LIFESTYLE

เปิดจักรวาลภาพยนตร์ 'หญิงรักหญิง' เมื่อพวกเธอถูกมองข้ามจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

จะมีสักกี่ครั้งกันเชียว ที่เมื่อพูดถึงประเด็น LGBTQIA+ แล้ว 'หญิงรักหญิง' จะถูกให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียม

     ย้อนกลับไปในปี 1914 ภาพยนตร์ไร้เสียงขาว-ดำเรื่อง “A Florida Enchantment” ได้รับการปักหมุดหมายว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกที่ปรากฏตัวละคร LGBTQ+ ถึงแม้ว่าเส้นเรื่องที่สนับสนุนให้เกิดตัวละครเหล่านั้นมาจากสิ่งที่เรียกว่าเวทมนตร์ ที่ดึงความสนใจของคนดูออกไปจนไม่ยี่หระกับตัวละครที่เปลี่ยนสลับไปมาระหว่างเพศหญิง และชาย แต่นั่นก็ถือว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่โลกสมมติอย่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้นำเสนอบางสิ่งบางอย่าง ที่ทะลุกรอบ 2 ขั้วเพศได้อย่างแยบคาย กระนั้นผ่านมาแล้วกว่า 100 ปี อุตสาหกรรมบันเทิงยังได้สร้างจักรวาลภาพยนตร์ LGBTQ+ ให้กว้าง และเข้มข้นขึ้นทุกวินาที ส่งเสริมให้วัฒนธรรม “ชายรักชาย” กลายเป็นวัฒนธรรมบันเทิงกระแสหลักตีคู่มากับละครน้ำเน่าหญิง-ชายที่มีอยู่เกร่อเมือง แต่ไฉน “หญิงรักหญิง” กลับผลุบหายระหว่างทางบันเทิง และพัฒนาได้ช้า และน้อยกว่า ทั้งที่อยู่ในร่มเดียวกัน... นั่นเองที่จุดประกายให้ผู้เขียนอยากจะพาผู้อ่านทุกท่านออกเดินทางหาคำตอบ พร้อมสำรวจจักรวาลภาพยนตร์เลสเบี้ยนไปพร้อมๆ กัน

     ภาพยนตร์เรื่องแรกที่น่าสนใจ และอยากแนะนำให้ทุกคนได้ดูกัน เกิดขึ้นในปี 1996 ภาพยนตร์อินเดียเรื่องนี้ใช้ชื่อว่า “Fire” โดยผู้กำกับ Deepa Mehta ที่ได้หยิบยกเอาประเด็นรักร่วมเพศแบบหญิงรักหญิงขึ้นมาพูดอย่างโจ่งแจ้ง ท้าทายต่อขนบธรรมเนียมความเชื่อต่อศาสนาฮินดูที่มีมาอย่างยาวนานกว่าพันปี และตบหน้าระบบระเบียบวิธีคิดแบบปิตาธิปไตยอันเข้มข้นในสังคมอินเดียอย่างไม่ใยดี ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวบอกเล่าชีวิตของผู้หญิง 2 คน นั่นคือรดาห์ และสีดา ที่บอบช้ำมาจากการกดขี่ของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสังคมอินเดีย ซึ่งมองว่าผู้หญิงไม่ต่างจากเครื่องจักรกลผลิตลูกชาย เมื่อทั้งสองได้โคจรมาเจอกัน และเรื่องราวต่างๆ ที่ถูกเก็บงำมาแสนนานถูกระบายให้กันและกันฟัง จนในที่สุดก็ก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็น “ความรัก” ต้องห้าม แม้ว่าตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นแบบปลายเปิดที่สวยงาม สะกิดให้ผู้ชมได้ไปขบคิดต่อเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสองตัวละคร ทว่าในความเป็นจริงของภาพยนตร์เรื่องนี้กลับจบไม่ค่อยสวยเท่าไหร่นัก เพราะหลังจากที่ออกฉายในปี 1998 ก็ถูกสั่งห้ามฉายทันที ทั้งในประเทศอินเดีย และปากีสถาน กระทั่งเกิดจราจลจากคนคลั่งศาสนา และเหล่าหัวอนุรักษ์นิยม ที่ขู่จะตามฆ่า และหมายจะเอาชีวิตผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ จนเธอต้องขอลี้ภัยและเปลี่ยนสัญชาติในเวลาต่อมา

     ข้ามจากฝั่งอินเดียมาสู่ฝั่งจีน กับภาพยนตร์เรื่อง “Saving Face” ในปี 2004 เรื่องราวของครอบครัวคนจีนที่ย้ายสำมะโนครัวมาอยู่ที่อเมริกา แต่ยังคงยึดติดอยู่ในกรอบวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม นั่นจึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ตัวละครหลักที่มีความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงนั้นต้องหลบซ่อน และปิดบังไม่ให้ใครได้รู้ หลายฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้ดำเนินไปด้วยความเรียบง่ายของบทสนทนา แต่ทรงพลังไม่น้อยเมื่อผ่านการแสดงของตัวละครทั้งสอง ซึ่งไม่ได้สะท้อนให้เห็นแค่สภาพแวดล้อมรอบข้างที่กดดันพวกเธอไม่ให้สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ แต่ยังสะท้อนให้เห็นตัวตนของตัวละครหลักที่กลัวในการทลายกำแพงทางวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกลงในใจของเธอมาเป็นเวลาช้านาน จนเธอต้องยอมที่จะปิดบัง และซ่อนเร้นความรักครั้งนี้ไม่ให้ใครรู้ และแม้ว่าจะจบลงแบบสุขนาฏกรรม แต่ก็ต้องยอมรับว่าระหว่างทางอันแสนหนักหน่วงของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ทำเอาหญิงรักหญิงหลายคนขยาดไปตามๆ กัน พร้อมตั้งคำตามว่า “ถ้าในชีวิตจริงไม่ได้ง่ายอย่างที่ภาพยนตร์เป็นล่ะ”....



WATCH




     นอกจากภาพยนตร์หญิงรักหญิงจะถูกสร้างเป็นภาพยนตร์แนวดราม่าสะเทือนอารมณ์เป็นส่วนมากแล้วนั้น อีกหนึ่งประเภทที่ได้รับความนิยมก็คือ ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปในช่วงยุควิกทอเรียนเทือกๆ นั้น ดังเช่น "Portrait of a lady on Fire" (2014) กับเรื่องราวที่ฉายย้อนกลับไปในปี 1770 ณ ประเทศฝรั่งเศส จิตรกรนามว่ามาริยานน์ ถูกจ้างให้วาดภาพเหมือนของตัวละครเอลูอิส เพื่อใช้เป็นภาพดูตัวสำหรับการแต่งงาน ก่อนที่ระหว่างนั้น ความใกล้ชิดของทั้งคู่จะก่อเกิดความรู้สึกดีๆต่อกัน จนกลายเป็นความรักที่ถูกนำเสนอออกมาได้อย่างงดงาม และแตกต่างจากภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง อีกทั้งเส้นเรื่องความสำพันธ์ของตัวละครทั้งคู่ยังละเมียดละไม และประณีตราวกับงานศิลปะ จนไม่อาจจะเชื่อด้วยสายตาตัวเองว่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิงที่กำลังนั่งดูอยู่นั้นโอบล้อมไปด้วยความทุกข์ระทม ชอกช้ำ ในสมัยที่การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องต้องห้าม และสังคมปิตาธิปไตยเข้มข้นเสียจนเพศหญิงมีบทบาทความเป็นคนแค่หยิบมือ กระนั้นในช่วง 2-3 ปีมานี้ ภาพยนตร์หญิงรักหญิงแนวอิงประวัติศาสตร์แบบนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ผู้กำกับ เพราะเรายังได้เห็น The Favorite ภาพยนตร์ที่นำแสดงโดย Olivia Colman และ Ammonite ที่กวาดเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ไปได้อย่างล้นหลาม แต่กระแสนิยมกลับตรงกันข้าม...

     อีกหนึ่งภาพยนตร์แนวเลสเบี้ยนที่ผู้เขียนขอแนะนำให้หลายคนไปหามาดู ก็เห็นจะหนีไม่พ้น Carol ในปี 2015 ภาพยนตร์ดราม่าโรแมนติก เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในมหานครนิวยอร์ก ระหว่างช่วงยุค 1950s ที่สังคมแวดล้อมยังคงไม่เปิดกว้าง และยอมรับความรักระหว่างเพศเดียวกัน Carol (รับบทโดย Cate Blanchett) สาวสังคมชั้นสูงได้พบกับ Therese (รับบทโดย Rooney Mara) พนักงานในห้างสรรพสินค้าโดยบังเอิญจนเกิดเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของทั้งสองคน ท่ามกลางบรรยากาศสุดละมุน ภายใต้อาภรณ์แสนสง่างาม ที่กลายเป็นที่พูดถึงของคนแฟชั่นในเวลานั้น และการันตีด้วยการเข้าชิงออสการ์ถึง 6 สาขารางวัลมาแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่พูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้

     นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งจากพื้นที่อันกว้างขวางของจักรวาลภาพยนตร์หญิงรักหญิง ที่ยังคงซุกซ่อนอยู่ตามซอกหลืบต่างๆ รอให้ใครสักคนได้ค้นพบ ซึ่งหากพิจารณาให้ดีแล้วก็จะพบว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกได้ตีแผ่นำเสนอชีวิต และเรื่องราวของพวกเธอออกมาในมิติอันหลากหลาย แต่เพราะอะไรกันที่ทำให้ภาพยนตร์แนวหญิงรักหญิงยังไม่เป็นที่นิยมเทียบเท่าสื่อบันเทิงแนวชายรักชาย... อนึ่ง โลกสมมติอย่างโลกภาพยนตร์ได้แรงบันดาลใจมาจากโลกจริง และโลกแห่งความจริงก็ได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์เช่นเดียวกัน เมื่อ 2 สิ่งสะท้อนหาซึ่งกันและกันเช่นนี้แล้ว หากในโลกแห่งความเป็นจริงที่เลสเบี้ยน และความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงยังคงถูกมองข้าม ลืมเลือน และยังไม่เป็นที่คุ้นชินเหมือนดั่งความสัมพันธ์แบบชายรักชาย ก็เป็นไปได้ที่ความนิยมในภาพยนตร์ และสื่อบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงก็จะแปรผันตามกัน

     อีกหนึ่งเหตุผลที่หลายคนต่างตั้งข้อสังเกตต่อกระแสนิยมในภาพยนตร์หญิงรักหญิงที่มีน้อยกว่าก็คือ ภาพยนตร์หญิงรักหญิงส่วนมากมักถูกสร้างขึ้นท่ามกลางเนื้อเรื่อง บรรยากาศ และความรู้สึกร่วม ที่ “ไกลตัว” ผู้ชมมากเกินไป ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง The Favorite ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งนับเป็นภาพยนตร์ในกระแสหลัก การันตีจากการเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 10 รางวัลในปี 2019 (และส่งให้ โอลิเวีย โคลแมน คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ) ได้นำเสนอบรรยากาศ และตัวละครในยุคโบราณที่ห่างไกลออกไปจากปัจจุบัน นั่นจึงอาจทำให้ผู้ชมเข้าถึงได้ยากกว่า รวมไปถึงตอนจบของภาพยนตร์แนวหญิงรักหญิงหลายเรื่องที่เลือกจบแบบในโศกนาฏกรรม ก็กระทบต่อกระแสนิยมเช่นกัน หรือแม้แต่ในมิติของธุรกิจบันเทิง ที่ภาพยนตร์หญิงรักหญิงหลายเรื่องเป็นได้แค่ “ภาพยนตร์นอกกระแส” หรือ “ภาพยนตร์สร้างจากต้นทุนต่ำ” กอปรกับกระแสของซีรีส์ Y ที่เข้ามาเบียดบังความนิยมของภาพยนตร์แนวอื่นๆ ไปเสียหมดอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ในเวลนี้ ก็ยิ่งกดทับให้ภาพยนตร์แนวเลสเบี้ยนต้องสู้ยิบตาเพื่อลืมตาอ้าปากในจักรวาลโลกสมมติให้ได้

     ไม่ว่าคำตอบของคำถามที่ว่า “ทำไมภาพยนตร์เลสเบี้ยน หรือหญิงรักหญิง จึงไม่ค่อยได้รับความนิยม” จะออกมาเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจอยากให้ผู้อ่านทุกคนได้ตระหนัก และหวังว่าจะเกิดขึ้นในสังคมหลังจากที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้วก็คือ หลังจากนี้ไม่ว่าประเด็นของ LGBTQIA+++ จะถูกพูดขึ้นมาที่ไหน หรือเมื่อไหร่ ผู้เขียนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภาพของหญิงรักหญิงจะถูกฉายได้ชัดเจนมากขึ้นในความคิดของพวกคุณ และจะไม่ลืมเลือนพวกเธอเหมือนในอดีตที่ผ่านมา...

ข้อมูล : Wikipedia-A Florida Enchantment, www.goodhousekeeping.com, onceuponajrny.com, ดูหนังย้อนดูตน, The Guardian และ Teen Vogue

WATCH

คีย์เวิร์ด: #PrideMonth #LGBTQIA+ #LesbianMovies