nakrob moonmanus
LIFESTYLE

คุยกับ 'โต๊ด-นักรบ' ศิลปินผู้ถ่ายทอดผลงานจากประสบการณ์ในอดีต เล่าใหม่ด้วยความเข้าใจชีวิตในปัจจุบัน

“งานที่ใช้สัญลักษณ์ทางศาสนาหรือการเมือง เราอยากให้คำถามของคนที่ดูงานนั้นไปไกลเกินกว่าควรหรือไม่ควร ทำได้หรือทำไม่ได้ ถ้าเขาดูแล้วรู้ว่า Offended รู้สึกไม่โอเค ก็อยากให้คิดต่อว่าทำไมฉันถึงรู้สึกอย่างนี้”

     ด้วยตารางเวลาที่ค่อนข้างแน่น เรานัดคุยกับโต๊ด-นักรบ มูลมานัสในช่วง 10 นาฬิกา โดยไม่รู้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างเป็นมนุษย์ใน Wolf Chronotype ซึ่งสมองแอ็กทีฟที่สุดในช่วงบ่ายไปจนถึงดึกดื่น บทสนทนายามสายที่เต็มไปด้วยความง่วงงุนจึงมีภาพรวมคล้ายงานคอลลาจที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขา คือมีใจความอยู่ที่ประสบการณ์จากอดีต เล่าใหม่ด้วยความเข้าใจชีวิตในปัจจุบัน และแวดล้อมไปด้วยบรรยากาศที่สิ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ความใฝ่ฝัน และจุดมุ่งหมายต่อไปอวลอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนหากติดกลิ่นเซอร์เรียล ดังนั้น ผู้อ่านควรชงกาแฟมาสักแก้วก่อนเข้าสู่โลกของนักรบ ที่กว่าดวงจันทร์จะขึ้นก็เกือบเช้าแล้ว

 

nakrob moonmanas

ผลงานภาพวาดของ โต๊ด นักรบ ที่ใช้ประกอบบทความ Vogue Horoscope ของนิตยสารโว้กประเทศไทย

Vogue: ในบรรดาศิลปะทั้งหลายในโลกนี้ ทำไมถึงเลือกทำคอลลาจ มันมีคุณสมบัติอะไรที่เชื่อมโยงกับตัวตนของเรามากกว่าศิลปะอื่นๆ อย่างไรไหม

Nakrob: ถ้าเจอคำถามนี้ตอนเด็กๆ จะตอบว่าเคยอยากวาด อยากระบายสี อยากปั้น แต่ด้วยสกิลที่มียังไม่สามารถสื่อสารให้ออกมาเหมือนกับภาพในหัวที่มีอยู่ได้ แต่คอลลาจมาจากสิ่งที่เราสนใจ เรื่องเก่าๆ สื่อสิ่งพิมพ์เก่าๆ ที่เราเห็นว่ามีคุณค่าและสะสมไว้ รูปเหล่านั้นเลยกลายมาเป็นเครื่องมือเล่าเรื่อง เป็นตัวแทนของภาพที่อยู่ในหัว เราสามารถหยิบยืมคุณค่าและความหมายดั้งเดิมของสิ่งที่มีอยู่แล้วมาเล่าได้อีกชั้นหนึ่ง ความหมายก็จะมีความซับซ้อนมากขึ้น แต่พอทำงานมาจนถึงตอนนี้จะตอบอีกมุม คือถ้ามองในแง่ที่ว่าศิลปะมีความสามารถที่จะบำบัดหรือปลดปล่อยสิ่งที่อยู่ภายในได้ งานคอลลาจมีความรุนแรงอยู่ประมาณหนึ่งนะครับ อย่างในช่วงเริ่มต้นเราใช้กระดาษจริง เราต้องทำใจกล้าที่จะตัด ฉีกสิ่งพิมพ์ที่เรารักและสะสมมา แล้วก็หยิบมาปะ จับมาวางในบริบทใหม่ หรือเลือกทิ้ง ซึ่งหมายถึงเราต้องยอมเสียสละสิ่งเก่าเพื่อเปลี่ยนให้มันกลายเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา คิดในแง่จิตวิทยาก็เหมือนกระบวนการที่ทำให้เราต้องเลือกว่าพลังงานแบบไหนที่เราจะทิ้งและสิ่งไหนที่เราเลือกให้มันคงอยู่ต่อไป คล้ายกับการ Coming of age ของเราซึ่งเป็นเด็กที่อยู่ในกรอบของโรงเรียนและบ้าน มีกฎชัดเจนว่าต้องแต่งตัวแบบนี้ ต้องปฏิบัติตัวอย่างนี้ คอลลาจก็เป็นความขบถอย่างหนึ่งที่เราสามารถแสดงออกมาแทนการต่อต้านแบบอื่นๆ ได้

 

1 / 4

ผลงานศิลปะของ โต๊ด นักรบ



2 / 4

ผลงานศิลปะของ โต๊ด นักรบ



3 / 4

ผลงานศิลปะของ โต๊ด นักรบ



4 / 4

ผลงานศิลปะของ โต๊ด นักรบ





WATCH




V: ถ้าอย่างนั้น งานและชีวิตของนักรบเป็นหนึ่งเดียวกัน...หรือแยกออกจากกัน

Nakrob: คำถามนี้เป็นสิ่งที่ผมกำลังหาคำตอบอยู่ในช่วงนี้เลยครับ ไปพบนักจิตวิทยาคนหนึ่งแล้วเขาบอกว่างานกับชีวิตของคุณนี่แทบจะเป็นเนื้อเดียวกันเลยนะ ก็เลยกลับมาคิด พอหันไปดูเพื่อนๆ ที่เป็นนักเขียน นักสร้างสรรค์ หรือทำงานในแวดวงศิลปะ งานกับชีวิตของเขาก็ดูเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการคิด วิธีการทำงาน หรือสิ่งที่สะท้อนออกมาในงาน มันสะท้อนโลกทั้งโลกในสมองและโลกในหัวใจของแต่ละคนเหมือนกับที่เราเป็น ซึ่งมันมีทั้งข้อดีและข้อเสียนะครับ ผมอาจจะโชคดีที่ได้ทำงานที่ตัวเองรัก แต่ในขณะเดียวกันเมื่องานกับชีวิตแยกกันไม่ออก มันก็ยากที่จะมองเห็นตัวเองหรืองานของเราในมุมอื่นๆ เช่น เรายึดโยงตัวตนกับงานไว้มากจนไม่มีความแตกต่างหรือการพัฒนาไหม เราควรจะมีช่วงเวลาที่ไม่คิดงานเลยร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า แต่การทำแบบนั้นก็เท่ากับว่าเราตัดหรือละเลยสิ่งที่เราเป็นไปด้วยไหม ก็มีความซับซ้อนอยู่พอสมควร

 

V: แล้วงานเราดีขึ้นและแย่ลงตามชีวิตที่เปลี่ยนไปหรือเปล่า

Nakrob: คิดก่อนนะครับ ตั้งแต่สัมภาษณ์มายังไม่เคยเจอคำถามแบบนี้เลย (หัวเราะแล้วเงียบไปสักพัก) ในช่วงเวลาที่เรารู้สึกไม่ดี หรือสิ่งรอบข้างแย่ เราก็เอาจุดที่มองเห็นว่าเป็นปัญหามาทำงานได้เหมือนกันนะ อย่างช่วงวัยรุ่นที่เราจะมีพลังความดาร์ก ความดาวน์ แทนที่จะปล่อยอารมณ์ให้จมอยู่ในความสิ้นหวังขุ่นมัวตรงนั้น เราจับอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นมาสร้างเป็นงาน ซึ่งก็เป็นกระบวนการที่ช่วยบำบัดเราเหมือนกัน งานที่ทำในช่วงดาวน์มันก็มีพลังที่จะไปจับจิตจับใจผู้คนได้นะครับ เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่ใช่งานที่ดีเท่าเวลาที่เรามีพลังเต็มที่มั้ง

 

V: แล้วเวลามีคนตัดสินงานเรา รู้สึกว่าตัวตนของเราถูกตัดสินด้วยไหม

Nakrob: รู้สึกสิครับ แต่คุณสมบัติข้อหนึ่งของงานสร้างสรรค์คือมันเปิดพื้นที่ให้คนแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ ถ้าเป็นตอนเด็กๆ ที่ยังไม่ได้มีแก่นกลางความคิดที่แข็งแรงมากพอเราก็เคยไหลไปตามความเห็นต่างๆ อยากทำงานที่คนชอบ แต่พอเจอความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้นประกอบกับเวลาที่ทำงานมาเกือบ 10 ปี เราก็จะยึดติดกับความชอบไม่ชอบของคนอื่นน้อยลง ยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งรู้สึกว่าอยากทำสิ่งใหม่ อยากทำสิ่งที่อาจจะไม่ป๊อปปูลาร์แต่ท้าทายมากขึ้น คำวิจารณ์กลายเป็นตัวช่วยให้เราสำรวจงานตัวเอง แต่ในอีกมุมเราก็แบ่งพื้นที่ในใจให้กับสิ่งที่อยากทำจริงๆ ด้วย การหาสมดุลระหว่าง 2 สิ่งนี้เลยเป็นอีกความท้าทายของชีวิตในช่วงนี้ครับ

 

V: คิดว่าอะไรทำให้งานของเราสามารถสื่อสารกับคนในวงกว้างได้

Nakrob: ส่วนแรกอาจเป็นเพราะวัตถุดิบที่หยิบจับมาจริงๆ แล้วมันเป็น Mass media ของยุคเก่า เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนในวงกว้างอยู่แล้ว คนส่วนมากรู้จักและเข้าใจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมหรือบันทึกทางประวัติศาสตร์ แค่เราหยิบมาเล่าเรื่องใหม่อีกครั้ง เรื่องที่เล่าอาจจะซับซ้อนแต่ก็ไม่ได้ซับซ้อนจนเกินไปและยังมีความงามให้คนเสพได้อยู่ อีกส่วนคือการทำให้คนที่เห็นงานของเราสะดุดใจและตั้งคำถาม ยกตัวอย่างงานที่ใช้สัญลักษณ์ทางศาสนาหรือการเมืองมาทำใหม่ เราอยากให้คำถามของคนที่ดูงานนั้นไปไกลเกินกว่าควรหรือไม่ควร ทำได้หรือทำไม่ได้ ถ้าเขาดูแล้วรู้ว่า Offended รู้สึกไม่โอเค ก็อยากให้คิดต่อว่าทำไมฉันถึงรู้สึกอย่างนี้ นั่นเป็นแรงกระเพื่อมอย่างหนึ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นจากงานสร้างสรรค์ และเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าสังคมไทยต้องการในขณะนี้ด้วยเหมือนกันครับ

 

ช่างภาพ : ธาเกียรติ ศรีวุฒิชาญ

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueSpecial #VogueThailandAugust2022