อย่างแน่นอน แต่แล้วเรื่องนั้นก็ไม่เกิดขึ้น แอนนามีกจากเนเธอร์แลนด์ไล่กวดแซงกลุ่มนำช่วงแรกมาเกือบหมดเหลือแอนนาเพียงคนเดียว และยิ่งไม่มีวิทยุสื่อสารเหมือนการแข่งขันทัวร์นาเมนต์อื่น แอนนาจึงเหมือนหายตัวไปในกลีบเมฆ ส่วนแอนนามีกก็รักษาความเร็วโดยคิดว่าจะเข้าเส้นชัยในฐานะแชมป์...

Anna Kiesenhofer ทิ้งตัวหมดแรงหลังเข้าเส้นชัยคว้าเหรียญทอง / ภาพ: Cycling News

     ทุกอย่างเหมือนละครบทใหญ่ แอนนาปั่นสุดแรงด้วยพลังเฮือกสุดท้ายแบบทิ้งผู้ตามเป็นนาทีเข้าเส้นชัยแบบไม่มีใครคาดคิด เธอเข้าป้ายในฐานะผู้ชนะและคว้าเหรียญทองในการแข่งขันจักรยานให้ออสเตรียเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ Adolf Schmal ทำได้ในโอลิมปิกครั้งแรก ณ กรุงเอเธนส์เมื่อปี 1896 และเป็นเหรียญทองแรกนับตั้งแต่ปี 2004 ที่ Kate Allen คว้าชัยในการแข่งขันไตรกีฬา นักปั่นปอดเหล็กอย่างแอนนาคือความภาคภูมิใจและเป็นสัญลักษณ์ของความพยายามที่ผลักดันตัวเองให้ก้าวถึงระดับสูงสุดด้วยสิ่งที่ตัวเองรักได้สำเร็จ อัจฉริยะด้านวิชาการคือสิ่งที่ทุกคนไม่เคยตั้งคำถาม แต่สำหรับการปั่นเธอคือม้ามืดที่ไม่อยู่ในสายตานักวิเคราะห์ หลายคนอาจบอกว่ามันคือความผิดพลาดของทีมอัศวินสีส้ม ทว่าสำหรับคนส่วนใหญ่กลับมองว่ามันเป็นความบากบั่นพยายามของแอนนาเอง

บรรยากาศการขึ้นรับเหรียญทองของ Anna Kiesenhofer / ภาพ: Trendsmap

     แอนนากล่าวกับ CNN ว่า “ฉันใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกายเพื่อขับเคลื่อนแรงปั่นในครั้งนี้” พร้อมทั้งเสริมว่า “จริงๆ ฉันเตรียมตัวมาเพื่อชนะและต้องการชนะนั่นล่ะ แต่ฉันก็รู้ว่าในความเป็นจริงฉันไม่น่าจะเป็นผู้คว้าเหรียญที่นี่หรอก” แรงขับเคลื่อนสำคัญของแอนนาคือครอบครัว โค้ช และเพื่อนๆ  เมื่อถึงช่วงสุดท้ายเธอเล่าว่าพลังเฮือกสุดท้ายมาจากห้วงความคิดที่ย้อนนึกถึงคนที่เธอรักเสมอ เธอไม่ได้แค่เอาชนะในฐานะม้ามืดเท่านั้น แต่เธอยังสร้างความประหลาดใจให้กับวงการนักปั่นด้วยแผนการฉีกระยะห่างแบบม้วนเดียวจบ ไม่มีแซงไม่มีแผ่ว “ฉันอยากกลับบ้านไปหาครอบครัวแล้ว อยากใช้ชีวิตในแบบแอนนาคนเดิม คนรอบตัวไม่สนหรอกว่าจะมีเหรียญรางวัลอะไรคล้องคอฉันกลับไป เป็นเพียงตัวแอนนาที่พวกเขารู้จักมาตลอด ไม่ใช่แอนนานักปั่นเหรียญทองโอลิมปิก” เธอกล่าวเรื่องนี้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตัว แม้จะมาอย่างม้ามืด จบอย่างราชินี และปิดท้ายบทละครเรื่องนี้ด้วยความถ่อมตน แต่เราเชื่อว่าเธอคือวีรสตรีผู้ยิ่งใหญ่ในโอลิมปิกครั้งนี้ และเรื่องราวด็อกเตอร์นักปั่นจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้คนชาวออสเตรียแน่นอน

 

     ทั้ง 3 คนถ่ายทอดช่วงเวลาอันน่าประทับใจผ่านความพยายามขั้นสูงสุด แม้เบื้องหน้าจะเต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสำเร็จ แต่เบื้องหลังพวกเธอต้องฝ่าฟันครั้งแล้วครั้งเล่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ ก็อาจจะจริงที่นักกีฬาถูกวัดค่าจากสังคมทั่วไปด้วยความสำเร็จ ทว่าสำหรับตัวนักกีฬาเองความสำเร็จสูงสุดคือการพุ่งทะยานทะลุขีดจำกัดของตัวเองให้ไกลที่สุด เหรียญรางวัลเป็นแค่สัญลักษณ์ของผู้ชนะ แต่การเป็นวีรสตรีที่แท้จริงคือการสร้างแรงขับเคลื่อนให้คนอื่นเห็นว่าพวกเธอแข็งแกร่งมากเพียงใด

 

ข้อมูล:

cnn.com

bbc.com

reuters.com

npr.org

olympics.com

ข้อมูล : cnn.com bbc.com reuters.com npr.org olympics.com

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Olympic #Tokyo2020