LIFESTYLE

'หนังโรง' อาจสูญสิ้นในยุค 2020 เมื่อฝรั่งเศสและเยอรมันประกาศปิดโรงภาพยนตร์เป็นรอบที่ 2

เมื่อภาพยนตร์คือความบันเทิงอยู่คู่คนทั้งโลกมาหลายสิบปี วันนี้อาจต้องคิดกันใหม่ว่าโรงภาพยนตร์จะเป็นสถานที่หลักในการเสพความบันเทิงต่อไปไหมในอนาคต

     สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีคนนับล้านๆ หลายประเทศต้องปิดสถานที่บางประเภทเพื่อป้องกันโรค วันเวลาผ่านไปสักพักหนึ่งสถานการณ์เหมือนจะดีขึ้น หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการผ่อนปรนเปิดกิจการได้อย่างมีกฎเกณฑ์ชัดเจน โรงภาพยนตร์ก็เป็นหนึ่งในนั้นเริ่มแรกที่แห่งเป็นสถานที่แรกๆ ที่ต้องปิดล็อคดาวน์ เพราะด้วยความใกล้ชิดของผู้ชมทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส มันเหมือนเป็นการปิดปากทางความอยู่รอดของผู้เกี่ยวข้องกับวงการจอเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาพ: Virgin Experience Days

     ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน มีการปิดโรงภาพยนตร์ทั่วโลกแบบไม่มีข้อแม้ ผู้ประกอบการทั้งเจ้าของภาพยนตร์ไปจนถึงทีมงานของภาพยนตร์แต่ละเรื่องเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง ภาพยนตร์ดังระดับโลกหลายสิบเรื่องต้องเลื่อนตารางการเข้าฉายสู่ช่วงปลายปี 2020 ไปจนถึงปี 2021 หรือบางเรื่องมีการเปลี่ยนกำหนดการไปถึงปี 2022 แล้วเพราะติดปัญหาเรื่องการเดินทางถ่ายทำ ช่วง 2-3 เดือนหลังนี้ก็นับว่าเหมือนมีแสงสว่างคอยสร้างความหวังให้ทุกคนเสมอว่าสถานการณ์ดีขึ้นและทุกคนจะกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้านี้มากขึ้น ทว่าความจริงมันไม่ได้สวยงามแบบนั้น

ภาพ: Sortir a Paris

     เดือนตุลาคม 2020 เหตุการณ์อันน่าขนลุกของแวดวงภาพยนตร์เกิดขึ้นอีกครั้ง! รัฐบาลของ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ในสหภาพยุโรปอย่างฝรั่งเศสและเยอรมันประกาศปิดโรงภาพยนตร์อีกครั้ง ในขณะที่อังกฤษและประเทศอื่นๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกาก็มีมาตรการคุมเข้มในเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้ผู้เกี่ยวข้องพยายามผลักดันให้มั่นใจในการเข้าชมภาพยนตร์ในโรงมากขึ้น ผลงานหลายชิ้นถูกนำมาฉายตามกำหนดเวลาที่เลื่อนไปจากเดิมไม่มากนัก แต่การปิดอีกครั้งเรียกว่าปิดประตูตอกฝาโลงเลยก็ว่าได้ เพราะมันได้รับผลกระทบอย่างหนักยิ่งกว่าครั้งแรกเสียอีก



WATCH




ภาพ: Ellis Williams Architects

     หลายคนอาจตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรกันต่อไปหรือแม้แต่จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ อย่างแรกสุดเลยคือการวางแผนเข้าฉายภาพยนตร์ที่ต้องคิดรอบคอบมากขึ้น การเข้าใจในตลาดและระเบียบสังคมของแต่ละประเทศมากยิ่งขึ้น สิ่งนี้คือโจทย์หลักที่ยากจะวางแผนให้สอดคล้องได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตอนนี้คิวภาพยนตร์ที่ลงทุนมหาศาลก็อยากรีบเข้าฉายในขณะเดียวกันก็กลัวทำยอดรายได้ได้ไม่ตามเป้า จุดนี้จึงเป็นความลักลั่นที่ไม่มีใครอยากเผชิญ

ภาพ: TimeOut

     แล้วอนาคตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะเป็นเช่นไร...เรื่องนี้เราก็คงได้แต่คาดเดา แต่ที่แน่ๆ จากการประเมินอย่างมีหลักเหตุและผล จะเห็นว่าภาพยนตร์ต้องมองภาพใหญ่และปรับมุมมองเสียใหม่ว่า โลกยุคใหม่นี้ความบันเทิงแบบมีข้อจำกัด (ต้องไปชมในที่เฉพาะ) กลายเป็นทางเลือกรองลงมา ไม่เหมือนกับการชมแบบ On-Demand ที่มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นมาก เมื่อมนุษย์มีทางเลือกในด้านต่างๆ น้อยลง พวกเขาก็อยากจะเลือกในสิ่งที่ยังเลือกได้อยู่เพื่อตอบสนองความสะดวกสบายและเหมาะกับสถานการณ์มากที่สุด ตามหลักการใช้ชีวิตยุคใหม่โรงภาพยนตร์อาจตอบสนองความบันเทิงแบบเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์แต่กลับไม่ตอบสนองการใช้ชีวิตล้อไปกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

     การปิดโรงภาพยนตร์ครั้งนี้ล่ะเป็นเหมือนบททดสอบว่าสถานที่แห่งนี้มีรากฐานแข็งแกร่งและกลายเป็นสถานที่ที่มนุษย์ขาดมันไปไม่ได้หรือไม่ หากการปลูกฝังความคิดยังไม่ลึกพอประกอบกับการจนปัญหาวิธีดำเนินงานต่อได้อย่างปลอดภัยในสถานการณ์แบบนี้ รับรองเลยว่าต่อไปแวดวงภาพยนตร์เองอาจต้องคิดกันใหม่ว่า “โรงภาพยนตร์อาจไม่ใช่ที่ของทุกคนอีกต่อไป” ในมุมมองของผู้สร้าง(สร้างลงแพลตฟอร์มออนไลน์อาจจะได้ผลกว่า) และผู้บริโภคเองก็ได้เวลาตอบคำถามตัวเองว่าวิถีแบบใหม่ที่สะดวกสบายขึ้นจะทดแทนความเพียบพร้อมของโรงภาพยนตร์จริงๆ หรือไม่ อนาคตกำลังจะเป็นตัวตัดสินเรื่องนี้อย่างดีที่สุดโดยมีเวลาเป็นเครื่องชี้ขาด

WATCH