LIFESTYLE

เมื่อวงการแฟชั่นโลกหันหน้าเข้าหาวัฒนธรรม K-pop หรือนี่คือสัญญาณเตือนว่า 'เคป็อปกำลังครองโลก'

การประกาศแต่งตั้งแบรนด์แอมบาสเดอร์เป็นศิลปินเคป็อปถี่ๆ ในช่วงนี้อย่างมีนัยยะสำคัญของแบรนด์แฟชั่นในตำนาน คือสิ่งที่การันตีว่า “เคป็อปครองโลก” แล้ว ใช่หรือไม่...

     คงไม่ต้องสาธยายให้มากความเกี่ยวกับอิทธิพลที่แผ่ขยายไปอย่างไพศาลของวัฒนธรรม K-pop กว่าทศวรรษที่วัฒนธรรมด้านบันเทิงของประเทศเกาหลีใต้ ตั้งตัว สร้างปรากฏการณ์ แทรกซึม และแผ่ขยายออกไป กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนทั้งโลก ดังที่รู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ตาม เด็กสาว และเด็กหนุ่มเกือบทุกเชื้อชาติไม่อาจปฏิเสธเรื่องนี้ได้ ขณะที่ตัวของพวกเขายัง(เคย)เป็นตัวตั้งตัวตีในการตั้งวงคัฟเวอร์ศิลปินที่ชื่นชอบ นำไปสู่วัฒนธรรมการจัดการแข่งขันคัฟเวอร์เพลงเกาหลีที่มีอยู่ทั่วทุกุมมโลก หรือแม้แต่พวกเขาก็มิอาจปฏิเสธได้ ขณะที่พวกเขายังคงพึมพำร้องท่อนฮุคของศิลปินเกาหลีวงดัง โดยที่ยังไม่ทันได้รู้ความหมายเลยสักคำ นั่นเองคือสิ่งยืนยันได้อย่างดี กระนั้นกระแสธารความนิยมในวัฒนธรรมเคป็อปก็ไม่เพียงไหลเอื่อยเข้าแทรกซึมชีวิตคนทั่วไป หากยังซัดสาดอย่างบ้าคลั่งปะทะเข้ากับวงการบันเทิงโลกให้สั่นไหวกันเล่นๆ เห็นได้ง่ายๆ จากตัวอย่างที่ 7 หนุ่มวง BTS ได้รับเทียบเชิญเข้าร่วมงาน Grammy Awards ถึง 2 ครั้ง 2 คราติดต่อกัน (และยังได้เข้าชิงรางวัลในปี 2021 แล้วเรียบร้อย) กระทั่งไปไกลถึงมีโอกาสถูกเรียนเชิญให้ขึ้นไปแสดงโชว์บนเวทีประกบกับศิลปินชื่อดัง Lil Nas X มาแล้ว หรือดอดไปร่วมงานออกซิงเกิ้ลกับเหล่าศิลปินชื่อดังคนอื่นๆ ก็ทำมาแล้ว ซึ่งนี่ยังไม่รวมถึงการออกซิลเกิ้ลภาษาอังกฤษทั้งเพลง และได้รับเชิญให้ไปออกรายการเรตติ้งสูงต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน

     ทว่าวัฒนธรรมเคป็อปก็ไม่ได้จบการเคลื่อนไหวแทรกซึมพื้นที่ร่วมระดับโลกลงเท่านั้น หากอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลกในเวลานี้ก็ยังนับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “เคป็อปคือทางรอด”... หากจะต้องเริ่มในประเด็นการยึดโยงกันระหว่างเคป็อปและวงการแฟชั่นโลก ก็คงจะต้องขอเริ่มง่ายๆ ใกล้ๆ กับปรากกการณ์การเรียกใช้งานเหล่าศิลปินเคป็อปหลายชีวิต ให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของแบรนด์แฟชั่นระดับโลก ตั้งแต่การส่งเทียบเชิญให้มานั่งดูแฟชั่นโชว์ฟรอนต์โรว์, การให้ตำแหน่ง Friend of Brand กับเหล่าศิลปินเคป็อปจากอีกฟากโลกง่ายดายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของหลายๆ เมซง ที่ถือตัวมาเกือบศตวรรษ ดังที่หลายคนคงเคยได้เห็นมาแล้วในกรณีของ เจนนี่แห่งวง Blackpink ที่ได้นั่งชมโชว์ของแบรนด์ CHANEL แบบกระทบไหล่กับทั้ง คาร์ดิ บี และแอนนา วินทัวร์ หรือแม้แต่ผู้มาก่อนกาลอย่าง จีดราก้อนแห่งวง BIGBANG ที่แบรนด์ในตำนานเดียวกันนี้ไว้วางใจถึงขนาดให้กลายเป็นหนึ่งในภาพลักษณ์ของ Gabrielle Bag กระเป๋ารุ่นฮิตของชาเนลไปได้อย่าง่ายดายเช่นกัน กระทั่งยังเชิญให้ทั้งคู่เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลกในที่สุด นอกจากนี้ยังมีสาวไทยในวัฒนธรรมเคป็อปอย่าง ลิซ่าแห่งวง Blackpink ที่ได้รับเทียบเชิญจากทั้ง PRADA, Celine และ BVLGARI ให้มาทำหน้าที่เดียวกัน แม้แต่หนุ่มลูคัสจากวง NCT เองก็ถูกดึงตัวจากแบรนด์ดังอายุกว่าร้อยปีอย่าง Burberry มาทำงานในฐานะของแบรนด์แอมบาสเดอร์ของแบรนด์ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ และล่าสุดที่เพิ่งประกาศออกมาสดๆ ร้อนๆ กับการแต่งตั้งให้ คิม จีซู แห่งวง Blackpink เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลกไม่ใช่แค่ไลน์แฟชั่น แต่ยังรวมไปถึงไลน์บิวตี้ของแบรนด์อีกด้วย ก่อนจะส่งท้ายกับ คิม จงอิน แห่งวง Exo ที่ได้เปิดตัวคอลเล็กชั่นที่ร่วมทำงานกับแบรนด์ Gucci ไปแบบสดๆ ร้อนๆ ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่นาน Fendi ก็เลือกแจ็คสันจากวง GOT7 มาทำงานร่วมเช่นเดียวกัน... (ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีอีกมากมายที่ผู้เขียนไม่ได้ยกเป็นตัวอย่างมาไว้ในที่นี้)

     เมื่อหลายคนที่ได้อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะมีข้อสงสัยคาใจว่า การตั้งแต่ง หรือการดึงตัว “คนชาติอื่น” โดยเฉพาะจากฝั่งเอเชียมาร่วมงานกับแบรนด์ใหญ่ๆ นั้นก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องใหญ่ หรือน่าสนใจอะไรนัก เพราะเมื่อสำรวจให้โดยรอบแล้ว สองนักแสดงสาวไทยอย่าง ญาญ่า-อุรัสยา และใหม่-ดาวิกา ก็ยังได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่เป็นเฟรนด์ของแบรนด์ Louis Vuitton และ Gucci ตามลำดับด้วยเช่นกัน แต่หากคุณได้ลองพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้วคุณก็จะพบว่าสัดส่วนในการเลือกให้ “ศิลปินเกาหลี” เป็นหน้าตาของแบรนด์นั้นมีมากกว่า (ทุกๆ ชาติในแถบเอเชีย) อีกทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนถึงกระทั่งที่โลกใบนี้เหวี่ยงทุกคนให้เข้าสู่ยุคมืดอีกครั้งจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น การเทียบเชิญให้เหล่าศิลปินเกาหลีเข้าร่วมงานกับเมซงแฟชั่นนั้นถี่ขึ้น และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จนอาจกล่าวได้ว่าตอนนี้โลกแฟชั่นสากลกำลังหันหน้าเข้าหาวัฒนธรรมเคป็อปอย่างจริงจังก็เป็นได้ ด้วยอิทธิพลที่กว้างขวาง และเข้มข้นที่แฝงตัวอยู่ในสำนึกร่วมสากลในเวลานี้คือเคป็อปดังที่กล่าวไปแล้ว มีหรือที่แบรนด์แฟชั่นในยุคโควิด-19 ที่พยายามขุดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาโชว์แทบตาย แต่เรตติ้งความนิยมกลับตกเอาๆ แบบนี้จะไม่มองว่านี่คืออาหารอันโอชะ ที่จะช่วยให้แบรนด์ของพวกเขานั้นรอดไปจากสถานการณ์เลวร้ายนี้ไปได้ และการแต่งตั้งใครสักคนให้ขึ้นมาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ หรือร่วมงานด้วยนั้น ก็มีผลกับทั้งเรื่องของภาพลักษณ์ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแบรนด์โดยตรงอยู่แล้ว (ซึ่งทุกแบรนด์รู้กันว่าแฟนคลับชาวเอเชียนนั้น มีกำลังซื้อมหาศาลแค่ไหน) คิดง่ายๆ กับวงการนิตยสารแฟชั่นที่ใช้ความพยายามสุดความสามารถในการแย่งชิงตัวศิลปินเกาหลีชื่อดังที่กำลังอยู่ในกระแสนิยมมาขึ้นปกเพื่อเพิ่มยอดขายในแต่ละเดือน ซึ่งภาคส่วนของธุรกิจแฟชั่นเสื้อผ้าก็ไม่ต่างกัน ที่กลยุทธ์นี้นี่เองที่ทำให้เหล่าศิลปินเคป็อปเข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกแฟชั่นยุคโควิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนบางครั้งเราก็แอบจำไม่ได้แล้วว่าเซเลบริตี้ฝั่งฮอลลีวู้ดหลายชีวิตก็ยังทำหน้าที่เดียวกันนี้อยู่ด้วยเช่นกัน



WATCH




     เช่นนี้แล้วถึงเวลาจริงๆ แล้วหรือยังที่เราจะสามารถพูดได้ว่า “วัฒนนธรรมเคป็อปครองโลก”....

     จะว่าอย่างนั้นก็คงจะไม่ได้ผิดสักเท่าไหร่ เพราะหากมองโดยภาพรวมแล้ววัฒนธรรมเคป็อปที่ว่านี้ได้แตะจุดสูงสุดของแต่ละวงการระดับสากลมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น (ในที่นี้ผู้เขียนขอหมายรวมถึงความสำเร็จของภาพยนตร์ Parasite บนเวทีออสการ์ไว้ด้วย) และนี่เองคือบทเรียนสำคัญที่จะฉายภาพให้อีกหลายประเทศทั่วโลกได้เห็นว่า โลกในยุคปัจจุบันนี้มิได้ช่วงชิงพื้นที่อณานิคมด้วยการรบราฆ่าฟันโดยยุทโธปกรณ์รถถัง หรือเรือดำน้ำอีกต่อไป หากปะทะกันด้วยก่อสร้างให้แข็งแกร่ง และเชิดชูวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์อันโดดเด่นในภูมิภาคตัวเองให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างอำนาจต่อรองจากวัฒนธรรมที่สามารถสร้างภาพลักษณ์ และรายได้มหาศาลดังกล่าวให้แผ่ขยายไปทั่วทุกมุมโลกต่างหาก ซึ่งขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนข้อเขียนนี้เองก็ยังไม่อาจจะประเมินได้แน่ชัดว่า อิทธิพลของวัฒนธรรมเคป็อปนี้จะรุ่งเรืองถึงขีดสุดไปได้ไกลแค่ไหน หากก็ต้องยอมรับว่าในฐานะของสื่อแฟชั่น และคนแฟชั่นก็ต้องจับตามองเหล่าศิลปิน (ผู้เป็นผลผลิตจากวัฒนธรรมเคป็อป) เหล่านี้เอาไว้ให้ดีๆ

WATCH

คีย์เวิร์ด: #KPopCulture