food-binding-china-chinese-culture
LIFESTYLE

ความงามที่แลกมาด้วยความเจ็บปวด.. ย้อนรอยประเพณีการรัดเท้าของสตรีจีนยุคโบราณ

มาตรฐานความสวยงามที่ถูกตีกรอบไว้ในแต่ละยุคสมัย แต่เบื้องหลังค่านิยมเหล่านี้ก็ยังกักเก็บความทรมานไว้จนถูกจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์เช่นกัน...

       บันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์มักจะพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับความงดงามที่แลกมาด้วยความเจ็บปวดของสตรียุคโบราณอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการรัดคอร์เซ็ตเพื่อให้เอวคอด การถอนไรผมและการกำจัดขนตาของสตรีในยุคเรเนซองส์ หรือการฝังจานที่ปากของสตรีในชนเผ่าเซอร์มา ทั้งหมดนี้เป็นเพียงนิยามของความงดงามที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้สตรีเป็นที่ยอมรับในสังคม หรือแม้แต่เป็นไปตามมาตราฐานความสวยงามที่ถูกตีกรอบไว้ในแต่ละยุคสมัย อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังค่านิยมเหล่านี้ก็ยังกักเก็บความทรมานไว้จนถูกจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์เช่นกัน

food-binding-china-chinese-culture

       ภาพ: Greelane

 

       การรัดเท้าก็เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่แลกมาด้วยความเจ็บปวดเช่นเดียวกัน โดยประเพณีนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคต้นของศตวรรษที่ 10 หรือสมัยราชวงศ์ถังใต้ โดยอ้างกันว่า มีนางกำนัลผู้หนึ่งต้องการทำให้จักรพรรดิพอพระทัย จึงนำผ้าที่ทำจากแพรไหมที่สวยงามมารัดเท้าจนเรียวเล็กคล้ายกับรูปทรงของพระจันทร์เสี้ยวขณะร่ายรำ และนั่นทำให้จักรพรรดิพอพระทัยอย่างมาก แฟชั่นการรัดเท้าจึงกลายมาเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายสำหรับสตรีชาวจีนโบราณ โดยเริ่มต้นจากสังคมชนชั้นสูงไปสู่สามัญชนชาวจีนทั่วไป  เรื่องเล่าขานเหล่านั้นทำให้ชาวจีนโบราณเชื่อว่าการที่ผู้หญิงมีเท้าเล็กเหมือนดอกบัวนั้นบ่งบอกถึงการมาจากตระกูลผู้ดี เป็นสตรีที่มาจากครอบครัวชนชั้นสูง หรือแม้กระทั่งการรัดเท้าสวยจะส่งผลต่อชีวิตคู่ของพวกเธอเช่นกัน

food-binding-china-chinese-culture

ภาพ: Catdumb

 

       การเริ่มต้นรัดเท้าจะนิยมรัดให้เด็กตั้งแต่อายุ 4-7 ขวบ เพราะกระดูกยังอ่อนและจะสามารถไปขัดขวางการเจริญเติบโตของกระดูกได้ ขั้นตอนของประเพณีนี้เริ่มต้นด้วยการเลือกวันมงคลในปฏิทิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกรัดเท้ากันในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ว่ากันว่าความเย็นจะทำให้เท้ารู้สึกชาและสามารถบรรเทาความเจ็บปวดนี้ได้ โดยเริ่มจากการนำเท้าไปแช่น้ำสมุนไพรและเลือดสัตว์เพื่อให้เท้าอ่อนนุ่ม มีการทำความสะอาดเล็บเท้า หรือบางคนก็เลือกที่จะถอดเล็บเท้าออกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลังจากนั้นดันนิ้วโป้งขึ้นพร้อมกับพับนิ้วเท้าอีก 4 นิ้วลงจนผิดรูปมาที่ฝ่าเท้า นำผ้าหุ้มเท้ามารัดเท้าให้แน่นและเย็บด้วยผ้าชั้นนอกอีกครั้งเพื่อป้องกันการขยับจากการเคลื่อนไหว โดยผู้ที่สามารถทำการรัดเท้าจะต้องเป็นคนเฒ่าในครอบครัวหรือผู้ที่เชี่ยวชาญในการรัดเท้าเท่านั้น และช่วงเวลาหลังจากนั้นคือจุดเริ่มต้นของความทรมานจะเริ่มขึ้นต่อเนื่องยาวนานไปถึง 3 ปี แต่ก็จะมีการถอดผ้าออกมาเพื่อทำความสะอาดหรือตัดเล็บบ้างในบางครั้ง



WATCH




food-binding-china-chinese-culture

ภาพ: Sanskritbook

 

       จุดมุ่งหมายของประเพณีนี้ คือการรัดเท้าให้หดลงเหลือเพียง 3-5 นิ้วเท่านั้น โดยมีการเรียกชื่อเท้าแต่ละขนาดแตกต่างกันออกไป 'สามนิ้วดอกบัวทองคำ' คือชื่อเรียกเท้าที่มีขนาดไม่เกิน 3 นิ้ว ส่วนเท้าที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 นิ้วแต่ไม่เกิน 4 นิ้ว จะถูกเรียกว่า 'เท้าดอกบัวเงิน' ส่วน 'ดอกบัวเหล็ก' เป็นชื่อเรียกเท้าที่มีขนาดเกิน 4 นิ้วขึ้นไป ว่ากันว่าเท้าที่มีขนาด 4 นิ้วพอดี ถือเป็นขนาดเท้าที่มีเสน่ห์ น่าทะนุถนอม และจะกลายเป็นจุดดึงดูดสายตาหนุ่มๆ ที่สุดในยุคนั้น ถึงขั้นมีคัมภีร์เพศศึกษาบันทึกท่วงท่าของการรัดเท้าไว้เลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าครอบครัวชาวจีนยุคนั้นก็เชื่อว่ามันเป็นวิธีที่จะเพิ่มโอกาสให้ลูกสาวของพวกเขาได้แต่งงานและมีสามีที่ดี ร่ำรวย เพราะสมัยนั้นการที่ชีวิตของผู้หญิงจะสบายหรือลำบากมักจะขึ้นอยู่กับสามีเป็นคนกำหนด 

       ในขณะเดียวกันก็นำพามาซึ่งความเจ็บปวดและความทรมานในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะการเคลื่อนไหวที่ยากลำบาก รวมถึงสุขภาพของสตรียุคนั้นเช่นกัน บ่อยครั้งที่การรัดเท้าจะมีการติดเชื้อจนคร่าชีวิตของหญิงสาวชาวจีนไปไม่น้อย เนื่องจากเชื้อโรคถูกสะสมไว้ที่เท้าและเท้าไม่ได้รับการดูแล จนเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งชาวตะวันตกเข้าไปศึกษาและทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพบว่าเล็บเท้าที่งอกออกมาจะฝังตัวเข้าไปในเนื้อเท้าจนทำให้เกิดการติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด 

food-binding-china-chinese-culture

ภาพ: Sanskritbook

 

       ค่านิยมการรัดเท้าเป็นที่นิยมต่อเนื่องนานถึง 1,000 ปี จนกระทั่งยุคที่ราชวงศ์ชิงล่มสลายลง วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทหลายด้านในประเทศจีน ทำให้เริ่มมีกระแสต่อต้านมากมายเกี่ยวกับประเพณีนี้ โดยมิชชันนารีที่สอนเด็กนักเรียนหญิงแสดงออกอย่างชัดเจนว่ามันเป็นประเพณีที่ล้าหลังและป่าเถื่อนเกินไปสำหรับมนุษย์ อย่างไรก็ตามช่วงแรกหลายคนก็ยังมองว่ามันคือสิ่งที่ต้องทำเพราะเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมา แต่หลังจากนั้นมาก็เริ่มมีเสียงที่ไม่เห็นด้วยจากชาวจีนรุ่นใหม่ และเริ่มมีการออกมาต่อต้านประเพณีการรัดเท้านี้ จนในที่สุดช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก็มีการก่อตั้งสมาคมที่สนับสนุนเท้าที่เป็นธรรมชาติอย่างเป็นทางการ การรัดเท้าก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงในศตวรรษที่ 20 จนกลายเป็นสิ่งที่ห้ามทำและผิดกฎหมายในเวลาต่อมา อีกทั้งยังมีสตรีชาวจีนจำนวนมากที่รัดเท้าเหมือนดอกบัวยังถูกเมินเพราะมันกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์อีกต่อไป 

       

       ความงดงามของเท้าที่ถูกรัดให้มีขนาดเล็กคล้ายกับดอกบัว เปรียบเสมือนกรอบที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้สุภาพสตรีชาวจีนยุคโบราณเป็นไปตามสิ่งที่สังคมชายเป็นใหญ่เป็นผู้กำหนด ทั้งการเป็นที่ยอมรับในสังคมและอนาคตของชีวิตคู่ของพวกเธอเช่นกัน แต่ในปัจจุบันการรัดเท้าไม่ใช่แฟชั่นที่ชวนทำตามอีกต่อไป ทั้งยังถือเป็นประวัติศาสตร์แห่งความทรมานและความเจ็บปวดสำหรับสุภาพสตรีชาวจีนอีกด้วย

ข้อมูล : Historyofyesterday, Smithsonianmag, Thoughtco
ภาพ : Rakdok
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim

WATCH

คีย์เวิร์ด: #FoodBinding #Chinese #Chineseculture #Culture