พีพี บิวกิ้น
LIFESTYLE

เจาะลึกแฮชแท็ก #แบนgymandswim เพราะการเหยียดเพศ สีผิว และเชื้อชาติ ไม่ถือเป็น 'Freedom of Speech'

เราต่างต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า 'Freedom of Speech' ไม่เท่ากับ 'Hate Speech' และการเหยียดเพศไม่ควรมีพื้นที่อีกต่อไปในปี 2022

     กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นดราม่าที่ถูกพูดถึงอย่างมากบนโลกโซเชียลมีเดียต้อนรับเดือนแห่ง Pride Month ประจำปี 2022 สำหรับแฮชแท็ก #แบนgymandswim หลังจากที่มือกีตาร์แห่งวง Gym And Swim ได้โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์พาดพิงถึงศิลปินคู่จิ้น ‘พีพี-บิวกิ้น’ ที่กำลังจะได้ขึ้นแสดงบนเวทีดนตรีระดับโลกอย่าง Summer Sonic 2022 โดย ‘เติร์ก-นิติกฤษณ์ อรรถกฤษณ์’ มือกีตาร์วง Gym and Swim ได้แชร์โพสต์ภาพของศิลปินคู่จิ้นดังกล่าวมา พร้อมแคปชั่นพาดพิงเอาไว้ประมาณว่า เข้าใจถึงเทศกาลดนตรีในทุกวันนี้แล้ว และอิโมติคอนครุ่นคิด จุดประเด็นให้หลายคนเข้าไปคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์ถึงการได้ขึ้นแสดงของศิลปินทั้งสองคนด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น ‘soft power กะเทยไทย’ หรือ ‘นุ้กปาย เวอชั่นมีการศึกษาเหรอวะ’ กระทั่งลามไปจนถึงการแสดงความคิดเห็นในแนวเหยียดเพศที่เกินกว่าจะรับได้และเหยียดรสนิยมการทำเพลงของศิลปินทั้งคู่ว่าไม่เหมาะสมที่ได้ขึ้นโชว์บนเวทีระดับโลกเช่นนั้น จนทำให้โซเชียลมีเดียร้อนเป็นไฟ และถือกำเนิดแฮชแท็ก #แบนgymandswim บนโลกทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว ก่อนที่อดีตของมือกีตาร์คนดังกล่าวจะถูกขุดขึ้นมาประจานอย่างรวดเร็ว

     กระนั้นแม้ว่าล่าสุดทางค่ายต้นสังกัดจะออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการพร้อมบทลงโทษสั่งพักงานสมาชิกวงดังกล่าวแล้ว ทว่าเรื่องราวต่างๆ ก็ยังคงคุกรุ่นและมีประเด็นน่าสนใจให้ผู้เขียนได้ถอดรหัสขบคิดมากมาย

     

  • Hate Speech ไม่เท่ากับ Freedom of Speech

พีพี บิวกิ้น

     ตลอดการเฝ้าหน้าจอโทรศัพท์เพื่อติดตามดราม่าดังกล่าวว่าจะจบลงอย่างไรนั้น ผู้เขียนก็สะดุดเข้ากับคอมเมนต์หนึ่งที่เขียนเอาไว้ทำนองว่า การออกความเห็นแบบนั้นเป็นหนึ่งในการวิพากษ์วิจารณ์ที่เราสามารถทำได้ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนอาจคิดเช่นนั้น หากเมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่า Freedom of Speech ไม่ใช่ Hate Speech และไม่เคยถูกนับรวมในจักรวาลของเสรีภาพในการพูดมาแต่ไหนแต่ไร ดังนั้นคอมเมนต์ที่ใช้ถ้อยคำที่ส่อถึงการเหยียดเพศ เชื้อชาติ และสีผิว จึงไม่เคยถือเป็นเสรีภาพในการพูดแต่อย่างใด เพราะนับเป็นชุดคำพูดที่สร้างแผลเป็นและความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างไม่อาจยอมรับได้ เช่นเดียวกันกับคอมเมนต์ด่าทอ เสียดสี และล่วงเกินเพศสภาพของอีกฝ่ายในกรณีนี้ ก็ไม่ควรนับว่าเป็น ‘เสรีภาพในการพูด’ แต่อย่างใด

 

  • การตอกกลับด้วย Hate Speech ไม่ใช่คำตอบ

พีพี บิวกิ้น

     กระนั้นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับดราม่าลูกนี้ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ เหล่าผู้คนที่ออกมาปกป้องความถูกต้อง ที่บางคนเลือกใช้วิธีตอกกลับโดยการเหยียดรูปร่าง หน้าตา และการงานของอีกฝ่าย ก็ไม่อาจใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก การพยายามลบล้างหรือตอบโต้ Hate Speech เหล่านั้น ด้วยการสาด Hate Speech กลับไป ก็รังแต่จะทำให้โลกโซเชียลมีเดียนั้นเต็มไปด้วยถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังมากขึ้นไม่จบสิ้น และดูจะไม่ต่างจากอีกฝ่ายที่เลือกใช้กลุ่มคำพูดอันเลวร้ายในการแก้ไขปัญหา

 

  • รสนิยมทางดนตรีเป็นเรื่องของความหลากหลาย



WATCH




พีพี บิวกิ้น

     เมื่อนึกย้อนกลับไปถึงต้นเรื่องของดราม่าดังกล่าวแล้วนั้น เราจะพบว่าในประโยคคำพูดเสียดสีเหล่านั้นถึง ‘พีพี-บิวกิ้น’ เกิดขึ้นเพราะความรู้สึกของเจ้าของโพสต์ที่มองว่าอีกฝั่งไม่อาจนิยามตัวเองได้ว่าเป็นศิลปินอย่างที่ตัวของเขานั้นเป็น และไม่สมควรจะได้ขึ้นไปอยู่บนเวทีระดับโลกแบบนั้น เมื่อเทียบกับความพยายามอุตสาหะของตนเองที่เป็นหนึ่งในสมาชิกวงดนตรีเล็กๆ ที่ขยันทำงานกว่าใครๆ ...แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราพยายาม ขยัน อดทน ‘กว่าใครๆ’ และเรารู้ได้อย่างไรว่าอีกฝ่ายเขาไม่พยายาม ขยัน หรืออดทนน้อยไปกว่าเรา อีกทั้งรสนิยมของดนตรีที่ต่างกันก็ใช่ว่าจะเป็นตัวตัดสินว่าเขาเหล่านั้นที่ฟังเพลง หรือสร้างสรรค์ผลงานเพลงต่างออกไปจากเรานั้นไม่อาจเรียกว่า ‘ศิลปิน’ ได้ ในเมื่อแนวเพลงบนโลกนี้มีความหลากหกลายเกินกว่านิ้วมือจะนับได้ และเพลงร็อกก็ไม่ใช่ดนตรีที่ดีกว่าเพลงป็อป เพลงป็อปก็ไม่ใช่ดนตรีที่ดีกว่าเพลงอาร์แอนด์บี เพลงอาร์แอนด์บีก็ไม่ใช่ดนตรีที่ดีกว่าเพลงหมอลำลูกทุ่ง หรือกระทั่งเพลงหมอลำลูกทุ่งก็ไม่อาจถูกตัดสินได้ว่าดีไปกว่าเพลงรถบั๊มรถแห่

     ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือปัญหาการยอมรับความหลากหลาย ไม่ใช่แค่ความหลากหลายทางเพศ หากยังหมายถึงความหลากหลายทางรสนิยมและวัฒนธรรมที่ฟักตัวเติบโตของประชากรบนโลกใบนี้ ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้าไม่น้อยที่ประเด็นดราม่านี้เกิดขึ้นในช่วงเดือน Pride Month เดือนที่เป็นดั่งหมุดหมายสำคัญแห่งการยอมรับความหลากหลายบนโลกใบนี้

ข้อมูล : Twitter

WATCH