LIFESTYLE

The Platform ภาพยนตร์ที่สะท้อนความโหดเหี้ยมของระบบสังคมด้วย 'อาหาร'

ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นทุกที่ ขึ้นอยู่กับมนุษย์เองแล้วว่าจะพัฒนาสังคมให้ลดช่องว่างนั้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างไร

     ในวันที่สังคมทั่วโลกยังคงถกปัญหาความเหลื่อมล้ำกันในหลายประเด็น สื่อภาพยนตร์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นจริงผ่านการอุปมาอุปไมย ความโหดร้ายของโครงสร้างที่กำลังบั่นทอนการชีวิตและขวัญกำลังใจในการดำเนินคือหัวใจสำคัญของการนำเสนอสื่อผ่านภาพยนตร์เสมอ วันนี้โว้กจะย้อนเจาะลึกกับภาพยนตร์เรื่อง The Platform เมื่อปี 2019 ว่าเรื่องนี้ล้วงลึกความโหดเหี้ยมของระบบมากเพียงใด และสัญลักษณ์ต่างๆ ในภาพยนตร์หมายถึงอะไรในสังคมจริงบ้าง

 

คำเตือน: บทความนี้มีการสปอยล์เนื้อเรื่อง

     เริ่มแรกมาด้วยความหรูหราของอาหาร ทุกอย่างถูกเตรียมการเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการพัฒนาอยู่ตลอด ทั้งเรื่องขั้นตอน รายละเอียดการจัดการ และตรวจสอบคุณภาพผลลัพธ์ เราเห็นอย่างชัดเจนว่าความยอดเยี่ยมของมนุษย์สามารถรังสรรค์สิ่งที่ยอดเยี่ยมให้เกิดขึ้นได้ แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น ภาพยนตร์สเปนเรื่องนี้กำลังจะเกริ่นนำให้ผู้ชมทุกคนทราบว่าแกนหลักของเรื่องคือการใช้อาหารแทนสัญลักษณ์ทรัพยากรในรูปแบบต่างๆ และมันจะถูกกระจายเรื่อยลงไปอย่างเป็นระบบ ซึ่งระบบดังกล่าวกำลังทำหน้าที่สะท้อนสังคมอย่างแทงใจดำที่สุด

     เริ่มมาชั้น 48 โดยที่พระเอกอย่าง Goreng ต้องอยู่ในหลุมชั้น 48 ร่วมชั้นกับ Trimagasi ชายชราผู้หนึ่ง ซึ่งอธิบายว่าหลุมนี้ที่พระเอกอาสามาเองนั้นมีระบบกลไกการแบ่งทรัพยากรจากชั้นบนสู่ชั้นล่าง และการอยู่ชั้นนี้ก็เหมือนชั้นที่พอรับได้ เดี๋ยวจะมีอาหารเหลือพอให้ประทังชีวิตหรือแม้กระทั่งกอบโกยกินเสียจนอิ่มแปล้ เรื่องที่สะท้อนให้เห็นอย่างรวดเร็วว่าจะมีโอกาสได้กินก็ต่อเมื่อมีคนหยิบยื่นโอกาสเป็นทรัพยากรของเหลือ อีกอย่างหนึ่งคือช่วงเวลาอันจำกัด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในระบบสังคมหนึ่งควบคุมมนุษย์แม้กระทั่งการกิน เรามีมื้ออาหารและข้อจำกัดด้านเวลา เราจะกินได้เฉพาะตอนไฟเขียวและไม่สามารถจะกินนอกเหนือเวลาได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชีวิตจริงที่มีพักกลางวัน มีธุระต้องทำ การดำรงชีพหลักของมนุษย์ส่วนนี้จึงมีเวลามาครอบอยู่อย่างชัดเจน



WATCH




     แน่นอนว่าเมื่อมีการสลับชนชั้นกันไปมาความเห็นแก่ตัวจึงเกิดขึ้น ในเมื่อท้องหิว ช่วงเวลาจำกัด และปัจจัยมากมายปรากฏขึ้น ทางเลือกของคนมีโอกาสก็มักกอบโกยสิ่งนั้นให้คุ้มค่าที่สุดเสมอ มันจึงกลายเป็นความเห็นแก่ตัวที่ไม่ได้เกิดจากปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่รวมถึงการที่ระบบสร้างแพตเทิร์นอันน่าสยดสยองนี้ขึ้น บางครั้งมันทำให้คนแต่ละชั้นติดกับดักความคิด ไม่สามารถคิดนอกกรอบหรือเปลี่ยนอะไรได้แล้ว สักพักความเคยชินจะคืบคลานเข้ามาเพื่อให้คนแต่ละชั้นปรับตัวกับสภาพแวดล้อม และเริ่มตั้งคำถามกับความเฮงซวยนี้น้อยลง ระบบใช้เวลาไม่นานในการกลืนกินความคิดมนุษย์คนหนึ่งให้คล้อยตามระบบจากการไม่มีทางเลือก

     ในเวลาที่คนตกอยู่ชั้นย่ำแย่ (ร่วงลงมาจากชั้นที่สูงกว่า) เปรียบเสมือนชีวิตที่อาจพลิกผันกลายเป็นชนชั้นรองในสังคมได้โดยฉับพลัน แทนที่จะค่อยๆ ร่วมมือกัน ระบบกลับใช้ความเป็นปัจเจกบุคคลในการรักษาความเหลื่อมล้ำไว้อย่างชัดเจน คนไม่สามารถส่งเสียงขอความเท่าเทียมได้ ทรัพยากรอันจำกัดจึงกลายเป็นของล้ำค่า ผู้คนแก่งแย่งชิงดีกันเอง ฆ่ากันเอง แย่งอาหารกันเอง ทั้งหมดเกิดขึ้นในสังคมจริง และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ใช้อาหารเลิศหรูบนโต๊ะที่หมดลงในชั้นล่างๆ เป็นสื่อกลางอธิบายให้เห็นภาพอย่างชัดเจน มันโหดร้ายถึงขนาดว่าคนที่ร่วงลงมาในชนชั้นล่างรู้ตัวว่าข้างบนนั้นหิวกระหายเสียจนมูมมามเพียงใด พวกเขาเลยตัดสินใจปลิดชีพตัวเองก่อนจะเริ่มสู้เกมชีวิตนี้ในชนชั้นที่ต่ำกว่าเดิมด้วยซ้ำ

     สิ่งที่ทำให้คนต้องเบียดแย่งกันก็คือความหิวกระหายของคนชั้นบน ไม่ใช่คนชนชั้นล่างที่ต้องอยู่รอด และคนระดับล่างก็เริ่มโทษกันเอง มีการปลุกปั่นให้ทำร้ายกันเอง เพราะแต่ละคนไม่เข้าใจระบบ(หรืออาจสิ้นหวังกับระบบ) อย่างน้อยก็คิดว่าทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ว่าคนข้างบนจะพร่ำบอกเพียงใด พวกเขาก็หูหนวกในทันที เพราะความโหดร้ายมันอุดหู และคนก็คิดเสมอว่าคนมีโอกาสชั้นบนจะมาพร่ำสอนโดยเข้าใจบริบทคนชนชั้นล่างได้อย่างไร เปรียบเสมือนกำแพงทางความคิดที่ระบบสร้างขึ้นมาปิดกั้นโอกาสการทำลายระบบ และอนุรักษ์ความเหลื่อมล้ำไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

     เรื่องนี้ผู้คนต่างแย่งชิงอาหาร ฆ่าฟัน และแสดงถึงความโหดร้าย เรื่องทั้งหมดไม่ได้เกิดในชนชั้นล่างเพียงอย่างเดียว เพราะเรื่องนี้ระบบหล่อหลอมคนให้เป็นตั้งแต่ชั้นบนแล้ว หลังจากใช้ชีวิตมาสักระยะพระเอกต้องมาร่วมชั้นกับ Imoguiri ผู้ที่เป็นเหมือนแผนกบุคคลรับตัวพระเอกเข้ามา เธอคิดว่าการทำงานตลอด 25 ปีของเธอสมบูรณ์แบบ แต่ก็จะเข้ามาหลุมเองเพื่อรับรู้อะไรบางอย่าง การเริ่มต้นชีวิตในชั้น 30 กลางๆ เหมือนสวรรค์ แต่แท้จริงแล้วเธอกลับพบว่าชั้นต่างๆ กลับเหมือนขุมนรกที่มีเลขระบุมากกว่า เธอไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้เพียงแค่พร่ำบอก แสดงให้เห็นว่า Privilege และการมองจากมุมด้านนอกอาจทำให้ไม่เข้าใจปัญหาและพ่นคำต่อต้านต่อสิ่งที่ช่างขัดหูขัดตา ไม่มีอำนาจต่อรองพอที่จะทำให้คนชั้นบนทำได้ดั่งใจ เพราะกำลังคนสนับสนุนไม่เพียงพอ (ในห้องมีแค่ 2 คน และชั้นล่างไม่ร่วม) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดได้เพียงคำพูดและความคิดอุดมคติของคนเพียงไม่กี่คน

     ต่อมาการลืมตามาพร้อมกับการอยู่ชั้นล่าง 200 นิดๆ ทำให้ผู้คัดเลือกคน เพื่อนร่วมห้องของพระเอกตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอ เพื่อสละทรัพยากรบางอย่าง เรื่องนี้เป็นเหมือนกระจกสะท้อนชีวิตที่คนระดับล่างต้องสละตัวเองตลอดเวลาเพื่อทรัพยากรของคนรอบข้าง และการสละนี้ก็ทำได้เพียงยืดเวลาต่อชีวิต ไม่ได้ส่งผลให้ใครรู้สึกรู้สาอะไร ระบบก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ยิ่งดำดิ่งไปลึกเท่าไหร่ก็ยิ่งเจอแต่สภาพความโหดร้าย ห่อเหี่ยว ยิ่งต่ำต้อย เวลาการกินก็น้อยลง (ในชีวิตจริงคือต้องไปทำอย่างอื่น หรือมีโอกาสให้กินน้อยลงเรื่อยๆ)

     การลืมตาครั้งสุดท้ายพระเอกได้อยู่ชั้น 6 ซึ่งเปรียบเสมือนสวรรค์ และได้พบกับ Baharat ชายผู้มีความต้องการหลุดพ้นระบบ แต่เลือกใช้วิธีการปีนและหวังขึ้นสู่ชนชั้นบนจนทะลุออกนอกเกม พวกชั้นบนกลับไม่ยอมรับให้คนตะเกียกตะกายขึ้นไป ทั้งๆ ที่เหมือนจะมีเมตตา(กลลวงกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม) เหตุผลนี้อาจสร้างความโกรธแค้นระหว่างชนชั้นได้ พวกเขาไม่ยอมรับและกดขี่ก็เพราะผลประโยชน์มันค้ำคอกันอยู่เสมอ ไม่มีใครไว้ใจให้ใครขึ้นมาสูบทรัพยากร ยิ่งไปกว่านั้นถ้าคนจะมุ่งหน้าผ่านขึ้นไปชั้นบนกว่าหรือพยายามทำตัวหลุดระบบ คนชั้นบนก็เหมือนกับดักที่ถูกระบบหล่อหลอมมาอย่างยาวนานขวางกั้นไว้

     การเปลี่ยนแปลงต้องมีผู้ริเริ่มทำลายกลไกอันเน่าเฟะ แต่ที่คนไม่ทำเพราะไม่เชื่อว่าตัวเองจะทำอะไรได้ เพียงแต่คิดว่ากอบโกยและพยายามขึ้นไปก็น่าจะเพียงพอ เมื่อต้องเสียสละบางอย่างบางคนก็ไม่ยอม ดังนั้นผู้เปลี่ยนแปลงจึงต้องลงทุนลงแรงขั้นสูงสุด การจะกระจายทรัพยากร ทำความเข้าใจ และยอมให้คนอื่นเสียสละต้องแลกมาด้วยการต่อสู้ ความโหดร้าย และอำนาจบางอย่าง ไม่ต่างจากสังคมจริงๆ ที่การเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบมากกว่าแค่ข้อเสนอและข้อโต้แย้ง ก่อนจะจบลงด้วยบทสรุป ระหว่างทางของโลกความจริงต้องแลกตั้งแต่ความตึงเครียด การต่อต้าน เรื่อยไปจนถึงชีวิตคนเลยทีเดียว

     การรักษาสารเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งการเปลี่ยนแปลงเหมือนจะไปได้สวย แต่ถ้าไม่มีสารเพื่อสื่อให้ใครเห็นก็แทบไม่มีประโยชน์ ผู้อยู่เหนือระบบก็ยังคงทำแบบเดิมต่อไป ความอดทนในการเปลี่ยนแปลงก็อาจหมดลงช้าๆ และสุดท้ายก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย ดังนั้นบาฮารัตจึงใช้พานนาคอตตา ขนมหวานอันเลิศหรูสวยงามสัญชาติอิตาเลียนเป็นสารเพื่อคงความสวยงามสมบูรณ์แบบ แสดงให้เห็นว่าระบบกำลังถูกตั้งคำถามและพวกเขาสามารถแสดงพลังความต้องการได้สำเร็จ

     การสื่อสารทั้งหมดไม่ใช่เพื่อคนมีอำนาจและเพิกเฉยต่อคนอื่น แต่ให้คนรอบตัวพวกนั้น(คนที่ทำงานหรืออยู่ในวงโคจรรอบตัว)ได้เห็นถึงความตั้งใจและพลังที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงของคนในระบบ โลกที่ยิ่งดำดิ่งไปเรื่อยๆ จนถึงชั้น 333 แม้พระเอกคิดว่าชั้นจะมีน้อยกว่านี้ยิ่งเหมือนกับการตอกย้ำให้เห็นว่าจริงๆ โลกเรามันเต็มไปด้วยชนชั้นที่ดำดิ่ง มีแย่แล้ว มีแย่กว่า ลงไปเรื่อยๆ ชั้นล่างสุดนี้ทั้งโกเรงและบาฮารัตที่ร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงได้พบกับเด็กสาวคนหนึ่งที่ Miharu หญิงสาวที่ฆ่าฟันเพื่อต่อต้านระบบและค้นหาเด็กมาตลอด โดนปฏิเสธจากระบบเสมอว่าเธอไม่มีลูก และไม่มีคนอายุต่ำกว่า 16 ปีเข้ามาในนี้ได้ การมีเด็กในหลุมจริงจึงเปรียบเสมือนความผิดพลาดอันน่าอดสูที่การสำรวจอย่างถี่ถ้วนโดยระบบหรือรัฐไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และแท้จริงแล้วทรัพยากรที่ผู้ดูแลระบบจัดให้ไม่เหลือพอสำหรับคนชนชั้นล่าง แม้พระเอกจะจัดสรรอย่างเป็นระบบแค่ไหนก็ตาม

     สุดท้ายบาฮารัตให้พานนาคอตตาอันเป็นสารสุดท้ายให้กับเด็กกินเพื่อดำรงชีพต่อไป ตรงจุดนี้เหมือนว่าเด็กเป็นสารที่แท้จริง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเด็กคือดาวดวงใหม่ที่พร้อมเป็นสัญลักษณ์ในการเปลี่ยนแปลง คนระหว่างชนชั้นอาจคิดได้บางส่วนว่าควรจัดการทรัพยากรอย่างไร แต่สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นโดยผู้ใหญ่ในรุ่นอายุเดียว แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงโดยใช้แนวคิดและสัญญะของคนเจเนอเรชั่นถัดไป บาฮารัตคือผู้เสียสละอีกหนึ่งคนเมื่อเดินทางมาไกลมากแล้ว ส่วนพระเอกคือผู้หลุดจากระบบและได้เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้มากขึ้น ทั้งหมดคือชนชั้นอันโหดร้ายที่ไม่ได้การันตีว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ปัจจัยสำคัญคือการตระหนักรู้และการสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนรอบตัวผู้ควบคุม ภาพยนตร์ตัดจบตรงนี้และให้ผู้คนคิดภาพตามสภาพสังคมว่า พวกเราจะเปลี่ยนแปลงมันได้จริงหรือ...

     ในแง่ตัวละครต้องบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สอดแทรกความหมายไว้ได้อย่างแนบเนียน ถ้าพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะเห็นว่าพระเอกนั้นเป็นเหมือนตัวแทนของคนยุคใหม่ที่เริ่มมองโลกด้วยมองผ่านทฤษฎีว่าต้องจัดการอย่างไร แต่ก็เจอกับตรีมากาซีที่มองโลกฉบับอนุรักษ์นิยม เป็นไดโนเสาร์ที่โดนระบบกลืนกินไปแล้ว มองว่าเราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้อีกแล้ว และเมื่อเวลาผ่านไปเหมือนระบบจะกลืนกินคนอย่างโกเรงเสมอไม่เคยเปลี่ยนไปเลย หญิงสาวฝ่ายบุคคลเหมือนผู้มองโลกแบบอุดมคติที่ต้องการเปลี่ยนแปลงด้วยความพยายามจากทฤษฎีแต่ไม่เข้าใจกลไกเชิงปฏิบัติ ในส่วนของมิโฮรุเหมือนเป็นผู้ปกป้อง ผู้ทำให้ระบบสั่นคลอนอยู่เสมอ (ตัวแปรที่คาดเดาไม่ได้ในสังคม) ซึ่งชื่อเธอมาจากภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่าการเปิดตาให้กว้าง (ทำให้ตาสว่าง) เด็กสะท้อนถึงความหวังใหม่ของการเปลี่ยนแปลง บาฮารัตอาจหมายถึงกลุ่มคนที่พยายามไต่เต้า เฝ้ารอโอกาส แต่เมื่อรับรู้ความจริงว่าการกีดกั้นระหว่างชนชั้นโหดร้ายเพียงใด ก็จำนนต่อความพยายามนั้นและหันมาต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบแทนเมื่อมีคนชักนำและชี้ทางให้ ตัวละครมากมายในเรื่องนี้เปรียบเหมือนมนุษย์จริงในสังคม ทุกคนมีความคิด ความฝัน ความต้องการ นิสัย พละกำลัง และอีกหลายองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป แต่ทุกคนอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน

     ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงสะท้อนบทสรุปของความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลง ความโหดร้ายของระบบ ธรรมชาติของมนุษย์ และสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านการแบ่งปันทรัพยากรในโลกแห่งความเป็นจริง แม้จะเป็นภาพยนตร์ความยาวเพียง 94 นาทีที่ดำเนินเรื่องอยู่แค่ห้องแคบทรงสี่เหลี่ยม แต่รับประกันเลยว่าโลกแคบๆ นี้อธิบายบริบทของสังคมภายนอกที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ทุกวันได้อย่างเข้มข้นและกดดันมาก นับเป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องบนเน็ตฟลิกซ์ที่เราไม่อยากให้ใครพลาดเลยจริงๆ

 

ภาพ: Netflix

WATCH