Vogue Scoop, #VogueScoop, Kim Jones, Pharrell Williams Louis Vuitton, Pharrell Williams, JW Anderson, Jonathan Anderson, Miuccia Prada, Peter Do
FASHION

‘Double Identities’ เปิดโลกดีไซเนอร์ชั้นนำที่กุมบังเหียนแบรนด์ดัง 2 แบรนด์ในเวลาเดียวกัน

#VogueScoop เจาะลึกเส้นทางและวิถีความยิ่งใหญ่ที่ทำให้ดีไซเนอร์ระดับแถวหน้าบางคนต้องเฟ้นหาเส้นทางความสร้างสรรค์และออกแบบวิธีการทำงานอย่างหนักเพื่อผลิตผลงานอันสอดคล้องกับอัตลักษณ์ทั้ง 2 แบรนด์หรือมากกว่า

โลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความรวดเร็ว บุคคลสำคัญผู้ต้องบังคับหางเสือให้กับแบรนด์แฟชั่นย่อมต้องใส่ใจและลงแรงกับมันอย่างต่อเนื่องชนิดไร้ซึ่งเวลาพัก การทำงานดั่งเครื่องจักรแฟชั่นกลายเป็นรูปแบบการทำงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความเก่งกาจในการสรรสร้างแฟชั่นอีกมิติหนึ่ง สำหรับคนส่วนใหญ่การควบคุมดูแลคอลเล็กชั่นในแต่ละช่วงเวลาของแบรนด์ในรอบปีหนึ่งก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว แต่สำหรับดีไซเนอร์หรือผู้อำนวยการสร้างสรรค์บางคนนั้นแสดงความน่าทึ่งด้วยการควบคุมดูแลแบรนด์แฟชั่นพร้อมกันถึง 2 แบรนด์ สถานะหัวเรือใหญ่ของพวกเขาจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 บทบาทอย่างชัดเจน

Vogue Scoop, #VogueScoop, Kim Jones, Pharrell Williams Louis Vuitton, Pharrell Williams, JW Anderson, Jonathan Anderson, Miuccia Prada, Peter Do

#VogueScoop ในครั้งนี้จะพาแฟนโว้กทุกคนท่องไปในโลกของเหล่าหัวเรือใหญ่ภายใต้คอนเซปต์ ‘Double Identities’ หรืออัตลักษณ์ 2 รูปแบบที่ต้องแสดงออกผ่านการทำงานกับ 2 แบรนด์ หรือมากกว่านั้น ปัจจุบันมีผู้อำนวยการสร้างสรรค์จำนวนหนึ่งกำลังเนรมิตผลงานการออกแบบให้กับแบรนด์แฟชั่นที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันอย่างชัดเจน นี่คือปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายในเชิงความสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันก็แสดงถึงความยอดเยี่ยมในการสรรสร้างทุกสิ่งอย่างพร้อมกันในเวลาจำกัด

Vogue Scoop, #VogueScoop, Kim Jones, Pharrell Williams Louis Vuitton, Pharrell Williams, JW Anderson, Jonathan Anderson, Miuccia Prada, Peter Do

  • Kim Jones – Dior Men & Fendi

เมื่อพูดถึงดีไซเนอร์ผู้รับบทผู้คุมหางเสือแบรนด์ระดับชั้นนำของโลกคงต้องนึกถึง Kim Jones เป็นชื่อแรกๆ บัณฑิตจากสถาบัน Central Saints Martin ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบเสื้อผ้าบุรุษ เขาเริ่มสร้างชื่ออย่างเป็นทางการกับ Louis Vuitton ซึ่งเขาใช้เวลาร่วม 7 ปีในแบรนด์หัวแถวจากกรุงปารีส ต่อมาในปี 2018 เขาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสร้างสรรค์ของ Dior Men แทนที่ของ Kris Van Assche และเริ่มสร้างเส้นทางความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ด้วยการออกแบบชุดให้กับ David Beckham ในพิธีเสกสมรสของ Prince Harry และ Meghan Markle และแน่นอนว่าคอลเล็กชั่นจากดิออร์ฝีมือคิม โจนส์ก็ไม่เคยทำให้สาวกแฟชั่นผิดหวัง เขานำกลิ่นอายสตรีตแวร์มาคลุกเคล้าเข้ากับงานเทเลอริ่งเนี้ยบประณีต และเส้นสายลายเซ็นของเมซงอย่างมีนัยสำคัญ เขาหยิบจับไอเท็มและคติความงดงามในอดีตของดิออร์มาแปลงโฉมเป็นแฟชั่นยุคโมเดิร์นที่เลียนล้อไปตามยุคสมัย อีกทั้งยังสรรสร้างโชว์ระดับพระกาฬที่ได้รับการพูดถึงทุกครั้งในช่วงปารีสแฟชั่นวีกของฟากบุรุษ และเมื่อปี 2020 เขาก็กลายเป็นหัวเรือใหญ่ควบตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างสรรค์ของแบรนด์ Fendi ครั้งนี้เขาได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลเกี่ยวกับเสื้อผ้าสตรี หลังจาก Karl Lagerfeld เสียชีวิต ยุค ‘Post-Karl’ ของเฟนดิเต็มไปด้วยกลิ่นอายความเรียบง่ายแต่สง่างาม คิม โจนส์ดึงเอาอัตลักษณ์ของห้องเสื้อและนิยามความงามแบบคาร์ลมาใช้ แต่คงเอกลักษณ์ลายเซ็นของตัวเองไว้ แม้เขาจะไม่ใช่ดีไซเนอร์ผู้รังสรรค์ความจัดจ้านผ่านสีสันและลวดลายแม็กซิมัลเต็มรูปแบบ แต่เอกลักษณ์เด่นของเขาคือการเล่นโทนและเฉดสีไล่ระดับภายในคอลเล็กชั่น การสไตลิ่งที่ถือเป็นการทดลองอันน่าสนใจ อีกทั้งยังหยิบจับเอาเซนส์ของแฟชั่นบุรุษมาผสมผสานไว้อย่างลงตัว รูปทรงและลายพิมพ์ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่สร้างภาพจำของเฟนดิในยุคใหม่ได้อย่างดี และการเข้ามากุมบังเหียนแฟชั่นสตรีของคิม โจนส์ก็นับเป็นครั้งแรกเขาเริ่มเนรมิตผลงานระดับโอตกูตูร์เป็นครั้งแรกในชีวิตอีกด้วย



WATCH




Vogue Scoop, #VogueScoop, Kim Jones, Pharrell Williams Louis Vuitton, Pharrell Williams, JW Anderson, Jonathan Anderson, Miuccia Prada, Peter Do

  • Jonathan Anderson – JW Anderson & Loewe

ความแตกต่างของ Jonathan Anderson กับดีไซเนอร์อย่างคิม โจนส์คงจะเป็นเรื่องตำแหน่งหัวเรือใหญ่ที่แบรนด์หนึ่งคือแบรนด์ดังชื่อก้องโลก แต่สำหรับโจนาธานอีกแบรนด์เขาคือแบรนด์แฟชั่นภายใต้ชื่อตัวเอง ต้องบอกว่านี่คือตัวอย่างของดีไซเนอร์ที่นำเสนอความล้ำลึกทางแฟชั่นในรูปแบบที่มีความละม้ายคล้ายคลึงแต่ยังแบ่งแยกได้อย่างมีเอกลักษณ์ สำหรับแบรนด์ JW Anderson ทุกคนคุ้นเคยกับวิถีการออกแบบที่มุ่งเน้นเรื่องงานคราฟต์ผสมผสานกับไอเดียความสนุกในรูปแบบของโจนาธานโดยเฉพาะ อีกทั้งยังผสมผสานเรื่องแฟชั่นที่สวมใส่ได้จริงกับวิถีความอาวอง-การ์ดในบางรายละเอียด และสร้างรูปแบบของการตีความเรื่องการคลุกเคล้าระหว่างวิถีแห่งแมสคิวลีนและเฟมินีนไว้ด้วยกัน ด้วยฝีมือการออกแบบและรูปแบบการทำงานอย่างสร้างสรรค์ทำให้เขาคว้ารางวัลดีไซเนอร์แห่งปีทั้งของบุรุษและสตรี ก้าวมาอีกด้านกับโลกของ Loewe ภายใต้การกำกับดูแลของดีไซเนอร์ชาวอังกฤษคนนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมาโลเอเว่เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากแบรนด์ที่มุ่งเน้นเรื่องงานคราฟต์และแอ็กเซสเซอรี่กลายเป็นแบรนด์ที่เปี่ยมด้วยมนต์เสน่ห์แห่งความสร้างสรรค์ การเลียนล้อสังคม และการปรับรูปแบบแฟชั่นที่สอดประสานกับโลกแห่งธุรกิจและการตลาด ผลงานการออกแบบของเขา ณ โลเอเว่เหมือนการสาดสีและสร้างลวดลายบนผืนผ้าใบ มันเป็นผลงานศิลปะที่สวมใส่ได้จริง มีกิมมิก สะท้อนรูปแบบความน่าตื่นเต้นของแฟชั่นในยุคที่สาวกแฟชั่นพันธุ์แท้จำนวนไม่น้อยเริ่มเบื่อหน่ายกับความจำเจของแฟชั่นที่ผูกโยงกับการตลาดจนเกินพอดี เราจะเห็นไอเท็มสำคัญที่เขย่าโลกแฟชั่นทั้งกระเป๋ารุ่นเด่นอย่าง Puzzle หรือการสร้างไอเท็มประจำซีซั่นที่น่าทึ่ง เช่นรองเท้าสุดเซอร์เรียล การใช้ดอกไม้หรือลวดลายแปลกตา หรือแม้แต่การสร้างผลงานเชิงศิลป์ที่เปลี่ยนจากความน่าตื่นเต้นบนรันเวย์ให้อยู่ในรูปแบบไอเท็มฮิตที่เหล่าคนแฟชั่นสวมใส่กันบนถนนทั่วทุกมุมโลก

Vogue Scoop, #VogueScoop, Kim Jones, Pharrell Williams Louis Vuitton, Pharrell Williams, JW Anderson, Jonathan Anderson, Miuccia Prada, Peter Do

  • Miuccia Prada – Prada & Miu Miu

หากการกุมบังเหียนแบรนด์แฟชั่นให้ประสบความสำเร็จเป็นข้อสอบของนักศึกษา Miuccia Prada คงเป็นนักศึกษาที่กวาดคะแนนเต็มอย่างไร้ข้อกังขา เพราะเธอปลุกปั้น Prada และ Miu Miu จนประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ เปิดประเด็นกับปราด้าแบรนด์ดังจากกรุงมิลานที่มิวเซียริเริ่มด้วยการสืบทอดมรดกดั้งเดิมของต้นตระกูลในปี 1978 ตั้งแต่นั้นเธอก็นำเอาความดั้งเดิมของปราด้ามาผสมผสานกับผลงานการออกแบบของเธอ เริ่มต้นด้วยไอเท็มอย่างกระเป๋าและแอ็กเซสเซอรี่ ก้าวข้ามมาถึงยุคปัจจุบันที่เธอรังสรรค์ไอเท็มปราด้าให้น่าสนใจและมีรายละเอียดอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว งานเทเลอริ่งในแบบฉบับอิตาเลียนถูกปรุงแต่งให้เหมาะสำหรับบุรุษและสตรีที่ต้องการหาความแปลกใหม่ การใช้สี โลโก้ ลายพิมพ์ และการสไตลิ่งบ่งบอกตัวตนความจัดจ้านและขบถของมิวเซียได้ค่อนข้างชัดเจน ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถคงความหรูหราตามแบบฉบับแบรนด์ลักชัวรี ยุคปัจจุบันปราด้ามี Raf Simons เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างสรรค์ร่วมทำให้เกิดการหล่อหลอมวิถีของมิวเซียเข้ากับแฟชั่นของราฟ ผลงานยุคหลังจึงเต็มไปด้วยกลิ่นอายของแฟชั่นที่มีความโมเดิร์น สะท้อนเซนส์ความมินิมัล การสไตลิ่งเน้นย้ำการมิกซ์แอนด์แมตช์ที่ไม่ได้อัดแน่นด้วยสีและลวดลาย แต่พุ่งเป้าไปเรื่องซิลูเอตและการเลเยอร์มากกว่า บ่งบอกถึงความลื่นไหลและการนำเทรนด์แฟชั่นที่มิวเซียไม่เคยตกยุค อีกด้านหนึ่งกับแบรนด์อย่างมิวมิว ต้องบอกว่านี่คือผืนผ้าใบแห่งความสร้างสรรค์โดยมิวเซียโดยแท้ เพราะนี่คือพื้นที่แห่งความขบถและจัดจ้านในสไตล์ของดีไซเนอร์หญิงระดับตำนานขนานแท้ เธอมักสร้างการนำเสนอที่สะดุดตาและสร้างความประหลาดใจทุกครั้ง ตั้งแต่ยุค 1990s มาจนถึงยุค 2000s มิวเซียแสดงให้เห็นถึงวิถีแห่งความดราม่าที่สอดแทรกอยู่ในโลกของแฟชั่น ตลอดมาจนถึงยุค 2010s และปัจจุบัน รูปแบบแฟชั่นที่มีกิมมิกของหญิงสาวที่เปี่ยมด้วยความมั่นใจและสร้างความตระหนักรู้ด้านตัวตนของปัจเจกบุคคลในโลกแฟชั่นก็กลายเป็นสิ่งที่นำสมัยในบางช่วงและสอดคล้องไปกับยุคสมัยได้ตลอดเวลา คอนเซปต์การสร้างคาแร็กเตอร์ให้ผู้หญิงในแบบที่มิวเซียอยากนำเสนอต่อสังคมและสะท้อนความเป็นจริงคือส่วนสำคัญที่ทำให้มิวมิวตรึงใจคอแฟชั่นเสมอมา

Vogue Scoop, #VogueScoop, Kim Jones, Pharrell Williams Louis Vuitton, Pharrell Williams, JW Anderson, Jonathan Anderson, Miuccia Prada, Peter Do

  • Peter Do – Peter Do & Helmut Lang

สำหรับดีไซเนอร์เชื้อสายเอเชียก็กำลังพัฒนาโลกแฟชั่นสอดประสานไปกับความนิยมของโลกยุคใหม่ Peter Do นับเป็นดีไซเนอร์เอเชียที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดในยุคนี้ การเริ่มต้นแบรนด์ภายใต้ชื่อตัวเองนั้นทำให้สาวกแฟชั่นจดจำเขาได้อย่างรวดเร็ว เขามีประสบการณ์การทำงานในอเตลิเยร์ของ Céline และ Derek Lam ก่อนจะเปิดแบรนด์ของตัวเองในปี 2018 ช่วงแรกปีเตอร์ยังไม่ได้รับการจดจำหรือสร้างชื่อในแวดวงได้มากนัก ปฏิเสธไม่ได้การแข่งขันอย่างสูงในมหานครนิวยอร์กคือความท้าทาย และเขาก็ไม่ใช่ผู้โดดเด่นตั้งแต่เริ่มต้น ทว่าคอลเล็กชั่นสร้างชื่ออย่างเป็นทางการคือคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2023 ณ นิวยอร์กแฟชั่นวีก ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณกระแสสนับสนุน Jeno แห่งวง NCT ที่มาเดินบนรันเวย์และสร้างเสียงฮือฮาจนแบรนด์ปีเตอร์ โดติดตรึงเป็นกระแสใหญ่อย่างรวดเร็ว แต่ความน่าสนใจไม่ได้มีเพียงศิลปินจากวงการเคป๊อปเท่านั้น เพราะผลงานการออกแบบของปีเตอร์ก็โดดเด่นสะดุดตาไม่แพ้กัน เขารื้อสร้างมิติของงานเทเลอริ่งใหม่ทั้งหมด จากเดิมงานเทเลอริ่งบ่งบอกถึงรูปทรงแห่งความแข็งแกร่งและสะท้อนภาพความสุขุมเนี้ยบประณีต ทว่าปีเตอร์มองเห็นถึงมิติการสร้างความเย้ายวนผ่านงานเทเลอริ่งได้อย่างโดดเด่น พร้อมทั้งนำเสนอสูทและแจ็กเก็ตที่สวมใส่ได้อย่างไร้ขอบเขตเรื่องเพศ งานในรูปแบบ‘Deconstruction’ คือลายเซ็นอันโดดเด่นที่ทำให้เทเลอริ่งไม่ใช่สิ่งซ้ำซากจำเจ อย่างน้อยก็ในมือและชุดความคิดอันสร้างสรรค์ของปีเตอร์ โด อีกฟากของความสำเร็จคือการรับตำแหน่งหัวเรือใหญ่คนใหม่ของ Helmut Lang หลายคนติดตามชมอย่างใจจดใจจ่อว่าปีเตอร์จะชุบชีวิตแบรนด์นี้ให้กลับมาจรัสแสงในวงการแฟชั่นสมัยใหม่ได้หรือไม่ หลังจากเขาตัดสินใจย้ายแบรนด์ตัวเองไปโชว์ ณ กรุงปารีส นิวยอร์กแฟชั่นวีกก็เป็นคิวแรกของเฮลมุต แลง ซึ่งเขาก็หลีกหนีคำวิจารณ์ไม่พ้นว่าคอลเล็กชั่นมันเอนเอียงไปในทิศทางที่ไม่ได้น่าสนใจจนจะปลุกกระแสได้เท่าไหร่นัก งานเทเลอริ่งในสไตล์ของตัวเขาถูกลดทอนออกไปพอสมควร เขาพยายามหยิบจับกลิ่นอายของแบรนด์แบบดั้งเดิมกลับมา แต่ก็ทำได้ไม่สุดทางเช่นกัน บางคนวิจารณ์ว่าได้กลิ่นอายของเฮลมุต แลง แต่ก็ไม่ได้ย้อนความทรงจำหรือสร้างภาพอันน่าทึ่งแบบเฮลมุต แลงดั้งเดิม ปีเตอร์ระบุว่าโชว์แรกคือการรีเซ็ตและสร้างรากฐานภายในใหม่ทั้งหมด การพัฒนาด้วยการหาจุดลงตัวระหว่างความทรงจำอันหอมหวานของแบรนด์หลายปีก่อนกับฝีมือการรังสรรค์และแนวทางด้านแฟชั่นยุคโมเดิร์นของปีเตอร์คือสิ่งที่ต้องใช้เวลา สาวกแฟชั่นคงต้องรอพิสูจน์กันต่อไปว่าปีเตอร์จะสรรสร้างเฮลมุต แลงยุคใหม่และแบรนด์ตัวเองให้ไปได้ไกลเพียงใด

Vogue Scoop, #VogueScoop, Kim Jones, Pharrell Williams Louis Vuitton, Pharrell Williams, JW Anderson, Jonathan Anderson, Miuccia Prada, Peter Do

  • Pharrell Williams – Billionaire Boys Club & Louis Vuitton

Pharrell Williams ถือเป็นสุดยอดศิลปินแห่งยุคที่รังสรรค์ผลงานดนตรีและเป็นดาวดังแห่งวงการบันเทิงระดับโลกมาอย่างยาวนาน ทว่าสำหรับโลกแฟชั่นที่เขาคลุกคลีนั้นกลับเป็นเรื่องที่แตกต่างออกไป โดยก่อนหน้านี้ฟาร์เรลล์ถือเป็นชายหนุ่มผู้มีสไตล์จัดจ้านและได้รับการจับตามองเรื่องเซนส์ด้านนี้อยู่ตลอดเวลา การก่อตั้งแบรนด์ Billionaire Boys Club นั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นการความสัมพันธ์ด้านแฟชั่นกับ Nigo ดีเจและดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น ปี 2003 แบรนด์ถือกำเนิดขึ้นและมันก็สะท้อนรูปแบบแฟชั่นอันสร้างสรรค์ของฟาร์เรลล์เสมอมา ทว่าแบรนด์ยังไม่ได้ก้าวสู่ระดับลักชัวรี เป็นแบรนด์สตรีตที่เป็นดั่งจุดเชื่อมโยงระหว่างแฟชั่นสายสตรีตเข้ากับวงล้อแฟชั่นระดับไฮเอนด์ และตัวเขาเองก็มีโอกาสร่วมงานกับ Louis Vuitton ครั้งแรกกับผลงานการออกแบบแว่นตาและจิวเวลรีในปี 2008 หลังจากนั้นเขาก็สั่งสมประสบการณ์ด้านแฟชั่นและศิลปะด้วยการจับมือทำโปรเจกต์กับแบรนด์และศิลปินมากฝีมืออย่างหลากหลาย อาทิ Takashi Murakami, Moncler, Chanel และ Adidas ทั้งนี้ทั้งนั้นตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของแบรนด์สตรีตที่เขาก่อตั้งก็ยังพัฒนาและสร้างความนิยมนานร่วม 2 ทศวรรษ จนกระทั่งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2023 ก็มีข่าวใหญ่ว่าฟาร์เรลล์จะเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างสรรค์ของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง ดูแลแฟชั่นฝั่งบุรุษทั้งหมด การเข้ามาของเขาเต็มไปด้วยคำถามและข้อครหาว่าเขาไม่ใช่ดีไซเนอร์ที่แท้จริง เป็นเพียงคนดังที่มีสไตล์ การเข้ามากำกับดูแลแบรนด์ยักษ์ใหญ่อาจไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์แบบที่สุดของแบรนด์ มองในมุมบวกต้องบอกว่ากระแสเหล่านี้ทำให้หลายคนเฝ้าติดตามฟาร์เรลล์ในบทบาทอันยิ่งใหญ่ในวงการแฟชั่น และแล้วเขาก็เริ่มต้นกับผลงานการโชว์แรกกับคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2024 ที่นำรายละเอียดดั้งเดิมของแบรนด์ทั้งลายดามิเยร์และกระเป๋ารุ่น ‘Speedy’ กลับมาสร้างแฟชั่นที่ล้ำหน้ากว่าเดิม มาพร้อมการออกแบบลวดลายดิจิทัลและการสร้างรูปแบบการสไตลิ่งอันน่าตื่นเต้น ต่อไปกับโชว์คอลเล็กชั่นก่อนฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2024 เขาก็ยกทัพความสร้างสรรค์สร้างปรากฏการณ์ ณ เกาะฮ่องกง ก่อนที่คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2024 จะสร้างความประทับใจด้วยโชว์ ‘LVirginia’ กับการเนรมิตภาพมรดกทางวัฒนธรรมแถบมิดเวสต์ในสหรัฐอเมริกามาคลุกเคล้าจนเกิดเป็นผลงานการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ และถือเป็นโชว์ที่โดดเด่นที่สุดในช่วงปารีสแฟชั่นวีกของฟากบุรุษเปิดศักราชปี 2024 หลังจากนี้ฟาร์เรลล์ยังต้องพิสูจน์ตัวเองและลบครหาทั้งหมดเกี่ยวกับการเข้ารับครั้งนี้ต่อไป แต่ที่แน่ๆ เขาสร้างผลงานที่คนทั่วโลกพูดถึงอย่างต่อเนื่องแล้วกับหลุยส์ วิตตอง

Vogue Scoop, #VogueScoop, Kim Jones, Pharrell Williams Louis Vuitton, Pharrell Williams, JW Anderson, Jonathan Anderson, Miuccia Prada, Peter Do

  • DOUBLE IDENTITIES IN THE PAST

สำหรับวงการแฟชั่นกงล้อแห่งเวลาหมุนวนสร้างโลกใหม่ขึ้นตลอดเวลา แต่สำหรับ Karl Lagerfeld เขาคือตำนานดีไซเนอร์ดาวค้างฟ้าที่ทุกคนจะไม่มีวันลืม เขารั้งตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของแบรนด์ระดับแถวหน้าทั้ง Fendi และ Chanel นอกจากนี้ยังรังสรรค์แบรนด์ตัวเองขึ้น สิริรวมคาร์ลทำงานหนักด้วยการนำเสนอแฟชั่นตลอดทั้งปีของทั้ง 3 แบรนด์ มากไปกว่านั้นแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากโรมและปารีสยังมีคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ที่คาร์ลต้องบรรจงนำเสนอมันอย่างเนี้ยบประณีตทุกกระเบียดนิ้ว ตำนานอีกหนึ่งคนคือดีไซเนอร์ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งความเย้ายวน Tom Ford คือดีไซเนอร์ผู้เนรมิตโลกแฟชั่นให้เต็มไปด้วยกลิ่นอายความเซ็กซี่ ทั้งในฐานะหัวเรือใหญ่แห่ง Gucci และผู้ก่อตั้งแบรนด์ภายใต้ชื่อตนเอง แม้จะใช้เวลาคาบเกี่ยวกันในช่วงปลายยุคกุชชี่ แต่ก็ถือเป็นจังหวะคาบเกี่ยวที่ทุกคนจดจำได้อย่างแม่นยำ นอกจากดีไซเนอร์ระดับตำนานยังมีดีไซเนอร์อีกหลายต่อหลายคนที่แบ่งแยกอัตลักษณ์ของตัวเองเพื่อนำเสนอผลงานตามอัตลักษณ์ของแบรนด์ ในยุคใหม่ก็มีทั้ง Matthew Williams ที่เพิ่งก้าวลงจากตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างสรรค์ของ Givenchy ซึ่งในขณะดำรงตำแหน่งเขาก็พัฒนาแบรนด์ Alyx ให้เติบโตในตลาดแฟชั่น จนถึงขั้นร่วมทำคอแลบอเรชั่นกับแบรนด์นาฬิกาชั้นนำอย่าง Audemars Piguet ข้ามฟากมาที่ดีไซเนอร์หญิงก็มี Gabriela Hearst ดีไซเนอร์ชาวอุรุกวัยที่สร้างแบรนด์ตัวเองด้วยคอนเซปต์ความยั่งยืนและสนับสนุนงานฝีมือ และเริ่มนำแนวทางนี้เข้าสู่โลกแฟชั่นระดับแถวหน้ากับการนำทัพแบรนด์ Chloé ก่อนจะปิดฉากไปในช่วงปลายปี 2023 และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ Virgil Abloh บุคคลสำคัญแห่งวงการแฟชั่นที่สร้าง Off-White จนกลายเป็นแบรนด์ระดับแถวหน้า พร้อมควบตำแหน่งหัวเรือใหญ่แห่ง Louis Vuitton ในฝั่งบุรุษ เขาเปิดโลกแฟชั่นรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแฟชั่น ปิดท้ายลิสต์รายชื่อนี้ด้วย Demna Gvasalia หัวเรือใหญ่ของ Balenciaga ที่เคยปลุกปั้น Vetements ก่อนวางมือ Marc Jacobs กับแนวทางการนำเสนอแบรนด์หลุยส์ วิตตองอย่างจัดจ้านพร้อมกับรักษาคอนเซปต์ความสนุกในแบบเฉพาะตัวกับแบรนด์ของตัวเอง และ Jeremy Scott ที่เคยทั้งสร้างชื่อกับแบรนด์ตัวเองและเนรมิต Moschino ให้กลายเป็นแบรนด์แม็กซิมัลที่จัดจ้านที่สุดแห่งยุค

 

ทั้งหมดนี้เป็นการรวบรวมรายชื่อเหล่าดีไซเนอร์ผู้แยกตัวตนเพื่อนำเสนอแนวทางแฟชั่นหลากหลายรูปแบบตามแบรนด์ต่างๆ มากมาย ปัจจุบันดาวเด่นคนหลักๆ ที่ยังรับหน้าที่แบบนี้มีจำนวนไม่เยอะนัก ในอดีตก็มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนหัวเรือกันบ้างแต่ก็มีเพียงไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จอย่างถึงที่สุด ช่วงเวลาแห่งการนำเสนอแฟชั่นที่ไม่ได้มีเพียงความสวยงามของเสื้อผ้า แต่หมายถึงการสื่อสารผ่านมิติเชิงศิลป์และเรื่องราวเบื้องหลังคือความท้าทายสำคัญที่สุดของการกุมบังเหียนแบรนด์ใหญ่ระดับโลก บางครั้งมันอาจแยกกันไม่ออก หรือบางครั้งก็อาจพยายามแยกกันจนสูญเสียบางอย่างไป หรือถ้าดีกว่านั้นคือการสร้างตัวตนของทุกแบรนด์ภายใต้การดูแลได้อย่างสมบูรณ์แบบ

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueScoop