FASHION

'องอาจ สาตรพันธุ์' สุดยอดสถาปนิกไทยผู้ก้าวไกลคว้ารางวัลสถาปัตย์ระดับโลก!

     ลองมองไปรอบตัวดูสิเราเห็นอาคารหรือสถาปัตยกรรมชั้นยอดมามากแค่ไหน ตึกหรือเรือนใดบ้างที่อยู่ในความทรงจำของคนไทย เมื่อเรามองทั้งผ่านมุมมองของเราโดยตรงและการนำเสนอจากสื่อในทั้งในและนอกประเทศจะเห็นว่าประเทศไทยเป็นเมืองที่โดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรมอยู่พอสมควรเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่วงการสถาปัตย์เมืองไทยจะมีสถาปนิกชั้นครูคอยประดับบารมีวงการอยู่เสมอ องอาจ สาตรพันธุ์ สถาปนิกไทย ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2552 คือหนึ่งในนั้น วันนี้เราจะนำเสนอว่าความเหนือชั้นของอาจารย์องอาจนั้นสุดยอดเพียงใด ติดตามได้ในบทความนี้

องอาจ สาตรพันธุ์ สุดยอดสถาปนิกฝีมือชั้นครู / ภาพ: Wiki Commons

     เริ่มต้นกับประวัติอาจารย์องอาจ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2487 ณ กรุงเทพมหานคร ตลอดชีวิตช่วงเด็กก็เดินตามครรลองตามแบบฉบับประชาชนคนทั่วไปจบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยม ก่อนที่จุดพีคชีวิตจะเริ่มขึ้นเมื่องานสถาปัตย์คือความตั้งใจ ท่านจึงย้ายไปศึกษาต่อด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐฐอเมริกา และต่อปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยเยล 2 มหาวิทยาลัยชื่อดังของโลก แน่นอนกว่าการย้ายเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยระดับสูงของประเทศอเมริกาโดยเฉพาะในสมัยก่อนที่โอกาสในการเรียนต่างประเทศยังไม่เยอะเท่าทุกวันนี้ถือว่าเป็นเครื่องการันตีเบื้องต้นแล้วว่าเด็กหนุ่มในวันนั้นมีพรสวรรค์มากเพียงใด

มุมมองการออกแบบขององอาจ สาตรพันธุ์ที่มักมีธรรมชาติสอดแทรกอยู่ในผลงานเสมอ / ภาพ: ONG-ARD ARCHITECTS

     เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่างานสถาปัตยกรรมของสถาปนิกแต่ละคนมักมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พวกเขาเลือกสร้างจุดเด่นออกมาเพื่อนำเสนอภาพลักษณ์อันเป็นจุดขายของตัวเองเสมอ ทั้งแนวคิด รายละเอียด ไปจนถึงเรื่องขนาด ซึ่งงานของอาจารย์องอาจตอบโจทย์เราได้เสมอว่างานท่านเป็นแบบใดเมื่อคำว่า “ธรรมชาติ” สอดแทรกเข้าไปอยู่ในทุกอณูของผลงานได้อย่างน่าสนใจ นอกจากนี้ความเป็นไทยเองก็ถูกนำมาผสมผสานกับสถาปัตยกรรมร่วมสมัยได้อย่างไม่ประหลาด เพราะฉะนั้นเราการันตีได้เลยว่าจุดเด่นของงานชั้นครูเช่นนี้จะต้องเคยผ่านตาเรามาไม่มากก็น้อย



WATCH




บรรยากาศความสวยงามของโรงเรียนปานะพันธุ์ที่ปัจจุบันได้ทุบทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว / ภาพ: Rerkdee Potiwanakul

     งาน “คอร์บูเซียน” สุดประณีตในเมืองไทย...หลังอาจารย์องอาจเรียนจบท่านยังคงอาศัยและทำงาน ณ ประเทศสหรัฐฯ อยู่อีกระยะเวลาหนึ่งก่อนคุณแม่จะหางานให้ได้โดยเป็นงานออกแบบให้กับโรงเรียนปานะพันธุ์ ซึ่งอาจารย์เป็นศิษย์เก่าสมัยมัธยม และงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งต้องบอกว่างานชิ้นแรกท่านได้รังสรรค์สถาปัตยกรรมร่วมสมัยเปิดโลกให้กับคนไทย เพราะยอดฝีมือคนนี้สรรสร้างโรงเรียนปานะพันธุ์ให้กลายเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่มีอาคารสวยที่สุดในประเทศไทยด้วยลักษณะสถาปัตยกรรม 5 ประการสไตล์คอร์บูเซียนราวกับร่ายมนตร์เสกเลยทีเดียว

อาคาร TOSHIBA สุดคลาสสิกบนถนนวิภาวดี / ภาพ: Wiki Commons

     ความยากและพิเศษของอาจารย์องอาจไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับโลกใบนี้ แต่หมายถึงการทำอย่างไรให้เอกลักษณ์ไทย ธรรมชาติ งานสถาปัตยกรรม และความร่วมสมัยล้อกันไปอย่างไม่ผิดแปลก งานที่ดูดิบและเข้าถึงง่ายแต่กลับทรงพลังก็เป็นความสุดยอดที่ท่านนำเสนอให้กับคนไทยได้เสพศิลป์ หากใครนึกภาพไม่ออกให้ลองนึกถึงอาคาร Toshiba และ Ong-ard Achritects Atelier ที่ดูเหมือนจะเรียบง่ายแต่ทุกสัดส่วนผ่านกระบวนการคิดคำนวณมาอย่างครบถ้วน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าอาคารแห่งนี้ดูหนักแน่นและเป็นเอกลักษณ์แบบไม่ซ้ำใคร

ตึกช้างสัญลักษณ์ที่ตั้งตระหง่านบริเวณแยกรัชโยธิน ผลงานการออกแบบขององอาจ สาตรพันธุ์ / ภาพ: Meekers In Thailand

     ความไม่ซ้ำใครแบบนี้คือจุดขายสำคัญของสถปานิก จะมีลูกค้าคนไหนอยากได้สถาปัตยกรรมที่หน้าตาเหมือนๆ กันหมดจริงไหมล่ะ... ตอกย้ำความพิเศษของอาจารย์องอาจด้วย “ตึกช้าง” อาคารรูปทรงประหลาดตั้งตระหง่านอยู่แถบแยกรัชโยธิน อาคารแห่งนี้เสร็จสมบูรณ์เป็นแลนด์มาร์กถนนพหลโยธินตัดกับรัชดาภิเษกมาตั้งแต่ปี 2540 งาช้าง ลำตัว ขา และทุกๆ องค์ประกอบบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่านี่คือช้าง ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบว์แดงที่คนจดจำได้มากที่สุดชิ้นหนึ่งในชีวิตของสุดยอดสถาปนิกคนนี้

ตัวอย่างการผสมผสานวิถีชีวิตปัจจุบันเข้ากับงานสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกของอาคารธนาคารเกียรตินาคิน ออกแบบโดย องอาจ สาตรพันธุ์ / ภาพ: ONG-ARD ARCHITECTS

     และที่ไม่พูดถึงไม่ได้จริงๆ คือรางวัล Driehaus ปีล่าสุดซึ่งท่านได้รับรางวัลอันทรงเกียรติจากมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดมในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยรางวัลนี้ท่านได้รับในสาขาสถาปัตยกรรมดั้งเดิม สถาปนิกไทยผู้นี้ได้รับรางวัลเนื่องจากสามารถนำงานสถาปัตย์คลาสสิกดั้งเดิมของมาสอดผสานเข้าได้กับสังคมร่วมสมัย และงานของท่านมีอิทธิพลเชิงบวกทั้งด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และศิลปะ Michael Lykoudis คณบดีของมหาวิทยาลัยกล่าวว่า “โปรเจกต์ขององอาจนั้นสวยงามไม่เหมือนใคร ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้หลากวัฒนธรรมมานานหลายปี และสิ่งเหล่านี้ก็หลอมรวมกับวิถีความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี”

ภาพจำลอง One Nimman สถานที่ฮิตใจกลางเมืองเชียงใหม่ / ภาพ: ONG-ARD ARCHITECTS

     ผลงานออกแบบอื่นๆ ของท่านสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อไม่ได้หยุดหมุนแต่ความงามที่คลาสสิกอยู่ได้อย่างยั่งยืนในทุกโอกาส จะเห็นว่าผลงานการออกแบบของท่านดูช่างงดงามตามฉบับดั้งเดิมแต่กลับดูไม่ล้าสมัย เพราะกระบวนการวางแผนคิดอย่างถี่ถ้วนในการรังสรรค์ผลงานคือคำตอบ ถึงแม้อาคารอย่าง “One Nimman” จะตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่ แต่ทว่ารูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ที่ดูจะขัดแย้งกับสภาพบ้านเรือนรอบๆ แต่กลับอยู่ได้อย่างลงตัว จนตอนนี้ใครมาเชียงใหม่ไม่แวะชมความงดงามแห่งนี้คงไม่ได้เหมือนกัน จากพื้นที่ 4 เหลี่ยมกลายเป็นจตุรัสกลางกรุงกลายเป็นแลนมาร์กประจำเมืองเชียงใหม่ไปแล้ว

บรรยากาศสุดพิเศษ ณ Tamarind Village / ภาพ: ONG-ARD ARCHITECTS

     ถ้าความงดงามของการสอดประสานความคลาสสิกเข้ากับเมืองยุคใหม่ยังไม่ตอบโจทย์ ลองดูสถานที่พักผ่อนหย่อนใจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Tamarind Village และ Mae Rim Residence ณ เมืองเชียงใหม่ หรือจะเป็น Ampawa Residence ในโซนภาคกลาง จะเห็นว่าความงดงามแบบโบราณช่างหรูหรามีคุณค่าอย่างยิ่ง อย่างบ้านพัก ณ แม่ริมเป็นการผสมผสานระหว่างสไตล์ไทยภาคเหนือกับโคโลเนียล นอกจากนี้กลิ่นอายธรรมชาติรายล้อมและแทรกซึมอยู่ในตัวทำให้สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ดูโดดเด่นยิ่งกว่าแค่ลูกผสมระหว่างความคลาสสิกโบราณกับความร่วมสมัย ของอย่างนี้จะเป็นฝีมือใครไปไม่ได้นอกจากอาจารย์องอาจ

Courtyard House ความคลาสสิกแบบจีนในเมืองแสนวุ่นวายอย่างกรุงเทพมหานคร / ภาพ: ONG-ARD ARCHITECTS

     แต่จะให้พูดถึงเรื่องความยอดเยี่ยมของอาจารย์องอาจจะไม่พูดถึงงานสถาปัตยกรรมชิ้นเด่นอีกชิ้นอย่าง “Courtyard House” คงไม่ได้ ท่ามกลางความวุ่นวายและสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น ท่านเลือกจะใช้การจัดแวงความขัดแย้งวางในจุดที่เหมาะสม ในสถานที่สุดพลุกพล่านกลับมีบ้านหลังหนึ่งที่ออกแบบเป็น 4 เหลี่ยมสไตล์จีนดั้งเดิม มันไม่ใช่แค่การสรรสร้างความแตกต่างแต่หมายถึงการพื้นที่พิเศษสุดเงียบสงบใจกลางเมือง

ภาพสเกตช์ของงานสถาปัตยกรรม Courtyard House / ภาพ: ONG-ARD ARCHITECTS

     นอกจากเราจะได้เห็นฝีไม้ลายมือของสถาปนิกชั้นครูแล้ว เรายังได้เห็นการพิสูจน์ว่าความขัดแย้งกันทั้งเชิงวัฒนธรรมและยุคสมัยสามารถคลุกเคล้าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวได้หากมีผู้เชี่ยวชาญเข้าใจอย่างลึกซึ้ง สิ่งเหล่านี้ทำให้อาจารย์สามารถคว้ารางวัลมูลค่ากว่า 200,000 ดอลลาร์หรือประมาณกว่า 6,300,000 บาท เงินจำนวนนี้ยังเทียบไม่ได้กับวิชาความรู้ที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วิชาบางวิชาอย่าง ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมอาจจะเป็นความข่มขื่นของนักศึกษาเมื่อพวกเขาอยากเขียนแบบ แต่เมื่อศึกษาเข้าใจอย่างลึกซึ้งวิชานี้จะกลายเป็นความรู้ติดตัวสำคัญจนสามารถรังสรรค์ชิ้นงานที่เชื่อมโลกทุกยุคให้อยู่ในงานสถาปัตยกรรมได้อย่างลงตัว งานนี้โว้กขอยกย่องท่านก่อนจะเข้าพิธีรับรางวัลตามกำหนดการวันที่ 28 มีนาคมนี้

WATCH