LIFESTYLE

ศาสนา ป๊อปคัลเจอร์ และแฟชั่น...เมื่อความบันเทิงในคราบนักบวชไม่ใช่เรื่องใหม่!

หลายประเทศทั่วโลก 'ศาสนา' ไปไกลกว่าแค่การนั่งเทศน์ผ่านออนไลน์...

     ย้อนกลับไปในปี 2018 ที่ผ่านมา สังคมไทยแตกตื่นอื้ออึงไปด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อมังงะจากประเทศญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า “Saint Young Men” ผลงานระดับมาสเตอร์พีซของนักเขียนการ์ตูนหญิงนามว่า ฮิคารุ นากามุระ กับการหยิบยกเอาแรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา และคริสตศาสนา มาสร้างสรรค์เป็นตัวละครการ์ตูนญี่ปุ่นอย่าง พระเยซู และ โคดม (พระพุทธเจ้า) สองตัวละครที่ตัดสินใจลงมาใช้ชีวิตบนโลกมนุษย์ ในอพาร์ตเมนต์ใจกลางกรุงโตเกียว อีกทั้งฮิคารุยังสอดแทรกคำสอนจากทั้ง 2 ศาสนาเข้าไปในบทสนทนาของตัวละครได้อย่างแยบคายตลอดทั้งเรื่อง ในมุมหนึ่งหลายคนอาจตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสมกับการนำเรื่องราวของพระพุทธเจ้า และพระเยซู มาแต่งเติม ล้อเล่น และเสียดสี เช่นนี้ แต่ในอีกหมุ่มหนึ่งมังงะเรื่องนี้ที่เข้าไปแทรกซึมอยู่ในชีวิตของผู้คน กลับป้อนคำสอน หลักธรรม และแนวคิดของทั้งสองศาสนาให้กับผู้อ่านไปด้วยโดยรู้ตัว จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นี่คือตัวอย่างการนำเอา “ศาสนา” มาผสมโรงกับ “Pop-Culture” ได้อย่างลงตัว น่าสนใจ และเกิดประโยชน์ไม่น้อย

     ไม่ใช่แค่มังงะจากญี่ปุ่นเท่านั้น ที่เคยพาเอาศาสนาลงมาอยู่ใกล้ชิดกับชีวิตของปุถุชนอย่างเราๆ แต่ก่อนหน้านั้นอย่างภาพยนตร์แอ็กชั่นสุดโด่งดังเรื่อง "The Matrix" ก็มีการวิเคราะห์กันไว้จากเหล่านักวิจารณ์หนังชื่อดังว่า “มีแก่นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา” อย่างไม่น่าเชื่อ และก็ดูเหมือนว่าทฤษฎีนั้นจะได้รับความนิยมไม่น้อย บ้างก็บอกว่าเรื่องราวของ เดอะ แมทริกซ์ นั้นคือสิ่งที่เรียกว่า “สังสารวัตร” ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา บ้างก็ว่าหากสังเกตจากการแต่งตัวผิวเผินของตัวละครก็พอจะเห็นภาพว่า การใส่ชุดคลุมสีดำทั้งตัว และสีหน้าอันเรียบเฉยตลอดทั้งเรื่องนั้น ก็ไม่ต่างอะไรจากเหล่านักบวชในชีวิตจริง ซึ่งนั่นก็ทำให้หลายคนต้องย้อนกลับไปดูกันอีกครั้งอย่างตั้งใจ

(ซ้าย) ภาพจากมังงะเรื่อง "Saint Young Men" / (ขวา) ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง The Matrix

 

     หากว่าป๊อปคัลเจอร์อย่าง การ์ตูนมังงะจากญี่ปุ่น หรือแก่นแท้ทางพุทธศานาที่ซ่อนเร้นในภาพยนตร์ชื่อดัง ยังไม่อาจทำให้เหล่าสายแฟ(ชั่น) เข้าใกล้ศาสนาได้มากพอ ผู้เขียนก็จะขอย้อนกลับไปบนพรมแดงงานแฟชั่นสุดยิ่งใหญ่อย่าง MET Gala ประจำปี 2018 กับธีมงานที่หลายคนอาจหลงลืมไปแล้ว นั่นคือ “Heavenly Bodies: Fashion and The Catholic Imagination” ซึ่งแน่นอนว่าแค่อ่านชื่อก็พอจะรู้ว่าได้แรงบันดาลใจสำคัญมาจาก “ศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก” อย่างแน่นอน ทว่าในตอนแรกที่แผนงานถูกวางเอาไว้ Andrew Bolton ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art ยังยอมรับว่า เขาอยากจะจัดงานโดยมีธีมของศาสนาอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย แต่กลัวว่าการตีความชุดที่ละเอียดอ่อนของเหล่าเซเลบริตี้ที่มาร่วมงาน ก็อาจจะทำให้เกิดเรื่องราวที่กระทบต่อสถาบันศาสนาอื่นๆ ได้ แผนการเหล่านั้นจึงถูกยกเลิกไปในที่สุด

     นอกจากนิทรรศการจัดแสดงในปีนั้นที่ทางนครวาติกัน ได้ขนเครื่องแต่งกายของเหล่านักบวนช และนางชีชั้นสูงของจริงมาให้จัดแสดงโชว์กว่า 40 ชิ้นแล้วนั้น การแต่งตัวมาร่วมงานของเหล่าคนดังที่ได้รับเทียบเชิญมาร่วมงาน ต่างก็จัดเต็มขนเอาชุดที่อ้างอิงปกรณัมความเกี่ยวโยงกับศาสนามาโชว์อย่างตื่นตาตื่นใจ ที่มีทั้ง นักบวช ผี ปีศาจ และนางฟ้า หลุดออกมาจากไบเบิ้ล และให้เกียรติมาปรากฏตัวบนพรมแดงในวันจันทร์แรกของเดือนพฤษภาคมปีนั้น นั่นทำให้เหล่าคนแฟชั่นที่อยู่ในงาน และทางบ้าน ได้ร่วมดื่มด่ำกับศาสนาอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

1 / 4

Madonna ในชุดกระโปรงคลุมสีดำทั้งตัว ประดับด้วยไม้กางเขนที่ศีรษะ จากแบรนด์ Jean Paul Gaultier


2 / 4

Katy Perry ในชุดนางฟ้า โดดเด่นด้วยปีมหึมาสีขาว เรียกแสงแฟลชจากเหล่าช่างภาพปีนั้นไปได้อย่างล้นหลาม


3 / 4

Zendaya ในชุดเกราะวีรสตรีชาวฝรั่งเศส "Joan of Arc" ผู้นำทัพสร้างชัยชนะเหนืออังกฤษ ก่อนจบชีวิตด้วยการถูกเผาทั้งเป็น ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็น "แม่มด"


4 / 4

Rihanna ประธานร่วมคนสำคัญในปีนั้น กับการปรากฏตัวในชุดที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก "พระสันตะปาปา" ผลงานของแบรนด์ Maison Margiela




WATCH




     หรือถ้าเหล่านี้ที่ผู้เขียนสู้อุตส่าห์ยกตัวอย่างมายังไม่สะใจมากพอ ผู้เขียนก็คงจะต้องจับศีรษะของผู้อ่านหันกลับไปที่แดนอาทิตย์อุทัยอีกครั้ง รู้หรือไม่ว่า...พระในญี่ปุ่นสามารถเป็นช่างแต่งหน้าได้ด้วยในเวลาเดียวกัน เขาคนนั้นมีนามว่า “โคโดะ นิชิมุระ” เขาไม่ใช่พระที่เป็นช่างแต่งหน้ามือสมัครเล่นเท่านั้น เพราะเขาเคยได้เข้าร่วมเป็นช่างแต่งหน้าให้กับเวทีการประกวดนางงามระดับโลกอย่าง Miss Universe และ Miss USA มาแล้วทั้งสิ้น แม้ว่าโคโดะจะบวชเรียนอยู่ในกรุงโตเกียวมาตั้งแต่ปี 2015 แต่โคโดะก็ไม่เคยทิ้งทักษะการแต่งหน้า เขาเพียรพยายามมอบความสุขให้กับมนุษย์คนอื่นๆ ด้วยการเสกสรรค์หน้าตาของคนเหล่านั้นให้สวยงาม และในมิติของการดำรงตนเป็นพระ โคโดะก็ศึกษาธรรมะได้อย่างไม่บกพร่องเช่นกัน

     นอกจากนั้นในเมืองเดียวกัน เมื่อไม่กี่ปีที่แล้วยังเคยมีสื่อไทยนำเสนอเรื่องราวของ “พระที่เปิดบาร์เหล้า” มาแล้ว บาร์เหล้าแห่งนั้นมีชื่อว่า ‘Vowz-Bar’ สถิตอยู่ในย่านชินจูกุ มีเจ้าของร้านเป็นพระนามว่า “โยชิโนบุ กุชิโอกะ” และมีพนักงานคนอื่นๆ เป็นพระจากหลากหลายสำนักในญี่ปุ่นที่คอยให้บริการชงเครื่องดื่ม และแลกเปลี่ยนสนทนาธรรมกับลูกค้าภายในร้าน ในส่วนของบรรยากาศร้านก็ถือว่าสุดโต่งไม่แพ้เจ้าของร้าน และพนักงาน เพราะภายในบาร์เหล่าแห่งนี้ตกแต่งด้วย ผลงานจิตรกรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา มีการจุดธูป เทียน และกำยาน เพื่อเพิ่มความสงบให้แก่ผู้มาเยือน อีกทั้งยังมีโต๊ะหมู่บูชาที่ถูกนำตกแต่งเอาไว้ไม่ต่างจากวัด แต่แน่นอนว่าที่นี่ไม่ใช่วัด...

(ซ้ายบน) โคโดะ นิชิมุระ พระนักบวช และช่างแต่งหน้าระดับโลก / (ซ้ายล่าง) ภาพจาก Vowz-Bar บาร์เหล้าที่มีเจ้าของเป็นพระ / (ขวา) ปัญญาประดิษฐ์นามว่า "Mindar" ที่จำลองขึ้นจากเจ้าแม่กวนอิม

 

     อ่านมาถึงตรงนี้ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านน่าจะยังไม่เป็นลมกันไปเสียก่อน เพราะทั้งหมดนั้นยังไม่ถึงที่สุด เท่ากับสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะแบ่งปันให้ได้อ่านต่อไปนี้ว่า เมื่อปี 2019 วัดไคโดจิในโตเกียว ได้เปิดตัว “Mindar” หุ่นยนต์เจ้าแม่กวนอิม เพื่อเผยแพร่คำสอนทางศาสนาให้แก่ผู้คนแล้วเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งแน่นอนว่าอีกไม่นานอาจจะทำให้วัดหลายวัด และเหล่านักบวชในญี่ปุ่น ต้องตกงานก็เป็นได้ เมื่อปัญญาประดิษฐ์เข้ามาท้าทาย ระราน และก่อกวนพื้นที่ของศาสนาอย่างเต็มที่ ซึ่งยังจะถูกพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ตามคำให้สัมภาษณ์ขององค์กรผู้ผลิต

     เอาไว้เท่านี้ก่อนแล้วกัน พักหายใจหายคอกันสักหน่อย...จริงๆ แล้วหากใครก็ตามได้ลองเสิร์ชบน Google เกี่ยวกับประเด็นของศาสนา พระ และความทันสมัย อะไรเทือกๆ นั้น ก็คงจะได้เห็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจอีกมากมายที่กำลังเกิดขึ้นกับพื้นที่เครือข่ายของ “ศาสนา” ท้ายที่สุดแล้วในโลกศตวรรษที่ 21 เช่นนี้ ทุกสถาบันต่างต้องเอาตัวรอดกันทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่สถาบันศาสนาที่ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาให้เข้ากับกระแสสมัยนั้นๆ ในเมื่อการเข้าถึงผู้คนให้ได้มากที่สุดคือโจทย์ยากที่ต้องแก้ กลยุทธ์ในการแทรกซึมคำสอนของศาสนาก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ผู้เขียนไม่อาจประเมินได้หรอกว่า “อะไรผิดหรือถูก” แค่อยากจะเอาเรื่องราวจากมุมโลกอื่นๆ มาแบ่งปันให้ผู้อ่านได้พอเห็นภาพกว้างของ “ความหลากหลาย” ของศาสนา (ที่ยึดโยงอยู่กับทั้งวัฒนธรรมประชานิยม หรือแม้แต่วงการแฟชั่น) ที่ไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียวอย่างที่ใครหลายคนยึดติด และหลายพื้นที่ทั่วโลกตอนนี้ “ศาสนา” ไปไกลกว่าแค่นักบวชมานั่งเทศน์ผ่านออนไลน์กันแล้ว...

ข้อมูล : The Independent UK, Vogue US, Facebook: Plankhoi, Voice TV, Wikipedia-Popular Culture และ The Japan Times

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Religion #PopCulture #Fashion #MetGala