LIFESTYLE

Vogue Living | เปิดบ้านใจกลางเทือกเขาแอลป์ โปรเจกต์ยักษ์ของ Nachson Mimran และ Francis Kéré

Nachson Mimran นักเคลื่อนไหวผู้ไม่สนกฎเกณฑ์กับ Francis Kéré สถาปนิกแห่ง AD100 จับมือรวมพลังกันลุยโปรเจกต์ยักษ์ที่สวิตเซอร์แลนด์ ในธีม Regenefate, Think และ Play

ช่างภาพ: Cassie Floto-Warner

สไตลิสต์: Berit Hoerschelmann

เรื่อง: Sam Cochran

แปลและเรียบเรียง: วิริยา สังขนิยม

     โบราณว่ามีแม่ครัวมากเกินการ ครัวก็จะป่วนเปล่าๆ แต่ Nachson Mimran นักเคลื่อนไหวผู้ไม่ยึดกฎเกณฑ์ และทำงานที่คาบเกี่ยวระหว่างศาสตร์ภูมิอากาศกับการเสริมพลังอำนาจให้ผู้ลี้ภัย ไม่ได้ถือคติโบราณแบบนั้น "ยิ่งเยอะยิ่งดีครับ" นักชอน มิมรานผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิและแพลตฟอร์ม to.org กล่าว "มาปล่อยของกันเลย" ชุดความคิดเช่นนี้โดนใจนักการกุศลและผู้ประกอบการที่กำลังเล็งจะสร้างบ้านส่วนตัวที่กัสตาด เมืองสกีแถบเทือกเขาแอลป์ของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ชื่อเมืองกลายเป็นสมญาของความเจิดจรัสไปแล้ว โครงการนี้ไม่ใช่การสร้างบ้านธรรมดาแต่เจ้าของตั้งใจให้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ชูความเด่นให้ผลงานของนักออกแบบและผู้สร้างเมกเกอร์จากทั่วโลก แต่เน้นแอฟริกาและแอฟริกันโพ้นทะเลเป็นพิเศษ เมื่อลูกค้ายื่นโจทย์ปลายเปิดมาให้ นักซอนก็เข้ามารับหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของโครงการ คอยประสาน ทั้งการจ้างงานรายบุคคลและจิตวิญญาณการทำงานร่วมกันในภาพรวม เขากล่าวอย่างครุ่นคิดว่า "เวลาคุณนำเสียงที่ทรงพลังมารวมกันเยอะๆ จะได้ไอเดียอะไรออกมา"

     บุคคลสำคัญที่สุดคือ Francis Kéré สถาปนิกในทำเนียบเกียรติยศ AD100 ซึ่งนักชอนได้รู้จักโดยบังเอิญในงานเลี้ยงอาหารค่ำ ก่อนที่ฟรานชิสจะได้รับรางวัลพริตซ์เกอร์ ทั้งสองถูกชะตากันทันที เพราะต่างก็เคยทำงานในค่ายผู้ลี้ภัยมาก่อน นักชอนผู้ไปๆ มาๆ ระหว่างแอฟริกาตะวันตกกับสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงที่กำลังโตอทิศตนให้กับการสร้างพื้นที่วัฒนธรรมและการเชื่อมสายใยในชุมชนคนพลัดถิ่น ส่วนฟรานซิสก็เคยออกแบบโรงเรียนในชนบทที่บูร์กินาฟาโซบ้านเกิดของเขามาก่อน ทั้งสองมารวมพลังกันที่กัสตาด เพื่อดิสรัปต์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และจินตนาการแซเลต์แบบดังเดิมขึ้นไหม่ให้รองรับนวัตกรรมร่วมสมัย

 

 

1 / 3

Nachson Mimran ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของโครงการ (ซ้าย) และมัณฑนากร Francis Kere ในสระที่แบ่งเป็นส่วนในร่มและส่วนกลางแจ้งและเป็นตัวเชื่อมระหว่างแซเลต์ส่วนตัวสองหลัง ที่เมืองกัสตาด ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฟรานซิสเป็นผู้ออกแบบเพดานทรงลูกคลืนทำจากไม้ไผ่ตัดด้วยเลเซอร์ 9,964 ท่อน



2 / 3

งานตกแต่งภายในห้องนั่งเล่นในแซเลต์ 1 ใน 2 หลัง ได้ Muza Lab มาร่วมออกแบบ เช่นเดียวกับห้องอื่นๆ ในบ้านงานไม้แกะสลักบนผนังและบันได ออกแบบโดยฟรานชิส



3 / 3

ฟรานซีสเป็นผู้ออกแบบเตาผิงพร้อมฮู้ดโลหะทรงอสมมาตรในพื้นที่นั่งเล่น สตูลจาก Madoda Fani



     บ้านสองหลังที่ตั้งอยู่เคียงกันนี้ ฟรานชิสเป็นผู้ออกแบบร่วม กับ Chaletbau Matti บริษัทสวิสที่เชี่ยวชาญการสร้างแซเลต์หรือบ้านแบบดั้งเดิมของคนแถบเทือกเขาแอลป์ บ้านแฝดนี้ถูกระเบียบการก่อสร้างอาคารในท้องถิ่นที่เคร่งครัดเหลือหลายและเป็นตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่รูปแบบของอาคารไปจนถึงขนาดมุมของหลังคา "กัสตาดเหมือนเมืองในนิทานคือมีเสน่ห์มาก แต่ว่าทังเมืองเป็นแบบเดียวกันหมด" นักชอนกล่าว "ข้อจำกัดทั้งหลายบีบให้เราต้องคิดนอกกรอบ" แซเลต์สองหลังนี้เป็นบ้านแบบดั้งเดิมเพียงเปลือกนอก ส่วนภายในบ้านนักชอน กับฟรานซิสร่วมกันทำการแทรกแซงหลายอย่างเพื่อให้ตรงกับความมุ่งหมายของอสังหาริมทรัพย์ชิ้นนี้ ซึ่งนักชอนกลั่นออกมาได้สามธีมคือฟื้นฟู คิด และเล่น

     พื้นที่ในธีมฟื้นฟูเป็นตัวเชื่อมระหว่างแซเลต์ทั้งสองหลังประกอบด้วยสระว่ายน้ำซึ่งบางส่วนอยู่ในร่ม บางส่วนอยู่กลางแจ้ง หลังคาสระทรงลูกคลื่นออกแบบโดยฟรานซิสและทำจากไม้ไผ่ตัดด้วยเลเซอร์เป็นท่อนสั้นยาวไล่ระดับ 9,964 ท่อน ฟรานซิสผู้บุกเบิกเทคนิคการก่อสร้างต้นทุนต่ำมายาวนานบอกว่า "ไม่ต้องใช้วัสดุแพงสุดๆ ก็สร้างสิ่งที่มีเอกลักษณ์และชั้นสูงได้" เขาเปรียบเทียบงานติดตั้งจากไม้ไผ่ชิ้นนี้กับเอกภพของเรา (หลังจากเคยสำรวจอปลักษณ์นี้มาแล้วเมื่อครั้งออกแบบศาลาที่ศูนย์ศิลปะทิปเปต ไรส์ (Tippet Rise Art Center) ในมอนแทนา) ฟรานซิสอธิบายว่า "ตั้งใจให้เป็นเอกภพของเรานะ" แต่ทว่า "สัณฐานต่างจากที่เอกภพของเราสามารถเป็นได้" ที่ตรงนี้ยังเป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อน ทั้งตามลำพังและท่ามกลางญาติมิตร "สระนี้ควรจะกระทบทุก ผัสสะ ไม่ว่าจะเป็นทางสายตา ทางอารมณ์ หรือทางผิวหนัง" ฟรานชิสบอก "ผืนน้ำจะโอบกอดผู้ใช้สระ"

 

 




1 / 4

ภาพวาดฝาผนังโดย วิกเตอร์ เอ็กพุกเพิ่มชีวิตชีวาให้ลานโบว์ลิ่ง



2 / 4

ตู้ไม้วอลนัตแกะสลักที่ Chaletbau Matti และฟรานชิสทำร่วมกัน เสริมความเด่นให้ผนังภายใน ซึ่งทำจากดินอัดผสมกับฟางและกัญชง



3 / 4

สตูดิโอคาร์ฮาร์ดเป็นผู้รังสรรค์ เตาผิงทรงกลมในพื้นที่ "เล่น" ชั้นใต้ดิน



4 / 4

นักชอน (ซ้าย) และฟรานซิสยืนข้างบันไดห้องนั่งเล่นรูปทรงคล้ายธรรมชาติที่จำลองแบบมาจากต้นเบาบับ



"กัสตาดเหมือนเมืองในนิทาน คือมีเสน่ห์มาก แต่ว่าทั้งเมืองเป็นแบบเดียวกันหมด"

     ชั้นใต้ดินซึ่งเป็นทั้งดิสโกเทกและห้องเกมอุทิศพื้นที่ให้กับคอนเซปต์การเล่น (นักชอนบอกว่า "เราตั้งชื่อแต่ละพื้นที่ตามแต่ว่าเราอยากให้พื้นที่นั้นออกมาเป็นอะไร") ฟรานซิสออกแบบสถาปัตยกรรมภายในให้ยึดหยุ่นพอจะรองรับกลุ่มคนได้ทุกขนาดและทำงานสร้างสรรค์ร่วมกับโทมัส คาร์สเตนและอเล็กซานดราเอียร์ฮาร์ดแห่งสตูดีโอคาร์ฮาร์ด ผู้ออกแบบไนต์คลับ Berghain ในเบอร์ลิน และเข้ามาช่วยแต่งชั้นใต้ดินของแซเลต์ แขกสามารถเลือกได้ว่าจะพักผ่อนอิริยาบถที่โซฟาติดผนัง โยนโบว์ลิ่ง ณ ลานโบว์ลสุดทันสมัยที่มีชีวิตชีวาด้วยภาพวาดฝาผนังฝีมือวิกเตอร์ เอ็ก-พุก หรือจะแทงพูลที่โต๊ะหินอ่อนสั่งทำพิเศษ หรือหลบมุมเข้ารังขนปุย ซึ่งเป็นงานประติมากรรมที่พอร์กี้ เฮเฟอร์ทำร่วมกับอุสมานเอ็มบาเย, ดูลชี่ และอาลี เอ็มบาเย นักชอนบอกว่าใครมาที่นี่ก็สามารถ "ปลดปล่อยวิญญาณสัตว์ในตัวออกมาได้"

     บริเวณนั่งเล่นพักผ่อนในแซเลต์หลังหนึ่งกลายเป็นเวทีคิด ที่ยกพื้นที่ให้กับการขบคิดและสนทนาเรื่องต่างๆ เตาผิงทรงกลมแบบเปิดที่ฟรานซิสออกแบบไว้ในพื้นที่นี้มีอู้ดโลหะครอบด้านบน นำสายตาให้มองขึ้นสู่ท้องฟ้า รูปทรงกรวยอสมมาตรของรู้ดส่งเสริมให้ "ความคิดหลั่งไหลในหลายทิศทาง" ฟรานซิสเล่าว่าสมัยเขาเป็นเด็กกำลังโตที่บูร์กินาฟาโซ ที่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ "คืนไหนหนาวก็มาล้อมวงกันรอบกองไฟ ที่ตรงนี้มีไว้สำหรับการเล่าเรื่อง ผมวาดภาพไว้ว่า คนในบ้านจะมารวมตัวกันที่นี่" พื้นที่นั่งเล่นในแซเลต์อีกหลังมีบันไดที่ฟรานซิสออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากต้นเบาบับ ซึ่งนักชอนบอกว่าเป็นสัญลักษณ์แห่ง "ปัญญาและความปลอดภัย"

     เมื่อมองในภาพรวมจะเห็นว่าโครงการนี้บูรณาการวิสัยทัศน์ของคนเก่งจากทั่วโลกจำนวนนับไม่ถ้วนไว้ด้วยกัน Muza Lab บริษัทออกแบบที่มีฐานธุรกิจอยู่ลอนดอนมารับหน้าที่ตกแต่งภายใน แอร์เว่ เดส์-คอตส์ยอดนักจัดแสงชาวฝรั่งเศสเป็นผู้จัดแสงให้ทุกห้องงามเรื่องรองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซาร่า โชว์ดีภูมิสถาปนิกในทำเนียบ AD100 จัดภูมิทัศน์รอบบ้านใหม่ด้วยพรรณไม้พื้นเมืองและกำแพงคอนกรีตที่ชวนให้คิดถึงแหล่งแร่แถบชาฮาร่า นอกจากนี้ยังมีงานสังทำอีกหลายชิ้น เช่น เก้าอี้ฝีมือยิงก้า อิลอรี ผ้าจากอาอิสซ่า ดิโอน โคมระย้าโดยอินี่ อาร์ชิบอง เจ้าของผลงานไฟแขวนขนาดมหึมาที่ประดับอยู่เหนือบันได และยังมีงานศิลปะเฉพาะที่โดยศิลปินบิลลี่ซางเกวา, เอสเทอร์ มัชลังกู, ราชิด จอห์นสัน และต่อไปจะมีมาเพิ่มอีกตามความมุ่งหมายจะสร้างโครงการศิลปินในพำนักชื่อ Create ณ แชเลต์หลังที่สามบนที่ดินผืนเดียวกัน ซึ่งจะเป็นเสาหลักทางความคิดเสาที่ 4 ของโครงการ

     การรวมมุมมองที่หลากหลายไว้ครบครันคือเจตนารมณ์ของโครงการตลอดมา ทั้งนี้ก็เพื่อจะพาคนมารวมกันจุดประกายทางความคิดให้ทุกคน แล้วดูว่ามีการทะลวงอุปสรรคแบบใดเกิดตามมา นักชอนครุ่นคิดถึงการทำงานร่วมกันในโครงการนี้แล้วบอกว่า "ทุกคนออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเองกันหมด เราอนุญาตให้ทุกคนล้มเหลวได้ แต่ก็อนุญาตให้ฝันใหญ่ได้เช่นกัน" กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าให้วางอัตตาไว้หน้าประตูนั่นเอง ฟรานชิสบอกว่า "ในการโต้วาทะ เราสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น"

 

 

1 / 4

แชเลต์แบบดั้งเดิม ออกแบบโดย Chaletbau Matti ผู้รับเหมาที่เชี่ยวชาญการสร้างบ้านประเภทนี้ ด้านหน้าประดับด้วยแผงไม้แกะสลัก ที่ทางบริษัทออกแบบร่วมกับฟรานชิส



2 / 4

สิ่งก่อสร้างตกแต่ง (Folly หมายถึงอาคารที่ทำไว้ประดับภูมิทัศน์ ไม่ได้ใช้งานอะไร) โดยกลุ่มศิลปินเดนมาร์ก Superflex ใช้หินจากโปรตเกส ที่ถูกทิ้งแล้วเป็นวัสดุ



3 / 4

ซาร่า โซว์ดี ภูมิสถาปนิกในทำเนียบ AD100 เป็นผู้สร้างความเชื่อมโยงทางความคิดระหว่างแอฟริกากับเทือกเขาแอลป์



4 / 4

เมื่อมองจากระเบียงแชเลต์จะเห็นวิวเทือกเขาแอลป์ ฟรานซิสออกแบบงานไม้แกะสลักและเจาะเป็นลวดลายสำหรับใช้ตกแต่งภายในและด้านนอกแชเลต์ ตามแบบผนังด้านหน้าแชเลต์พื้นถิ่นแถบเทือกเขาแอลป์ของสวิตเซอร์แลนด์



WATCH

 
Close menu