LIFESTYLE

ศิลปินกราฟิตี้แถวหน้าของไทย Alex Face ยืนหยัดทำสิ่งที่รักแม้ในวันที่ถูกสังคมตั้งคำถาม

Alex Face ศิลปินกราฟิตี้ที่เรียกได้ว่ามีผลงานเป็นที่รู้จักและมีแฟนคลับมากที่สุดคนหนึ่งในเมืองไทย

ศิลปินคนสุดท้ายจากโปรเจกต์ Vogue Hope ที่เราจะพาไปพูดคุยเปิดโลกศิลปะคือศิลปินกราฟิตี้ที่เรียกได้ว่ามีผลงานเป็นที่รู้จักและมีแฟนคลับมากที่สุดคนหนึ่งในเมืองไทย “Alex Face” ล่าสุดผลงานของเขาในโปรเจกต์ Vogue Hope ถูกตั้งราคาไว้สูงที่สุด

 

V: จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่โลกของศิลปะของ Alex Face

A: พื้นฐานด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัด โตมากับชนบท รอบๆ บ้านจะเป็นทุ่งนา จะไม่มีแสงสีเสียงอะไรทั้งสิ้น โตมากับธรรมชาติ ท้องนา คลอง เราเลยต้องหาอะไรเล่นเอง เอาดินเหนียวมาปั้นเล่น ว่างๆ ก็วาดรูปเล่นในสมุด ไม่ได้มีอุปกรณ์ดีๆ อะไร แล้วก็ไม่ได้มีครูสอนศิลปะด้วย ทุกอย่างเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการเล่น ซึ่งค่อนข้างจะแตกต่างกับเด็กที่เกิดในยุคนี้มาก พอมองย้อนกลับไปผมว่าการเล่นสนุกเหล่านั้นมันช่วยฝึกทักษะทางด้านศิลปะของผมในขั้นต้นโดยไม่ตั้งใจ

มาเรียนศิลปะจริงจังตอนที่อยู่มัธยมต้น ผมกลายเป็นเด็กกิจกรรมเพราะได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งวาดรูปที่นั่นที่นี่ ซึ่งแข่งจริงจังมาก ฝึกซ้อมทุกวัน มีโปรแกรมแข่งเกือบทุกเดือนตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งมันทำให้เรารู้จักตัวเองชัดเจนแล้วว่าเราชอบทางนี้ พอจบมัธยมต้นผมเลยเลือกไปเรียนต่ออาชีวศึกษา ซึ่งเป็นช่วงที่ผมได้ฝึกเทคนิคจริงๆ ได้ทดลองการใช้สีหลากหลายรูปแบบ ผมเรียนรู้เทคนิคได้เยอะจากการเรียนอาชีวศึกษา หลังจากนั้นพอเข้ามหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่เราจะฝึกแนวความคิดเสียเป็นหลัก ฝึกทำความเข้าใจกับตัวเอง และในช่วงนี้เองที่ผมได้ทำความรู้จักกับศิลปะการพ่นสีบนกำแพง ซึ่งเป็นสิ่งที่เลือกทำมาจนถึงทุกวันนี้

V: มาสนใจกราฟิตี้ได้อย่างไร

A: เริ่มมาจากกลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจทางด้านกราฟิตี้เหมือนกัน ในช่วงนั้นวัฒนธรรม “ฮิปฮอป” กำลังเข้ามาแพร่หลายในเมืองไทย ซึ่งเราชื่นชอบวัฒนธรรมนี้ไม่ว่าจะเป็นจังหวะเพลงหรืองานศิลปะ ผมกับเพื่อนๆ เลยลองรวมกลุ่มกันพ่นงานดู พอได้ลงมือทำรู้สึกสนุกมาก เรียกว่าเป็นการเปิดโลกศิลปะอีกใบของเราเลย

 

V: เสน่ห์ของกราฟิตี้

A: เสน่ห์ของกราฟิตี้คือมันเป็นเทคนิคที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว และสามารถสื่อสารกับคนหมู่มากได้ สมัยมหาวิทยาลัยผมเรียนวิจิตรศิลป์ภาพพิมพ์ ซึ่งการทำภาพพิมพ์เป็นเทคนิคที่ใช้เวลามาก มีขั้นตอนการทำงานที่ต้องอาศัยความละเอียดประณีต พอเรามาจับกระป๋องเสปรย์มันคนละเรื่องเลย จากภาพพิมพ์ที่ทำกันเป็นวันเป็นเดือน เปลี่ยนมาพ่นกราฟิตี้ 5 นาทีเสร็จ แล้วผลงานของเรามันก็ไปปรากฏอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่คนหมู่มากมองเห็น สำหรับผมมองว่าเป็นเหมือนการประกาศตัวตนของเราให้โลกได้รู้จัก ลึกๆ แล้วกราฟิตี้ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีตัวตน ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดียแพร่หลายเหมือนทุกวันนี้ การพ่นสีจึงเป็นเหมือนพื้นที่แสดงความคิดเห็นที่เปิดโอกาสให้เราได้พูดเนื้อหาบางอย่างกับคนที่ผ่านไปมา

ตั้งแต่นั้นมาเวลาไปไหนมาไหนก็จะติดนิสัยชอบมองข้างทางเพื่อหาสถานที่ต่างๆ ที่สามารถไปสร้างงานศิลปะได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกตึกร้าง หลักๆ คือต้องเป็นพื้นที่ที่เราไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของที่เขา อย่างเช่นกำแพงที่มีการทุบทำลายไปส่วนหนึ่งแล้ว

V: เมื่อพูดถึงการพ่นสีตามกำแพง ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนมากกำลังนึกถึงภาพกำแพงที่ฉาบพ่นไปด้วยชื่อตัว หรือชื่อสถาบันของกลุ่มคนที่ถูกนิยามว่า “เด็กมือบอน” ซึ่งเป็นภาพลบในสายตาของคนไทยมาโดยตลอด

A: ตอนที่เริ่มไปพ่นกราฟิตี้มีคนไม่เข้าใจเราเยอะครับ เอาง่ายๆ อย่างเพื่อนเราเองที่เรียนศิลปะด้วยกันยังไม่เข้าใจเลย มีคนตั้งคำถามเยอะว่าจะพ่นเพื่ออะไร ซึ่งในช่วงแรกเราก็ยอมรับว่าเรามือบอนจริงอย่างที่เขาว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราอยากทดลอง มีความคึกคะนองอยู่ในตัวสูง



WATCH




V: ไปพ่นสีตามสถานที่ต่างๆ แบบนี้…มีอุปสรรคบ้างไหม

A: อุปสรรคมีตามทางเลยครับ ตั้งแต่เริ่มไปพ่นก็โดนไล่บ้าง โดนเขามาด่าบ้าง ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าทุกวันนี้พอเราเริ่มมีคนรู้จักแล้ว จะไม่โดนไล่ ไม่จริงนะครับ ทุกวันนี้ก็ยังโดนไล่อยู่ (หัวเราะ) หนักสุดคือต้องย้ายออกจากหอพักในย่านมหาวิทยาลัยเพราะพ่นสี

ที่บอกว่าทุกวันนี้ยังโดนเจ้าของที่เขาไล่อยู่ มันแสดงให้เห็นว่าคัลเจอร์นี้ยังไม่ได้รับการยอมรับจากทุกคน เป็นเพียงสิ่งที่เราเข้าใจกันในกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลายโปรเจกต์ที่ผมไปทำแล้วได้รับเสียงตอบรับในแง่บวก เช่น เมืองเก่าที่เขาอยากนำสตรีตอาร์ตไปใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยว คนที่ชอบงานอาร์ตเขาก็จะไปถ่ายรูปกัน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับแหล่งท่องเที่ยวของเมืองนั้นๆ ซึ่งจริงๆ แล้วโมเดลนี้มันมีอยู่ทั่วโลกครับ หลายเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ ของโลกก็ใช้สตรีตอาร์ตเข้ามาเป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นกัน

V: ทำไมคาแร็กเตอร์ของ Alex Face ต้องเป็นเด็กที่พูดประเด็นหนัก

A: งานของผมส่วนใหญ่จะเป็นการถ่ายทอดประเด็นต่างๆ ทางสังคมที่ผมได้รับรู้มาและอยากจะถ่ายทอดผ่านคาแร็กเตอร์ตัวนี้ซึ่งเป็นเด็ก เพราะผมว่าเรื่องสังคม ไปจนถึงการเมือง มันอยู่ใกล้ตัวเรานิดเดียว การเลือกคาแร็กเตอร์ที่เป็นเด็กมานำเสนอมันเป็นการตั้งคำถามว่าเด็กในประเทศเราจะโตขึ้นมาในสังคมแบบไหน ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าเด็กในภาพเขาทำหน้าฉงนอยู่ตลอด เขาสงสัยในอนาคตของตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่ทุกงานที่เราจะพูดประเด็นหนักนะครับ ขึ้นอยู่กับโจทย์ของงานนั้นๆ ด้วย

V: คำถามนี้ไม่ถามไม่ได้…ความหวังของ Alex Face คืออะไร

A: ผมว่าสิ่งที่ทำให้ทุกคนมีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ก็คือ “ความหวัง” นี่แหละครับ ถ้าเกิดคนเราไม่มีหวังก็คงหมดกำลังใจในการมีชีวิตต่อ ไปรู้ว่าจะอยู่ไปเพื่ออะไร สำหรับผมในฐานะพ่อ ก็ฝากความหวังไว้กับรุ่นลูก ครั้งนี้ผมถ่ายทอดออกมาผ่านผลงานในโปรเจกต์ Vogue Hope ซึ่งนำแรงบันดาลใจมาจากสถานการณ์ช่วงโควิดที่ทำให้ผมได้อยู่บ้านเยอะ ผมจึงนำเสนอศิลปะ Still Life หรือหุ่นนิ่งแบบจัดวาง ซึ่งเป็นพื้นฐานของศิลปะ ผนวกเข้ากับดอกไม้ซึ่งเป็นตัวแทนของความเปราะบาง ความเสื่อมสลาย และการเริ่มต้นใหม่ จึงออกมาเป็นภาพ Hope (Still Life) อย่างที่ได้ชมกันครับ

 

โดยภาพ Hope (Still Life) ของ Alex Face จากโปรเจกต์ Vogue Hope นี้จะถูกนำไปจัดแสดงที่งาน Vogue Hope at Siam Center ในวันที่ 3-10 กันยายนนี้  ที่ชั้น 1 โซนเอเทรียม ติดต่อจองภาพได้ที่ โทร. 094-289-4370 รายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้มูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล

WATCH